beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

สุดยอดปรมาจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ


ตรงนี้สำคัญที่ "วิธีการเรียน" เรียนอย่างไรจะเข้าใจ

   ตอนผมเรียนที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มีท่านอาจารย์ที่เป็น "หม่อมราชวงศ์" ๓ ท่านด้วยกัน

  • ท่านแรกคือ "หม่อมขาว" = ศาสตราจารย์ มรว. พุฒิพงศ์ วรวุฒิ
  • ท่านที่สองคือ "หม่อมดำ" =  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มรว. นุภาศพัฒน์ จรูญโรจน์
  • ท่านที่สาม คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ มรว.ชนาญวัต เทวกุล

   หม่อมขาวท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของชาติ ท่านแรกๆ เก่งทางด้าน Reproductive Biology

   หม่อมดำท่านเก่งทางด้าน Comparative Anatomy ชอบสอนทางด้านปฏิบัติการ

   ส่วนท่านอาจารย์ ชนาญวัต ท่านเก่งทางด้าน Comparative Anatomy ท่านอาจารย์ที่ผมจะกล่าวในที่นี้คือ ท่านอาจารย์ ชนาญวัต ครับ

   พอถึงชั่วโมงสอนตอนเช้า ท่านอาจารย์ชนาญวัต ท่านก็จะเข้ามาวาดภาพ ยกตัวอย่างเช่น ภาพด้านล่างนี้ เป็นภาพของ Human blastocyst ระยะ 12 วัน หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็น Embryo หรือตัวอ่อนที่ไปฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูก แล้ว

 

    พอท่านมาวาดภาพเสร็จ และอธิบายเพียงเล็กน้อย รวมเวลาประมาณ 30 นาที ท่านก็จะเดินออกจากห้องไป ตอนนั้นผมอยู่ปี ๒ เรียนไม่ค่อยจะรู้เรือง ไม่ใช่ท่านสอนไม่ดี ความจริงท่านสอนดีมากแต่เราเรียนไม่รู้เรื่องเอง เนื่องจากพื้นฐานไม่แน่นพอ

   ภายหลังผมพบพี่เก่าชื่อ "พี่วรินทร์" แกเรียนปริญญาโททางกายวิภาคศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล แกมักมาเยี่ยมน้องๆ ผมก็ปริกษาเรื่องการเรียนวิชา "กายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ" ที่ไม่รู้เรื่อง

   พี่แกก็นำหนังสือภาษาอังกฤษ ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชานี้ มาอธิบายให้ฟังว่า ควรดูภาพประกอบ และต้องเรียนรู้ไปสู่จุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการ ถ้าเป็นพวกสัตว์มีกระดูกสันหลัง เราก็ต้องไปเริ่มจากวิวัฒนาการของปลาขึ้นมา คือ ต้องอ่านพื้นฐานให้มาก ถ้าภาษาอังกฤษไม่ดี ก็ให้อ่านคำอธิบายจากภาพ เรียกว่า "depict"

   พอผมไปศึกษาจากพื้นฐาน อ่านหนังสือมากเข้าก็เรียนรู้เรื่อง พบว่า ในเวลา 30 นาที ที่ท่านอาจารย์ชนาญวัต มาสอนพวกเรานั้น ถ้าจะเรียนให้รู้เรื่อง ต้องไปอ่านหนังสือทำความเข้าใจอีกประมาณ 6 ชั่วโมง ผมคิดได้ในภายหลังว่า "สุดยอดปรมาจารย์" ด้านการบรรยาย กายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ ก็คือ ท่านอาจารย์ชนาญวัตนี่เอง

   ตรงนี้สำคัญที่ "วิธีการเรียน" เรียนอย่างไรจะเข้าใจ ถ้ามีวิธีเรียนที่ถูกต้องแล้ว วิชาต่างๆ ก็ไม่ยากเลย ถ้าพึ่งแต่ "Lecture" หรือ "สมุดจดคำบรรยาย" อย่างเดียวเราก็จะไม่เข้าใจ ต้องไปอ่านหนังสือและทำความเข้าใจด้วย

   ตอนสอบกลางภาค ข้อสอบของท่านอาจารย์ชนาญวัต มี 10 ข้อ และเรารู้ว่าข้อสอบ 10 ข้อ มีอะไรบ้าง เพราะออกซ้ำกันทุกปี แต่ผมก็ยังทำข้อสอบไม่ได้ เพราะช่วงนั้นยังไม่ได้เคล็ดลับ "วิธีเรียน" จากท่านพี่วรินทร์ ทำให้ในจำนวนผู้สอบ 22 คน ผมอยู่อันดับ 4 นับจากท้าย (เป็นเพราะมีผู้หญิงเรียน 18 คน และผุ้ชายเรียน 4 คน ผมท๊อปในกลุ่มผู้ชาย)

   ภายหลังที่ผมเรียนรู้ "วิธีเรียน" ที่ถูกต้องจากพี่วรินทร์แล้ว วิชา "กายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ" ก็ไม่ยากสำหรับผมต่อไป ผมกลายเป็น "ติวเตอร์" ให้กับเพื่อนๆ แม้ "แหม่ม" ซึ่งท๊อปวิชานี้ ได้คะแนน 70 กว่า ก็ยังมาคะยั้นคะยอให้ผมติวให้

   สุดท้าย ผมสอบวิชานี้ได้เกรด B และช่วยให้เพื่อนๆ ทุกคนไม่ตกวิชานี้ได้ เพราะได้ "เคล็ดวิชา" การเรียนที่ถูกต้องจากพี่วรินทร์นั่นเอง แต่ในใจของผม ก็ระลึกอยู่เสมอว่า "สุดยอดปรมาจารย์" ของผมก็คือท่านอาจารย์ชนาญวัตนั่นเอง

 

 

อ้างอิง ภาพจากhttp://connection.lww.com/products/sadler/imagebank.asp

หมายเลขบันทึก: 58887เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2006 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท