​ถนนผู้สร้างสายที่ ๑๐...อีกหนึ่งต้นแบบค่ายอาสาพัฒนากับงานบริการวิชาการแก่สังคม


นิสิตที่เข้าร่วมค่ายดังกล่าวจึงเป็นเสมือนการนำองค์ความรู้ในภาคทฤษฎีไปฝึกปฏิบัติจริง เพื่อก่อให้เกิดภาวะความตกผลึกทางวิชาชีพและวิชาคน เพราะการงานในวิถีค่าย ไม่ใช่การเรียนรู้เชิงปัจเจกบุคคล หากแต่เป็นการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม และเรียนรู้อย่างเป็นทีม

โครงการ "ถนนผู้สร้างสายที่ ๑๐" ของชมรมถนนผู้สร้างในสังกัดสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ คืออีกหนึ่งต้นแบบของค่ายอาสาพัฒนาที่มีพัฒนาการอย่างเด่นชัด เนื่องเพราะสามารถบูรณาการเข้าเป็นหนึ่งกับ "ภารกิจมหาวิทยาลัย" ในด้าน "การบริการวิชาการแก่สังคม" อย่างลงตัว และสามารถตอบโจทย์อัตลักษณ์ความเป็นนิสิตของคณะและมหาวิทยาลัย (นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ได้อย่างเป็นรูปธรรม



โครงการ "ถนนผู้สร้างสายที่ ๑๐" จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕-๑๕ และ ๒๐-๒๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ พุทธสถานสวนธรรมโชติปัญญาราม บ้านหนองกุง ต.เขาพระนอน ต.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ด้วยการสร้างอาคารดิน (บ้านดิน) เพื่อเป็นแหล่งพักพิงผู้สูงอายุที่ไร้ญาติและเป็นสถานธรรมชาติบำบัดแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีประเด็นสำคัญๆ อันเป็นกรอบแนวคิด หรือแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practices) ที่ชวนค่าต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้

๑.เป็นหนึ่งเดียวกับภารกิจการบริการวิชาการแก่สังคม : เป็นค่ายอาสาพัฒนาของนิสิตที่ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกับภารกิจการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในชื่อ "โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ที่นิสิตและอาจารย์สามารถนำองค์ความรู้ หรือความเชี่ยวชาญในวิชาชีพไปถ่ายทอด เพื่อการให้บริการ (เรียนรู้คู่บริการ) ต่อสังคมผ่านกิจกรรมหลักคือการสร้างอาคารดิน (บ้านดิน) เพื่อใช้เป็นสถานบำบัดผู้ป่วย โดยใช้ศาสตร์อันเป็นประเด็นทางวิชาชีพมาขับเคลื่อนหลายประเด็น เช่น การอนุรักษ์และการจัดการพลังงาน การสร้างอิฐดินจากวัตถุดิบธรรมชาติ รวมถึงการวิจัยในวิชาชีพที่ว่าด้วยเรื่องบ้านดินรักษ์โลก



๒.เรียนรู้คู่บริการบนฐานภูมิปัญญาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : เป็นค่ายอาสาพัฒนาที่ขับเคลื่อนไปบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือมิติของการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยนิสิต อาจารย์และชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันตามกรอบการเรียนรู้แบบแบบมีส่วนร่วม (participatory learning process) เช่น

  • การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เกี่ยวโยงจากยุคล่าสัตว์มาสู่ยุคเกษตรกรรมและประวัติศาสตร์พระพุทธรูป (พระนอน) หรือวัดคู่บ้านคู่เมืองของชุมชนมาปั้นประดับเป็นภาพนูนต่ำรอบอาคารดิน เพื่อจารึกเรื่องราวอันเป็นสายธารการก่อเกิดชุมชน
  • รวมถึงการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติในชุมชนมาบูรณาการสร้างบ้านดิน เช่น ทำโครงด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยหญ้าคา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ไพรหญ้า" ซึ่งชาวบ้านในชุมชนทำหน้าที่เป็น "ครูช่าง" (พ่อช่าง) สอนนิสิตในเรื่องดังกล่าวในแบบ "ทำไปเรียนรู้ไป" หรือ "เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ" (learning by doing)



๓.บูรณาการนิสิตในหลักสูตรและการข้ามศาสตร์วิชาชีพ : เป็นค่ายอาสาพัฒนาที่ทะลุมิติพรมแดนความเป็นกลุ่มคนและวิชาชีพ กล่าวคือผนึกกำลังทีมทำงานจากชมรมถนนผู้สร้างร่วมกับสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งในด้านของกำลังคนและงบประมาณ รวมถึงการเปิดรับให้นิสิตทั่วไปได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมที่จัดขึ้น

เช่นเดียวกับการประสานความร่วมมือเชิงเครือข่ายข้ามคณะ (ข้ามวิชาชีพ) กับอาจารย์และนิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์มาช่วยเป็นแกนนำเรื่องประติมากรรมนูนต่ำ หรือการปั้นรูปอันเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลงบนผนังอาคารดิน ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการบูรณาการศาสตร์ทั้งในหลักสูตรและข้ามหลักสูตรอย่างน่ายกย่อง



๔.เรียนรู้ผ่านกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันของชุมชน : ตลอดระยะเวลาการจัดค่ายอาสาพัฒนา นิสิตมีกระบวนการเรียนรู้วิถีชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กิจกรรมใน "ชุมชนและวัด" เป็นเสมือนฐานที่มั่น (ชั้นเรียน) ของการเรียนรู้ ผูกโยงสถานการณ์ หรือวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของชุมชนเป็นโจทย์การเรียนรู้ของนิสิตชาวค่ายเบ็ดเสร็จในตัวเอง เช่น

  • วิถีการดำเนินชีวิตภายใต้อ้อมกอดของธรรมชาติ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง วิถีการบำบัดชีวิตผ่านการปฏิบัติธรรมและภูมิปัญญาสมุนไพร
  • รวมถึงการสัมผัสจริงกับกิจกรรมอันเป็นกิจวัตรประจำของชุมชน อาทิ ตักบาตร สวดมนตร์ นั่งสมาธิ อันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่ร้อยรัดเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับเรื่องศิลปวัฒนธรรม คุณธรรมจริยธรรม สิ่งแวดล้อม

๕.เรียนรู้พื้นฐานความเป็นวิชาชีพ : ค่ายอาสาของชมรมถนนผู้สร้าง ถือเป็นเส้นทางของการเสาะแสวงหาความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างเด่นชัด เพราะยึดโยงอยู่กับกิจกรรมของการออกแบบ การก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งวัสดุการก่อสร้างก็ล้วนเป็นองค์ความรู้ในวิชาชีพทั้งสิ้น นิสิตที่เข้าร่วมค่ายดังกล่าวจึงเป็นเสมือนการนำองค์ความรู้ในภาคทฤษฎีไปฝึกปฏิบัติจริง เพื่อก่อให้เกิดภาวะความตกผลึกทางวิชาชีพและวิชาคน เพราะการงานในวิถีค่าย ไม่ใช่การเรียนรู้เชิงปัจเจกบุคคล หากแต่เป็นการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม และเรียนรู้อย่างเป็นทีม



เหนือสิ่งอื่นใดต้องยอมรับว่าค่ายนี้ มีความท้าทายใหม่ๆ และความเป็นรูปธรรมของ PDCA&KM อย่างน่ายกย่อง เป็นค่ายอาสาพัฒนาในวาระครบ ๑๐ ปีการก่อตั้งชมรม (๑ ทศวรรษ) ค่ายครั้งนี้จึงเป็นความท้าทายใหม่ๆ ด้วยการยกระดับจากค่ายอาสาพัฒนาสู่การเป็นงานบริการวิชาการ และเปลี่ยนแปลงจากที่นิยมสร้าง "อาคารอเนกประสงค์" (อาคารอิฐบล็อก) ในโรงเรียนมาเป็นกิจกรรมใน "วัด" เน้นการสร้างอาคารดินและเปลี่ยนแปลงจากอาคารดิน "รูปทรงทรงสี่เหลี่ยม" (ทรงกระบอก) มาเป็นอาคารดินรูปทรงกลมให้เหมาะต่อบริบทชุมชนอันเป็นที่ตั้งของค่ายอาสาพัฒนา



เช่นเดียวกับการทำงานบนฐานคิดของวงจร PDCA ควบคู่ไปกับการจัดการความรู้ (KM) ก็มองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม มีการพัฒนาโจทย์และปรับความคาดหวังร่วมกันระหว่างนิสิต อาจารย์ กับชุมชน มีการวางแผนการทำงานที่เป็นรูปธรรมแบบมีส่วนร่วม และด้วยเหตุที่เป็นค่ายๆ นี้เป็นค่ายอาสาพัฒนาที่ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่องเป็นช่วงๆ และมีระยะเวลายาวนาน กอปรกับการจัดกิจกรรมในรูปการบริการวิชาการ (เรียนรู้คู่บริการ) ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่เด่นชัดซึ่งต้องผนึกความเป็นเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาเข้าด้วยกัน คณะทำงานที่ประกอบด้วยนิสิตอาจารย์และชุมชนจึงพยายามที่จะบริหารแผน บริหารคน บริหารงบประมาณ ฯลฯ อย่างตั้งใจและค่อยเป็นค่อยไป เ สมือนทำไปเรียนรู้ไป หรือทำไปถอดบทเรียนไปพร้อมๆ กัน เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด



หมายเหตุ :
๑.เรื่องเล่าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากการถอดบทเรียนย้อนหลังปี 2557
๒.ภาพโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ / พนัส ปรีวาสนา
๓.ส่วนหนึ่งจาก หนังสือเล่มนี้ นะครับ



หมายเลขบันทึก: 588765เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2015 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากได้แบบนี้เอาไว้ที่ ศพด.วัดอู่ตะเภาสักหลััง

ชอบใจการเรียนรู้คู่บริการครับ

นิสิตได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง

สุดยอดมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท