"ดีสากล กับดีเพื่อตัวตน"


สำหรับชาวโลกที่มีศาสนาเป็นที่พึ่ง ที่เพาะทางความคิด และความเชื่อ มักจะถูกสอนให้ทำดีบ่อยๆ สำหรับเด็กที่เกิดมาแล้วไร้ฐานข้อมูลศาสนา ย่อมจะไม่รู้ขอบเขตคำว่า ความดี ตามที่ศาสนาสอนอย่างลึกซึ้งและแยกไม่ได้ว่า ดีขนาดไหน พวกเขาจึงมองเห็นศาสนาเป็นสิ่งท้าทายต่อผลที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง ในขณะพ่อแม่ ก็ไม่ได้สอนอะไรลึกซึ้งมากนักในศาสนาของตน


ผู้เขียนไม่ได้บอกว่า ศาสนาคือทุกสิ่ง เหมือนที่คนรุ่นเก่าสอนมา ในมิติทัศน์แบบใหม่ ควรปล่อยให้เด็กใหม่ๆ ท้าทายแนวคิดแบบนี้บ้าง เพื่อให้คนรุ่นเก่าคล้อยตามกระแสการเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ ทุกอย่างต้องเดินไปตามเส้นทางของมันเอง อย่าไปขัดขวาง ดังนั้น ชีวิตคือ เส้นทางของมหาวิทยาลัยที่เราจักต้องศึกษา เรียนรู้ วิเคราะห์ให้เห็นต่าง และเห็นผลที่จะได้รับ


มีเรื่องหนึ่งที่ได้รับรู้และถูกสอนมาตั้งแต่เด็กคือ "เป็นคนดี" เราถูกพร่ำสอนมาตั้งแต่เด็ก กระนั้น เราก็ไม่เห็นความต่างกันมากนักในเรื่องคนดีกับคนทั่วไป รวมไปถึงศาสนาด้วย ในสังคมเรามักจะได้ยินว่า เป็นเด็กดี เป็นคนดีของสังคม อะไรคือ ลักษณะการสร้างให้เป็นคนดี มันมีมาตรฐานสากล (สังคม) หรือไม่ หรือมีสูตรตายตัวหรือไม่ เมื่อสรุปคร่าวๆเท่าที่พบเห็น เราอ้างความดีมาจากศาสนา ค่านิยม และสังคมเป็นเกณฑ์


ทีนี้เมื่อเราเกิดมาจากครอบครัว เราก็มีพ่อแม่ พี่น้อง เมื่อใครก็ตามทำดี เชื่อฟังพ่อแม่ เลี้ยงดูพ่อแม่ ฯ นั่นคือ กิริยาการทำดีด้วย กิริยาที่ทำนี้ จึงส่งผลถึงสภาวะทางจิตใจหรือกลายเป็นผลลึกที่คั่งค้างในใจ จนกลายเป็นพื้นฐานทีดี มีภูมิทุนจิตใจที่ดี จนกลายเป็นผู้มีคุณสมบัติที่ดีงาม อ่อนโยน มีเมตตา มีจิตสาธารณ์ มีภาวะการเป็นผู้ดีมีธรรม นี่คือ ความดีส่วนตัวหรือไม่


ถ้าความดี ที่อ้างจากฐานสองแห่งคือ ครอบครัวและสังคมแล้ว ถือว่า ความดีนั้นที่สุดหรือยัง ผลทั้งสองมีสิ่งรองรับคือ เกียรติยศ อนุสาวรีย์ ชื่อเสียง เงินทอง ทรัพย์สมบัติที่ได้จากการทำดี เมื่อสิ้นชีพดับลง สุดท้ายความดีที่ทำนั้น ก็เป็นเพียงอนุสรณ์หรือเป็นเพียงภาษาที่ร่ายเป็นกวีหรือเป็นบทความยกย่องเท่านั้นหรือ เช่น เด็กทำดี ทหารตายเพื่อชาติ สังคมยกย่อง ให้ตำแหน่ง เงินทอง ฯ เท่านั้นหรือ มันน่าจะมีค่าที่เป็นสาระมากกว่านั้น


เมื่อเราพูดถึงความดี คนดี เรามักจะเห็นความดีในแง่ชื่อเสียงและความดีที่ปรากฎในชุมชมหรือสังคมเท่านั้น เมื่อนานไปเราก็ยังยกให้คนทำดี (ต่อครอบครัว ศานา สังคม ประเทศชาติ) ว่าเป็นคนดีเช่นเดิม โดยไม่มีการยกระดับดี 1 2 3 ฯ เลย หรือเราไม่ได้แยกแยะ ชำระ ชำแรกนิยาม ความดีให้ชัดเจนต่อเจนเอ๊กซ์เลย จึงถูกเจนวายพร่ำสอนให้เจนเอ๊กซ์อยู่ในกรอบเก่าคือ ความดีในนิยามเดิม


ดังนั้น จึงต้องนิยามความดีให้แตกต่างจากความชินชาของผู้คนยุคนี้ออกไปอีก ความเข้าใจของผู้คนในระยะแรกอาจถูกต้อง แต่ต่อมา จนถึงปัจจุบัน ความดี ความหมาย มันได้ขยายไปตามสำนัก ลัทธิ ค่านิยมของสังคมแบบใหม่ จนทิ้งรากเหง้าเค้ามูลไป โดยเฉพาะแหล่งที่เกิดความดีคือ "ศาสนา" (Religious goodness) เพราะถือว่า เป็นต้นกำเนิดของความคิดเรื่องความดี เนื่องจากศาสนาจะเป็นผู้บอกลักษณะคุณสมบัติทางพฤติกรรมได้


แต่ก็มีปัญหาว่า ศาสนาไหนที่สอนความดีไว้ แต่ละศาสนาล้วนอ้างความชอบธรรมว่าตนเองคือ ต้นกำเนิดของการสอนให้เป็นคนดี ผลิตคนดีป้อนสังคม ศาสนานั้นควรได้รับเกียรติหรือเครดิตนั่นเอง เพราะมีคำว่าอ้างทั่วๆ ไปว่า ทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี ดีระดับไหนละ ดีน้อย มาก ที่สุด หรือดีแบบมายา หรือดีตามสูตรคัมภีร์ มองให้ลึกลงไป ความดี เป็นสิ่งสำคัญต่อภพ ต่อชาติ ต่อการเกิดมาบนโลกนี้อย่างไร ซึ่งก็จะเป็นปัญหาอีกว่า ศาสนาก็สอนกันตามมาตรฐานของนิยามตนเอง ไปคนละอย่าง


อะไรคือ ความดีสากล (Universal goodness) หรือถ้าดีแบบเฉพาะเจาะจงหรือปัจเจกบุคคลละ (Individual goodness) มันควรเป็นแบบไหน ในวิชาจริยศาสตร์ก็มีสูตรความดีต่างกันมากมาย กลุ่มโซฟิสต์บอกว่า ดีที่การสำนึก วิเคราะห์ตนเอง โซเครตีสบอกว่า ความดีต้องมาจากความรู้ เพลโตต้องการให้ผู้นำเรียนรู้เรื่องปรัชญาเชิงผู้นำ ที่เน้นเหตุผลด้านปัญญาในการทำดีต่อสังคม อริสโตเติ้ลบอกว่า การเข้าถึงวิญญาณที่เปี่ยมด้วยเหตุผล นั่นคือ ต้นเค้าความสำนึกดี ชั่ว ส่วนค้านท์มองว่า เหตุผลที่บริสุทธิ์นั่นคือ ต้นทางไปสู่จริยธรรม


พอมาถึงนิเช่กลับนิยามความดีไม่ชัดและกลับสร้างความสับสนให้คนยุคนั้นว่า ความดีคืออยู่ในตัวเอง เหมือนไปยืนยันตามกลุ่มโซฟิสต์โน่น ซึ่งจริงๆ ก็เห็นแนวหรือแววของนิเช่ที่สะท้อนเรื่องอัตตาตัวตนของคนนี่เองเป็นแก่นที่จะผลักดันให้สร้างความดี ไม่ใช่พระเจ้าที่ไหน เขาจึงยอมรับว่า มนุษย์คือซุปเปอร์แมน สรุปว่า เขายกย่องมนุษย์มากกว่าพระเจ้า


อันที่จริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น หากยึดเอาตามบริบทของสังคมยุคนี้ ที่ล้วนอ้างสิทธิ อ้างกฎหมาย อ้างเสรีภาพตามแบบของโพสต์โมเดินเลย ซึ่งไปสอดคล้องกับสมัยหลวงพ่อพุทธทาสว่า "ตัวกูของกู" ปรากฏการณ์แนวคิดนี้ มันยิ่งทำให้ศาสนาสะเทือนไปด้วย เมื่อผู้คนไม่ยอมสยบต่อคัมภีร์แบบเก่า แต่ยกตนเป็นใหญ่ กลับมองข้ามหลักจริยธรรมง่ายๆไป ไม่เหมือนสังคมชาวจีนที่ได้รับอิทธิพลจากเต๋า ขงจื้อ มาสอนเรื่องความกตัญญู ว่าเป็นความดี โดยปิดฝังความเป็นตัวตนลง (ดีเพราะคนอื่น) ให้เลือนหายไป


สังคมปัจจุบัน มองกันไปอีกแบบ ว่าคนดี ความดี จะต้องมีฐานกล่าวคือ มีฐานะรุ่งรวย มีชื่อเสียง มีอำนาจ เป็นข้าราชการ เป็นผู้ให้ เป็นคนมักน้อย สันโดษ อ่อนน้อมถ่อมตน ช่วยเหลือคนอื่น มีจิตเมตตาต่อสัตว์ รักษ์ธรรมชาติ รักประเทศชาติ บ้านเมือง ฯ ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นภาพมายาความดีตามมา นั่นคือ ความดีแบบมายา ความดีแบบชั่วคราว ความดีเฉพาะกิจ เป็นความดีไม่ยั่งยืน ยิ่งคนรู้มาก ยิ่งทำความชั่วซับซ้อนขึ้น (ความรู้มาก ยิ่งเลวมาก : อ.บวรศักดิ์) กลายเป็นทางทำดีแข่งในมิติทางศาสนา


เพราะฉะนั้น ความดี คนดี จึงต้องนิยามและตีความนัยของบุคคลในสมัยนั้นเสมอ เพื่อมิให้หลงรากเหง้าของมัน ด้วยเหตุนี่ เราจึงต้องอาศัยฐานจริยธรรมมาจากศาสนา และจิตสำนึกในตนเองเป็นหลัก ในศาสนานั้น มีนิยามหลายสูตรว่า คนดี ความดีนั้น เป็นแบบไหน ในศาสนาที่นับถือพระเจ้า จะอิงความรัก ความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า เป็นเครื่องสื่อในการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น เหมือนได้พลังดลใจจากพระเจ้านั่นเอง ส่วนศาสนาที่ไม่อิงพระเจ้า จะอิงหลักสัจภาวะตามธรรมชาติเป็นสื่อในการสร้างความดี


สำหรับผู้เขียนมีรากฐานมาจากพุทธ จึงขอวิเคราะห์ความดีตามบริบทของพุทธนัย คำว่า ความดี เป็นคำนาม ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล เป็นภาวะนามธรรม ส่วนคนดี คือ ผู้สร้างกิริยาความดีให้เกิดภาพลักษณ์ จนมองเห็นว่า เป็นคนดี การเป็นคนดีจะต้องมีกรอบให้เป็น กล่าวคือ ในหลักพุทธกิริยา ในการสร้างกรรมดีนั้น หมายถึง การแสดงออกที่มีเจตนาเปี่ยมด้วยปัญญา เจตนา เมตตา ที่แสดงออกด้วยองค์ ๓ คือ กายกรรม วาทกรรม มโนกรรม


เมื่อใครแสดงกรรมออกไปย่อมมีผลใหญ่ ๒ ฐานคือ "ดี ไม่ดี" ยกเว้นอริยชน ที่มีผลอย่างเดียวคือ "กิริยากรรม" (อพยกฤต) การทำดี ทำชั่ว เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วไป ที่สังคมมองเห็นว่าดีหรือไม่ นั่นเพราะสังคมนั้นๆ อิงหลักศาสนาด้วย อิงหลักจิตวิทยาสังคมด้วย (ความรู้สึกสังคม) เมื่อแยกความดีออก จะพบว่า มี ๒ ประการคือ ๑) ความดีสำหรับตน ๒) ความดีสำหรับสังคม


อย่างแรกเป็นความดีที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก เช่นในครั้งพุทธกาลพระองค์จะเน้นความหลุดพ้นวัฏฏะหรือภพอย่างสิ้นเชิงในชาติมนุษย์คือ บรรลุนิพพาน (ปัจจุบัน) แต่พอมาถึงยุคนี้ เราไม่เห็นตนสำคัญเท่ากับการช่วยสังคมเป็นใหญ่ แนวคิดนี้จึงปรากฏเป็นการช่วยเหลือผู้คนให้ได้พร้อมกัน ไม่ตัดทางเฉพาะตน จึงกลายเป็นคตินิยมเรียกว่า "มหายาน" แปลว่า ยานที่ขนสัตว์ได้เยอะ นี่คือ ฝ่ายพุทธทางมหายาน


แต่สำหรับหีนยาน (ยานน้อยขนได้น้อย) หมายถึง ขนจิตตนเองเท่านั้น เพื่อให้บรรลุก่อนจึงมาช่วยเหลือผู้อื่น เช่น พระพุทธเจ้า ที่บรรลุแล้วจึงมาช่วยเหลือคนอื่น แต่ดูเหมือนสังคมยุคใหม่หาว่า เห็นแก่ตัวไป แนวคิดแบบนี้ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมปัจจุบันนั่นคือ เรียนหนังสือ ทำงาน เพื่อให้ตนเองสำเร็จก่อน จึงไปช่วยเหลือคนอื่น ถ้าไม่สร้างความสำเร็จ แล้วจะเอาอะไรไปสอน ไปช่วยคนอื่น ประเด็นนี้แล้วแต่มุมมอง ในฐานะพุทธฝ่ายหีนยาน ควรจะต้องยึดหลักตนเองเป็นสำคัญว่า "บรรลุความดีในตน" ก่อน จึงค่อยช่วยเหลือคนอื่น


ส่วนความดีแบบหลัง เป็นความดีที่สังคมส่วนใหญ่ต้องการ เพราะสะท้อนความดีที่เห็นความใจกว้างและความไม่เห็นแก่ตัว อันที่จริงความดีในสังคม ชุมชนนั้น เป็นการสร้างรากฐานความดีของตนเอง เช่นเดียวกัน ความดีส่วนตัวนั้น ก็เป็นฐานในการสร้างความดีแก่สังคมเช่นกัน แต่ดูเหมือนสังคมจะเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ มันเป็นไปได้ที่สังคมปัจจุบันเป็นสังคมอุดมด้วยปัญหา จึงต้องการคนดีมาแก้ปัญหา กระนั้น ก็อย่าลืมจุดยืนในการเอาชีวิต จิตวิญญาณของตนให้พ้น ให้รอดจากภพ จากชาตินี้ด้วย


ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ใครก็ตามที่รับอาสามารับใช้ประเทศชาติ บ้านเมืองหรือผู้นำในชุมชน ย่อมจะหาทางบรรลุนิพพาน (รู้แจ้งตนในปัจจุบัน) ยาก เนื่องจากว่า มีกิจกรรม มีงาน มีภาระมาก จึงหาโอกาส เวลาที่จะพิจารณาธรรมยาก นั่นหมายถึงว่า ความดีในตนที่สุดนั่นจะสิ้นลง กระนั้นก็มีบางกลุ่มมองว่า นี่คือ การสั่งสมปารมี อันนี้ถือว่า เข้าใจพุทธผิด ถ้าคิดไปถึงชาติหน้า อย่าหวังเลยว่า อนาคตภพจะดี แม้แต่ความดีพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้สรรเสริญว่าเป็นที่สุด ต้องทำดีให้ถึงที่สุดให้ได้


มันจึงเป็นไปได้ที่สังคมปัจจุบันหลงติดความดีกันทั่วบ้าน ทั่วเมือง ความดีที่สังคมสร้างขึ้นมาแบบมายา เราจึงสอนลูก สอนเยาวชนว่า ให้เป็นคนดีของสังคม ซึ่งยังไม่พอหรอก ต้องก้าวล่วงให้พ้นความดีนี้ให้ยิ่งขึ้นไป ทำดี อย่าติดดี (พุทธทาส) แล้วภพ แล้วชาติละ เรายังหวังเกิดอีกร่ำไปหรือไม่ ศาสนาที่นับถือพระเจ้านั้น มีแค่ชาติเดียว แต่พุทธขึ้นอยู่กับศักยภาพตนเองเป็นหลัก


ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเน้นที่ "กรรม" การกระทำด้วยตนเองเป็นใหญ่ คิด พูด ทำดีด้วยตนเอง ด้วยร่างกาย มือเท้า จิตใจ เพื่อให้พ้นทุกข์ทางปัญญานั่นคือ ความดีที่สูงสุดในตนเองเรียกว่า "อริยบุคคล" ส่วนการทำความดีในสังคมได้แค่อนุสาวรีย์ ชื่อเสียงเท่านั้น ไม่อาจข้ามพ้นภพ ชาติ วัฏฏะสงสารได้

-------------------๘/๔/๕๘-----------------------

คำสำคัญ (Tags): #ดีแบบไหน
หมายเลขบันทึก: 588610เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2015 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2015 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

I think the Buddha taught mainly the way to Nibaana. But on the way we should learn to recognize [dukkha, anicca and anatta] and and become free from the grip of [lobha, dosa, and moha]. The concepts of 'mahaayaana' and 'hinaayaana' come much later to justify the schism (or the different interpretation) of the Buddha teaching.

One can say that the Buddha Himself went for salvation of 'self' and after discovered the way, thought of salvation of others (more universal beings - beyond just 'man' and family and country but also devas, bhutas, ... ).

Thanks for this thought provoking article.

ทำให้มองเห็นหลักการทางพุทธศาสนาในอีกมิติหนึ่งนะครับอาจารย์...

ทำดี...เพื่ออวดดี

ทำดี...อย่าติดดี

ทำดี...อย่าหลงดี

ทำดี...เพราะความดี

ทำดี...ให้พ้นดี(อริยบุคคล)

ทำดี(เถอะ)...แล้วจะได้ดี(เอง)...

นะครับอาจารย์...ขอบคุณมาก ๆ ครับผม


คนดี ทำดี อธิบายยากเพราะชี้ชัดเจาะจงหรือฟันธงลงไปได้ไม่ชัดเจน แต่คนดี เป็นง่าย คิด พูดและทำได้ง่าย หากเนื้อแท้ของเขาหรือเธอเป็นคนดี ดิฉันมีความเชื่อว่าความดีมีความเป็นสากล โดยไม่กังวลว่ามันจะเป็นสากลในมุมมองของสังคมหรือไม่ ดังนั้น คนดีจะทำดีได้อย่างสม่ำเสมอและมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการสดุดีจากสังคม

ถามตัวเองนะคะว่าทำแบบไหนง่ายกว่ากัน

อยากแทรก..ความคิดเห็น..ข้อความที่ว่า..ตัวกูของกู..ท่านพุทธทาส..หมายความไว้..เพียงไม่ให้ยึดติด...เพราะ..มันยึดติดไม่ได้สังขาร..อันเป็นสัจจธรรม..เหมือนความดีความชั่ว..มันเป็นเพียงสมมุติธรรม..ท่านดาไลลามะ..สอนคนยุคนี้ให้..สร้างเมตตา..อันเป็นธรรมค้ำจุน..เพื่อนทุกข์สุขในสากลโลก

ชอบบันทึกนี้นะคะ

ทำให้เกิดคำถามว่านิยาม "ความดี" และ "คนดี" สำหรับคนแต่ละช่วงวัย เหมือน หรือต่างกันอย่างไร

ความดี และคนดี ในสังคมไทย เหมือนหรือต่างกับสังคมอื่นอย่างไร ถ้าเหมือนกันความดีก็เป็นสากล

สมัย ๔๐ ปีก่อนโน้นเคยถามอาจารย์ในชั่วโมงปรัชญาว่า ความดีสากลมีจริงหรือไม่?? จำไม่ได้แล้วว่าอาจารย์ตอบอย่างไร

สำหรับดิฉันการรักษาศีล ๕ ข้อไม่ตกหล่นก็ถือว่าได้ทำความดีที่ง่ายๆ ครบถ้วนแล้ว

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท