อบูญาลีละฮ์
อบูญาลีละฮ์ ลี บินอับดุลฆอนีย์

การจัดการกับปัญหาการแตกใบอ่อนในระหว่างการพัฒนาของผลทุเรียน


หลังเลิกงานเราก็ได้มา Evening Talk พูดคุยตามประสา ไร้สาระบ้าง มีสาระบ้าง มีเรื่องหนึ่งที่สนใจก็คือ เรื่องทุเรียนแตกใบอ่อนในช่วงที่ทุเรียนมีดอก ก็เลยไปหาความรู้ทางวิชาการจากตำราต้นสังกัดว่ามันจะมีวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ก็ได้ความว่า

การจัดการกับปัญหาการแตกใบอ่อนในระหว่างการพัฒนาของผลทุเรียน

ถ้าในช่วงที่ผลทุเรียนกำลังเจริญเติบโต มีการแตกใบอ่อน จะเกิดการแข่งขันกันระหว่างผลอ่อนและใบอ่อน ซึ่งใบอ่อนมีความสามารถในการดึงอาหารสะสมไปใช้ในการเจริญเติบโตของใบได้ดีกว่าผล ถ้าไม่มีการจัดการเพื่อควบคุมใบอ่อนที่ดีพอ ส่งผลดังนี้

  • ถ้าแตกใบอ่อนในระยะ 3-5 สัปดาห์หลังดอกบาน ส่งผลให้ผลอ่อนร่วงเป็นจำนวนมาก
  • ถ้าแตกใบอ่อนในระยะ 5-8 สัปดาห์หลังดอกบาน ซึ่งเป็นช่วงที่ผลทุเรียนต้องการอาหารปริมาณมากไปใช้ เพื่อขยายขนาดและขึ้นพูอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้ผลทุเรียนมีรูปทรงบิดเบี้ยว
  • ถ้าแตกใบอ่อนในระยะ 10-12 สัปดาห์หลังดอกบาน ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังสร้างเนื้อ มีผลทำให้เนื้อทุเรียนมีอาการแกน เต่าเผา และรสชาติไม่อร่อย

คำแนะนำในการจัดการกับปัญหาการแตกใบอ่อนในระยะติดผล

1.ป้องกันไม่ให้มีการแตกใบอ่อนในระยะ 1 เดือนหลังดอกบาน เพื่อป้องกันผลร่วงโดยการสำรวจทุเรียนทุกต้น และปลายกิ่งเพื่อติดตามการแตกใบอ่อนอย่างใกล้ชิด ถ้าพบว่าบริเวณตายอดของทุเรียนเริ่มคลี่เป็นระยะหางปลา ให้ฉีดพ่นใบให้ทั่วด้วยปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) อัตรา 100-300 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อปลิดใบอ่อน และสามารถยับยั้งพัฒนาการของตาใบได้นานประมาณ 3 สัปดาห์

2.ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการแตกใบอ่อนในระยะผลมีอายุ 5-8 สัปดาห์ เพื่อให้ผลทุเรียนขึ้นพูเร็วและมีทรงสวย ให้จัดการกับปัญหาการแตกใบอ่อนก่อนใส่ปุ๋ยทางดินเพื่อบำรุงผลโดย

2.1ถ้าตรวจพบใบอ่อนระยะหางปลา ให้ปลิดใบอ่อนและยับยั้งการพัฒนาการของตาใบ โดยทำเหมือนข้อ 1

2.2ถ้าตรวจพบใบอ่อนเลยในระยะหางปลา หรือใบเริ่มคลี่แล้ว ต้องทำให้ใบอ่อนเหล่านี้ มีการเจริญเติบโตอย่างช้าๆ ใช้อาหารอย่างช้าๆ ควบคู่กับการให้อาหารเสริมทางใบ เพื่อช่วยให้ทั้งใบอ่อนและผลอ่อนเจริญอยู่ด้วยกันได้ โดยการพ่นคาร์โบไฮเดรตสำเร็จรูปอัตรา 20 ซีซี + ปุ๋ยทางใบ สูตร 10-20-30 อัตรา 60 กรัม + กรดฮิวมิค อัตรา 20 ซีซี + สารมีพิควอทคลอไรด์ 1.5 % อัตรา 50 ซีซี ผสมรวมกันในน้ำ 20 ลิตร

3.แก้ไขปัญหาการแตกใบอ่อนในระยะสัปดาห์ที่ 8-10 หลังดอกบาน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเนื้อแกน เต่าเผา

3.1 ถ้าต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์น้อย

(ก) ให้ยับยั้งการแตกใบอ่อน โดยฉีดพ่นสารมีพิควอทคลอไรด์ 1.5 % อัตรา 50 ซีซี ผสมรวมกันในน้ำ 20 ลิตร

(ข) เมื่อดำเนินการตาม (ก) แล้ว ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการแตกใบอ่อนได้และพบว่ามีการแตกใบอ่อนระยะหางปลาน้อยกว่า 50% ของยอดทั้งหมด ให้ปลิดใบอ่อนและยับยั้งการพัฒนาของตาใบ ตามข้อ 1

(ค) ได้ดำเนินการตาม (ข) แล้ว ก็ไม่สามารถยังยั้งการพัฒนาของใบอ่อนได้หรือในกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลย ต้นทุเรียนขาดความสมบูรณ์ และมีการแตกใบอ่อนมากกว่า 50% ของยอด แสดงว่าผลิตผลของยอด แสดงว่า ผลิตผลจากต้นทุเรียนเหล่านี้มีโอกาสเป็นเนื้อแกน เต่าเผา มีสีไม่สม่ำเสมอ เนื้อและรสชาติไม่ดี ควรที่จะแยกออกต่างหากไม่ขายรวมกับผลิตผลจากต้นอื่น

3.2 ถ้าต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์เพียงพอ

(ก) มีการแตกใบอ่อนน้อยกว่า 50% ของยอดทั้งหมด จะไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพเนื้อ

(ข) มีการแตกใบอ่อนมากกว่า 50% ของยอดทั้งหมด ต้องทำให้ใบอ่อนเหล่านี้มีการเจริญเติบโตอย่างช้าๆ และให้อาหารอย่างช้าๆ ควบคู่กับการใช้อาหารเสริมทางใบโดยดำเนินการตามข้อ 2.2

หมายเลขบันทึก: 587740เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2015 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2015 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท