ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๖๖. ผู้นำระนาดทุ้ม



ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ ส่งหนังสือ ผู้นำระนาดทุ้ม บทสนทนากับ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ ว่าด้วยภาวะการนำ มาให้ อ่านแล้ววางไม่ลง เหมือนหนังสือทุกเล่มของท่าน ที่เต็มไปด้วยลีลา สาระ และปัญญา ในการตีความเรื่องภาวะผู้นำ จากเรื่องราวของสังคมไทย ที่เรานึกไม่ถึง

ท่านเสนอวัฒนธรรมการฟัง ที่สังเคราะห์มาจากเรื่องราวของดนตรี ที่วงดนตรีที่เล่นไพเราะมีชีวิตชีวา เกิดจากการฟังกัน และปรับเข้าหากัน เล่นเป็นวง

"ภาวะผู้นำมาจากการค้นพบ และเป็นการค้นพบตัวเองจากภายใน" (น. ๓๙)

ทั้งเรื่องการฟัง และการค้นพบจากภายใน มาบรรจบกับเรื่องหลักการเรียนรู้ ที่ผมเพียรขับเคลื่อนมาหลายปี ในลักษณะที่ผมจำขี้ปากคนอื่นมา (ที่จริงมาจากหนังสือ) แต่ของอาจารย์เจตนามาจากการสังเกตและสังเคราะห์ด้วยตนเอง จากเหตุการณ์ที่ตนสัมผัส

น่าเสียดายที่โครงการผู้นำแห่งอนาคต ผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ไม่เอา pdf file ขึ้นเว็บ ให้คนดาวน์โหลดฟรี

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จับความได้ว่า โครงการนี้ต้องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ แล้วก็ใช้วิธีการเสวนากับนักปราชญ์ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องภาวะผู้นำ ซึ่งผมสงสัยว่าวิธีวิทยาว่าด้วยการสร้างภาวะผู้นำแบบนี้ใช้ได้ผลจริงหรือไม่

ผมสงสัยว่า การสร้างผู้นำโดยการจัดโครงการสร้างผู้นำ แยกผู้นำออกมาจากชีวิตจริง ออกมาแสวงหาด้วยกระบวนการ ทางปัญญา ใช้ทฤษฎีนำ จะได้ผู้นำจริงหรือไม่

ผมเชื่อว่า คนเราทุกคนต้องพัฒนา/ฝึก ความเป็นผู้นำให้แก่ตนเอง และการศึกษาต้องบ่มเพาะภาวะผู้นำให้แก่นักเรียน ทุกคน ย้ำว่าทุกคน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล หรือชั้นเด็กเล็ก โดยที่การบ่มเพาะมาจากการเรียนแบบ "ค้นพบ" ด้วยตนเอง ตามที่ ศ. ดร. เจตนากล่าว วิธีการบ่มเพาะทีละเล็กละน้อย อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ประจำวันนั่นเอง แต่ไม่ใช่โดยวิธีสอนอย่างที่ วงการศึกษาไทยใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ต้องเรียนโดยการปฏิบัติ (action) แล้วใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)

การเรียนรู้แนวใหม่ ทุกคนบรรลุภาวะผู้นำ นำตนเอง และผลัดกันนำในทีมงาน โดยที่ทุกคนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในบริบทชีวิตประจำวันของตนเอง คือเป็น change agent นั่นเอง

จะบรรลุสภาพดังกล่าวได้ ต้องมีพัฒนาการตามแนวของ Chickering's seven vectorsคือพัฒนา (๑) สมรรถนะ (๒)อารมณ์ (๓) ความเป็นอิสระพร้อมกับความพึ่งพาซึ่งกันและกัน (๔) ปฏิสัมพันธ์ต่อกันแบบผู้มีวุฒิภาวะ (๕) อัตลักษณ์ (๖) เป้าหมายในชีวิต และ (๗) ความมั่นคงในคุณธรรม แล้วภาวะผู้นำจะค่อยๆ บ่มเพาะตัวเองขึ้นมาเอง นี่คือความเชื่อของผม

กลับมาที่หนังสือ ผู้นำระนาดทุ้ม ที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้นำในวัฒนธรรมไทย กับผู้นำในวัฒนธรรมฝรั่ง แตกต่างกัน ของเราเป็นผู้นำแนวระนาบ ในขณะที่ของเขาเป็นผู้นำแนวดิ่ง และ ศ. ดร. เจตนา เชื่อว่า ผู้นำสร้างไม่ได้ แต่เอื้อ หรือเปิด โอกาสให้เกิดได้ และท่านพูดอ้อมๆ ในทำนองว่า ไม่เชื่อเรื่องสร้างผู้นำที่เป็นตัวคนหรือเป็นวีรบุรุษ แต่เชื่อเรื่องสร้างภาวะผู้นำ (leadership) ซึ่งผมก็เชื่อเช่นนั้น และผมเชื่อไปไกลขนาดว่า การศึกษาที่ดี จะช่วยให้คนทุกคนงอกงามภาวะผู้นำขึ้นภายในตนได้

ตัวอย่างที่ ศ. ดร. เจตนา ยกมาสาธก คือวงปีพาทย์ และวงตะกร้อนั้น "ผู้นำ" แฝงตัวอยู่ในผู้เล่นหรือร่วมลงมือทำงาน/ กิจกรรมเดียวกันกับผู้ร่วมงาน ไม่ได้แยกตัวออกไปเป็นผู้ชี้นิ้ว อย่างในวัฒนธรรมฝรั่งที่มีวาทยากร

ศ. ดร. เจตนา ได้นำเอาเรื่อง จากวิทยาทานสู่การผลิตและจำหน่ายสินค้า : ความปั่นป่วนของอุดมศึกษา มาลงไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย เรื่องนี้ต้องตั้งสติอ่านให้ดี จะได้สาระที่ลุ่มลึกมาก

ผมติดใจข้อความ "การแสวงหาความรู้ของครูไทยคือการสกัดองค์ความรู้จากประสบการณ์เชิงปฏิบัติ และก็มักจะถนัดที่จะถ่ายทอดความรู้ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ" (น. ๑๑๕) ผมตีความว่า นี่คือการเรียนรู้โดยวิธีธรรมชาติ และหลังจากฝรั่งคิดค้นและยึดถือการวิจัยและการเรียนรู้ที่เน้นการแยกตัวออกจากการปฏิบัติมาหลายศตวรรษ บัดนี้การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ หมุนกลับไปหาของเก่าที่เป็นไปตามธรรมชาติ คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

ในหนังสือดังกล่าว ระบุถึงบทความ สุนทรียภาพแห่งการวิจัย บทความอมตะ ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคนควรได้อ่าน และกล่าวถึงอุดมการณ์ของอุดมศึกษาไว้อย่างลุ่มลึกยิ่ง



วิจารณ์ พานิช

๘ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 587291เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2015 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2015 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณคุณหมอที่ประมวลความรู้จากหนังสื่อผู้นำระนาดทุ้มของอาจารย์เจตนามาให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น ตลอดจนให้ความเห็นเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับวงการการศึกษาครับ

ผมเองกำลังศึกษาประเด็นเรื่องภาวะผู้นำอยู่เช่นเดียวกันครับ เป็นการศึกษาภาวะผู้นำที่สะท้อนผ่านวรรณคดีสันสกฤตเรื่องกิราตารฺชุนียของกวีภารวิครับ กระบวนการที่ใช้ศึกษาหลักคือการวิจารณ์เชิงปฏิบัติตามกรอบมโนทัศน์ของอาจารย์เจตนาครับ

หลังจากผ่านการสอบประมวลความรอบรู้แล้ว จึงจะเป็นการเสนอหัวข้อดังกล่าวครับ ใจจริงผมอยากอ่านบทความเรื่องภาวะผู้นำที่สะท้อนผ่านทัศนคติของคุณหมอให้มากกว่านี้ หากคุณหมอมีเวลาผมเรียนเชิญนะครับ ในวงการบ้านเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไป เหมือนที่ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ว่าไว้เลยครับ องค์กร หน่วยงาน หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นทางการจึงไปไม่ได้ไกลเท่าที่ควร

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท