ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๕๘. สัปดาห์รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ๔. การบรรยายของผู้ได้รับพระราชทานรางวัล



บ่ายวันอังคารที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๘ ก่อนพิธีพระราชทานรางวัลหนึ่งวัน เป็นกำหนดเชิญ ผู้รับพระราชทานรางวัล ไปเยือนศิริราชในตอนเช้า และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องผลงานที่ได้รับ พระราชทานรางวัล ในตอนบ่าย

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลในปีนี้ ได้แถลงข่าวไปแล้ว อ่านได้ที่ ,

เนื่องจากปีนี้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลท่านหนึ่งคือ Professor D. A. Henderson คุ้นเคยกัน เพราะท่าน เคยเป็นกรรมการรางวัลนานาชาติ ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ อยู่กว่าสิบปี และเพิ่งออกไปเมื่อ ๓ ปีก่อน ผมจึงไปร่วมรับประทานอาหารเที่ยงที่ศิริราชด้วย เพื่อถือโอกาสแสดงความยินดี

ผมถามท่านว่าตกใจกับการต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลไหม ท่านว่าตกใจ เพราะตอนเป็น กรรมการไม่เคยเข้าร่วมพิธีเลย ไม่คิดว่าการต้อนรับจะอลังการ์เช่นนี้ นี่ขนาดยังไม่ได้ไปเข้าพิธีพระราชทาน รางวัลที่พระที่นั่งจักรีฯ นะครับ

ผมนั่งรับประทานอาหารติดกับ Professor Akira Endo และถามท่านว่าท่านกินยา Statin หรือเปล่า ท่านบอกว่ากินมาสิบห้าปีแล้ว เพราะเจาะเลือดพบว่า โคเลสเตอรอลสูง หมอสั่งยานี้ให้กิน โดยไม่รู้ว่าท่าน เป็นผู้ค้นพบยานี้ ท่านจะไม่กิน แต่ภรรยาบังคับให้กิน ตอนนี้ท่านอายุ ๘๑ ปี

ในการบรรยายเรื่อง The Discovery of Statin ศาสตราจารย์ อาคิระ เอนโดะ ปูพื้นให้เราเข้าใจ เมตะบอลิสมของโคเลสเตอรอล ว่าจุดควบคุมการสร้างโคเลสเตอรอล อยู่ตรงปฏิกิริยาเปลี่ยน HMG-CoA ไปเป็น Mevalonate โดยมีเอ็นไซม์ HMG-CoA Reductase เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา โดยการสร้างส่วนใหญ่อยู่ที่ตับ การสร้างในตับถูกยับยั้งโดยโคเลสเตอรอลในอาหาร แต่ในคนการสร้างในตับเป็นแหล่งของโคเลสเตอรอล สำคัญกว่าอาหาร ดังนั้น ถ้าหาสารยับยั้งเอ็นไซม์ HMG-CoA Reductase ในตับได้ ก็จะลดระดับโคเลสเตอรอล ในกระแสเลือดได้ ดีกว่าหาวิธีไม่ให้ดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหาร

คนที่มีผลงานค้นพบที่ยิ่งใหญ่ จะต้องมีวิธีคิดที่คนอื่นคิดไม่ถึง ว่าเชื้อราบางชนิด อาจสร้างสารยับยั้ง HMG-CoA Reductase เพื่อใช้ป้องกันตัวเอง จากจุลชีพที่ต้องการสารกลุ่ม mevalonate เพื่อการเจริญเติบโต ท่านจึงหาเชื้อราจากดิน เอามาทดสอบกรองหาสารยับยั้ง HMG-CoA Reductase ตรวจเชื้อราไปได้ประมาณ ๖ พันชนิดก็พบสารที่ต้องการ ในเชื้อราชื่อ Penicillium critinum ในที่สุดสารนั้นได้ชื่อว่า Compactin

เอามาทดลองในคน ที่เรียกว่า Clinical trial phase 1 ตามด้วย phase 2 ในปี 1978 และ 1979 แต่ในปี 1980 บริษัท Sankyo ก็ระงับการทดลอง ท่านไม่ได้เล่ารายละเอียด แต่ตอนคณะกรรมการรางวัลพิจารณา ทราบว่าเพราะการทดลองใช้ขนาดยาสูงเกินไป ทำให้เกิดผลข้างเคียง

ในปี 1982 บริษัท Merck ผลิตยา Lovastatin เอามาเริ่มทดลองใช้รักษาภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ในปี 1987 US FDA ก็อนุมัติให้ใช้ได้ ผลการทดลองในคน พบว่ายาในกลุ่ม statins ลดระดับโคเลสเตอรอล ในเลือดลงได้ร้อยละ ๒๕ - ๓๕ ลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้หนึ่งในสาม และไม่พบผลข้างเคียง รุนแรง

ท่านบอกว่าเวลานี้มีคนประมาณ ๔๐ ล้านคนในโลกที่กินยา statins (แต่ผมว่า น่าจะมากกว่านั้นมาก คือน่าจะหลายร้อยล้านคน) และในปี 2007 บริษัทยาขายยากลุ่มนี้ได้เป็นเงิน ๓๗,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ

ศาสตราจารย์ Donald A. Henderson บรรยายเรื่อง The Threat of a Virus เล่าเรื่อง Ebola virus ว่าพบโรคและเชื้อตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๖ ที่ประเทศ ซาอีร์ (Zaire) ระบาดอยู่ไม่ถึง ๓ เดือนก็สงบ เรียกว่า "โรคไข้เลือดออก" ผู้ป่วย ๒๘๐ คน รวมทั้งพนักงานโรงพยาบาล ๑๗ คนที่ตาย ๑๑ คน

ระหว่างปี ๑๙๗๖ ถึง ๒๐๑๒ มีการระบาด ๑๗ ครั้ง แต่ละครั้งมีคนเป็นโรค ๑๗ - ๔๒๕ ราย อัตราตายร้อยละ ๕๐ - ๗๕ และสงบลงภายในเวลาไม่เกิน ๒ - ๓ เดือน และระบาดอยู่ในบริเวณอัฟริกากลาง ที่ประเทศ สาธารณรัฐคองโก (เดิมชื่อซาอีร์) และประเทศรอบๆ

ระบาดครั้งหลังสุดตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๖ ถึงปัจจุบัน ที่ประเทศ กินี ไลบีเรีย และเซียราลีโอน ซึ่งอยู่ทางปลายสุดของทวีปอัฟริกาฝั่งตะวันตก จนถึงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๘ มีคนเป็นโรค ๒๑,๑๗๑ คน ตาย ๘,๓๗๑ คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดโรคกว่า ๕๕๐ คน กว่าครึ่งตาย

เชื้อโรคแพร่โดยการสัมผัส ไม่ใช่โดยการไอหรือจาม วิธีป้องกันการติดโรค ทำโดยแยกผู้ป่วยไว้ ที่สถานพยาบาล หรือที่บ้าน จัดอาหารให้ ห้ามเยี่ยม คนสัมผัสผู้ป่วยต้องสวมกาวน์คลุมศีรษะและใบหน้า สวมถุงมือและรองเท้า คือปกคลุมร่างกายทุกส่วน ศพผู้ป่วยใส่ถุงมิดชิด เคลื่อนย้ายโดยทีมพิเศษ ฝังในหลุมลึกมาก เฝ้าระวังคนอยู่ในบ้านเดียวกัน ๒๑ วัน

อาการของโรคในปี ๑๙๗๖ กับปัจจุบันไม่เหมือนกัน แสดงว่าเชื้อไวรัสมันเปลี่ยนแปลงปรับตัว อยู่ตลอดเวลา สะท้อนว่ามนุษยชาติเรามีโอกาสเผชิญโรคระบาดใหญ่สูงมากในอนาคต ประเทศต่างๆ ต้องเตรียมขีดความสามารถให้ ตรวจพบได้เร็ว วินิจฉัยได้ และดำเนินการควบคุมอย่างรวดเร็ว โดยต้องเตรียม ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการ และนักระบาดวิทยาภาคสนาม

กำลังมีการพัฒนายา และวัคซีน อย่างเร่งรีบ

มีผลต่อการเดินทางระหว่างประเทศ มีการลดเที่ยวบินและขนส่งสินค้า ไป/จาก ประเทศที่มีการระบาด และมีการตื่นตระหนก

การได้ฟังปาฐกถาโดยคนที่รู้จริงอย่างนี้ ประเทืองปัญญายิ่ง



Prof. Akira Endo

โครงสร้างยา และภาพเชื้อรา

Prof. Donald A. Henderson

Ebola เป็นโรคติดจากสัตว์สู่คน ค้างคาวเป็นแหล่งเชื้อ


ผลกระทบจาก อีโบลา ระบาด

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 586797เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2015 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท