เงินมีเพียงพอ หากใช้เป็น



บ่ายวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ ผมไปร่วมประชุม คณะอนุกรรมการเครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษา ที่ สกอ. ที่มีรองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ เป็นประธาน โดยท่านบอกว่าเครือข่ายนี้กำลังจางลงไป งบประมาณก็ได้น้อยลง ผมไม่ได้เป็นกรรมการ แต่เป็นที่ปรึกษา

แต่เมื่อเห็นรายละเอียดของโครงการย่อยต่างๆ ตัวกิจกรรมของโครงการ งบประมาณ และเครือข่ายที่ทำงานแล้ว ผมกลับมองว่านี่คือโอกาสในการปฏิรูปเครือข่ายนี้

เพราะเกิดวิกฤต จึงเห็นโอกาส เป็นโอกาสที่จะคิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ทำซ้ำแบบเดิมๆ ที่ได้ผลน้อย

เครือข่ายนี้ เท่าที่เป็นอยู่ ใช้เงินมาก ได้ผลน้อย เพราะจัดการแบบ project-based กระจัดกระจาย /แยกส่วน (fragmented) และใช้งบประมาณ รายปี ซึ่งไม่เหมาะต่อการทำงานพัฒนา ที่ต้องทำต่อเนื่อง และทำเป็นโปรแกรม มีการจัดการแบบ program-based มีเกณฑ์ในการติดตามประเมินผล มีเกณฑ์วัดความสำเร็จ และมีการจัดการแบบ evidence-based ให้เงินสนับสนุนตามผลงานที่เกิดขึ้น

ที่ทำอยู่นี้ ผมมองว่า จัดการแบบ "แบ่งเค้ก"

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เงินสนับสนุนโปรแกรม ส่วนใหญ่ควรมาจากนอกเครือข่าย คือมาจากภาคีของ เครือข่าย ที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากผลงานในโปรแกรมนั้นๆ

ผมให้ความเห็นว่า รูปแบบการจัดการเครือข่ายนี้ เป็นวิธีการแห่งอดีต ควรมีการประเมิน ความสำเร็จ/ไม่สำเร็จของการลงทุนในเครือข่าย และกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ผมมองว่า ตัวเป้าหมายที่แท้จริงคือ University Engagement คือการที่สถาบันอุดมศึกษา/ระบบอุดมศึกษา ไม่ลอยตัว แต่เข้าไปแนบแน่นอยู่กับสังคม ในทุก sector

แต่ละสถาบันอุดมศึกษา สามารถวาง "ตำแหน่งแห่งที่" (positioning) ของตนเองว่าจะใกล้ชิด พื้นที่ / sector / กิจกรรม ใด เป็นพิเศษ

หากมุมมองของผมถูกต้อง และเห็นพ้องกัน ก็ควรยกเลิก "เครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษา" ของเดิม และสร้างเครือข่ายใหม่ มีระบบการจัดการแบบใหม่ โดยจัดให้มีการประเมินความสำเร็จ/ไม่สำเร็จ และข้อเรียนรู้จากเครือข่าย นำมาสร้างเครือข่ายใหม่ ที่มีวิสัยทัศน์ใหม่ เป็น "เครือข่ายอุดมศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑" ที่เน้นการเอื้ออำนวยให้ระบบอุดมศึกษาเข้าไปแนบแน่นกับสังคม ในทุกด้าน อย่างบูรณาการ


วิจารณ์ พานิช

๒๑ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 586391เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2015 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2015 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท