สอนอย่างมือชั้นครู : ๓๒. การให้เกรด



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๓๒ นี้ ตีความจาก Part Six : Assessing Learning Outcomes มี ๕ บท ตอนที่ ๓๒ ตีความจากบทที่ 31. Grading Summative Assessments

สรุปได้ว่า การให้เกรดเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ (แบบรู้จริง) ให้แก่นักศึกษา ไม่ใช่แค่เครื่องมือตัดสินได้-ตก การให้เกรดที่ดี มีส่วนที่เป็นข้อมูลป้อนกลับ (feedback) แก่นักศึกษาไปในตัว สำหรับให้นักศึกษาปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง คือ summative evaluation ที่ดีอย่างที่ระบุในหนังสือเล่มนี้ จะมีส่วนเป็น formative assessment และ constructive feedback ให้แก่นักศึกษาไปในตัว กล่าวได้ว่า การสอบที่ดีเป็นส่วนหนึ่ง (integral part) ของการเรียนการสอน

เกรด เป็น feedback ทั้งต่อนักศึกษา และต่ออาจารย์ เกรดบอกนักศึกษาว่าสมรรถนะ (performance) ของนักศึกษาในวิชานั้นเป็นอย่างไร และบอกอาจารย์ว่า ประสิทธิผลของการสอนของตนเป็นอย่างไร


ความหมายของเกรด

หนังสือเล่มนี้บอกว่า ระบบเกรดเริ่มปี ค.ศ. ๑๗๘๓ แล้วมีวิวัฒนาการต่อมา จนใช้เกรด A, B, C, D, F และมีการให้ความหมายของเกรดต่างๆ กัน เมื่อถามว่า ความแตกต่างของการได้เกรด A กับเกรด C ดำรงอยู่นานเท่าไร คำตอบของอาจารย์ร้อยละ ๕๓ คือ อย่างน้อย ๒ - ๕ ปี โดยที่หนึ่งในสามของพ่อแม่ และนักธุรกิจเห็นด้วย แต่ตัวนักศึกษาเองมีความเห็นต่าง คือเพียงร้อยละ ๑๔ เท่านั้นที่เห็นด้วย แต่ร้อยละ ๔๕ เห็นว่าไม่มีผลใดๆ เลย

อย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นหน้าที่ของอาจารย์ ที่จะต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษา และให้เกรดตามนั้น รวมทั้งต้องทำหน้าที่ยืนหยัดไม่ให้ "เกรดเฟ้อ"

หนังสือให้ความหมายของเกรดไว้ดังนี้

  • A หมายถึงผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ดีเยี่ยม นักศึกษามีความรู้สาระวิชาดีเยี่ยม และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้น ในหลากหลายบริบท นักศึกษาที่ได้เกรด A เป็นคนที่เอาจริงเอาจัง มีแรงจูงใจ และมีพรสวรรค์ต่อวิชานั้น
  • B หมายถึงผลสัมฤทธิ์ดีแต่ไม่ถึงกับเด่น รู้สาระวิชาอย่างดี สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้ดี แต่ไม่ทุกบริบท
  • C หมายถึงผลสัมฤทธิ์ในระดับพอใช้ รู้สาระวิชาดีในบางด้าน และประยุกต์ได้ ในบริบทที่แคบ นักศึกษาอาจมีทักษะการเรียนรู้ที่ไม่ดี ความสนใจ และแรงจูงใจต่ำ นักศึกษาบางคนอาจสอบได้เกรดนี้เพราะเก่งด้านการสอบ
  • D หมายถึงเข้าใจสาระวิชาน้อย ไม่มีแรงบันดาลใจต่อการเรียน
  • F หมายถึงนักศึกษามีสมรรถนะต่ำกว่าการตอบแบบเดาสุ่ม (random chance) นักศึกษาไม่มีความสนใจ แรงบันดาลใจ และความสามารถ


การประเมินได้-ตกกับระบบการให้เกรด

การให้เกรดต่อการประเมินแบบได้-ตก (summative evaluation) มี ๒ แบบ คือ แบบอิงเกณฑ์ กับแบบอิ่งกลุ่ม

แต่ในบริบทไทย กล่าวกันว่า มีแบบ "อิงกู" และที่อัศจรรย์ยิ่งกว่าคือแบบ "อิงไก่" เจ้าของเรื่องเล่าว่าในวิทยาลัยแห่งหนึ่งนานมาแล้ว อาจารย์ท่านหนึ่งมีบ้านพักอยู่ในบริเวณวิทยาลัย และขายส้มตำไก่ย่างที่บ้าน นักศึกษาได้รับเงินค่าอาหารจากราชการ ก็จะไปอุดหนุนส้มตำไก่ย่างและจดหนี้ไว้ เมื่อเงินค่าอาหารออกก็นำไปจ่ายตอนต้นเดือน ต่อมามีการค้นพบว่านักศึกษาคนไหนไปกินไก่ย่างบ่อย จะได้คะแนนดี จึงเกิดคำเล่าลือวิธีตัดเกรดแบบ "อิงไก่" ซึ่งหากมีจริงก็ไม่ควรเอาเยี่ยง


การตัดเกรดแบบอิงกลุ่ม (Norm-Referenced Grading)

การตัดเกรดแบบอิงกลุ่มมีจุดอ่อน ๓ ประการ (๑) เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการเรียนเป็นทีม เพราะจะทำให้นักศึกษามุ่งแข่งขันกัน (๒) อยู่บนสมมติฐานว่าการกระจายของคะแนนเป็น normal curve ซึ่งในหลายกรณีไม่เป็นจริง (๓) การให้เกรดไม่อิงมาตรฐานใดๆ ดังนั้นหากนักเรียนทั้งชั้นเรียนอ่อน ก็จะยังมีคนได้เกรด A อยู่ดี และในทางตรงกันข้าม ชั้นเรียนที่มีแต่เด็กเก่ง ก็จะยังมีคนได้ C

แต่การตัดเกรดแบบนี้ก็มีข้อดี คือ (๑) อาจารย์สามารถออกข้อสอบที่ยาก โดยนักศึกษาจะไม่ได้เกรดต่ำกว่าปกติ (๒) ป้องกันเกรดเฟ้อได้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันวิธีตัดเกรดแบบนี้ไม่เป็นที่นิยม ด้วยเหตุผล ๒ ข้อ คือ (๑) การศึกษาในปัจจุบันเน้นความร่วมมือเรียนเป็นทีม ต้องการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมให้แก่นักศึกษา (๒) เป้าหมายของอุดมศึกษาในปัจจุบันไม่ใช่การคัดเด็กอ่อนออก แต่เน้นการช่วยส่งเสริมให้เด็กเรียนสำเร็จ


การตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์

ในการตัดเกรดแบบนี้ อาจารย์ต้องกำหนดเกณฑ์ของการให้เกรดไว้ล่วงหน้า โดยกำหนดตามเป้าหมายผลลัพธ์ของการเรียนรู้ นักศึกษาแต่ละคนจะได้เกรดตามผลงานของตน ไม่เกี่ยวกับผลงานของนักศึกษาคนอื่น และหากผลลัพธ์ของการเรียนรู้ในชั้นดีมาก นักศึกษาอาจได้เกรดเพียง ๒ กลุ่มคือกลุ่ม A กับ B หรือในทางตรงกันข้าม หากนักศึกษาทั้งชั้นเรียนอ่อนมาก นักศึกษาอาจได้เกรด C, D และ F เท่านั้น ก็ได้ การตัดเกรดแบบนี้จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนเป็นทีม

แต่การตัดเกรดแบบนี้ก็มีจุดอ่อน ตรงที่กำหนดเกณฑ์ให้แม่นยำยาก แต่เมื่ออาจารย์มีประสบการณ์มากขึ้น ก็จะกำหนดเกณฑ์ให้แม่นยำได้ และสามารถออกข้อสอบ และตรวจข้อสอบ ให้มีอำนาจจำแนกนักศึกษาเก่งกับไม่เก่งออกจากกันได้


คุณภาพของระบบเกรด

ความแม่นยำ

ปัจจัยของความแม่นยำในการให้เกรดได้แก่

  • เกรดสุดท้าย มาจากผลการทดสอบบ่อยครั้ง และหลากหลายรูปแบบ
  • ออกข้อสอบที่สะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา (ดูตอนที่ ๓๐)
  • ให้น้ำหนักการทดสอบที่ลำดับความสำคัญของ มโนทัศน์ (concept), หลักการ (principle), และความสัมพันธ์ (relationship)
  • คำสั่งที่กระจ่างชัด ในข้อสอบ และคำมอบหมายชิ้นงาน
  • คำเฉลยข้อสอบ ที่ให้มีคำตอบที่ถูกต้องได้หลายคำตอบ
  • ตรวจสอบว่าข้อสอบมีอำนาจจำแนกแยกแยะ ข้อสอบที่นักศึกษาทุกคนทำถูก หรือที่นักศึกษาทุกคนทำผิด ควรคัดออก
  • กำหนดมาตรฐานการให้เกรดเหมาะสมกับระดับของนักศึกษา


ความคงเส้นคงวา (consistency)

ความคงเส้นคงวาหมายถึง นักศึกษาทุกคนได้รับการตรวจข้อสอบและให้เกรดในมาตรฐานเดียวกัน ปัจจัยของความคงเส้นคงวาได้แก่

  • มีคำเฉลยข้อสอบที่ชัดเจน ไว้ใช้เป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ตรวจข้อสอบหลายคน
  • ผู้ให้เกรดหลายคนต้องประชุมหาฉันทามติร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีคำตอบที่มีปัญหา
  • ไม่ให้ผู้ตรวจรู้ชื่อนักศึกษา เพื่อป้องกันอคติ


มีคุณค่าต่อการเรียนรู้

ระบบการให้เกรดต้องไม่ใช่แค่เพื่อให้สอบผ่าน ต้องมีคุณค่าส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ปัจจัยที่ทำให้มีคุณค่าได้แก่

  • อาจารย์ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีเรียน วิธีเขียน วิธีแก้ปัญหา และวิธีทำงาน กับนักศึกษาในชั้น ตรงนี้ผมมีความเห็นว่า ควรให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองด้วย โดยอาจารย์ช่วยเอื้อให้เกิดได้ในกระบวนการ AAR/Reflection ที่จะกล่าวต่อไป
  • แจกเอกสาร ตารางเกณฑ์การให้คะแนน (grading rubric) แก่นักศึกษาก่อนการสอบ แบบเรียงความ หรือก่อนให้ชิ้นงาน
  • อธิบายตารางเกณฑ์การให้คะแนนที่แจก เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาเข้าใจ
  • ให้นักศึกษาดูตัวอย่างคำตอบหรือชิ้นงานที่ดีเยี่ยม เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจเกณฑ์ ของผลงานดีเยี่ยม ให้ดูก่อนมอบหมายชิ้นงาน หรือข้อสอบ
  • ในกรณีของชิ้นงานเขียน เมื่ออาจารย์ให้ "การประเมินเพื่อพัฒนา" (formative assessment) ต่อร่างแรกแล้ว ให้โอกาสนักศึกษานำไปปรับปรุง
  • ให้คำชมต่อส่วนที่นักศึกษาทำถูกต้อง เพื่อเป็นทั้งกำลังใจ และเป็นข้อเรียนรู้
  • ให้คำวิพากษ์ที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่ใส่เครื่องหมาย "?" หรือ "อะไร"
  • ระบุประเด็นสำคัญที่ควรปรับปรุง ให้ตรงกับจุดเน้นในตารางเกณฑ์การให้คะแนน
  • วิพากษ์ผลงาน อย่าวิพากษ์ตัวนักศึกษา
  • เมื่อคืนกระดาษคำตอบให้นักศึกษา อาจารย์ต้องทบทวนให้นักศึกษาเข้าใจเป้าหมาย ของการสอบและข้อสอบ และลู่ทางที่นักศึกษาจะพัฒนาการสอบของตนเอง เน้นที่ข้อสอบที่มีคนทำผิดมาก
  • ในกรณีที่มีนักศึกษาที่เรียนอ่อนมาก หรือมีปัญหาการเรียน อาจารย์ควรส่งไปขอ ความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือด้านการเรียนของนักศึกษา ผมมีข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัย และโรงเรียนของไทยขาดกลไกนี้


การให้คะแนนแก่คำตอบข้อสอบแบบเขียนตอบ

วิธีการให้คะแนนข้อสอบแบบนี้มี ๓ แบบ ที่มีข้อดีข้อเสียดังต่อไปนี้


วิธีให้คะแนนแบบแยกให้ตามประเด็น (Atomistic Grading)

วิธีนี้อาจารย์กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะให้น้ำหนักคะแนนด้านเนื้อหา (content) ของคำตอบเท่าไร ให้น้ำหนักเท่าไรต่อ รูปแบบ (format), การเรียบเรียง (organization), คุณภาพของข้อมูลหลักฐาน (quality of data or evidence), การให้เหตุผล (logic of reasoning), สไตล์ (style), และคุณภาพของการเขียน (mechanics : grammar, punctuation and spelling)

ในด้านเนื้อหา แนะนำให้อาจารย์โฟกัสที่ประเด็นสำคัญลำดับต้น ๔ - ๕ ประเด็น กำหนดน้ำหนักคะแนนไว้ล่วงหน้า และแจ้งให้นักศึกษาทราบก่อนสอบ จะยิ่งดีหากมีข้อสอบให้ซ้อมทำ และซ้อมให้คะแนน

ข้อด้อยของการให้คะแนนวิธีนี้คือ เสียเวลาและแรงงานมาก รวมทั้งเปิดช่องให้นักศึกษาประท้วง หรือขอคะแนนเพิ่ม และหากมีผู้ให้คะแนนหลายคน ก็ยากที่จะให้คะแนนด้วยมาตรฐานเดียวกัน ยิ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อข้อสอบต้องการวัดความคิดระดับสูง (higher order thinking) ที่มีคำตอบที่ถูกต้อง ได้หลายคำตอบ


วิธีให้คะแนนแบบวินิจฉัยภาพรวม (Holistic Grading, global grading, single impression scoring)

อาจารย์ให้คะแนนโดยมองภาพรวมของคำตอบ อาจารย์ที่มีประสบการณ์จะทำงานนี้ได้เร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และยุติธรรม รวมทั้งเหมาะต่อการให้คะแนนคำตอบของข้อสอบที่ต้องการวัดความคิดขั้นสูง ที่มีคำตอบที่ถูกต้องได้หลายแบบ

วิธีให้คะแนนแบบนี้มี ๒ แนว คือ

(๑) แนวอุปนัย (inductive holistic grading) ใช้ในกรณีชั้นเรียนเล็ก อาจารย์อ่านคำตอบ แล้วให้เกรดคร่าวๆ และแยกกองคำตอบตามเกรด A, B, C, D, F แล้วเขียนคำบรรยาย คุณลักษณะของคำตอบ แต่ละกลุ่ม ส่งให้นักศึกษาตอนแจกคำตอบคืนพร้อมคะแนน โดยอาจเขียนคำแนะนำ ป้อนกลับแก่นักศึกษา เป็นรายคนด้วย แนวทางนี้มีจุดอ่อนสองข้อ คือ (ก) ค่อนข้างเป็นการให้คะแนน แบบอิงกลุ่ม (ข) นักศึกษาไม่ทราบเกณฑ์การให้คะแนนล่วงหน้า

(๒) แนวนิรนัย (deductive holistic grading) เหมาะสำหรับชั้นเรียนทุกขนาด ข้อดีคือนักศึกษาได้รู้ เกณฑ์การให้คะแนนล่วงหน้า โดยอาจารย์เลือกประเด็นสำหรับให้คะแนนล่วงหน้า ๔ - ๕ ประเด็น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ผู้เชี่ยวชาญอาจให้คำตอบในเรื่องนั้นๆ ครอบคลุมถึง ๒๐ ประเด็น แต่สำหรับมือใหม่ อย่างนักศึกษา การคาดหวังความครอบคลุมขนาดนั้นไม่เหมาะสม หนักเกินไป ๔ - ๕ ประเด็น เหมาะสมหรือพอดี ส่วนประเด็นอื่นๆ ค่อยเอาไว้ในข้อสอบข้ออื่น หรือคราวอื่น

ตัวอย่างประเด็นของเกณฑ์ให้คะแนน ได้แก่

  • ตอบตรงคำถาม ทำตามคำสั่ง (ข้อนี้เหมาะสำหรับมือใหม่มากๆ เช่นนักศึกษาชั้นปีที่ ๑)
  • จดจำสาระได้ดีในด้าน เนื้อหา ภาพ นิยาม สมการ หรือข้อความในตำรา
  • ใช้ศัพท์เทคนิคได้อย่างถูกต้อง
  • แสดงความเข้าใจสาระ ของเนื้อหา และในตำรา ได้ถูกต้อง
  • สามารถอ้างอิงตำรา หรือแหล่งความรู้ได้ถูกต้อง
  • สามารถจัดระบบความรู้ได้ถูกต้องตรงตามหลักวิชา
  • วัดได้แม่นยำ ข้อมูลมีคุณภาพ
  • บอกข้อจำกัด สามารถนำเสนอผล และข้อสรุปได้ดี
  • อธิบายได้ชัดเจน
  • กระชับ ประหยัดคำ
  • ให้คำโต้แย้งได้น่าเชื่อถือ (มีความคล้องจอง มีหลักฐาน และมีเหตุผล)
  • รูปแบบประณีตเหมาะสม (สะกดการัณต์ ไวยากรณ์ เครื่องหมายวรรคตอน)
  • สไตล์การเขียน เหมาะสมต่อวิชา และงานที่มอบหมาย
  • ความริเริ่มสร้างสรรค์ด้านความคิด การออกแบบ และทางออก

หลังจากเลือกประเด็นในการให้คะแนนแล้ว อาจารย์เขียนเกณฑ์ในการให้เกรด A, B, C, D, F เกรดละหนึ่งย่อหน้า แจกแก่นักศึกษา และทำความกระจ่างร่วมกัน

วิธีให้คะแนนแบบวินิจฉัยภาพรวมนี้มีจุดอ่อนที่ไม่มีการให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) ในแต่ละประเด็น แก่นักศึกษา


วิธีให้คะแนนแบบวิเคราะห์ หรือแบบผสม (Analytical Grading : The Effective Synthesis of Atomistic and Holistic)

เป็นการผสมระหว่างแบบแยกตามประเด็น และแบบวินิจฉัยภาพรวม ทำโดยดำเนินการตามแบบ วินิจฉัยภาพรวม คือเลือกให้คะแนนเพียง ๔ - ๕ ประเด็น ระบุระดับสมรรถนะ (performance level) ของแต่ละประเด็น และเขียนเกณฑ์การให้ A, B, C, D, F ของแต่ละระดับสมรรถนะ ของแต่ละประเด็น เวลาให้คะแนน ให้แยกแต่ละประเด็น แล้วจึงนำคะแนนมาเฉลี่ย วิธีนี้จะให้คำแนะนำป้อนกลับ แก่นักศึกษาได้เป็นรายประเด็น

อาจารย์ควรทำตารางให้คะแนน (rubric) ไปพร้อมกับการออกข้อสอบ และใช้ตาราง ๑ แผ่นสำหรับให้คะแนนนักศึกษาแต่ละคน ตอนตรวจให้คะแนนผลงานครูทำเครื่องหมายคำตอบที่ตรง หรือมีน้ำหนัก บนกระดาษคำตอบ พร้อมทั้งอาจเขียนคำแนะนำป้อนกลับลงไปด้วย หลังจดคะแนนคืนกระดาษคำตอบ พร้อมแผ่นตารางให้คะแนนแก่นักศึกษา

หนังสือให้เว็บไซต์สำหรับค้นตาราง analytical rubrics สำหรับนำมาใช้งาน เช่นที่ www.teach-nology.com/web_tools/rubrics, www.rcampus.com/rubricshellc.cfm?mode=gallery&sms=home&srcgoogle&gclid=CNSCsu3PmZMCFQv_sgodBPO_xA และ http://myt4l.com/index.php?v=pl&page_ac=view&type=tools&tool=rubricmaker


การให้เกรดแก่รายงานทางห้องปฏิบัติการ

รายงานทางห้องปฏิบัติการเป็นการเขียนในรูปแบบพิเศษ แต่การให้คะแนนก็ยึดถือหลักการเหมือน ที่กล่าวแล้วข้างต้น โดยมีคำถามจำเพาะ ๖ คำถาม ที่ใช้ในการให้คะแนน ได้แก่

  • นักศึกษาเข้าใจประเด็นปัญหาดีแค่ไหน และจัดการกับปัญหาได้ดีเพียงใด
  • นักศึกษาระบุสมมติฐานชัดเจนเพียงใด
  • นักศึกษานำเสนอผลอย่างไร การนำเสนอเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ ได้นำเสนอผลครบถ้วนหรือไม่
  • นักศึกษาได้นำเสนออย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างชัดเจน และจัดระบบการนำเสนออย่างดีหรือไม่
  • นักศึกษาได้แสดงทักษะด้านการวิเคราะห์อย่างดี ในการนำเสนอผล และบทวิจารณ์ หรือไม่
  • นักศึกษาแสดงทักษะในวิธีวิทยาทางวิทยาศาสตร์เพียงใด

ในรายวิชาสำหรับนักศึกษาปีแรกๆ อาจารย์สามารถจัด scaffolding ให้แก่นักศึกษาได้ โดยหาตัวอย่างรายงานที่ดีมาให้ศึกษา และให้ฝึกเขียนรายงานทีละส่วน รวมทั้งให้นักศึกษาทำความเข้าใจ grading rubrics ดังตัวอย่าง ที่นี่

ในหนังสือ เอ่ยถึงการวิจัยของ Rodgers (1995) ที่บอกว่าวิธีให้เกรดแบบแยกให้ตามประเด็นใช้เวลา ๑๕ - ๒๐ นาที ต่อนักศึกษาหนึ่งคน แต่เมื่อใช้วิธีผสม ใช้เวลาเพียง ๓.๕ - ๔ นาที


วิธีให้เกรดส่วนความประณีตในการเขียน อย่างรวดเร็วและนักศึกษาก็ได้เรียนและปรับปรุงตนเอง

ส่วนความประณีตในการเขียนนี้ หนังสือใช้คำว่า mechanics หมายถึงความถูกต้องด้าน ตัวสะกด การันต์ วรรคตอน ไวยากรณ์ โครงสร้างประโยค และการเลือกใช้ถ้อยคำ

วิธีที่แนะนำในหนังสือนี้ ยอดเยี่ยมมาก อาจารย์ได้ช่วยให้นักศึกษาปรับปรุงตนเอง โดยที่อาจารย์มีวิธีทำงานที่รวดเร็วลงแรงไม่มากเกินไป

อาจารย์บอกนักศึกษาว่า ส่วนความประณีตด้านภาษานี้มีคะแนนด้วย ระบุน้ำหนักไว้ล่วงหน้า และบอกว่าอาจารย์จะสุ่มตรวจหน้าเดียว และให้คะแนนตามจำนวนจุดที่ผิด เช่นหากผิดไม่เกิน ๕ ที่ ให้คะแนนเต็ม ๒๐ หากผิด ๖ - ๑๐ ที่ ได้ ๑๕ คะแนน หากผิด ๑๑ - ๑๕ ที่ ได้ ๑๐ คะแนน หากผิด ๑๖ - ๒๐ ที่ ได้ ๕ คะแนน หากผิดเกิน ๒๐ ที่ ได้ ศูนย์คะแนน

ตอนตรวจข้อสอบอาจารย์ใช้ปากกาแดงทำเครื่องหมายตรงบรรทัดที่มีที่ผิด โดยไม่บอกว่าผิดอย่างไร เมื่อตรวจและให้คะแนนแล้ว คืนกระดาษคำตอบแก่นักศึกษา ให้เวลา ๓ - ๔ วัน ไปค้นว่าที่ถูกเป็นอย่างไร และเขียนด้วยปากกาสีอื่น นำมาส่งอาจารย์เพื่อแลกคะแนนคืน

ด้วยวิธีนี้ นักศึกษาก็จะได้ฝึกความประณีตถูกต้องด้านภาษา


วิธีให้เกรดแบบอิงผลงาน (Outcome-Based Grading)

เป็นวิธีที่เมื่อใช้จนคุ้นเคยแล้ว นักศึกษาชอบมากกว่าวิธีที่ใช้กันตามปกติ

เป็นวิธีที่ให้เป็นความรับผิดชอบของนักศึกษาที่จะต้องทำงาน เพื่อนำผลงานมาแลกเกรด โดยมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า สำหรับรายวิชานั้น หากต้องการเกรด A ต้องทำงานกี่ชิ้น และได้คะแนนรายชิ้นอย่างไร หากเกรดไม่ถึง A ต้องได้คะแนนรายชิ้นสะสมเท่าไรจึงจะได้ B เป็นต้น

เพื่อลดความยาก และแข็งกร้าวของระบบนี้ลง หนังสือแนะนำให้ใช้ระบบเหรียญ (token system) นักเรียนแต่ละคนได้รับเหรียญ ๓ เหรียญ สำหรับไว้แลกกับสิทธิในการนำเอาผลงานที่ไม่เข้าเกณฑ์คุณภาพไปแก้ไขใหม่ ๑ ครั้ง ราคา ๑ เหรียญ เพื่อขอส่งงานช้า ๑ วัน ราคา ๑ เหรียญ เพื่อขาดเรียน ๑ ครั้งโดยไม่โดนลงโทษ ราคา ๑ เหรียญ เป็นต้น เมื่อจบเทอม นักศึกษาที่ยังมีเหรียญเหลือจะได้รับรางวัล เช่น ได้เพิ่มคะแนน ได้รับยกเว้นไม่ต้องสอบปลายเทอม เป็นต้น


คืนผลงานแก่นักศึกษา

ควรคืนกระดาษคำตอบแก่นักศึกษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในช่วงที่นักศึกษายังจำเรื่องราว ในการสอบได้ ที่ดีที่สุดคือ ภายใน ๓ - ๔ วัน

อาจารย์อาจเสนอข้อสรุปว่าภาพรวมของการได้เกรดเป็นอย่างไร โดยฉายภาพการกระจายของเกรด บอกค่าเฉลี่ย ค่ากึ่งกลาง และค่าการเบี่ยงเบนมาตรฐาน รวมทั้งมีคำแนะนำสำคัญๆ ที่อาจารย์เห็นจากการตรวจ ข้อสอบ ให้นักศึกษาปรับปรุงการเรียนของตน

การบอกรายละเอียดของการกระจายเกรดมีข้อดีในแง่กระตุ้นความสนใจของนักศึกษา แต่ก็มีข้อเสียด้วย ในด้านที่จะมีนักศึกษาวิ่งเต้นขอขยับคะแนน หรือโต้แย้งผลการตรวจข้อสอบ

หากข้อโต้แย้งของนักศึกษาฟังขึ้น อาจารย์ต้องพิจารณาว่า ข้อผิดพลาดมีผลต่อเกรดของนักศึกษา ทั้งห้องหรือไม่ อาจต้องพิจารณาตรวจข้อสอบใหม่ และให้เกรดใหม่ อาจารย์ต้องไม่ดึงดัน เพราะกลัวเสียหน้า การทำผิดพลาดเป็นธรรมดาของมนุษย์ และเป็นข้อเรียนรู้อย่างหนึ่ง

มีหลักอยู่ข้อหนึ่งในการเจรจากับนักศึกษาที่มาโต้แย้งเรื่องเกรดของตน อย่าเจรจากับนักศึกษา ที่กำลังมีอารมณ์ ให้นักศึกษากลับไปสงบสติอารมณ์เสียก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน วิธีป้องกันข้อโต้แย้ง ที่ไร้เหตุผลคือระบุเรื่องการแก้เกรดไว้อย่างชัดเจนในข้อกำหนดรายละเอียดของรายวิชา (course syllabus) และยึดตามนั้น


ช่วยให้นักศึกษาใช้คำแนะนำป้อนกลับในการปรับปรุงการเรียนรู้

อ่านหนังสือตอนนี้แล้ว ผมเห็นความละเอียดอ่อนของผู้เขียน และวงการวิจัยทางการศึกษาอเมริกัน ที่ไม่ทึกทักง่ายๆ ว่าเมื่อให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) แล้ว นักศึกษาทุกคนจะใช้คำแนะนำป้อนกลับนั้น ปรับปรุงการเรียนของตนเอง

เขาบอกว่า เพื่อช่วยให้นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้คำแนะนำป้อนกลับจากการตรวจข้อสอบ อาจารย์ควรใช้ "การประเมินสองจังหวะ" (two-stage assessment procedure) คือเมื่อแจกกระดาษคำตอบคืนพร้อมคำแนะนำ ป้อนกลับ อาจารย์มอบหมายงานชิ้นที่สองทันที ให้นักศึกษาแต่ละคนไปเขียนสรุปประเด็นของคำแนะนำ ป้อนกลับ และเขียนต่อว่าตนเองจะปรับปรุงการเรียนของตนอย่างไร

ผมอ่านมาถึงตรงนี้ ก็คิดว่า ผมมีวิธีการที่ดีกว่านั้น คือจัดวง AAR/reflection กลุ่มละ ๘ คน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตามโจทย์งานชิ้นที่สอง ใช้เวลาสัก ๒๐ นาที ก็รายงานหรือเล่าประเด็นสำคัญของ แต่ละกลุ่มแก่เพื่อนทั้งชั้น โดยอาจารย์ต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นอิสระ ไม่มีถูกไม่มีผิด ขึ้นในชั้นเรียน นอกจากจะช่วยให้นักศึกษาให้คำแนะนำป้อนกลับ (ทางอ้อม) ต่อกันและกันแล้ว ยังจะช่วยฝึก "ทักษะ การเรียนรู้จากการใคร่ครวญไตร่ตรอง" (reflective learning skills) ด้วย

หนังสือบอกว่า นักศึกษาจำนวนหนึ่ง "ดื้อ" ต่อการนำคำแนะนำป้อนกลับไปใช้ เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ (๑) เขาไม่เชื่อคำแนะนำนั้น เนื่องจากไม่ตรงกับความเชื่อที่เขามีมาแต่ดั้งเดิม หรือไม่เห็นด้วยกับมาตรฐานสมรรถนะ (performance standard) ที่อาจารย์กำหนด (๒) นักศึกษาตีความ มาตรฐานสมรรถนะผิด (๓) นักศึกษาไม่ได้ประเมินผลงานของตนตามมาตรฐานสมรรถนะ ซึ่งผมเชื่อว่า หากใช้วิธีทำ AAR/Reflection กลุ่ม หลังแจกกระดาษาคำตอบและข้อมูลป้อนกลับ นักศึกษาคนที่มีปัญหา จะค่อยๆ เรียนรู้จุดอ่อนของตน ตรงกับคำแนะนำในหนังสือ ที่ว่าให้หานักศึกษามาช่วยอาจารย์ ทำให้เพื่อนนักศึกษาได้ปรับปรุงตนเอง ซึ่งหากทำตามคำแนะนำของผม นักศึกษาจะช่วยกันเองแบบไม่รู้ตัว


ความหมายที่แท้จริงและข้อจำกัดของเกรด

ในการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ตามอุดมคติ ไม่ควรมีการให้เกรดเลย แต่อาจารย์จะให้คำแนะนำป้อนกลับ ต่อศิษย์เป็นรายคน ให้ปรับปรุงการเรียนของตน อาจารย์ต้องมองทะลุเปลือกของเกรด ไปสู่การเรียนรู้ ที่แท้จริง เปลือกของเกรดคือ เป็นเครื่องมือเชิงสถาบัน สำหรับเข้าไปจัดการการเรียนรู้ของนักศึกษา โดย ดำเนินการคัดกรอง สร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจ และให้รางวัล แก่ผลการประเมินที่แตกต่างกัน

สิ่งที่เกรดทำไม่ได้คือสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาอยากเรียน แต่อาจารย์ทำได้ และเป็นเรื่องราวของตอนต่อไป



วิจารณ์ พานิช

๒๕ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 586386เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2015 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2015 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท