nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

Valkyrie แผนสังหารจอมเผด็จการฮิตเลอร์ (ดูหนัง - อ่านหนังสือ)


ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปีที่ฮิตเลอร์อยู่ในอำนาจ มีความพยายามลอบสังหารประมาณ ๓๐ ครั้ง ๑๕ ครั้งใน ๓๐ ครั้งเป็นการลอบสังหารโดยชาวเยอรมัน

หลายๆ คนคงสงสัยว่าเหตุใดคนเยอรมันจึงยอมให้ฮิตเลอร์นำประเทศเข้าสู่สงคราม อย่างไร้สติ จนพาประเทศสู่หายนะได้ขนาดนั้น ไม่มีใครสักคนเชียวหรือที่จะลุกขึ้นต่อต้าน

บันทึกนี้มีคำตอบ

ฮิตเลอร์เข้าสู่การเมืองด้วยการเลือกตั้งและการเมืองบนท้องถนน เมื่อได้อำนาจฮิตเลอร์รักษาอำนาจด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและสถาปนากองกำลัง ๒ หน่วยคือกองกำลังเสื้อสีน้ำตาล (SA) เอาไว้ป่วนฝ่ายตรงข้ามกับสร้างสถานการณ์เพื่อป้ายสี และกองกำลังเสื้อดำ (SS-Schutztaffel) เอาไว้อารักขาและต่อสู้ข้าศึกที่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจ

เมื่อมีอำนาจเต็มในมือ ฮิตเลอร์ทำตามที่ใจคิดทันที คือ ทำลายล้างยิว (กะให้หมดไปจากโลกนี้ทีเดียว) และรุกรานเพื่อนบ้านยึดมาเป็นของเยอรมัน แบบไม่เกรงใคร

ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีในปี คศ. ๑๙๓๓ เขาออกกฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจมากเพื่อกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม ปิดหนังสือพิมพ์ ยุบสหภาพแรงงาน จับนักวิชาการนักคิดระดับปัญญาชนคุมขังด้วยข้อหาต่างๆ หลังประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กเสียชีวิตฮิตเลอร์สั่งยุบตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจึงเป็นผู้นำสูงสุดเพียงผู้เดียวในเยอรมัน

ฮิตเลอร์นำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี คศ.๑๙๓๙

ฮิตเลอร์ยิงตัวตายในฟูห์เรอร์บังเกอร์ เบอลิน เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน คศ. ๑๙๔๕ หลังจากนั้นไม่นาน สงครามก็ยุติ

ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปีที่ฮิตเลอร์อยู่ในอำนาจ มีความพยายามลอบสังหารประมาณ ๓๐ ครั้ง ทั้งจากคนเยอรมันเองและต่างชาติ ๑๕ ครั้งใน ๓๐ ครั้งเป็นการลอบสังหารโดยชาวเยอรมัน

ความพยายามลอบสังหารที่ "เกือบสำเร็จ" เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๑๙๔๔ (ก่อนฮิตเลอร์จะสังหารตัวเองเพียง ๙ เดือน) เป็นช่วงเวลาที่กองทัพนาซีเริ่มพ่ายแพ้ในหลายๆ สมรภูมิ

มีการรวมตัวกันของกลุ่มทหาร นักการเมือง ปัญญาชน ที่แลเห็นหายนะของประเทศคืบคลานมาใกล้ภายใต้การนำของฮิตเลอร์ แผนปฏิบัตินี้เรียกว่า "Valkyrie"

แกนนำสำคัญเป็นนายทหาร พวกเขาวางแผนไว้ ๒ ขั้นตอน คือ การลอบสังหารฮิตเลอร์ และ เมื่อภารกิจลอบสังหารเสร็จสิ้น จะมีการสั่งการให้กองกำลังสำรองในเบอลินจะเข้ายึดเมืองหลวง และ นายทหารที่ประจำตามเมืองต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศจะจับกุมทหารระดับหัวของหน่วย "เอสเอส" และ เจ้าหน้าที่ระดับนำของ "กระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ" (กระทรวงนี้มีรัฐมนตรีชื่อ เกิบเบิ้ล นายคนนี้เป็นสาวกตัวเอกของฮิตเลอร์ ด้วยผลงานชวนเชื่อปิดหูปิดตา เกิบเบิ้ล ประกบติดตัวฮิตเลอร์จนนาทีสุดท้าย เมื่อนายตายเขาและเมียจัดการฆ่าลูกๆ ทั้งหกคนแล้วฆ่าตัวตายตามผู้นำ)

มีความพยายามลอบสังหารฮิตเลอร์หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ความลับของแผนยังไม่แพร่งพราย จนถึงปฏิบัติการครั้งที่ ๑๕ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย

พันเอกเคลาส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus Von Stauffenberg) รับหน้าที่ลอบสังหารในขณะที่เขาไปร่วมประชุมกับฮิตเลอร์อยู่ที่บังเกอร์บัญชาการแห่งหนึ่งที่เรียกชื่อว่า "รังหมาป่า" (Wolf's Lair) ปรัสเซียตะวันออก (East Prussia)

สเตาฟ์เฟนแบร์ก หิ้วกระเป๋าที่ภายในบรรจุระเบิดที่หน่วงเวลาระเบิดไว้ระยะหนึ่ง นำไปวางในตำแหน่งที่ใกล้ฮิตเลอร์มากที่สุด เมื่อเขาออกมาได้แล้วเขาได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นจากบังเกอร์ทำให้คิดว่าฮิตเลอร์ตายแน่ เขารีบบินไปเบอลิน เพื่อร่วมบัญชาการยึดอำนาจ ปลดปล่อยเยอรมันจากฮิตเลอร์

ท่ามกลางข่าวที่ไม่แน่ชัดว่าฮิตเลอร์ตายหรือไม่ การยึดอำนาจดำเนินไปไม่ตลอดรอดฝั่งเมื่อมีข่าวกรองที่ชัดเจนว่าฮิตเลอร์ไม่ตาย

สภาพห้องประชุมหลังการระเบิด

พลตรีไฮนซ์ บรันดท์ (Heinz Brandt) ทหารฝ่ายเสนาธิการที่อยู่ในห้องประชุมเห็นกระเป๋า (ใส่ระเบิด) ที่สเตาฟ์เฟนแบร์กวางไว้ เขายกไปวางไว้อีกที่ ระเบิดทำให้พลตรีบรันดท์เสียชีวิต แต่ฮิตเลอร์รอด

ฮิตเลอร์สั่งการให้ไล่ล่าทุกคนที่มีส่วนรู้เห็น

คืนนั้นเอง สเตาฟ์เฟนแบร์ก และนายทหารอีก ๓ นายถูกยิงเป้าที่ลานตึกอาคารกระทรวงกลาโหม

ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์

วันรุ่นขึ้น ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) หัวหน้าหน่วยเอสเอส มาบัญชาการสอบสวนโครงข่าย Valkyrie มีการจับกุมผู้ต้องหาคดีกบฏ Valkyrie เกือบ ๗,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้ถูกตัดสินประหารชีวิต ๔,๙๘๐ คน

จอมพลเออร์วิน ฟอน วิตซ์เลเบน (Erwin Von Witzleben , 1881-1944) อดีตผู้บัญชาการกองทัพถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำกบฏ ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

นายทหารหลายๆ นายไม่ยอมให้จับกุมตัว พวกเขาฆ่าตัวตายเพื่อรักษาเกียรติ

นายพลเทรสโก (Major-General Henning Tresckow) ผู้บัญชาการกองทัพภาคตะวันออกที่ประเทศโปแลนด์ ประกาศก่อนฆ่าตัวตายว่า

"วันนี้ทุกคนอาจก่นด่าพวกเรา แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่าเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ฮิตเลอร์ไม่ได้เป็นเพียงศัตรูของเยอรมันเท่านั้น ฮิตเลอร์เป็นศัตรูตัวร้ายของโลกด้วย"

(Hitler's War : กำเนิด จุดจบ และโศกนาฏกรรมของฮิตเลอร์ , หน้า ๔๐๖)

"Valkyrie" สำหรับคนเยอรมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบบการปกครองที่ฉ้อฉล ผู้ต้องหากบฏของฮิตเลอร์ทุกวันนี้เป็นวีรชน ภาพของวีรชนเหล่านั้นถูกจารึกไว้ ณ อนุสรณ์สถานแห่งการต่อต้านของชาวเยอรมัน (The German Resistance Memorial Center , Berlin) มีข้อความจารึกไว้ว่า

You did not bear the shame.

You resisted.

Sacrificing your life.

For freedom, justice and honor.

ท่านมิได้แบกรับความอับอาย ท่านลุกขึ้นต่อต้าน

เสียสละชีพตนเพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม และ เกียรติยศ.

.............................................

หนัง Valkyrie : วัลคีรี่ ยุทธการดับจอมอหังการ์อินทรีเหล็ก


ฮอลลีวูดนำเหตุการณ์ลอบสังหารที่เกือบสำเร็จนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ปี ๒๐๐๘ เป็นหนังที่เล่าเรื่องได้ตรงเหตุการณ์จริง นักแสดงที่เลือกมาหน้าตาใกล้เคียงตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ในตอนท้ายที่ปฏิบัติการวาลคีรีล้มเหลว หนังเสนอชะตากรรมของเหล่าผู้กล้าได้ชวนสะเทือนใจอย่างยิ่ง

พันเอกเคลาส์ ฟอน สเตาฟ์เฟนแบร์ก (Colonel Claus von Stauffenberg แสดงโดย Tom Cruise)

พันเอกสเตาฟเฟนแบร์ก เกิดในตระกูลขุนนาง เขาได้รับเหรียญกล้าหาญจากการไปรบในสมรภูมิอาฟริกา หนนั้นเขาสูญเสียดวงตาข้างซ้ายต้องใส่ลูกตาปลอม มือขวาถูกตัดถึงข้อมือ นิ้วนางนิ้วก้อยมือซ้ายถูกตัด เขาจึงเหลือนิ้วมือซ้ายเพียง ๓ นิ้ว แต่มิได้ทำให้ความรักชาติ กล้าหาญ ทะนงองอาจลดลง

ในหนัง สเตาฟเฟนแบร์ก กับ นายทหารติดตาม ร้อยโทเฮฟเทน (Lt.Werner von Haeften) เตรียมระเบิดไป ๒ ลูก แต่เขาประกอบได้แค่ลูกเดียว ก่อนนำไปวางไว้ข้างโต๊ะประชุม ที่บังเกอร์ "รังหมาป่า" ใกล้ตำแหน่งที่ฮิตเลอร์ยืน ก่อนที่เขาจะเลี่ยงออกมา พลตรีไฮนซ์ บรันดท์ (Heinz Brandt) นายทหารในห้องนั้นเผอิญย้ายกระเป๋าไปวางอีกที่ ฮิตเลอร์จึงรอดตาย

พันเอกสเตาฟเฟนแบร์ก ถูกจับและนำไปประหารทันที เขายืดอกและเงยหน้ารับความตายอย่างกล้าหาญ

"เยอรมันจงเจริญ" เป็นประโยคสุดท้ายที่เปล่งจากปากของเขาบนลานประหาร

นายพลเทรสโก (Major-General Henning Tresckow รับบทโดย Kenneth Branagh)

นายพลเทรสโก แห่งกองทัพบกเยอรมัน เป็นนายทหารคนแรกๆ ที่เข้าร่วมกลุ่มต่อต้าน ฉากต้นๆ ของหนังบอกเล่าบทบาทสำคัญในการลอบสังหารโดยส่งระเบิดไปขึ้นเครื่องบินที่ฮิตเลอร์โดยสาร แต่ระเบิดไม่ทำงาน

ในหนัง เขาแกะกระบอกทองเหลืองบรรจุหลอดไซยานาย ให้คนดูเข้าใจว่าเขาฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพิษ

ประวัติศาสตร์บันทึกประโยคอมตะของเขาไว้ว่า

"วันนี้ทุกคนอาจก่นด่าพวกเรา แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่าเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ฮิตเลอร์ไม่ได้เป็นเพียงศัตรูของเยอรมันเท่านั้น ฮิตเลอร์เป็นศัตรูตัวร้ายของโลกด้วย" (อ้างแล้ว)


นายพลโอลด์บริชท์ (General Friedrich Olbricht รับบทโดย Bill Nighy)

เป็นเพื่อนสนิทกับนายพลเทรสโก ร่วมงานต่อต้านมาแต่แรกๆ ร่วมคิดแผนสังหารกับสเตาฟ์เฟนแบร์กทุกขั้นตอน และเป็นคนสั่งการให้กองกำลังสำรองออกปฏิบัติการหลังได้ข่าวจากสเตาฟ์เฟนแบร์กว่าสังหารฮิตเลอร์สำเร็จ โอลด์บริชท์ถูกจับและประหารด้วยการยิงเป้าพร้อมๆ กับสเตาฟ์เฟนแบร์ก

นายพลฟรีดดริช ฟรอม (Colonel-General Friedrich Fromm รับบทโดย Tom Wilkinson)

เป็นผู้บัญชาการกองกำลังทหารสำรอง ที่เป็นหน่วยหลักในการยึดอำนาจ เขาเป็นนายทหารที่ร่วมต่อต้านฮิตเลอร์แต่แรก

ในตอนต้นของหนัง นายพลฟรอม เป็นคนนำตัวพันเอกสเตาฟ์เฟนแบร์ก เข้าแนะนำตัวต่อฮิตเลอร์

แต่ในช่วงปฏิบัติการเขาไม่ยอมสั่งการให้ทหารออกมายึดเบอลินและเมืองสำคัญๆ นายพลโอลบริชท์ (General Friedrich Olbricht) จึงสั่งการโดยอ้างชื่อฟรอม

ในหนัง ฟรอมคือผู้ทรยศต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เขาเป็นคนนำทหารเข้าจับกุม และอ้างการเป็นตัวแทนฮิตเลอร์สั่งประหารชีวิตแกนนำ ๔ คน

ฮิตเลอร์ไม่เคยปล่อยให้คนที่เขาสงสัยในความภักดีลอยนวล ฟรอมถูกควบคุมตัว ถูกตัดสินประหารชีวิตเมื่อ ๑๒ มีนาคม ๑๙๔๕ ก่อนฮิตเลอร์ฆ่าตัวตาย (๓๐ เมย.๑๙๔๕) เพียงเดือนเดียว

นายพล ลุดวิก เบค (Colonel-General Ludwig Beck นำแสดงโดย Terence Stamp)

"เบค" ในหนังไม่แต่งเครื่องแบบทหาร เขาลาออกเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแผนการทางทหารของฮิตเลอร์

วันที่พ่ายแพ้ นายพลฟรีดดริช ฟรอม นำทหารเข้าจับกุมตัวคณะผู้ก่อการในห้องบัญชาการ Beck ถูกจับพร้อมคนอื่นๆ

เขาขอปืนจากฟรอม แล้วยิงตัวเองต่อหน้าทุกคน เป็นการจบชีวิตอย่างกล้าหาญและมีเกียรติ

ดอกเตอร์กอดีเลอร์ (Dr. Carl Goerdeler นำแสดงโดย Kevin McNally)

เป็นพลเรือนที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้นำรัฐบาลถ้าปฏิบัติการสำเร็จ เขาจะเป็นผู้เจรจาสงบศึกษากับสัมพันธมิตรเพื่อนำความสงบสุขมาสู่เยอรมัน และยุโรปอีกครั้ง

เขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีเมือง Liepsig ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เขาเป็นผู้กล้าหาญแสดงการต่อต้านฮิตเลอร์และนาซีมาโดยเปิดเผย และเป็นผู้ช่วยเหลือปกป้องชาวยิว

ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เมื่อ ๘ สิงหาคม ๑๙๔๔ (หลังปฏิบัติการ ๑๙ วัน)

นายพลวิทซ์เลเบน (Colonel-General Erwin von Witzleben แสดงโดย David Schofield) ภาพกลางคือวันที่เขาอยู่ในศาลด้วยสภาพผอมทรุกโทรม

เป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพ ลาออกเมื่อปี ๑๙๔๑ เขาร่วมในกลุ่มแกนนำ เขาถูกจับกุมตัวและนำขึ้นศาลประชาชน (Volksgerichtshof) ในวันที่ถูกผู้พิพากษาที่เป็นนาซีเต็มตัวตัดสินประหารชีวิตนั้น เขากล่าวประโยคที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์และหนังได้นำมาถ่ายทอดครบถ้วน ดังนี้

"คุณอาจหยิบยื่นโทษตายให้พวกเราในวันนี้ แต่ภายในสามเดือน ประชาชนที่ชิงชังและฮึกเหิมจะตัดสินโทษคุณ และลากพวกคุณไปตามถนนโสโครกทั้งเป็น"

ร้อยโทเฮฟเทน (Lt.Werner von Haeften แสดงโดย Lamie Parker)

เป็นนายทหารติดตามสเตาฟ์เฟนแบร์ก ร่วมปฏิบัติการลอบสังหารทุกขั้นตอน

บุคลิกในหนังน่าประทับใจมาก เขาพูดน้อยคำ แววตามุ่งมั่น วันที่ถูกยิงเป้า ร้อยโทเฮฟเทนวิ่งไปยืนตรงหน้าสเตาฟ์เฟนแบร์กเพื่อรับลูกปืน เขาขอตายก่อนนายด้วยความภักดี

พันเอกเคิร์นไฮม์ (Colonel Albrecht Metz von Quirnheim แสดงโดย Christian berkel) เป็นนายทหารใกล้ชิดนายพลโอลด์บริทช์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสั่งเริ่มปฏิบัติการ ขณะที่ นายพลโอลด์บริทช์ ยังลังเล

ถูกจับและยิงเป้าในทันทีพร้อมๆ นายพลโอลด์บริทช์ พันเอกสเตาฟ์เฟนแบร์ก และ ร้อยโทเฮฟเทน

นายพลเฟลกิเบล (General Erich Fellgiebel แสดงโดย Eddie Izzard)

หัวหน้าหน่วยทหารสื่อสาร ในวันสังหาร เขาเป็นคนตัดสัญญานการติดต่อทั้งหมดไม่ให้มีการติดต่อออกจากบังเกอร์ และเขาเป็นคนส่ง "ข่าวร้าย" ไปถึงสเตาฟ์เฟนแบร์กว่าฮิตเลอร์ยังไม่ตาย

เฟลกิเบล ถูกประหาร เมื่อ ๔ กันยายน ๑๙๔๔

นีนา สเตาฟ์เฟนแบร์ก (Nina von Stauffenberg แสดงโดย Carice van Houten)

ภรรยาสเตาฟ์เฟนแบร์ก ก่อนถึงวันปฏิบัติการ เธอกับลูก ๔ คน อพยพไปอยู่ที่อื่น เธอคลอดลูกอีกคนหลังสามีเสียชีวิตแล้ว

เธอรอดชีวิตจากสงคราม เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๐๐๖ อายุ ๙๒ ปี

...............................

ด้วยเนื้อตัวของหนัง Valkyrie ถ่ายทอดเนื้อหาในประวัติศาสตร์ ใส่ใจในรายละเอียดสำคัญครบถ้วน การนำเสนอชัดเจน งดงามในการเล่าเรื่องด้วยภาพ การแสดงของนักแสดงทุกคนยอดเยี่ยม ช่วงท้ายๆ ของหนังที่บอกเล่าชะตากรรมของแกนนำทั้งหลาย การแสดง ภาพ การตัดต่อภาพ และดนตรีประกอบ ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ทั้งฮึกเหิม หดหู่ เศร้าสร้อย ราวกับจะเชิญชวนให้คนดูร่วมคารวะดวงวิญญาณของผู้เสียสละชีพเพื่อชาติเหล่านั้น.

บันทึกเพิ่มเติม

ท่านที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เยอรมันใต้อุ้งตีนฮิตเลอร์ และมีพื้นความรู้ประวัติศาสตร์มาพอสมควร จะดูหนังเรื่องนี้ได้สนุก และลึกซึ้ง เพราะรู้ทีมาที่ไปของตัวละครแต่ละตัว ฉากแต่ละฉากที่ปรากฏในหนัง

ถ้าไม่รู้จักประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ดูหนังได้ แต่ไม่สนุก เมื่อดูหนังแล้ว เชื่อว่าจะอยากหาหนังสือมาอ่าน

ยังมีหนังอีกหลายเรื่อง หนังสืออีกหลายเล่ม ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์อันน่าสนใจช่วงนี้ โดยเฉพาะเรื่องราวของจอมเผด็จการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์.

อาทิตย์ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

เอกสารอ้างอิง

นฤนารท พระปัญญา. Hitler's War : กำเนิด จุดจบ และโศกนาฏกรรมของฮิตเลอร์. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์ , ๒๕๕๗.

พันทิวา. บังเกอร์สุดท้ายของฮิตเลอร์. กรุงเทพฯ : อนิเมทกรุ๊ป , ๒๕๕๗.

เทรเวอร์ โรเปอร์ ฮิวจ์. วาระสุดท้ายของฮิตเลอร์ The Last Days of Hitler. กรุงเทพฯ : มติชน , ๒๕๕๕.

(แปลโดย จักรกฤษณ์ อุทโยภาศ)


หมายเลขบันทึก: 586167เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2015 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณค่ะ ทำให้รู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับฮิตเลอร์อีกมาก ตอนนี้อยากรู้คนในตระกูลของเขาอยู่กัอย่างไรในสังคม พวกเขายังมีอยู่บ้างไหม และคิดเห็นอย่างไร มีผู้ศึกษาวิจัยหรือไม่ คิดว่าถ้าตนเองเป็นหนึ่งในนั้นคงต้องออกมาขอโทษสังคมกันทุกวาระที่เกิดเหตุการณ์ร้ายที่เขาก่อเอาไว้ คุณหมอเคยอ่านเจอบ้างไหมคะ

เป็นหนังที่น่าดูไม่คิดว่า ฮิตเลอร์จะฆ่าคนแบบบ้าเลือดขนาดนั้น

พี่ใช้ gotoknow ได้ตามปกติแล้วใช่ไหมครับ

ถ้า Net ช้าผมก็เป็นแบบพี่นุ้ยเหมือนกันครับ


ขอบคุณค่ะอาจารย์ดร.กัลยา GD

ในหนังสือ "บังเกอร์สุดท้ายของฮิตเลอร์" เล่าผลกระทบหลังเยอรมันแพ้สงครามที่เกิดกับบรรดาญาติๆ ของฮิตเลอร์ แต่ไม่เคยอ่านนะคะว่าทุกวันนี้ญาติๆ ของเขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

ถ้าอ่านเจอจะมาเล่านะคะ

ชีวิตส่วนตัวของฮิตเลอร์น่าสนใจไม่น้อยค่ะ เช่น ฮิตเลอร์มีความสัมพันธ์ชู้สาวกับเกลีหลานตัวเอง เอวา บราวน์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงของฮิตเลอร์ แต่เขาก็ไม่ยอมแต่งงานจนถึงวันสุดท้ายก่อนฆ่าตัวตายจึงทำพิธีแต่งงานง่ายๆ ก่อนฆ่าตัวตายไปพร้อมๆ กัน

เคยดูหนังที่เล่าถึงชีวิตส่วนตัวอยู่บ้าง ๒ เรื่อง

ขอบคุณค่ะน้อง ขจิต ฝอยทอง

หาเวลาดูหนังบ้างนะ อย่ามัวทำแต่งาน อยากดูเรื่องไหนบอกพี่มา เดี๋ยวจัดให้

เมื่อคืนใส่รูปไม่ได้ค่ะ เช้าลองแก้ไขชื่อไฟล์ภาพโดยตัดชื่อให้สั้นลง จนใส่ได้แล้วค่ะ

การเข้า G2K พี่ใช้วิธีเปิดไปที่หน้าแรก ทำออกจากระบบ(หลอกเครื่อง) แล้วเข้าใหม่ แต่เข้ามาจาก Mail ยังไม่ได้ค่ะ

สรุปว่าเข้าแบบอ้อมๆ เดินไกลหน่อย ได้ออกกำลังกาย (นิ้ว) 555

ขอบคุณคุณยายธี ยายธี นะคะที่แวะมาอ่านคนแรก

คุณยายไปตามรอยฮิตเลอร์มาเล่าหน่อยสิคะ อิ..อิ..

ละเอียดดีจริงค่ะพี่ Nui แอบมึน อิ อิ

ขอบคุณนะน้อง ธิรัมภา ที่ชม (หรือว่า???) 555

เขียนเสร็จให้ลุงอ่าน แกยังว่า "ไม่เห็นมีอะไร" ประมาณว่า ไม่ให้กำลังใจกันเลย ลุงแกรำคาญเพราะพี่หมกมุ่นกับฮิตเลอร์มาแรมเดือน อ่านๆ เขียนๆ ไม่สนใจแกไง

ขอบอกว่า เรื่องราวของตาลุงหนวดจิ๋มนี่ อ่านสนุก อ่านมัน แถมมีคนเอาไปสร้างหนังให้ดูเยอะ

ลองสิคะน้อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท