ใครๆ ก็จบปริญญาโท แล้วปริญญาโทให้อะไรใคร?


อ่านข่าว " Master's degrees are as common now as bachelor's degrees were in the '60s" แล้วผมรู้สึกแปลกๆ ชอบกลครับ

ข่าวบอกว่าตอนนี้เด็กที่จบปริญญาตรีส่วนใหญ่ในอเมริกาวางแผนจะเรียนต่อปริญญาโทและจำนวนคนที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทในอเมริกานั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนปริมาณพอๆ กับคนที่มีวุฒิปริญญาตรีในสมัยช่วงปี 60s นั่นทีเดียว

ในขณะเดียวกันสาขาที่เป็นที่นิยมในการเรียนก็เปลี่ยนไป จากสาขาด้านการศึกษาเป็นสาขาที่มีคนจบการศึกษามากที่สุด ปัจจุบันสาขาด้านธุรกิจกลับแซงนำมา ข่าวไม่ได้บอกว่าสาขาด้านการศึกษานั้นเป็น Master of Education (M.Ed) หรือ Master of Art in Teaching (MAT) ซึ่งดูเหมือนเป็นชื่อปริญญาสร้างใหม่ไม่นานมานี้ ส่วนด้านธุรกิจนั้นก็คงเป็น Master of Business Administration (MBA) ซึ่งเป็นปริญญาค่อนข้างใหม่ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงปี 80s จนมาถึงปัจจุบันนี้เพราะโครงสร้างหลักสูตรสามารถจัดการเรียนการสอนได้ง่ายและจบการศึกษาได้ไม่ยาก ที่จริงแล้วยุคหลังๆ นี้เราจะเห็นหลักสูตร MBA แปลงร่างในชื่อแปลกๆ เยอะแยะมากมายเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ แต่พอไปดูโครงสร้างหลักสูตรก็แทบจะไม่ต่างกัน

ข่าวนี้เป็นของอเมริกา แต่ผมเดาว่าสถานการณ์ในประเทศไทยก็คงไม่ต่างกันเท่าไหร่นักและเผลอๆ จะหนักกว่า เพราะเรามี "หลักสูตรพิเศษ" ต่างๆ มากมาย โดยหลักสูตรเหล่านี้ที่รับผู้เรียนแทบไม่จำกัดจำนวนและคิดค่าเล่าเรียนแพงเป็นพิเศษนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ พยายามจะเปิดกันมากผมก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกัน

ไม่ทราบสาเหตุจริงๆ นะครับ เพราะระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังไม่ทราบแล้วผมจะไปทราบได้อย่างไร ผมเป็นใครจะกล้าไปวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทย

สำหรับอเมริกานั้นปัญหาที่ตามมาของการศึกษาที่กลายเป็นสินค้าของสถาบันการศึกษาอย่างไม่ลืมหูลืมตาก็คือการที่ผู้จบการศึกษามีหนี้สินติดตัวจากเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นทำงาน แล้วเงินกู้เพื่อการศึกษาของอเมริกานั้นเขาเข้มข้นในการติดตามทวงถามหนี้สินเสียด้วย

หลายๆ หลักสูตรนั้น หนี้สินที่ติดตัวมากกับวุฒิที่ได้มานั้นไม่คุ้มกัน เพราะตำแหน่งงานว่างต่อปีสำหรับวุฒิการศึกษายอดนิยมต่างๆ นั้นน้อยกว่าปริมาณผู้จบการศึกษามาก ในอเมริกานั้นเราอาจจะได้เห็นคนจบระดับปริญญาโทเป็นพนักงานขายในห้างกันเป็นเรื่องปกติทีเดียว เงินเดือนที่คนเหล่านี้ได้รับนั้นเมื่อต้องมาจ่ายหนี้ที่ติดตัวมาก่อนจะเริ่มได้ทำงานแล้วทำให้แทบจะไม่มีเงินเหลือกินกันเลย คนอเมริกันส่วนใหญ่กว่าจะจ่ายเงินกู้หมดก็อายุขึ้นหลักสามสิบกันแล้วทั้งนั้น ดังนั้นอเมริกาจึงเป็นเหมือนประเทศโลกที่สามที่ซ่อนอยู่ในประเทศโลกที่หนึ่งโดยประชากรประมาณเกินครึ่งอยู่ในสภาพยากจนชักหน้าไม่ถึงหลัง

ปีสองปีที่ผ่านมานี้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ถ้าดูอย่างละเอียดแล้วเราจะพบว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้นเป็นตัวเลขหลอกตาที่มาจากภาคการผลิตสินค้าเพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น เป็นหอคอยที่สร้างอยู่บนฐานที่ไม่แข็งแรงและพร้อมล้มได้ทุกเมื่อทีเดียว

คนที่โชคดีและมีความสุขในสังคมที่นิยมใบปริญญาก็คือคนที่ได้รายได้จากการจัดการการศึกษา โดยเฉพาะหลักสูตรประเภท "จ่ายครบ จบแน่" ส่วนความรู้ค่อยไปหาเอาข้างหน้าหลังจากได้ใบปริญญา

การศึกษาของอเมริกาตอนนี้เป็นเช่นนั้น เชื่อว่าประเทศต่างๆ ในโลกก็คงไม่ต่างกันไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นหนักกว่าหรือน้อยกว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้และไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ก็คงได้แต่หวังว่าคงมีใครสักคนที่รู้และพยายามแก้ไขอยู่นะครับ

หมายเลขบันทึก: 585683เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผมก็เห็นด้วยนะครับอาจารย์ ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นนะครับ

..การศึกษาคือ การค้าวิชาการ มุ่งปริมาณ การแข่งขัน แย่งชิงมวลชนให้เข้ามหาลัยของตน...เมื่อเข้าเรียนแล้วกลับไม่เข้มข้น ไม่สอนให้ผู้ศึกษา วิเคราะห์ สร้างวิสัยทัศน์ให้เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะเอเชียวิสัย เช่นเมืองไทย มีปลายทางที่สหรัฐ อังกฤษ มองเห็นฝรั่งเป็นบรมครู หรูหรา เดอะ เบสต์ เกรดเอ

พอกลับมาเมืองไทยไม่รู้รากเหง้า เผ่าไทย ไม่รู้ปราชญ์วิถีเนื้อแท้ชาติไทย จึงเอาทัศน์ฝรั่ง มาฝึกหัดคนไทย ล้มล้างวิถีเดิมให้สิ้นไป เรากำลังถูกล้างสมอง ให้มองตนเองเป็นฐานสอยดาว แต่ลืมเสาเข็มที่ยืนเหยียบ..เรากำลังสร้างแนวคิดให้บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตให้คิดกอบโกยเพื่อธุรกิจตน แต่กลับห่างชุมชน ห่างสังคม ประเทศชาติ เช่น รัฐมนตรี นักธุรกิจ พวกไฮโซ ไฮซ้อ ฯ ที่เดินบนอากาศ ไม่เห็นดินโคลนหรอกครับ

แต่มีกลุ่มคณาจารย์ที่สอนให้บัณฑิตติดดินเช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง นี่คือ การสร้างนวทัศน์ใหม่ไปเสริมทัพทัศน์ของพ่อแม่ของเราและนักเกษตรกรให้พัฒนาความคิด ต่อยอดมุมมอง ให้เห็นธรรมชาติจริงๆ (ดิน น้ำ แดด สัตว์ พืช) โดยเฉพาะอ.ฤทธิไกร มหาสารคาม นี่คือ ตัวอย่างครูชาวนา อาจารย์ชาวบ้าน ที่อาศัยบ้านทุ่ง ติดปีกความคิดให้เกษตรกร และเยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้รากเหง้า เผ่าเกษตรกรรม มิใช่สอนให้มุ่งสอยดาว (ดารา นักร้อง) มีหมุดหมายที่ปลายทางต่างประเทศ (เพื่อเป็นนักธุรกิจ)

ส่วนการศึกษาของไทยที่กำลังมุ่งมั่นปริมาณตัวเลขนั้น ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่อยากจบมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาฐานะปัญญาให้ตนเอง แต่เขาบอกว่า มหาวิทยาคือ หอคอย ไว้สอยความรู้ที่ลอยไปมา เหมือนเมฆหมอก ครูเป็นเพียงผู้บอกโอกาส เวลาให้สอยเท่านั้น...เรามาจากบ้านนอกไม่รู้หรอกว่า คนรุ่นก่อนทำอย่างไร ก็อาศัยดูเขาไป

แต่เจ้าหน้าที่ ครู ไม่ค่อยมีเวลามาสอนให้รู้จักการสอยเท่าไหร่ เวลาไม่ว่าง งานเยอะ สั่งรายงานอย่างเดียว ผิดระเบียบ ระบบก็เอาเงินซื้อความผิดนั้นนัยว่า เป็นค่าธรรมเนียม แล้วมหาลัยฯ ได้ดัดนิสัยการคิด การแสวงหาความคิดแบบใหม่ วิเคราะห์ วิจารณ์ วิพากษ์สังคมไทย สังคมเทศ แนวคิด ทฤษฎีเก่า ใหม่ เป็นหรือไม่ นักศึกษาเองมีรากฐานทรุดมาตั้งแต่มัธยมแล้ว จึงรอเอาแต่สูตรสำเร็จอย่างเดียว

พอจบออกมาก็อ้างแต่ตำรา วิชาการ เขียนเอง คิดเอง ไม่เป็น วิเคราะห์ เสาะทัศน์ ไม่ออก วิพากษ์แนวคิดไม่คล่อง มองเทศ มองไทยไม่เป็น นี่คือ คุณภาพนักศึกษาไทย ผมว่าปราชญ์ชาวบ้านยังมีฐานความรู้เชิงปฏิบัติการได้เนียนกว่าด้วยซ้ำไป เพียงแต่พวกเขาใช้คำ เรียบเรียงคำไม่สละสลวยเหมือนนักมหาลัยเท่านั้น

หากจะบอกว่า มหาลัยให้อะไรผมขอตอบเลยว่า ได้อ่านหนังสือมาก ได้เขียนมาก ได้ทบทวนมาก ได้ฟังมาก ได้คิดมาก นี่คือ นิสัยส่วนหนึ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เด็ก บวกกับมุมมองจากระบบมหาวิทยาลัย จึงทำให้เราเห็นโครงสร้างโลก สังคม ชีวิต มายา ตนเอง จิตใจ ได้บ้าง นั่นคือ น้ำบ่อซึมแห่งความคิด ความเห็น ที่มองตามครรลองของโลก สังคม ชีวิต ที่เป็นอยู่เช่นนี้ อยู่ที่ว่า ใครจะมีฐานการเรียนรู้ได้ละเอียดเนียนกว่ากันเท่านั้น

ขอบคุณครับ

ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ ผมเชื่อว่าระบบมหาวิทยาลัยอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวอย่างมากแล้วครับ

สินค้าๆๆ มหาวิทยาลัยทำตัวเป็นผู้จำหน่ายสินค้าครับ

มนุษย์ถูกหล่อหลอม..มากับระบบ..คำนวน.จังหวะ.เวลาและชีวิต..ด้วยเงินตรา..ตามระดับตรีโทเอก..ก็หมายถึงระดับเงินเดือน..ความเลื่อมล้ำต่ำสูงของ..ฐานันดร..ทางหลวงและราษฎ์..๕..

...การเรียนในแต่ละระดับมีมาตรฐานของหลักสูตร...แต่สถาบันการศึกษาหลงทางมานานแล้ว...บริหารจัดการศึกษาให้เป็นธุรกิจ...ต้องหาลูกค้าคือผู้เรียนให้มาก...เพื่อสามารถเลี้ยงตนเองคือสถาบันได้ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆรวมทั้งเงินเดือนครูอาจารย์ผู้สอนเอง...ค่าตำแหน่งทางวิชาการ...แล้วโทษใครละ????...ที่มาของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไง???...ทำให้คนที่ไม่มีงานทำเรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอกเป็นว่าเล่น...และมีหนี้สิ้นมากมายตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน555...

ถ้ามองการศึกษาตอนนี้...หลังจากที่ตัวเองก็บ้าเรียนจนจบปริญญาโท2ใบ ปริญญาเอก 1 ใบ และทุกวันนี้ไม่ได้ทำงาน555...การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีและอาชีวะ ต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในการประกอบอาชีพด้วย...เมื่อเรียนจบต้องมีงานทำ...การพัฒนาการศึกษาให้สูงขึ้น...ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรให้มีความรู้ความสามารถมากน้อยตามความต้องการขององค์กร...เพื่อให้บุคลากรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ...ไม่ใช่การอบรมสัมมนาเพื่อการใช้งบประมาณให้หมดๆไปนะคะอาจารย์...

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านบทความเกี่ยวกับการศึกษาของต่างแดนครับ

-ถือเป็นเรืื่องน่าสนใจมาก ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การศึกษาของต่างแดน

-ขอบคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท