เทคโนโลยีการสื่อสาร


เทคโนโลยีการสื่อสาร


1.1 ความหมาย

การสื่อสาร หรือ การสื่อความหมาย (Communication) เป็นคำที่รากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า "communius" หมายถึง "พร้อมกัน" หรือ "ร่วมกัน" (common) หมายความว่า เมื่อมีการสื่อสารระหว่างกันเกิดขึ้น คนเราพยายามที่จะสร้าง "ความพร้อมกันหรือความร่วมกัน" ทางด้านความคิดเรื่องราวเหตุการณ์ ทัศนคติ ฯลฯ กับบุคคลที่เรากำลังสื่อสารด้วยนั้น ดังนั้น การสื่อสารจึงหมายถึง การถ่ายทอดเรื่องราว การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแสดงออกของความคิดและความรู้สึก ตลอดรวมไปถึง "ระบบ" (เช่น ระบบโทรศัพท์) เพื่อการติดต่อสื่อสารข้อมูลซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ การสื่อสารยังเป็นการที่บุคคลในสังคมมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันโดยผ่านทางข้อมูลข่าวสาร สัญลักษณ์ตลอดจนเครื่องหมายต่าง ๆ ด้วย

เทคโนโลยี มีความหมายค่อนข้างกว้าง โดยทั่วไปหมายถึง สิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เข่น อุปกรณ์, เครื่องมือ, เครื่องจักร, วัสดุ หรือ แม้กระทั่งที่ไม่ได้เป็นสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น กระบวนการต่าง ๆ เทคโนโลยี เป็นการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ ในทางเศรษฐศาสตร์ มองเทคโนโลยีว่า เป็นความรู้ของมนุษย์ ณ ปัจจุบัน ในการนำเอาทรัพยากรมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ (รวมถึงความรู้ว่าเราสามารถผลิตอะไรได้บ้าง) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จะเกิดขึ้นเมื่อความรู้ทางเทคนิคของเราเพิ่มขึ้น

คำว่า "เทคโนโลยี" มีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาเป็นเวลานาน เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้แก้ปัญหาพื้นฐาน ในการดำรงชีวิต เช่น การเพาะปลูก ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ในระยะแรกเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เป็น เทคโนโลยีพื้นฐานไม่สลับซับซ้อนเหมือนดังปัจจุบัน การเพิ่มของประชากร และข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งมีการพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นปัจจัยด้านเหตุสำคัญในการนำและพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กันมาก เทคโนโลยีเกิดจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับประเทศตะวันตก ได้ศึกษาค้นคว้าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยหลักสำคัญคือ ความรู้ทาง วิทยาศาสตร์คือการพยายามที่อธิบายว่าทำไมจึงเกิดอย่างนั้น (Why) เช่น นักฟิสิกส์ อธิบายว่า เมื่อขดลวดตัดสนามแม่เหล็กจะได้กระแสไฟฟ้า และน้ำเกิดจากไฮโดรเจนผสมกับออกซิเจนเป็นต้น

เทคโนโลยีการสื่อสาร จึงหมายถึง สิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน โดยการถ่ายทอด รับรู้ข่าวสารร่วมกัน ผ่านเครื่องมือเหล่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร วัสดุ เพียงอย่างเดียว อาจหมายรวมถึงกระบวนการต่าง ที่เกิดจากการประยุกต์ทางวิทยาศาสตร์ด้วย

การสื่อสารมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันซึ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และแนวโน้มในการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารจะขยายออกไปเรื่อยๆ เป็นเครือข่ายการสื่อสารไร้สาย

เทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication Technology) คือเทคโนโลยีดิจิตัล (Digital Technology)ประเภทหนึ่งซึ่งได้พัฒนาตัวเพื่อเอื้อต่อการจัดการ "การสื่อสาร(Communication)" หรือ "การขนส่งข่าวสาร(Transfer of Information)" เทคโนโลยีการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาพ (Image) เสียง (Voice) หรือ ทางด้านข้อมูล (Data) ได้รับการพัฒนาจนมนุษย์ สามารถเชื่อมโยงติดต่อกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเป็นเครือข่ายที่ติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก เป็นยุคของสารสนเทศ (Information Age) และเป็นสังคมสาร- สนเทศ (Information Society) ที่นับวันจะมีอัตราการเติบโตขึ้นทุกที่ทั้งในด้านขนาดและปริมาณข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม

หมายถึง เทคโนโลยีในการสื่อสารยุคใหม่ 4 กลุ่ม ได้แก่

1. เทคโนโลยีการแพร่ภาพและเสียง (Broadcast and Motion Picture Technology)

2. เทคโนโลยีการพิมพ์ (Print and Publishing Technology)

3. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Computer Technology)

4. เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunication Technology)

บทบาทของเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน เช่น คอมพิวเตอร์ ดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร โครงข่าย โทรศัพท์ อุปกรณ์ ภาพและเสียง มีผลกระทบต่อ "สื่อแบบดั้งเดิม" (Traditional Media) ซึ่งได้แก่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทำให้ เกิดสิ่งที่เรียกว่า " การปฏิวัติแห่งระบบตัวเลข" (Digital Revolution) ทำให้ข้อมูลข่าวสารไม่ว่าจะอยู่ในรูปลักษณ์ใด เช่น ข้อความเสียงภาพเคลื่อนไหวรูปภาพ หรืองาน กราฟิก ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นภาษาอีกชนิดหนึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด คือสามารถอ่านและส่งผ่านได้อย่างรวดเร็วด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วยังสามารถนำเสนอในลักษณะใดก็ได้ตามความต้องการใช้งาน ของผู้ใช้งาน ความเปลี่ยนแปลงนี้ถูกเรียกขานว่า "การทำให้เป็นระบบตัวเลข" หรือ"ดิจิไทเซชั่น" (Digitization) ด้วยระบบที่มีการทำให้เป็นระบบตัวเลข เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิด "สื่อใหม่" (New Media) ขึ้น เป็นสื่อที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับระบบตัวเลข เครื่องคอมพิวเตอร์ และระบบการสะท้อนกลับ หรือ "อินเตอร์ แอคทีฟ"(Interactive)

1.2 ประเภทของเทคโนโลยีการสื่อสาร

รูปแบบของการสื่อสาร แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

1. การถ่ายทอดสัญญาณแบบทิศทางเดียว

การควบคุมทิศทางการส่งข้อมูลแบบทิศทางเดียว (Simplex Transmission) ยอมให้มีการส่งข้อมูลจากผู้ส่งไปยังผู้รับเท่านั้น ทางฝั่งผู้รับไม่สามารถส่งข้อมูลย้อนกลับมายังผู้ส่งได้ การไหลของน้ำออกทางท่อประปาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ท่อประปาเปรียบเสมือนสายสื่อสารโดยมีก๊อกเป็นอุปกรณ์สื่อสาร และน้ำคือข้อมูลที่ถูกส่งออกมาจากโรงงานผลิตน้ำประปา จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ใช้น้ำประปา เปิดก๊อก น้ำก็จะไหลออกมาซึ่งจะหยุดก็ต่อเมื่อปิดก็อกหรือโรงผลิตน้ำประปาหยุดส่งน้ำ ส่วนผู้ใช้น้ำประปาเองก็ไม่สามารถที่จะส่งน้ำกลับไปยังโรงผลิตน้ำประปาได้ การส่งข้อมูลแบบทิศทางเดียวก็มีวิธีการทำงานเช่นเดียวกัน อุปกรณ์บางชนิด เช่น จอภาพ CRT เชื่อมต่อเข้ากับโฮสต์แบบทิศทางเดียว ข้อมูลจากโฮสต์จะถูกส่งมาแสดงบนจอภาพได้ แต่ตัวจอภาพเองไม่สามารถส่งข้อมูลใด ๆ กลับไปยังโฮสต์ได้

ตัวอย่างการส่งข้อมูลแบบทิศทางเดียวกันได้แก่ การถ่ายทอดข้อมูลราคาซื้อ-ขายหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปยังสมาชิกซึ่งมักจะใช้เครื่องพีซีติดต่อเข้ามาจากที่บ้านหรือที่ทำงาน ข้อมูลจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่ฐานข้อมูลที่เครื่องพีซีของผู้ใช้ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกดูราคาหุ้น ทั้งหมดหรือหุ้นบางตัวที่สนใจได้โดยไม่ต้องส่งข้อมูลใด ๆ กลับมาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงแค่ส่งข้อมูลส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงมายังสมาชิกเท่านั้น

2. การถ่ายทอดสัญญาณแบบกึ่งสองทิศทาง

การถ่ายทอดสัญญาณแบบกึ่งสองทิศทาง (Half-duplex Transmission) ยินยอมให้ผู้ส่งสามารถส่งข้อมูลไปยังผู้รับได้และผู้รับก็สามารถส่งข้อมูลกลับมายังผู้ส่งข้อมูลได้เช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าทั้งผู้ส่งและผู้รับจะส่งข้อมูลพร้อมกันไม่ได้ ตัวอย่างได้แก่ การใช้วิทยุสื่อสารของตำรวจ หรือวิทยุ สื่อสารใช้งานทั่วไป (CB Radio) ผู้พูดสามารถพูดไปอีกฝ่ายหนึ่งได้ แต่จะพูดพร้อมกันไม่ได้ คือในขณะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พูด อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้ฟัง ในระบบนี้ไม่มีการบังคับอย่างชัดเจนว่าฝ่ายใดจะพูด ดังนั้นในการใช้งานจริงจึงต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นสำคัญมิฉะนั้นก็อาจจะมีแต่ผู้พูดไม่มีใครยอมเป็นผู้ฟัง ในการสื่อสารข้อมูล จะไม่เกิดการแย่งกันส่งข้อมูลเด็ดขาดเนื่องจากการสื่อสารจะต้องมีโพรโทคอลหรือกฎการสื่อสารข้อมูลเป็นตัวบังคับ

การสื่อสารแบบกึ่งสองทางซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาใช้งานมากกว่าแบบแรกเพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแต่ใช้งานได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งเครื่องพีซีเครื่องหนึ่งสามารถส่งข้อมูลไปยังพีซีอีกเครื่องหนึ่งได้ ส่วนพีซีที่เป็นฝ่ายรับข้อมูลจะต้องรอจนกว่าพีซีผู้ส่งหยุดส่งข้อมูลและปล่อยให้สายสื่อสารเป็นอิสระเสียก่อน จึงจะสามารถส่งข้อมูลกลับไปได

3.การสื่อสารสองทิศทาง (Full – Duplex Communication)

เป็นการสื่อสารที่ผู้สื่อสาร สามารถเป็นได้ทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสาร พร้อมๆ กันได้อย่างอิสระ เช่น ระบบโทรศัพท์ การพูดคุยปกติ เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #คอมพิวเตอร์
หมายเลขบันทึก: 585643เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท