หลักการร่วมของการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ของ กลุ่ม ไทยซีวิคเอ็ดดูเคชั่น


หลักการร่วมในด้านคุณลักษณะของพลเมือง
การศึกษาเพื่อสร้างความความเป็นพลเมืองควรจะสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ให้มีลักษณะที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้


  • รักความเป็นธรรมและความเสมอภาค (Adhere to equality and justice)
  • ยึดถือความยุติธรรม ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่มีการกีดกัน เนื่องจากความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง

  • ใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (Use freedom based on social responsibility)
  • บุคคลในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีเสรีภาพได้มากตราบเท่าที่ไม่ละเมิดผู้อื่น นั่นหมายความว่าบุคคลพึงใช้เสรีภาพด้วยความยินดีที่จะให้ผู้อื่นมีเสรีภาพได้เช่นเดียวกับตน กล่าวคือบุคคลย่อมใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบโดยที่เสรีภาพนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้อื่น ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถให้บุคคลใช้เสรีภาพโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมได้

  • เคารพกฎหมายและกฎกติกา (Respect law and rule)
  • ทุกสังคมต้องมีกฎหมายและกฎกติกา บุคคลในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องเคารพกฎหมายและกฎกติกาเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยที่บุคคลในระบอบประชาธิปไตยทุกคนจะต้องสนใจและช่วยกันผลักดันให้กฎหมายและกฎกตกาต่างๆของสังคมมีความเป็นธรรมสำหรับทุกคนด้วย

  • ใช้สิทธิแต่ไม่ละทิ้งหน้าที่ (Use right without neglecting duty)
  • ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองการปกครองที่บุคคลได้รับการรับรองสิทธิต่างๆมากมายในฐานะมนุษย์และในฐานะอื่นๆ นอกจากนั้นบุคคลในระบอบประชาธิปไตยก็ย่อมมีสิทธิที่จะให้ด้วย สิทธิที่จะให้นี้ก็คือหน้าที่นั่นเอง เช่น หน้าที่ในการเลือกตั้ง หน้าที่ในการเสียภาษี หน้าที่ในการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น บุคคลในระบอบประชาธิปไตยจะมีสิทธิต่างๆได้ก็ต้องทำหน้าที่ด้วย เป็นต้าว่า บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากรัฐบุคคลก็ย่อมต้องมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายที่ดีของรัฐบาลบุคคลก็ย่อมต้องมีหน้าที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีวิจารณญาณที่ดีด้วย ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยดีหากบุคคลเรียกร้องสิทธิโดยไม่ต้องทำหน้าที่

  • มีภราดรภาพ และเคารพความแตกต่าง (Adhere to fraternity and respect for differences)
  • การที่บุคคลในระบอบประชาธิปไตยมีความเสมอภาคกันอาจทำให้บุคคลในสังคมขัดแย้งแตกแยกกัน เพราะบุคคลในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความแตกต่างกันในทางความคิดเห็นหรืออื่นๆได้ แต่ความแตกต่างเหล่านี้ต้องไม่เป็นเหตุให้บุคคลโกรธ เกลียด ทะเลาะ ขัดแย้ง ทำร้าย หรือสังหารบุคคลอื่นได้ บุคคลในระบอบประชาธิปไตยต้องมีขันติธรรม (tolerance)
    กล่าวคือบุคคลในระบอบประชาธิปไตยต้องอดทนต่อความแตกต่างของกันและกันได้ ความแตกต่างของบุคคลในระบอบประชาธิปไตยต้องไม่ทำให้สังคมแตกแยก

  • เห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวม (Consider public interests)
  • เนื่องจากบุคคลไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกได้ จึงต้องอยู่ร่วมกันในสังคม บุคคลจึงต้องถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญด้วย เพราะหากทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนรวม สังคมก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ และในกรณีที่มีความขัดกันในผลประโยชน์ (conflict of interests) บุคคลในระบอบประชาธิปไตยต้องสามารถแยกประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตนได้ ทั้งยังพึงเล็งเห็นให้ได้ว่า แท้ที่จริงประโยชน์ของส่วนรวมก็เป็นประโยชน์ของบุคคลนั้นเองด้วย

  • มีส่วนร่วมทางการเมือง (Participate in politics)
  • ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองการปกครองที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยเพราะการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ดังนั้นบุคคลในระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองที่เพียงพอต่อการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วย เป็นต้นว่า บุคคลในระบอบประชาธิปไตยพึงรู้และเข้าใจว่าการเมืองมีความสำคัญต่อชีวิตของตนและคนอื่นๆในสังคมอย่างไรรู้และเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเมืองการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ รู้และเข้าใจขอบเขตภารกิจและอำนาจหน้าที่ของตัวแทนที่เลือกเข้าไป รู้นโยบายของพรรคการเมือง รวมถึงพฤติกรรมและกลไกการควบคุมตรวจสอบบุคลากรทางการเมืองด้วยนอกจากนี้พลเมืองใน ระบอบประชาธิปไตยยังสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้หลายทาง

  • ที่มาhttp://www.thaiciviceducation.org/index.php/aboutus/common-principle#p1
หมายเลขบันทึก: 585445เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท