โรคทางความคิด


ผมห่างหายเวที T2K มาระยะหนึ่ง เหตุที่ห่างหายเพราะ ๑) ตกอยู่ในวังวนมโน ๒) สุขภาพย่ำแย่ อย่างไรก็ตาม ก็น่าคิดเหมือนกันว่า ชีวิตที่เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งนั้น เราจะมุ่งหมายอะไรหนักหนา บางทีแค่มีลมหายใจเข้าออกในทุกวินาทีก็น่าจะพอแล้ว แต่เราก็ไม่เคยเห็นประโยชน์ของลมหายใจเข้าออกที่เกิดขึ้นนั้น เรามุ่งหมายอะไรหลายๆอย่าง ทั้งที่บางครั้งสิ่งที่มุ่งหมายนั้นอาจไม่มีอยู่จริงก็ได้ เพราะมันคือจินตนาการที่เราคิดถึงมัน จินตนาการดังกล่าวอยู่ในฐานะภาพลวง หลายคนอาจเคยเป็นเหมือนผม โดยการตั้งคำถามว่า ชีวิตมันคืออะไร แต่ละคนแต่ละอย่างดูแล้วแปลกๆ แต่ก็มีความรู้สึกจำนวนหนึ่งว่า เรานั่นแหละแปลกไม่ใช่สิ่งที่พบเป็นสิ่งที่แปลก เราต่างหากที่ประหลาดไม่ใช่สิ่งที่พบเป็นสิ่งประหลาด บางเวลาผมกำลังเห็นว่า สิ่งที่สังคมวางไว้ว่าเป็นเส้นชัยของความสำเร็จ สุดท้ายมันไม่ใช่ความจริงอะไรๆเลย เช่น ผมลองคิดดูว่า ถ้าตำแหน่งศาสตราจารย์คือเป้าหมายของการเป็นนักวิชาการ ใครที่สามารถทำถึงตำแหน่งนั้นได้ คนนั้นจะเป็นคนเก่งและสังคมก็ยอมรับว่าเขาเป็นคนเก่ง ดังนั้น ถ้าศาสตราจารย์เก่ง คนที่ไม่เป็นศาสตราจารย์ก็ไม่เก่ง ในทางการเมือง ถ้าใครสามารถขึ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ คนนั้นเป็นคนเก่ง ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นคนเก่ง คนที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีก็ไม่เก่ง ในโรงเรียนนั้น ถ้าใครไต่ขึ้นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนได้ คนนั้นเป็นคนเก่ง ถ้าอย่างนั้นก็จะมีคนที่ไม่ใช่ผู้อำนวยการเป็นคนไม่เก่ง ก็ถ้าผู้อำนวยการ นายกรัฐมนตรี และศาสตราจารย์เป็นคนเก่ง ดังนั้นคนเก่งจึงไม่มีจริง เพราะในกลุ่มผู้อำนวยการ นายกรัฐมนตรี และศาสตราจารย์ สังคมมองว่าเก่ง ดังนั้นจึงเก่งเหมือนกัน เมื่อมีความเหมือนกันก็จึงไม่เก่ง แท้จริงเก่งและไม่เก่งก็ขึ้นอยู่กับระดับความคิดในการจัดชั้นของคนจากความคิดทางสังคมที่วางขึ้นเท่านั้น สิ่งดังกล่าวเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ศาสตราจารย์ นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการจึงไม่ใช่ความจริง

ผมตกอยู่ในมโนดังกล่าว จึงกลายเป็นความแปลกแยกในสังคม และสุดท้ายทำให้ชีวิตที่มีชีวากลายเป็นชีวิตตายซาก ในทางสังคม ถ้าเป็นเด็กก็จะถูกมองว่าเป็นเด็กมีปัญหา ในทางสังคมต้องใช้ "กระบวนการทางสังคม" "สังคมประกฤต" เข้ามาจัดการเด็กดังกล่าวให้อยู่ในความจริงที่สังคมสมมติขึ้นว่าเป็นความจริง นอกจากความคิดดังกล่าว จึงมีมโนอื่นๆอีก ผมกำลังเฝ้ามองว่า คนไทยทุกวันนี้ค่อนข้างเปราะบาง ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในคนไทยเหล่านั้น เพราะเพียงแค่นกแสกร้องแก๊งก็ขนพองสยองเกล้า ในจำนวนนั้นมีกลุ่มผู้จบการศึกษาที่สังคมมองว่าสูงอยู่ด้วย คนเหล่านี้แค่ได้ข่าวอะไรเล็กๆน้อยๆก็ขนพองสยองเกล้า ทั้งที่ข่าวดังกล่าวเป็นการรับรู้มาจากการสื่อสารที่ไม่ได้สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ กับเหตุการณ์จริง คนเขียนข่าวหรือก็ไม่ได้เรียนจบสูงๆทางสังคม แต่สามารถโน้มน้าวคนที่มีการศึกษาสูงกว่าตนให้ผวาได้ นักศึกษาที่ฟังเสียงจากคนมีการศึกษาสูงทางสังคม ก็เชื่อง่ายไปตามความเชื่อของผู้สอน ทั้งที่ผู้สอนก็ไม่ได้ประสบกับเหตุการณ์จริง

การโฆษณาทางทีวีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกล่อมสมองของคนไทยจำนวนมากให้ตกอยู่ในเป้าหมายของผู้โฆษณา ยาหลายชนิดถูกโฆษณาสรรพคุณในยุคที่คนทั้งหลายกำลังนั่งกินยาพิษกันอยู่ ข้าว พืช ผัก ผลไม้ ถูกโปรยด้วยสารเคมี เรากินลงไปอย่างเลือกไม่ได้ ก็ค่อยๆสะสมทีละน้อย บริษัทผลิตยา ก็ผลิตมารองรับชีวิตที่ภูมิคุ้มกันกำลังถูกทำลาย คนนั่งดูทีวีที่บ้านวิ่งหายาเพราะเชื่อว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นจะทำให้เราอายุยืน หายจากโรคภัยต่างๆ สิ่งของต่างๆทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ล้วนแต่มีรูปแบบน่าสนใจทั้งนั้น เห็นแล้วชอบ ชอบแล้วแสวงหา แสวงหามาแล้วก็ไม่พอ ไม่พอก็แสวงหามาใหม่ อาหารที่โน้นอร่อย อาหารที่นี้น่ากิน แหล่งท่องเที่ยวที่นี้สวยงาม การพัฒนาแบบนี้ดี แต่ทุกอย่างก็ไม่อร่อย ไม่น่ากิน ไม่สวยงาม และไม่ดี ชีวิตของคนเราวิ่งไปเรื่อย ถ้าไม่วิ่งจะกลายเป็นชีวิตทีมีปัญหา การวิ่งดังกล่าวเหมือนกับหนูที่อยู่ในขวดโหล โดยหนูก็ไม่รู้ว่าเป็นขวดโหล แต่หนูก็วิ่ง มันจะไม่วิ่งก็ต่อเมื่อมันตาย และมันก็ตายไปพร้อมกับการไม่ได้ออกมาจากขวดโหลและไม่รู้เลยว่ามันอยู่ในโหล มาถึงตรงนี้เมื่อคิดว่าชีวิตเหมือนอยู่ในขวดโหล ก็ทำให้รู้สึกอึดอัด แน่นขนัด ขัดแย้ง แต่ก็ออกไปจากขวดโหลนี้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าผนังขวดโหลอยู่ตรงไหน ปากของขวดโหลอยู่ตรงไหน .... ทั้งหมดมโนล้วนๆ กลายเป็นการสร้างกรอบให้ตัวเอง ขังตัวเองในสิ่งที่คิดว่าจริง โดยสังคมมองว่ามีปัญหาแล้ว ถ้าไม่รีบแก้ไขความคิด โดยให้ยอมรับความจริงที่สังคมระบุเสียก่อน

เมื่อจิตใจเศร้าหมอง ส่งทอดเป็นสุขภาพย่ำแย่ ความเครียดรุมเร้าเพราะมองหาสิ่งที่เป็นจริงแต่ไม่มีจริง ร่างกายหมอง กลายเป็นศพตายซาก ไร้ชีวิต ไร้จุดหมาย มีชีวิตอยู่บนเวลาที่ไร้เวลา เหมือนไร้ชีวิต ลองปลีกตัวออกไปเที่ยวต่างถิ่น สุดท้ายที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะปัญหาไม่ได้เกิดข้างนอก ปัญหาคือโรคทางความคิดที่ต้องจัดการในตัวเอง ...เอเมน

หมายเลขบันทึก: 585415เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท