จิตตปัญญาเวชศึกษา 220: การสือสารนั้นมาจากใจ


การสื่อสารนั้นมาจากใจ ไม่ใช่แค่พูดเร็ว พูดมาก พูดเพราะ

ในยุคแห่งการบริหารจัดการ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจุดโฟกัสให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดมีคำใหม่ๆขึ้นมา อาทิ outcome-based (มุ่งเป้าหมายเป็นหลัก) competency-based (มุ่งสมรรถนะ สมรรถภาพเป็นหลัก) student-based (มุ่งนักเรียนเป็นหลัก) และพอเจอ "หลัก" แล้ว ค่อยนำมาคิดว่าจะทำอย่างไรดี จึงจะได้หรือบรรลุหลักนั้นๆที่ต้องการ

แพทยศาสตรศึกษานั้นจะมีประเด็นเรื่องการสื่อสารเป็นสำคัญ ในขณะที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (medical sciences) นั้น อิงเอียงมาจากวิชาเคมีชีววิทยา (bio-chemistry) สรีระวิทยา (physiology) คำต่างๆที่ใช้ในวิชาเหล่านี้ไม่ใช่คำที่ประชาชนทั่วไปใช้กัน มีรากศัพท์มาจากละติน กรีก ฝรั่งเศส อะไรต่อมิอะไรที่แปลกหูแปลกตา แต่สุดท้ายแล้วแพทย์จะต้องนำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้กับชาวบ้าน เพื่อชาวบ้าน และเพื่อสิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก คือ เจ็บ ปวด สบาย สุข ทุกข์ หาใช่เพื่อโมเลกุล อะตอม อะไรไม่ เครื่องมือที่จะเชื่อมศาสตร์ทั้งสองฝั่งเข้าหากันให้ได้ก็คือ "การสื่อสาร (communication)" นั่นเอง

Communication มาจากคำว่า commun หรือ common แปลว่า "ร่วมกัน เหมือนกัน ด้วยกัน" เติม suffix ต่อท้ายคือ -ie แปลว่า "ทำให้เป็น ทำให้เกิด" มารวมกันเป็น communie จึงหมายความว่า "ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เหมือนกัน ด้วยกัน" จะเห็นว่ารากศัพท์นี้เน้นที่ "เป้าหมาย" ไม่ได้เน้นที่ "กิริยา" แต่อย่างใด ซึ่งมีนัยยะอันสำคัญมาก เพราะบางทีถ้าเราไปเน้นที่ "กิริยา" จนลืมไปว่าเราต้องการ "ผล" อะไรกันแน่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราอาจจะ "ได้ทำกิริยา" นั้นๆ แต่หาได้เกิดผลที่เราต้องการไม่

การออกแบบการเรียนการสอน communication หรือทักษะการสื่อสาร จึงต้องเน้นที่ผลลัพธ์ และกิริยาการสื่อนั้นเป็นศิลปศาสตร์แห่งเครื่องมือที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ เราต้องการ

ในสังคมยุคแห่ง "สื่อ" ในปัจจุบันกลับมีปรากฏการณ์แปลกประหลาดคือ ประสิทธิภาพการส่งข้อมูลในตอนนี้สูงกว่าสมัยก่อนอย่างมากมายมหาศาล ส่งได้เร็วกว่า ปริมาณมากกว่าหลายสิบหลายร้อยเท่า แต่สังคมกลับดูเหมือนจะ "แตกแยก" มากกว่าแต่ก่อนแปรตามความเร็วและปริมาณในการสื่อ นั่นคือ สื่อแล้วกลับไม่เกิดความเข้าใจร่วมกัน แต่สื่อแล้วทะเลาะกัน เกลียดกัน โกรธกัน

มันเป็นเพราะอะไร?

เป็นเพราะเราไปตื่นเต้นยินดีกับความเร็วและปริมาณการส่งข้อมูล และไปหลงคิดว่าเราสื่อได้ "ดีขึ้น" เพราะเราส่งได้เร็วขึ้นและมากขึ้น แต่ความจริงกลับเป็นตรงกันข้าม ปัจจัยที่เราจะ "สื่อสารได้ดีขึ้น" นั้น ไม่ได้ขึ้นกับปริมาณและความเร็วในการสื่อเลย กลับเป็นเรื่องอื่นๆที่สำคัญกว่า และเรากำลังเลิกให้ความสนใจกับปัจจัยนั้นๆ ทำให้การสื่อที่เร็วและมากของเรา กลับเกิดผลตรงกันข้ามกับความหมายของการสื่อสารไป

@ ปัจจัยสำคัญคือการ "เข้าอกเข้าใจในความรู้สึกของคนที่เรากำลังสื่อ" หรือการ empathy

สภาวะของคนฟังนั้น เราไม่ได้ฟังเพียงแค่ได้ยิน "เนื้อหา" เท่านั้น แต่ยังเกิดอารมณ์ ความรู้สึก เป็นผลกระทบมาจากทั้งเนื้อหา รูปแบบที่ได้ยิน น้ำเสียง ท่าทาง อวจนภาษา ฯลฯ ปรุงแต่งเนื้อหานั้นไปกระทบกับชีวิตของคนฟัง ถ้าเราใส่ใจในทั้งหมดที่เกิดขึ้น จะเกิดการปรับแต่งวิธีการสื่อของเราเองโดยอัตโนมัติ

มีข้อสังเกตก็คือ บางทีเราเจอคนบางคนที่ใครๆก็ว่าสื่อสารไม่ดี มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือคนอื่นๆ แต่เวลาที่คนๆนั้นพูดจากับคนที่เขารัก คนที่เขาเกรงใจ ก็สามารถสื่อสารได้น่ารัก ได้อย่างดี ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะว่าคนๆนี้สื่อไม่เป็น (เพราะหลักฐานก็คือ ถ้าจะสื่อให้ดี ก็สามารถทำได้) แต่เป็นเพราะเขาไม่ได้ใช้วิธีสื่อที่ดีนั้นกับทุกคนต่างหาก

การแก้ปัญหาเรื่องทักษะการสื่อสารของนักศึกษาแพทย์ (หรือใครๆก็ตาม) จึงไม่ใช่การสอนเรื่อง "เทคนิกการสื่อสาร" เสียแล้ว นักศึกษาไม่ได้บกพร่องที่ไม่ทราบศัพท์ ไม่รู้คำสุภาพ หรือไม่ทราบวิธีการสื่อที่ดี ตรงกันข้าม เวลาที่นักศึกษาต้องการจะสื่อจริงๆ เช่น ไปจีบแฟน อ้อนขอตังค์แม่ สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว แนบเนียน และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือ นักศึกษาไม่ได้คิดจะทำแบบเดียวกันกับผู้ป่วย กับเพื่อนร่วมงาน กับพยาบาล กับใครต่อใครต่างหาก

เรื่องนี้มันอยู่ที่ใจ อยู่ที่สภาวะภายในของคน

เดี๋ยวนี้มีการพูดถึง soft sciences เยอะแยะ จัด class อบรมเทคนิกการสื่อสาร เทคนิกการพูด ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการสื่อสารในตัวนักศึกษาคึอ สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพัฒนาความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจ การมองเห็นและรับทราบอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นต่างหาก บรรยากาศที่มีความรัก ความเมตตา ความกรุณา ที่จะบ่มเพาะสภาวะภายในของนักศึกษาให้เติบโตมาเป็นคนที่อยากจะสื่อ อยากจะพูด ออกมาจากความหวังดี จากความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ สิ่งเหล่านี้จะไม่ติดอยู่กับกรอบ กับกระบวนท่า กับมาตรฐานใดๆ ขอเพียงออกมาจากใจ การสื่อนั้นจะทรงประสิทธิภาพขึ้นมาเอง

ถ้าหากเรารู้สึกว่านักศึกษาเราดูท่าจะขาด soft science ในการสื่อ น่าจะเริ่มจากสำรวจสิ่งแวดล้อมที่นักศึกษาเราเติบโตว่า มันมีหรือขาดปัจจัยเหล่านี้หรือเปล่า อย่าพึ่งไปเริ่มจากการเติมชั้นเรียนสอนพูดกันเลย เด็กๆพวกนี้พูดเป็น พูดเก่งกันอยู่แล้ว

สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๔๔ นาที
วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 585300เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท