อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช


อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช เดิมมีชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่" เนื่องจากมีต้นกระบากที่ใหญ่สุดในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบในขณะนี้ โดยมีนายสวาท ณ น่าน ช่างอันดับ 2 สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตาก ซึ่งได้รับการบอกเล่าจากชาวเขาเผ่ามูเซอ ว่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสิบคนโอบอยู่ต้นหนึ่ง และมีสะพานหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อได้ไปสำรวจพบเห็นว่าเป็นสภาพธรรม ชาติที่สวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ จึงได้ทำหนังสือถึงกองอุทยานแห่งชาติ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2519 และวันที่ 6 มกราคม 2520 รายงานถึงลักษณะทางธรรมชาติซึ่งมีความโดดเด่น ได้แก่ ต้นกระบากใหญ่ สะพานหินธรรมชาติ น้ำตกห้วยหอย น้ำตกแม่ย่าป้า มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีสัตว์ป่าที่ชุกชุม

ทางกองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีคำสั่งให้ นายสมยศ สุขะพิบูลย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลานสางในขณะนั้น ออกไปตรวจสอบพบเห็นว่าเป็นจริงดังคำบอกเล่า มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ และไปดำเนินการสำรวจเพื่อกำหนดพื้นที่ป่าห้วยแม่ละเมา–ห้วยยะอุ ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท้อ–ห้วยตากฝั่งขวา ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ นำเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น "อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่" นับเป็นอุทยานแห่งชาติอันดับที่ 40 ของประเทศไทย

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นสิริมงคลแก่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนเพื่อเป็นการรำลึกถึงสถานที่อันมีค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้แก่ จังหวัดตาก เห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ "อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่" เป็น "อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช" กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อใช้พระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2529 ให้ใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช"

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางลักษณะภูมิประเทศแล้ว อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชยังมีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์อีกด้วย กล่าวคือ ในสมัยโบราณพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเส้นทางการเดินทัพของขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อำเภอแม่สอดในปัจจุบัน) เพื่อบุกเข้าตีเมืองตากซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยในขณะนั้น นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า โดยพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า คราวยกทัพกลับจากการล้อมกรุงศรีอยุธยาขณะเสด็จกลับระหว่างทางทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในป่าแห่งนี้ 7

หมายเลขบันทึก: 585267เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2015 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท