ใจสู้หรือเปล่า


จงทราบไว้ด้วยว่าการศึกษายังไม่ได้เบ็ดเสร็จด้วยผู้บริหาร ยังต้องบริหารจัดการบนนโยบายที่สั่งการจากเบื้องบนไม่ได้หยุดหย่อน มีนวัตกรรมรูปแบบใหม่เกิดขึ้นให้เรียนรู้และเข้าถึง ให้ประเมินผลและรายงานอยู่ไม่ได้ขาด ตลอดจนปัญหาคุณภาพผู้เรียนและชุมชน ยังเป็นเรื่องท้าทายผู้บริหารรุ่นใหม่ตลอดเวลา.....

ณ วันนี้..การศึกษาไทยเริ่มมองเห็นเค้าลาง ของเหตุปัจจัย ที่มีส่วนทำให้การเรียนการสอนไม่เป็นไปตามหลักสูตรฯ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา ผลลัพธ์ที่ออกมา ไม่เป็นที่พอใจของหลายๆฝ่าย ซึ่งได้เฝ้ามองตั้งแต่ต้นทาง ที่ประกอบด้วยการบริหารจัดการงบประมาณ ระหว่างทาง ที่มีกระบวนการขั้นตอนมากมาย และปลายทาง ที่มีการประเมินกันยิบย่อย จนไม่รู้ว่าผลที่ได้จริงหรือเท็จ

ยกตัวอย่างแค่ผลทดสอบโอเน็ต ชั้น ป.๖ เพียงชั้นเดียว และด้านเดียว คือภาคความรู้ จะเป็นคำตอบหรือตัวแทนของผลการจัดการศึกษาของบ้านเมืองเรา น่าจะไม่เป็นธรรมเท่าที่ควร ต่อเมื่อจะมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อนำไปผูกโยงกับผลการประเมิน สมศ.รอบ ๓ ที่ผ่านมา และผลการคัดกรองการอ่านการเขียนนักเรียนประถมศึกษาจากทั่วประเทศ ยังมีนักเรียนอีกหลายหมื่นคน ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก รวมทั้งการเจาะลึกไปถึงสาระหลักที่ล้าหลัง ทั้งภาษาอังกฤษ ทักษะอาชีพและการแข่งขันในอาเซียน

ในที่สุดแล้ว..ผู้ที่ตกเป็นจำเลยของสังคมอยู่เสมอ จากผลงานที่ย่ำแย่ใน ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา ก็คือครูและนักเรียน แต่วันนี้..กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เริ่มที่จะยกผลประโยชน์ให้จำเลย แล้วเล็งเป้าไปที่ผู้บริหารสถานศึกษา ที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างในโรงเรียน ที่มีงานสำคัญ คือ วิชาการ และเป็นผู้ที่มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ และอาจพูดได้ว่าเป็นผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังแห่งความล้มเหลวทั้งปวง

สพฐ.และเขตพื้นที่การศึกษา โดยความร่วมมือของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และมีความพยายามที่จะปรับปรุงเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งอาจมองได้ว่าเปิดกว้างให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าสู่ตำแหน่ง ได้มีโอกาสมากขึ้น ด้วยการระบุคุณสมบัติที่ไม่เข้มข้น(เช่นเคย) ทั้งประสบการณ์และความรู้ แต่หลักสูตรการคัดเลือกด้วยการสอบและขั้นตอนการคัดเลือก อาจทำให้ครูหลายคนถอดใจ เพราะคณะกรรมการฯที่จัดสอบจะเน้นวิชาการมากขึ้นและมีการทดสอบภาษาอังกฤษด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า หากครูมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้าสู่วิชาชีพ ที่คิดว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีหน้ามีตาในสังคม ก็คงท่องตำรา พัฒนาความเข้มข้นตามหลักสูตรการสอบ(ติว) ก็คงจะทำข้อสอบและผ่านการประเมินแต่ละด่านได้ไม่ยาก

อยากจะบอกว่า "ยาก" ตรงที่จะได้ไปบริหารสถานศึกษา ในชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าละคร ขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลต่อไปนี้ กล่าวคือ ขณะนี้มีตำแหน่งผู้บริหารว่างเป็นจำนวนมาก และร้อยละ ๘๐ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และธรรมชาติของโรงเรียนเล็กจะขาดครู ไม่มีครูวิชาเอกหลักๆ ไม่มีภารโรง ขาดแคลนโอกาสและทรัพยากรทางการศึกษา ฯลฯ

จงทราบไว้ด้วยว่าการศึกษายังไม่ได้เบ็ดเสร็จด้วยผู้บริหาร ยังต้องบริหารจัดการบนนโยบายที่สั่งการจากเบื้องบนไม่ได้หยุดหย่อน มีนวัตกรรมรูปแบบใหม่เกิดขึ้นให้เรียนรู้และเข้าถึง ให้ประเมินผลและรายงานอยู่ไม่ได้ขาด ตลอดจนปัญหาคุณภาพผู้เรียนและชุมชน ยังเป็นเรื่องท้าทายผู้บริหารรุ่นใหม่ตลอดเวลา

ถ้าคิดว่าจะไปเป็นผู้บริหาร เพื่อใช้อำนาจในการมอบและสั่งการฯ ตามตำราที่เรียนมา เชื่อว่าจะเหนื่อยตั้งแต่ยังไม่ออกรบ ผู้ที่ตัดสินใจะก้าวบนถนนสายนี้ จงสำเหนียกและหาข้อมูล เรียนรู้รอบด้าน ประเมินและรู้จักตนเอง ถามตนเองก่อนว่า ใจสู้หรือเปล่า อย่าเมินเฉยต่อวลีเด็ด...ที่ว่า..จะเป็นผู้บริหารที่ดี ควรเป็นครูที่ดีให้ได้เสียก่อน..หรือ ถ้าโง่ไม่เป็น ก็เป็นใหญ่ยาก แต่สมัยนี้ โง่มากๆ อย่าไปเป็นผู้นำการศึกษาเป็นเด็ดขาด..

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

</span>

หมายเลขบันทึก: 585056เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท