การบริหารธุรกิจครอบครัวและจุดเด่น-จุดด้อย


ปัจจุบันการเกิดธุรกิจหรือกิจการใหม่ๆ นั้นมีมากมาย ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีธุรกิจขนาดกลาง (SME) และขนาดเล็ก เป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิน 50% ของธุรกิจทั้งหมดภายในประเทศ โดยจุดเริ่มต้นโดยส่วนใหญ่นั้นมาจากครอบครัว ซึ่งครอบครัวที่แข็งแกร่งนั้นจะต้องมีผู้นำที่ดี และสมาชิกในครอบครัวดีเช่นกัน ซึ่งเปรียบได้กับธุรกิจ ดังนั้น หากนำ "ครอบครัว" และ "ธุรกิจ" มารวมกันก็จะสร้างความแข็งแกร่งได้มาก แต่ก็ยังมีจุดด้อยเช่นกัน

"ธุรกิจครอบครัว (Family Business)" แม้ชื่อจะจำกัดว่าเติบโตมาจากครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็ก ๆ หน่วยเล็ก ๆ หน่วยหนึ่งของสังคม แต่ความสำคัญและความแข็งแกร่งของธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นเรื่องที่มิอาจมองข้ามได้เลย เพราะธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนานาประเทศแทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว เช่น ฟอร์ด, ดิสนีย์, เอสเต, ลอเดอร์ เป็นต้น ในประเทศญี่ปุ่นก็มีบริษัท โตโยต้า, พานาโซนิค ในประเทศเกาหลีใต้ก็มีบริษัท ซัมซุง, โคเรียนแอร์ ในประเทศจีนก็มี ลีกุมกี ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเองก็มี เครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่, กลุ่มสหพัฒน์ เป็นต้น ซึ่งบริษัททั้งหลายที่กล่าวมาล้วนเป็นบริษัทที่เจ้าของกิจการแต่ดั้งเดิม คือหัวหน้าครอบครัวร่วมแรงร่วมใจกันบริหารกิจการจนเติบโต ขยายขนาดธุรกิจออกไปจนต้องจ้างมืออาชีพจากภายนอกมาช่วยบริหารงาน และบางบริษัทก็กลายเป็นบริษัทมหาชนที่ครอบครัวผู้เป็นเจ้าของกิจการแต่ดั้งเดิมได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเจ้าของ และเป็นผู้บริหารกลายเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน

จุดเด่นของธุรกิจครอบครัว

  • 1)ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Unity) ของสมาชิกในครอบครัว การที่พนักงานในบริษัทเป็นคนในครอบครัวหรือวงศาคณาญาติของตนเองนั้น หมายความว่าสมาชิกของบริษัทย่อมมีความคุ้นเคยกันมาก รู้จักนิสัยใจคอกันดี ได้รับการอบรมเลี้ยงดูโดยบรรพบุรุษสายเลือดเดียวกัน ดังนั้น เรื่องของความขัดแย้งจึงน่าจะมีน้อยกว่าคนนอกครอบครัว ในแง่ของการบริหารจึงน่าจะง่ายขึ้น สำหรับผู้บริหารเข้าทำนอง "ว่าอะไร ว่าตามกัน"เรื่องที่จะขัดแย้งหรือขัดคำสั่งหรือทำงานไม่ประสานงานกันน่าจะไม่มีปัญหา
  • 2)ธุรกิจครอบครัวจะมีวัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากสมาชิกขององค์กรเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ดังนั้น คนในตระกูลเดียวกันจึงมักมีความเชื่อ ค่านิยมในแบบเดียวกัน เช่น ค่านิยมเรื่องการเคารพต่อผู้อาวุโส การซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การดูแลพนักงานแบบคนในครอบครัวแบบไม่ทอดทิ้งกัน เป็นต้น เมื่อคนรุ่นปู่ รุ่นตาที่ได้ก่อตั้งบริษัทมีแนวนโยบายในการบริหารเช่นใด ก็มักจะถ่ายทอดความคิดนั้นมายังลูกหลานให้ช่วยกันสืบทอดยึดมั่นในหลักการนั้นๆ ด้วย ความเชื่อฟังและความภาคภูมิใจในตัวบรรพบุรุษ จะทำให้สมาชิกรุ่นหลังจะดำรงรักษาวัฒนธรรมของครอบครัวเอาไว้ เว้นแต่ว่าความคิดนั้นๆ ไม่สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันได้จริงๆ จึงจะยอมเปลี่ยน
  • 3)ความซื่อสัตย์และการรักษาความลับ (Loyalty and Confidentiality)การทำธุรกิจครอบครัวนั้น มีข้อได้เปรียบสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้บริหารสามารถไว้วางใจคนในครอบครัวในเรื่องความซื่อสัตย์ได้มากกว่าบุคคลภายนอก การรั่วไหลของเงินทอง การสูญเสีข้าวของเครื่องใช้สำนักงานน่าจะเกิดขึ้นน้อยกว่า เพราะคนในครอบครัวจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาห่วงใยทรัพย์สินของบริษัทมากกว่า นอกจากนั้น การรักษาความลับของบริษัทก็น่าจะทำได้ดีกว่าบุคคลภายนอก เช่น สูตรลับ หรือเคล็ดลับในการผลิตสินค้าก็จะถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่รั่วไหลไปเข้าหูบุคคลภายนอก
  • 4)ความทุ่มเทให้กับงานและความรับผิดชอบ (Devotion and Intrapreneurial Spirit ) เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวมักมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการอยู่ด้วย ทำให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของกิจการ ความรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ จะทำให้สมาชิกแต่ละคนมีความห่วงใยบริษัทมากขึ้น ทำให้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และมีความรับผิดชอบต่อการทำงานอย่างเต็มที่

จุดด้อยของธุรกิจครอบครัว

  • 1)เรื่องของอารมณ์ (Emotion) เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ เมื่อความเป็นคนกันเองในครอบครัวเดียวกันทำให้เกิดความคุ้นเคย แต่ถ้ามีความคุ้นเคยมากไปก็อาจจะทำให้ละเลยเรื่องความเกรงใจกัน ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้เกิดความบาดหมางผิดใจกันได้ง่ายกว่าคนนอกเสียอีก ดังนั้น ต้องระวังเรื่องอารมณ์ให้ดี ต้องแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานให้ออก
  • 2)ระวังอย่ายึดติดกับค่านิยมเก่าๆ จนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง การที่องค์กรมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งเป็นเรื่องทีดี แต่การที่ผู้บริหารยึดมั่นกับคำสอนเก่าๆ หรือความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษจนไม่ยอมปรับเปลี่ยนเลย ซึ่งอย่ากลัวว่าถ้าเปลี่ยนแปลงค่านิยมไปบ้างจะทำให้เสียภาพลักษณ์เดิมๆ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนนั้นสามารถทำได้ในหลายลักษณะโดยไม่ส่งผลกระทบลบล้างค่านิยมเดิมๆ จนหมดไป
  • 3)ปากมีหู ประตูมีช่อง ถึงแม้คนในครอบครัวจะเป็นที่น่าไว้วางในได้ ก็ต้องระวังในระดับหนึ่ง ผู้บริหารจึงพึงใช้วิจารณญาณว่าสมาชิกคนใดในครอบครัวมีอัธยาศัยใจคอเป็นอย่างไร เพราะตอนรักกันก็ดีอยู่ แต่พอโกรธกันก็สามารถแฉความลับทำได้แสบกว่าคนนอกเสียอีก ดังนั้น ต้องเลือกไว้วางใจคนให้เหมาะสมกับเรื่อง
  • 4)อย่าคาดหวังกับคนในครอบครัวมากเกินไป จริงอยู่ที่คุณสามารถคาดหวังให้คนในครอบครัวทุ่มเทกับกิจการมากกว่าพนักงานคนนอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถเรียกร้องหรือสั่งการพวกเขาโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีเวลาทำอย่างอื่น เพราะมันอาจรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขาจนสุดจะทนแล้ว เลยโบกมืออำลาจากบริษัทและอำลาจากครอบครัวด้วยก็ได้
  • 5)รับคนนอกเข้ามาทำงานเพื่อรับความคิดใหม่ๆ แม้ลูกหลายของคุณจะเก่งกาจจบการศึกษามาจากเมืองนอก ก็อย่าได้คิดว่าลำพังลูกหลายของคุณก็เก่งพอ ที่จะบริหารธุรกิจแล้ว ขอให้เปิดใจรับคนนอกมาทำงานแล้วก็เปิดโอกาสให้คนนอกได้รับการเลื่อนขึ้นทำงานในตำแหน่งสูงๆ ด้วย อย่าเก็บตำแหน่งสูงๆ ให้เฉพาะคนในครอบครัวของคุณเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นจะไม่มีมืออาชีพฝีมือดีๆ จากข้างนอกมาทำงานให้คุณ การเปิดรับคนนอกมาทำงาน ทำให้คุณมีมุมมองใหม่ๆ จากภายนอกมาช่วยเสริมวิสัยทัศน์ของครอบครัวให้ดีขึ้น กว้างขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้นผู้ที่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารของธุรกิจครอบครัวนั้น จะต้องมีความยุติธรรม มีการบริหารระบบครอบครัวและระบบธุรกิจให้มีความสมดุลและเหมาะสมในด้านที่เท่าๆกัน เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและยั่งยืน ไม่ควรเน้นไปในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เช่น หากเน้นไปทางระบบธุรกิจมากเกินไป จะให้ระบบครอบครัวในเรื่องความสัมพันธ์ลดน้อยลง แต่ถ้าหากเน้นไปทางระบบครอบครัวมากเกินไป ธุรกิจอาจจะขาดแรงงานฝีมือดีๆในการพัฒนากิจการให้เจริญเติบโต เป็นต้น


แหล่งข้อมูล

http://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=ar...


คำสำคัญ (Tags): #-
หมายเลขบันทึก: 585000เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท