โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว : (ตอนที่ 8) ไปเที่ยวสวนสัตว์และป่าชุมชน .. ที่บ้านปะอาว


ผู้นำชุมชนกลุ่มหนึ่งมองเห็นว่ามีปลาในร่องน้ำขอบถนน ก็พากันมาไล่จับปลาในร่องน้ำ พระครูท่านก็ตามมาดู ‘ทำตาปริบๆ’ สำนวนดิฉันเองค่ะ เพราะได้แต่มองคนไล่จับปลาสลับกับมองป้าย ’อภัยทาน’ โดยพูดอะไรไม่ได้ ดิฉันก็ได้แต่ยืนยิ้ม (และถ่ายภาพเป็นหลักฐานไปพร้อมกัน) เพราะใกล้เวลาอาหารกลางวันมากแล้วในขณะที่ทุกคนเหนื่อยและหิวแล้วด้วย

25 ม.ค.58

หลังเก็บภาพการถ่ายทำขั้นตอนการ 'สุมเบ้า' เผาสัมฤทธิ์และเทลงในเบ้าเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องรอให้สัมฤทธิ์แข็งตัว ระฆังขนาด 100 กิโลกรัมก็ต้องรออีก 2 วัน จึงจะกระเทาะเอาดินหุ้มเบ้าออกได้ ดิฉันจึงพาลูกสาวไปบอกลา 'พ่อช้าง' ที่นั่งพักเหนื่อย

"ไปนะคะพ่อช้าง ว่าจะขอไปเยี่ยมจระเข้สักหน่อยค่ะ"

ดิฉันเขียนไม่ผิดหรอกค่ะ ที่ปะอาวมีสวนสัตว์ด้วย และเรากำลังจะไปสวนสัตว์กัน สวนสัตว์บ้านปะอาวมีพื้นที่ติดกับศูนย์ทองเหลือง เพราะต่างก็อยู่ในเขตป่าชุมชนเหมือนกัน สัตว์บางชนิด เช่น นกและไก่นานาพันธุ์ที่ไม่ได้ขังกรงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ เดินไปมาหากินในเขตพื้นที่ป่าชุมชน รวมทั้งเข้ามาในเขตศูนย์ฯ ทองเหลืองด้วย หลายปีก่อนช่วงมีไข้หวัดนกระบาด มีสัตว์ปีกตายจำนวนมาก ชาวบ้านต่างแสดงความคิดเห็นในมุมมองของตัวเองไปต่างๆ นานา รวมทั้งการทิ้งเศษอาหารของช่างทองเหลืองด้วย ข้อหาหนักไปสักหน่อย .. แต่ก็ล้างข้อกล่าวหาได้หมดแล้วภายหลังพบสาเหตุหลักและแก้ไขปัญหาได้ เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลลดประชากรสัตว์ปีกลงไปมาก และหลังจากนั้นดิฉันก็ไม่ได้กลับมาที่สวนสัตว์อีกเลย

วันนี้ดิฉันจะไปเยี่ยมจระเข้ ตามคำชักชวนของ 'แม่ถัน' น้องเมีย 'พ่อทวี' ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ที่มาร่วมสังเกตการณ์ที่ศูนย์ทองเหลืองวันนี้ด้วย

แม่ถัน ดิฉันและน้องอายตั้งขบวนรถจักรยาน แล้วพากันขี่ออกจากประตูศูนย์ทองเหลือง เลี้ยวขวาออกไปไม่ไกลก็ถึงป้ายบอกทาง 'ศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชน' ขี่รถต่อไปอีกระยะ ซ้ายมือเป็นร่องน้ำขอบถนน มีป้ายผ้าบอก 'เขตอภัยทาน' ร้อยบนเชือกผูกกับต้นไว้ทอดยาวเป็นระยะ

ถึงตรงนี้ดิฉันจอดรดจักรยาน เป็นสัญญาณให้แม่ถันจอดรถเพื่อเล่าเรื่องขำขันเกี่ยวกับพระครูให้ฟัง (ตอนนั้นแม่ถันยังเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ในเมือง พักในเมือง จะกลับบ้านเมื่อมีงานบุญ) รู้สึกดีจังเลยค่ะ ที่ดิฉันคนนอกชุมชนมีโอกาสเล่าเรื่องของชุมชนแบบคนใน ส่วนแม่ถันคนของชุมชนจะเป็นผู้ฟังแบบคนนอก

พระครูสุตบูรพาสถิต เจ้าอาวาสวัดบูรพาปะอาวเหนือ ท่านเป็นผู้ริเริ่มการอนุรักษ์ป่าชุมชนและสร้างสวนสัตว์ รวมทั้งกำหนดเขตอภัยทานเหล่านี้ด้วย แต่ครั้งหนึ่งเมื่อท่านพาชาวบ้านมา 'ลงแขก' ในที่นาของวัดซึ่งจัดขึ้นทุกปี ดิฉันก็ทำหน้าที่ 'เก็บภาพ' เช่นเคย ชาวบ้านหญิงสูงอายุในกลุ่มที่รับหน้าที่จัดเตรียมอาหารกลางวันให้บริเวณโคกดินใกล้คันนาเข้ามาแจ้งว่า 'อาหารไม่พอ' จำไม่ได้นะคะว่าเป็นเพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจหรือเช่นไร ผู้นำชุมชนกลุ่มหนึ่งมองเห็นว่ามีปลาในร่องน้ำขอบถนน ก็พากันมาไล่จับปลาในร่องน้ำ พระครูท่านก็ตามมาดู 'ทำตาปริบๆ' สำนวนดิฉันเองค่ะ เพราะได้แต่มองคนไล่จับปลาสลับกับมองป้าย 'อภัยทาน' โดยพูดอะไรไม่ได้ ดิฉันก็ได้แต่ยืนยิ้ม (และถ่ายภาพเป็นหลักฐานไปพร้อมกัน) พูดไม่ออกเหมือนกัน เพราะใกล้เวลาอาหารกลางวันมากแล้ว ในขณะที่ทุกคนเหนื่อยและหิวแล้วด้วย!

ขวามือมี คอกหมูป่าหลายคอก มีช่องกำแพงป่าชุมชนที่เปิดไว้เป็นทางเข้าออกเป็นระยะ ดิฉันนึกถึงอดีตที่เคยร่วมกิจกรรมสร้างสาธารณะประโยชน์ในกิจกรรมปลูกป่าชุมชน ที่จัดขึ้นในวันพ่อ '5 ธันวา' ของทุกปี เคยมาร่วมกิจกรรมปลูกป่าในบทบาทนักวิจัย เคยพาเพื่อนสาว 3–4 มากระโดดโลดเต้นอย่างสนุกสนานสร้างบรรยากาศระหว่างผู้นำชุมชนปลูกป่า เคยพากลุ่มเยาวชนจิตอาสามาปลูกป่า เคยหาขนมมาบริการระหว่างการปลูกป่าของคณะนักเรียนในชุมชน รวมทั้งการมาทำบุญที่วัดป่าดอนชีซึ่งอยู่ในบริเวณสวนสัตว์ รวมทั้งช่วยเก็บเผาทำลายซากสัตว์ปีกที่ล้มตาย .. ภวังค์แห่งความสุข ดิฉันทำอะไรได้มากมายขนาดนี้เชียวหรือ

ถึงประตูทางเข้าสวนสัตว์ บ่อจระเข้น้ำจืดอยู่ติดกับประตูสวนสัตว์ด้านใน ชะโงกมองหาจระเข้ที่มีอยู่ 2 ตัวในบ่อแล้วก็ต้องตกใจ เพราะตัวใหญ่มาก ไม่กล้าประมาณขนาดความยาว เกรงว่าจะพลาด กำลังนอนผึ่งแดดอยู่บนขอบสระ ตัวเล็กกำลังแช่น้ำเย็นสบาย สอบถามชาวบ้านที่กำลังให้อาหารสัตว์อื่นๆ อยู่ ได้ความว่าจะให้อาหารจระเข้เป็น "กระดูกไก่ 10 กิโล 2 ถุง 15 วันให้ที" เมื่อสอบถามว่าจะให้อาหารครั้งต่อไปเมื่อใด เขาตอบว่า "ผมไม่ได้เป็นคนให้" อย่างน้อยก็ยังรู้ว่าให้ทุก 15 วัน ฮา..

อันที่จริงดิฉันรู้จักกับชาวบ้านที่ดูแลสวนสัตว์ดี เป็นสองสามีภรรยาครอบครัวผู้นำชุมชน วันนี้ไม่มีใครอยู่ มีแต่ 'มวยแทน' คาดว่าจะกำลังจัดเตรียมงานบุญข้าวจี่ในหมู่บ้าน

พระครูสุตบูรพาสถิต เจ้าอาวาสวัดบูรพาปะอาวเหนือ ท่านคิดริเริ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนไว้ให้ลูกหลาน สวนสัตว์ในป่าชุมชนนี้ก็เป็นกุศโลบายหนึ่งที่จะดึงเยาวชนให้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตสัตว์ในป่าชุมชน ช่วงแรกของการพัฒนานั้นมีการระดมทุนทางปัญญาของผู้นำและชาวบ้านในชุมชน ระดมทุนที่เป็นกำลังคนจากชุมชน ระดมทุนเงินจากแหล่งทุนภายนอก และพัฒนาเป็นงานวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของพระครูเชียวนะคะ (ปัจจุบันท่านได้ดุษฎีบัณฑิตสาขายุทธศาสตร์การพัฒนาแล้วค่ะ) ภายในพื้นที่สวนสัตว์มีพระจำพรรษา 1-2 รูป ตัวท่านเองจะเข้ามาดูแลทุกสัปดาห์ สัตว์ทุกชนิดในนี้ท่านเป็นผู้จัดหามา มีป้ายชื่อบอกชนิดและอื่นๆ ที่ได้มาตรฐานทั้งพันธุ์สัตว์และพันธุ์ไม้ เมื่อพ้นประตูรั้วเข้ามาจะพบจระเข้น้ำจืด กระต่าย งู นก ไก่ ลิง ค่าง ชะนี กวาง นกกระจอกเทศ และอื่นๆ อีกจำนวนมาก

สำหรับ นกกระจอกเทศ 3 ตัว ดิฉันรู้สึกเศร้าใจที่ทราบว่าเพิ่งตายไปได้ไม่นานนัก เพราะเคยช่วย 'หลวงปู่' วิ่งไล่จับนกกระจอกเทศที่ไปเที่ยวพักผ่อนนอกเขตสวนสัตว์ อันที่จริงดิฉันขี่รถจักรยานไฟฟ้าตามค่ะ ไม่ได้ใช้เท้าวิ่งเหมือนคนอื่นๆ ฮา .. เป็นกิจกรรมที่สนุกมาก แต่หลวงปู่ไม่รู้สึกสนุกด้วยเพราะท่านอายุมาก ร่างกายผอมบาง แต่ก็แข็งแรงกว่าใครๆ เพราะท่านวิ่งตามและต้อนกลับมาได้ทุกครั้ง

ภาพที่นำมาฝาก ลูกกวางตัวนี้อายุเพียง 7 วันเท่านั้นน่ารักมาก นอกจากนี้ยังมีนกยูงจำนวนมาก ปล่อยวิ่งเล่นอย่างอิสระ ไม่ขังกรง ช่วงที่เข้าไปพบนกยูงทั้งตัวผู้และตัวเมียกำลัง 'รำแพน' หลายตัวกำลังแข่งกันอวดความงามเมื่อมัดใจสาว พวกเราไม่กล้าเดินเข้าไปใกล้เพราะอยากแอบดูเขาจีบกันนานๆ ค่ะ

หมายเหตุ : เนื้อหาตอนที่ 8 ยาวมาก การตัดแบ่ง 2 ตอนจะไม่ต่อเนื่อง ดิฉันขอเผยแพร่บทความนี้ 2 วันเผื่อท่านที่ไม่สะดวกอ่านให้จบในคราวเดียวค่ะ (31 ม.ค.- 1 ก.พ.58)

หมายเลขบันทึก: 584833เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2015 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2016 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท