กับดักมหาวิทยาลัยเป็นเลิศปานกลาง



เมื่อหลายปีมาแล้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแจ้งเป้าหมายการบริหารงานของท่านว่า ภายใน ๔ ปี ท่านจะนำมหาวิทยาลัย ก. แห่งนั้น ให้ติดอันดับ xxx ในโลก

ผมนั่งอยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย และนึกในใจว่า "คอยดูเถิด อันดับโลกของมหาวิทยาลัย ก. จะมีตัวเลขสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าอันดับที่ลดลง ความเป็นเลิศเชิงเปรียบเทียบลดลง"

บัดนี้ เวลาผ่านมาหลายปี มีข้อพิสูจน์ว่าความคิดของผมถูก อันดับโลกของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ของไทยทั้งกลุ่ม ถดถอยลง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ผมขอเสนอสมมติฐานว่า เพราะเราติด "กับดักมหาวิทยาลัยเป็นเลิศปานกลาง" เป็นการ "ติดหล่ม" แบบไม่รู้ตัว คงต้องตั้งสติทบทวนกันให้ลึกซึ้ง ว่าเราจะหลุดกับดัก หรือหล่ม หรือหลุมพราง นี้อย่างไร

ด้วยสติปัญญาจำกัด ผมขอเสนอการตีความว่าสิ่งที่เป็นกับดักมหาวิทยาลัยเป็นเลิศปานกลางมีอะไรบ้าง โดยที่เป็นการเสนออย่างเป็นส่วนเสี้ยว ผมไม่มีความสามารถเสนออย่างครบถ้วนและเป็นระบบได้ ที่กล้าเสนอ ก็เพื่อเป็นเชื้อให้ท่านอื่นๆ ช่วยกันแก้ไข ปรับปรุง และต่อเติม

เรื่องแรก คือการบริหารวิชาการ ผมตีความว่า การบริหารในมหาวิทยาลัยเป็นการบริหารธุรการ ไม่ใช่บริหารวิชาการ เราบริหารกฎระเบียบต่างๆ ไม่ใช่บริหารการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ มีการตัดสินใจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการน้อยมาก

การบริหารในมหาวิทยาลัยน้อยมากที่บริหารแบบมุ่งเป้า และไม่จัดอันดับความสำคัญ ไม่มุ่งผลลัพธ์ ส่วนใหญ่บริหารเพื่อสร้างความพึงพอใจของภาคส่วนต่างๆ ภายในหน่วยงานที่ตนบริหาร ซึ่งจะเป็นสภาพ การพัฒนาเล็กๆ น้อยๆ มากกว่าการพัฒนาเชิงหลักการ ไม่เป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด

กฎระเบียบเรื่องผลงาน ส่งเสริมให้ทำงานวิชาการแบบทำคนเดียว ในขณะที่งานสร้างสรรค์วิชาการ ในปัจจุบัน มีความซับซ้อนมาก ต้องการการทำงานร่วมมือกันในหลายสาขาวิชาการ โดยทีมงานที่ใหญ่

เรื่องที่สอง คือการทำงานวิชาการ อาจารย์ยังมีวัฒนธรรมทำงานด้วยตัวคนเดียว ไม่มีวัฒนธรรม และทักษะในการทำงานเป็นทีม และทำงานร่วมมือข้ามสาขาวิชา ทำให้การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทางวิชาการเป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่รู้ๆ กันอยู่ว่า หากมีการทำงานร่วมมือข้ามสาขาวิชา การสร้างสรรค์ทางวิชาการ เป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ต้องการอัจฉริยภาพแต่อย่างใด

เรื่องที่สาม ระบบกำกับดูแลที่เน้นการมีส่วนร่วม ระบบนี้ผมได้รับการบอกเล่าจากผู้รู้สองท่าน คือ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน กับ ศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ว่าได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่เน้น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ดังนั้นจึงเกิดองค์ประกอบของคณะกรรมการคุรุสภา ที่มีตัวแทนครูมาเป็น กรรมการ องค์ประกอบของ กคศ. ที่มีตัวแทนครู มาเป็นกรรมการ ท่านทั้งสองยอมรับว่า เป็นความผิดพลาด ในการออกแบบระบบกำกับดูแลคุณภาพการศึกษา เพราะพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว เพราะก่อให้เกิดการเล่นพวก เอาประโยชน์ส่วนน้อย คือผลประโยชน์ของครู เหนือประโยชน์ส่วนรวม คือคุณภาพการศึกษา ก่อคอร์รัปชั่น อย่างน่าละอาย มีการพูดถึง การเรียกร้องค่าโยกย้ายครู ค่าบรรจุครู และทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำ

ระบบองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย ที่มีตัวแทนของฝ่ายบริหาร และตัวแทนของผู้ปฏิบัติงาน ก็ไม่เว้น ว่าในหลายสถาบัน กลายเป็นสภาที่เน้นผลประโยชน์ของผู้ปฏิบัติงาน ร่วมกับพรรคพวก มากกว่าผลประโยชน์ของบ้านเมือง

เหล่านี้ เป็นกับดัก ให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ หรือมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก หรือเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศ ในการสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น


วิจารณ์ พานิช

๒๒ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 584428เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2015 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2015 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท