ข้างหลังภาพ


แม้นจะล่วงผ่านมากว่า ๗๐ ปี นวนิยายเรื่อง "ข้างหลังภาพ" บทประพันธ์ของ "ศรีบูรพา" หรือ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" ที่แต่งมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๐ เมื่อหยิบมาอ่านครั้งใดก็ยังคงสร้างความตราตรึงใจให้กับผู้อ่านทุกครั้ง

ผมยังจำได้แม้นจะลางเลือนไปบ้างว่าเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว (ปี ๒๕๒๘) ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ที่นำแสดงโดย "นาถยา แดงบุหงา" และ "อำพล ลำพูน" ยังประทับใจในความรักระหว่าง "หม่อมราชวงศ์กีรติ" กับ "นพพร" มิรู้คลาย และทราบว่าเมื่อปี ๒๕๔๔ ได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง โดยฝีมือการกำกับของ "เชิด ทรงศรี" และ นำแสดงโดย "คารา พลสิทธิ์" และ "ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์" จึงแสดงถึงความสวยงามของนวนิยายเรื่องนี้

ท่ามกลางสายลมยามเช้า ๆ โชยหอบความเย็นมากระทบผิวกายเพิ่มความหนาวในต้นปีใหม่ ๒๕๕๘ ผมแสนดื่มด่ำไปกับความรัก ความรื่นรมย์ ความสงสาร และความประทับใจในตัวอักษรที่เรียงร้อยไว้อย่างประณีตบรรจงของฝีมือบรมครู เพราะได้ใช้เวลาว่างละเมียดไปกับ "ข้างหลังภาพ" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔๕ ของสำนักพิมพ์ดอกหญ้าที่ซื้อมาวางบนชั้นหนังสือตั้งแต่ปีกลายอีกคราหนึ่ง

นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าของ "นพพร" ที่บอกเรื่องราวความคิด ความรู้สึกของเขาที่มีต่อ "หม่อมราชวงศ์กีรติ" สุภาพสตรีที่เขาหลงรักตั้งแต่วันแรกพบจวบจนวาระสุดท้ายของเธอ

"หม่อมราชวงศ์กีรติ" ดำรงความเป็นสาวอยู่จนเข้าขีดความสาวทึมทึก ก็ยังไม่พบรักหรือชายที่สมควรแก่ความรักของเธอ จวบจนเธออายุย่างเข้าปีที่ ๓๕ จึงมีข้าราชการชั้นพระยาอายุ ๕๐ ปี ซึ่งเป็นพ่อหม้ายมีลูกติด ๒ คนมาสู่ขอ

ด้วยความหมดหวังที่จะได้พบชายที่ดีกว่านั้นและนิสัยนักศิลปะของเธอทำให้มีความต้องการจะรู้จักความเป็นไปของโลกให้กว้างกว่าที่ได้พบเห็นอยู่ในวงแคบ เธอจึงได้ยอมแต่งงานกับเจ้าคุณผู้นั้น และแล้วก็ได้พบเห็นโลกภายนอกบ้านของเธอสมความปรารถนา "พระยาอธิการบดี" ผู้เป็นสามีพาเธอไปเที่ยวญี่ปุ่น ณ ที่นั้นเอง เธอก็ได้พบกับ "นพพร" นิสิตหนุ่มแห่ง "มหาวิทยาลัยริคเคียว" ซึ่งเป็นบุตรชายของเพื่อนสามี และเป็นผู้ที่สามีของเธอขอร้องให้ช่วยจัดหาบ้านพักและนำเที่ยวด้วยในโอกาสต่าง ๆ


"หม่อมราชวงศ์กีรติ" ยังสาวและสวยสดชื่นอยู่ ด้วยการเป็นสุภาพสตรีสมัยใหม่ที่รู้จักบำรุงรักษาความงามแลวัยไว้ได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงเป็นที่สะดุดตาสะดุดใจของ "นพพร" เด็กหนุ่มผู้ห่างการสมาคมกับสุภาพสตรีไทยถึง ๓ ปีเศษแล้วอย่างมากมาย

การได้พบและติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาที่ "หม่อมราชวงศ์กีรติ" กับสามีพักอยู่ที่ประเทศนั้นจึงทำให้ "นพพร"กับ "หม่อมราชวงศ์กีรติ" คุ้นกันจนถึงขีดสนิทสนม ประกอบกับได้อยู่ด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศอันสวยงามของประเทศญี่ปุ่น และความงามความเปล่งปลั่งของ "หม่อมราชวงศ์กีรติ" เป็นสื่อชักจูงใจด้วย ในที่สุด "นพพร" เด็กหนุ่มผู้ไม่เดียงสาก็เกิดความรักขึ้นในหัวใจ

บรรยากาศในเรือลำน้อยท่ามกลางราตรีเดือนหงายในสวนสาธารณะใกล้บ้านพัก ทั้งคู่ได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันตามลำพังกว่า ๒ ชั่วโมง ได้เริ่มถักทอความรักขึ้นในหัวใจของ "นพพร" จนทำให้ "นพพร" นอนไม่หลับ คิดฟุ้งซ่านทั้งคืน

การเดินทางไปพักผ่อนและอยู่ด้วยกันถึง ๕ วันที่ "กามากูระ" ยิ่งเพิ่มเติมเชื้อไฟรักให้กับทั้งคู่ให้ลุกลามใจเพิ่มขึ้นไปอีก

เหตุการณ์ได้ดำเนินต่อไป จนวันนั้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ "พระยาอธิการบดี" ได้รับเชิญจากเอกอัครราชฑูตให้ไปร่วมงานพิธีแห่งหนึ่ง จึงอนุญาตให้ "นพพร" พา "หม่อมราชวงศ์กีรติ" ไปเที่ยวเล่นที่ "มิตาเกะ"

ทั้งคู่ต่างได้ใช้เวลาพูดคุยกัน เล่าเรื่องชีวิตให้กับคู่สนทนาฟังอย่างละเอียด ทั้งคู่ใกล้ชิดกันจนในที่สุด "นพพร" ก็อดใจไว้ไม่ได้ เข้าไปประคองร่างของ "หม่อมราชวงศ์กีรติ" ให้เข้ามาชิดกายเขา ซบหน้าลงที่พวงแก้มสีชมพูอ่อน ประคองกอดและจุมพิต "หม่อมราชวงศ์กีรติ" ที่อยู่แนบกายด้วยสุดแสนเสน่หา พร้อมกับเอ่ยปากบอกรักสตรีผู้มีอายุมากกว่า

ความรักอันบริสุทธิ์และร้อนแรงของผู้ที่เพิ่งมีความรักเป็นครั้งแรกนี้ดูเหมือนจะทำให้ "หม่อมราชวงศ์กีรติ" นักศิลปะซึ่งไม่เคยได้พบความรักเลยรู้สึกลำบากใจที่จะข่มใจไว้อยู่มากเหมือนกัน แต่ด้วยความที่มีอายุมากแล้ว มีพันธะและการได้รับการอบรมศึกษาในทางดีงามในชีวิตเบื้องต้นมาแล้ว ก็ข่มใจไว้อย่างดี จน "นพพร" ไม่สามารถจะทราบได้ว่า "หม่อมราชวงศ์กีรติ" รักตนหรือไม่

ทั้งสองต้องจากกัน เมื่อกำหนดการเที่ยวญี่ปุ่นของ "พระยาอธิการบดี" ยุติลง แต่ความรักของ "นพพร" คงรบเร้าจิตใจให้กระสับกระส่ายจนถึงขีดสุด จดหมายคือช่องทางบอกความในใจของทั้งคู่ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปความรักในหัวใจก็ค่อย ๆ อ่อนลงตามธรรมชาติของคนที่มีภาระทางด้านการเล่าเรียนที่จะต้องใส่ใจมากกว่า

จนในที่สุดเมื่อสองปีล่วงไปแล้ว "นพพร" ก็รู้สึกใน "หม่อมราชวงศ์กีรติ" อย่างมิตรคนหนึ่งเท่านั้น

หกปีล่วงไป "นพพร" สำเร็จการศึกษาและฝึกหัดงานที่ญี่ปุ่นพอสมควรแก่การแล้วก็เดินทางประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้น "หม่อมราชวงศ์กีรติ" เป็นหม้ายแล้ว และบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างสงบเสงี่ยมที่บ้านหลังหนึ่ง

เขาทั้งสองได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการพบที่ "นพพร" รู้สึกเหมือนพบพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น

เวลาหกปีในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจิตใจของ "นพพร" เด็กหนุ่มผู้อ่อนแก่ความรักให้เป็นชายหนุ่มที่ไม่ใคร่จะคิดถึงอะไรนอกจากงานและการตั้งตัวเท่านั้น

เมื่อมาอยู่เมืองไทย น้อยครั้งมากที่ "นพพร" จะเดินทางไปพบกับ "หม่อมราชวงศ์กีรติ"

ในวันนั้น "นพพร" ได้เดินทางไปพบ "หม่อมราชวงศ์กีรติ" แต่เป้าหมายของการไปพบคือการแจ้งข่าวการแต่งงานกับคู่หมั้นที่บิดาหาไว้ไห้เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น

"หม่อมราชวงศ์กีรติ" ตกใจกับข่าวที่ได้รับแจ้งเป็นที่สุด แต่ก็พยายามเก็บความรู้สึกไว้ภายในใจตน สิ่งที่เธอทำดีที่สุดคือคำอวยพร

"ฉันขออวยพรล่วงหน้าไว้ก่อน ฉันเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือในความรัก ฉะนั้นฉันขออวยพรให้เธอทั้งสองได้รักกัน จะก่อนหรือหลังแต่งงานก็ตาม แต่ขอให้รักกันอย่างที่สุดและโดยเร็วที่สุด"

เมื่อแต่งงานแล้วได้สองเดือน "นพพร" ได้ทราบว่า "หม่อมราชวงศ์กีรติ" เจ็บหนักด้วยโรควัณโรค เขาจึงเดินทางไปเยี่ยม "หม่อมราชวงศ์กีรติ"

เมื่อทราบว่า "นพพร" มาเยี่ยม "หม่อมราชวงศ์กีรติ" บอกให้น้องสาวและพยาบาลช่วยแต่งตัวในชุดที่สวยที่สุดเพื่อปกปิดร่างกายที่ร่วงโรยจากโรคที่รุมเร้าเธอ

เมื่อทั้งคู่ไปพูดคุยกันระยะหนึ่ง "หม่อมราชวงศ์กีรติ" ได้สอดมือลงไปใต้หมอน แล้วล้วงเอากระดาษภาพแผ่นหนึ่งยื่นมอบให้กับ "นพพร"

สิ่งที่ "นพพร" ได้เห็น คือภาพวาดสีน้ำแสดงถึงภาพลำธารที่ไหลผ่านเชิงเขาแห่งหนึ่ง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาทึบตามลาดเขา มีทางเดินเล็ก ๆ ผ่านไปบนชะง่อนหิน ตะปุ่มตะป่ำไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อย มีพรรณไม้เลื้อยและดอกไม้ป่าสีต่าง ๆ บนต้นเล็ก ๆ ขึ้นเรียงรายอยู่ตามหินผานั้น มุมหนึ่งของภาพมีภาพของคนสองคนนั่งเคียงคู่กันอยู่ ตอนล่างของมุมหนึ่งเขียนไว้ด้วยตัวหนังสือเล็ก ๆ ว่า "มิตาเกะ"

"ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังแตกดับ"

"หม่อมราชวงศ์กีรติ" กล่าวพร้อมกับมีน้ำตาไหลซึมออกมาจากเปลือกตาที่ปิดลง

อีก ๗ วันต่อมา "นพพร" มาเยี่ยม "หม่อมราชวงศ์กีรติ" อีกครั้งหนึ่ง ในวันนั้น "หม่อมราชวงศ์กีรติ"พยายามจะพูดประโยคสุดท้ายกับ "นพพร" แต่ก็ไม่มีเสียง หมดเรี่ยวแรง เธอจึงขอดินสอกับกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วค่อย ๆ บรรจงเขียนลงบนกระดาษว่า

"ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก"

นวนิยายขนาดความยาวเพียง ๑๕๘ หน้า จบลงเพียงเท่านี้ แต่แม้นจะอ่านจบลงผมยังไม่อาจละวางหนังสือเล่มน้อยหน้าปกสีลายเส้นของหญิงสาวที่แสนสวยเล่มนั้นลงได้ พลันคล้ายมีน้ำตาเอ่อคลอเบ้าอันคงเกิดจากความสงสารต่อ "หม่อมราชวงศ์กีรติ" ที่เก็บซ่อนความรักแรกของตนไว้ในใจ

ผมค่อย ๆ วางหนังสือเล่มน้อยลงบนโต๊ะ พร้อมกับค่อย ๆ หลับตาลงดื่มด่ำกับความประทับใจที่ยากจะอธิบายได้หมดจากบทประพันธ์ของ "ศรีบูรพา" ที่ได้เรียงร้อยตัวอักษรไว้อย่างวิจิตรบรรจงสวยงามจนกลายเป็นนิยายรักที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย

ยามใดที่เพื่อน ๆ เหงา เศร้า และเครียด ผมเสนอให้หา "ข้างหลังภาพ" มาอ่าน ผมมั่นใจว่าความเหงา ความเศร้าและความเครียดนั้นจะหายเป็นปลิดทิ้งอย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 584298เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2015 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2015 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมมีหนังสือเล่มนี้สองเล่ม ห่างกันนับยี่สิบปี...ชอบมากทั้งหนังสือ...และหนังครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท