หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ​ยุวนักขาย OTOP สู่อาเซียน (ภารกิจ ๓ In ๑ ของสาขาอังกฤษธุรกิจในชุมชนหนองเขื่อนช้าง)


โครงการดังกล่าวฯ ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านได้รู้จักการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลยุทธให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทั้งการช่วยงานผู้ปกครอง


เนื่องในวาระ ๑๕๐ ปีเมืองมหาสารคาม บ้านหนองเขื่อนช้าง เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ควรได้รับการกล่าวถึงไม่แพ้ชุมชนอื่นๆ เนื่องเพราะชุมชนดังกล่าว เป็นชุมชนที่มี "อัตลักษณ์" ที่โดดเด่นในด้าน "ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าฝ้ายและผ้าไหมนับได้ว่ามีชื่อเสียงโด่งดังในระดับชาติ เช่นเดียวกับแกนนำกลุ่มสตรีทอผ้าอย่าง "แม่อุไร ขานนาม" ก็เป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัลพระราชทานพระธาตุนาดูนทองคำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาวิชาชีพ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔



จากปากคำคนในชุมชนที่บอกเล่ากันมายาวนานและมีการบันทึกประวัติศาสตร์ชุมชนอย่างเป็นลายลักษณ์ ยืนยันในทำนองเดียวกันว่าบรรพบุรุษของชุมชนบ้านหนองเขื่อนช้างอพยพเคลื่อนถิ่นมาจากเมืองร้อยเอ็ดในราวๆ ปีพ.ศ.๒๒๓๐ โดยปักหมุดชีวิตลงในพื้นที่อันเป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแมกไม้และสัตว์ป่านานาชนิด และที่สำคัญคือตรงใจกลางของป่ามีหนองน้ำที่สัตว์ต่างๆ มาอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งหนองน้ำดังกล่าวจะมีโขลงช้างจำนวนมากมาเล่นน้ำอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านเรียกติดปากว่า "เถื่อนช้าง" เรียกไปเรียกมาก็กร่อนเสียง (เพี้ยน) มาเป็น "เขื่อนช้าง" สืบมาจนปัจจุบัน

ปี ๒๕๕๗ ชุมชนหนองเขื่อนช้าง เป็นพื้นที่ดำเนินงานโครงการอบรมภาษาอังกฤษยุวนักขาย OTOP สู่อาเซียนที่ขับเคลื่อน โดยหลักสูตรภาษาอังกฤษธุรกิจ (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) มีอาจารย์วิจิตรา อีสแตม เป็นผู้รับผิดชอบหลักโครงการฯ และมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานหลัก ๓ ประเด็น คือ

  • ๑) เตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษสู่อาเซียนให้กับคนในชุมชนที่เป็นผู้ประกอบการด้านการขายและการบริการ
  • ๒) ส่งเสริมให้นิสิตได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสามารถนำความรู้หรือประสบการณ์มาพัฒนาตนเองและสังคม
  • ๓) ส่งเสริมให้นิสิตได้เกิดประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติจริง



โครงการดังกล่าวขับเคลื่อนต่อเนื่องมาจากปี ๒๕๕๖ เดิมมีกลุ่มเป้าหมายกว้างไกลในเขตจังหวัดมหาสารคาม ต่อเมื่อปี ๒๕๕๗ จึงเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เป็น "เด็กและเยาวชน" โดยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็น "ลูกหลาน" ของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพการจำหน่าย "ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ" ในชุมชน (OTOP) เพื่อเสริมสร้างกระบวนการขายรองรับประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ให้กับชุมชน พร้อมๆ กับการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของอาจารย์และนิสิตตามแนวทางการศึกษารับใช้สังคมที่สอดคล้องกับ "เอกลักษณ์" ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ "เป็นที่ช่วยเหลือสังคมและชุมชน"



ด้านการเรียนการสอน ได้บูรณาการผ่านรายวิชาการสนทนาภาษาอังกฤษขั้นสูงเพื่อธุรกิจ (Advance English for Business) กำหนดการอบรมในช่วงวันเสาร์-วันอาทิตย์ จำนวน ๔๕ ชั่วโมง โดยนิสิตมีบทบาทสำคัญด้วยการจัดทำ "คู่มือ" ประกอบการอบรม รวมถึงทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้แก่เด็กและเยาวชน ขณะที่บางกิจกรรมก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิทยากร

รูปแบบหลักของกิจกรรม จะเน้นการอบรมเชิงกระบวนการ เน้นการให้ความรู้และฝึกทักษะควบคู่กันไป แยกกลุ่มการเรียนรู้เป็นฐานๆ สลับกับกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ภายในฐานประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือ การพูด การเขียน การวาดรูป การจับคู่สนทนา การแสดงบทบาทสมมติ เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการแบบ "บันเทิง เริงปัญญา" หรือเน้นการปฏิบัติการ (Acting Learning)



กรณีประเด็นการฝึกอบรม เห็นได้ชัดว่ามีการออกแบบที่ง่ายต่อการเรียนรู้ คำศัพท์ที่นำมาอบรมล้วนยึดโยงอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน หรือ "วิถีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์" ในชุมชนแทบทั้งหมด เน้นทักษะการสื่อสารที่ไม่ซับซ้อน เช่น การทักทาย การแนะนำตัวเอง การแสดงสีหน้าและท่าทางประกอบการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ การต้อนรับผู้มาเยือน การนำเที่ยวชม การแนะนำสินค้า การชวนลูกค้าพูดคุย การสนทนาเรื่องดินฟ้าอากาศ เหตุการณ์ข่าวสารปัจจุบัน การกล่าวลา การซื้อขายและต่อรองราคา การอธิบายผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

เช่นเดียวกับก่อนการลงปฏิบัติจริงในชุมชน ทางหลักสูตรได้ออกแบบสอบถามข้อมูลชุมชนอย่างชัดเจนว่ามีความต้องการอะไรบ้างจากโครงการที่จะจัดขึ้น ซึ่งเป็นการ "พัฒนาโจทย์" บนฐาน "ความต้องการของชุมชน" อย่างตรงไปตรงมา จากนั้นจึงนำข้อมูลมาสังเคราะห์และปรับความคาดหวังร่วมกับชุมชนอีกรอบ นับเป็นการเคลื่อนงานที่น่าสนใจ เพราะอย่างน้อยก็ดำเนินการไปบนฐานคิดของการจัดการแบบมีส่วนร่วม



ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ต้องยอมรับว่าคณะทำงานในหลักสูตรฯ เลือกพื้นที่การ "เรียนรู้คู่บริการ" ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะชุมชน "บ้านหนองเขื่อนช้าง" เป็น "หมู่บ้านหัตกรรม" ที่โด่งดังของจังหวัดมหาสารคาม ขึ้นชื่อในเรื่องผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ซึ่งมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มที่ความเข้มแข็งทั้งด้านการผลิตและการหน่ายยาวนานมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๑

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าของชุมชนเป็นที่รู้จักและถูกยกย่องในระดับชาติ ดังนั้นกิจกรรมที่จัดขึ้นจึงเป็นประหนึ่งกระบวนการที่มาช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักในศักยภาพอันเป็น "มรดกทางวัฒนธรรม" หรือ "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" ของตนเอง และเป็นการเตรียมความพร้อมให้ชุมชนได้ก้าวเข้าสู่อาเซียนอย่างเท่าทัน



ในภาพรวมการดำเนินงาน ถือว่าสามารถบรรลุภารกิจในแบบ ๓ In ๑ ได้อย่างไม่ยากเย็น (บริการวิชาการ > การเรียนการสอน > การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม) เพียงแต่คงต้องชัดเจนว่าในมิติทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนั้น นิสิต หรือกระทั่งอาจารย์ รวมถึงเด็กและเยาวชน หยั่งลึกลงในการเรียนรู้ "วิถีวัฒนธรรมชุมชน" มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่จัดกระบวนการเรียนรู้แบบแยกส่วนด้วยการพุ่งตรงไปยังเรื่องภาษาและการขายโดยตรง จนหลงลืมที่จะตั้งคำถาม หรือออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้รับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ชุมชน-

  • รับรู้และเข้าใจถึงต้นน้ำของการ "งานทอผ้า" และ "ผ้าฝ้ายลายสายฝน" อันเป็นอัตลักษณ์ลายผ้าของชุมชน
  • รับรู้และเข้าใจถึงโลกทัศน์และชีวทัศน์ของปราชญ์ในชุมชน
  • รับรู้และเข้าใจถึงกระบวนการทางด้านการตลาดของกลุ่มอาชีพทอผ้าฯ ฯลฯ
  • หากทะลุถึงการเรียนรู้เหล่านี้ได้ จะช่วยให้การเรียนรู้ในมิติ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนเกิดอานิสงส์อย่างมหาศาลต่อทุกภาคส่วน



แต่อย่างน้อยก็เชื่อเหลือเกินว่า โครงการดังกล่าวฯ ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านได้รู้จักการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลยุทธให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทั้งการช่วยงานผู้ปกครอง

  • เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
  • พร้อมๆ กับการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับ "ทุนทางสังคม" ของตนเองไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • ปลูกฝังความรักษ์ท้องถิ่น
  • และสร้างความเชื่อมั่นว่าทุนทางสังคมในชุมชนสามารถยึดเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงตนเองได้ไม่แพ้คนรุ่นปัจจุบัน



ในทำนองเดียวกันนี้ กิจกรรมที่จัดขึ้นก็เชื่อเหลือเกินว่าจะมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ เพราะเป็นการเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษนอกชั้นเรียนในอีกช่องทางหนึ่ง เสมือนการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งนักเรียนสามารถนำองค์ความรู้และทักษะจากโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนกลับเข้าสู่ชั้นเรียนในโรงเรียนได้อย่างไม่ยากเย็น

ยิ่งหากสามารถเชื่อมร้อยเข้าสู่ "สาระการเรียนรู้" ในหลักสูตรของโรงเรียน โดยบูรณาการเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นกับภาษาต่างประเทศเข้าด้วยกัน ยิ่งน่าจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ทั้งในมิติของท้องถิ่นและเอเซียนได้เป็นอย่างดียิ่ง



หมายเหตุ : ภาพโดย สาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์



ความเห็น (4)

น่าสนใจมากๆ...เป็นกำลังใจในการพัฒนาในทุกๆด้านค่ะ...

มาเยี่ยมคะ ขอบคุณที่เข้าไปทักทายพี่สุนะคะ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

บ้านหนองเขื่อนช้าง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในเรื่อง "งานทอผ้าพื้นเมือง" เป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดมหาสารคาม กลายเป็นธุรกิจในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก สิ่งที่ผมมองเพิ่มเติมก็คือ การบูรณาการกิจกรรมให้ครอบคลุมที่สุดเท่าที่พึงกระทำได้ ไม่ใช่แค่สอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารและจำหน่ายสินค้าโดยตรง แต่อยากให้เด็กและเยาวชน ได้เห็นถึงบรรยากาศอันเป็นต้นน้ำของผลิตภัณฑ์ผ้าอย่างจริงๆ จังๆ และอยากเห็นการเชื่อมโยงกิจกรรมฯ เข้าสู่การเรียนรู้ในโรงเรียนด้วย เพราะจะได้ผนึกให้การเรียนรู้ขอเด็กและเยาวชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขอบพระคุณครับ

ครับ พี่ สุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ที่ไม่มีวันปิดทำการ...

อากาศอีสานเราเปลี่ยนแปลง-แปรปรวนบ่อยเหลือเกิน ยังไงๆ ก็รักษาสุขภาพ นะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท