อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (6)


อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (6)

        โปรดอ่านตอนที่ 1 (click) , ตอนที่ 2 (click)ตอนที่ 3 (click)ตอนที่ 4 (click),  และตอนที่ 5 (click) ก่อนนะครับ

        ในตอนที่ 6 นี้จะเสนอเรื่องวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย   ซึ่งผมเคยบันทึกไว้แล้ว ถึง 3 ตอน   เปิดอ่านได้ที่
                                 ตอนที่ 1 (click)
                                 ตอนที่ 2 (click)
                                 ตอนที่ 3 (click)

        การวิจัยและการผลิตบัณฑิตปริญญาเอกตามโครงการนี้ควรมี 2 เป้าหมายคู่ขนานกันไป   คือเป้าหมายผลงานวิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้พัฒนาสังคมไทย   ไม่เน้นการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ   ไม่เน้น Impact Factor กับเป้าหมายตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ   เน้น Impact Factor

        สองเป้าหมายนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน   และมี "คุณภาพ" ตามรูปแบบของแต่ละเป้าหมาย   ไม่เอามาเปรียบเทียบกัน   แต่ภายในแต่ละแบบจะต้องมีเกณฑ์คุณภาพของมัน

        แบบเน้น Impact Factor นานาชาติมีเกณฑ์คุณภาพเป็นสากลอยู่แล้ว   แต่แบบเน้น Social Impact ยังไม่มีเกณฑ์   และไม่มีวารสารรองรับ   ประเทศไทยจะต้องพัฒนาขึ้นมา   โดยจัดระบบ peer review ภายในของเราเอง   จัดระบบ e-Journal ควบคู่ไปกับ printed Journal   จัดระบบ Social Impact ของประเทศไทยเราเองขึ้นมา   เพื่อให้เป็นวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทยอย่างแท้จริง

        การจัดทำวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทยนี้   เป็นการทำงานเชิงสร้างสรรค์   ที่ต้องใช้วิธีคิดแบบเปลี่ยนกระบวนทัศน์   จึงต้องช่วยกันไตร่ตรอง   คิดระบบให้ดี ๆ   ที่จริงจะให้มี "ผู้จัดการพัฒนาระบบ" วารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทยขึ้นมาเป็น "ผู้จัดการ" คนที่ 21 ของโครงการนี้   เพื่อให้ทำงาน full-time    คิดและพัฒนาระบบใหม่นี้ขึ้นมา   โดยมีคณะกรรมการ Steering Committee ช่วยกันคิด   แล้วให้ผู้จัดการไปดำเนินการโดยน่าจะมีวารสาร 4 ชื่อ   ผมลองเสนอชื่อวารสารทั้ง 4 ฉบับนี้นะครับ
     1. วารสารเทคโนโลยีธรรมชาติ (เกษตร  ประมง  ฯลฯ)
     2. วารสารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
     3. วารสารสุขภาวะ (สุขภาพของบุคคลและชุมชน/สังคม)
     4. วารสารสังคมวัฒนธรรม

         ย้ำนะครับว่าเป็นการเสนอความคิด   เป็นร่างความคิด   จะต้องมีการช่วยกันคิดให้ชัดขึ้น   สละสลวยขึ้น   และเหมาะสมยิ่งขึ้น

         ทั้ง 4 วารสารจะอยู่ภายใต้ร่มใหญ่   คือวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย

         อย่าลืมนะครับ   ว่านี่เป็นวารสารวิชาการ   เป็นเวทีให้นักวิจัย/วิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   ต้องใช้กระบวนการทางวิชาการ   ไม่ใช่นิตยสารสำหรับประชาชนทั่วไป   เช่น นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน   เกษตรกร  เส้นทางเศรษฐี

         รายงานผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้ไม่เน้นนวภาพ (novelty/originality) ระดับโลก   แต่เน้นนวภาพในระดับการประยุกต์ใช้ในสังคมไทย   ความเป็นวารสารวิชาการจะอยู่ที่การเน้น "พลังการอธิบายเหตุผล" คือจะต้องไม่เพียงแค่รายงาน What กับ How   แต่จะต้องอธิบาย Why ได้ด้วย   เป็นการอธิบาย Why ว่าทำไมจึงใช้ได้ผล/ไม่ได้ผล ในสังคมไทยบริบทนั้น ๆ

         และเนื่องจากเป็นวารสารวิชาการ   จึงต้องมีการอ้างอิงผลงานตีพิมพ์ในประเทศไทยเป็นหลัก   จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขและมีการจัดการให้เกิดระบบการอ้างอิงที่มีคุณภาพขึ้นในสังคมวิชาการไทย   ก็จะเกิด Thai Social Impact Factor ของวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทยขึ้น

         จะเห็นว่า "ผู้จัดการ" คนที่ 21   ซึ่งผมจะเรียกชื่อว่า "ผู้จัดการระบบวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย"  จะมีหน้าที่สำคัญ 2 อย่าง
     1. พัฒนาระบบวารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย
     2. พัฒนาระบบ Thai Social Impact Factor

          และจะต้องมีบรรณาธิการของวารสารแต่ละฉบับรวม 4 คน   กับคณะบรรณาธิการอีกฉบับละประมาณ 10 - 20 คน

          นี่คือการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่   ในระดับของการสร้างวัฒนธรรมวิชาการอีกระบบหนึ่ง   เป็นระบบคู่ขนานกับระบบเดิมที่มีอยู่แล้วคือระบบสากล

         แต่ระบบวารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทยจะไม่รุ่ง   ถ้าไม่มีระบบตำแหน่งวิชาการสมัยใหม่   ที่เรียกว่าระบบวิชาการไทยรับใช้สังคมไทยขึ้นรองรับ   โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

วิจารณ๋  พานิช
 18 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5838เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2005 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท