ร่างอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุมัติให้แก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง : นายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล


(ร่างอุทธรณ์ของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล)

6 มกราคม 2558

เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุมัติให้แก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง

เรียน นายอำเภอท่าสองยาง

อ้างถึง 1. คำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร.31) ที่ 1907/2557 เรื่อง การขอแก้ไขรายการทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เกี่ยวกับสถานที่เกิด ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2557

2. คำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร.31) ที่ 1909/2557 เรื่อง การขอทำหนังสือรับรองการเกิด ม. 20/1 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2557

3. คำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร.31) ที่ 1910/2557 เรื่อง การขอแก้ไขรายการทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เกี่ยวกับวันเดือนปีเกิด ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2557

4. คำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร.31) ที่ 1911/2557 เรื่อง การขอแก้ไขรายการทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เกี่ยวกับห้วงเวลาในการเข้ามาประเทศไทยของหัวหน้าครอบครัว ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2557

5. หนังสือโรงพยาบาลท่าสองยาง เรื่อง ขอรายงานวิชาการเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล และนายเบียะอ่อ หรือยาว ไม่มีนามสกุล บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ลงวันที่ 14 กันยายน 2557

6. หนังสือโรงพยาบาลท่าสองยาง เรื่อง ขอรายงานวิชาการเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล และนายเบียะอ่อ หรือยาว ไม่มีนามสกุล บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก "ช่วงที่สอง" ลงวันที่ 19 กันยายน 2557

7. หนังสืออำเภอท่าสองยางที่ ตก 01518.2/3993 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เรื่อง หารือการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ กันยายน 2557

8. หนังสืออำเภอท่าสองยางที่ ตก 01518.2/3994 เรื่อง หารือการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ถึงนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล ลงวันที่ 25 กันยายน 2557

9. หนังสือนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล เรื่อง ขอตอบหนังสือหารือการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2557

10. หนังสือกรมการปกครองถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เรื่อง หารือเรื่องการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เลขที่ มท.0309.1/16671 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557

11. หนังสืออำเภอท่าสองยางที่ ตก 01518.2/4643 เรื่อง หารือการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ถึงนายชนินทร์ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557

12. หนังสืออำเภอท่าสองยางที่ ตก 01518.2/4820 เรื่อง หารือการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ถึงนายชนินทร์ ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557

13. หนังสืออำเภอท่าสองยางที่ ตก 01518.2/5175 เรื่อง หารือการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ถึงนายชนินทร์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2557

14. คำพิพากษาศาลของฎีกาที่ 175/2530, 2759/2530, 4240/2530 เรื่องเกี่ยวกับ "ข้อสันนิษฐานความถูกต้องของพยานเอกสารมหาชนไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด สามารถนำพยานมาสืบหักล้างได้"

15. คำพิพากษาของฎีกาที่ 10449/2556 เรื่องเกี่ยวกับ "สิทธิในการมีล่ามของคนต่างด้าวในกระบวนการยุติธรรม"

16. คำพิพากษาศาลของฎีกาที่ 1351/2539 เรื่องเกี่ยวกับ "พยานบุคคลซึ่งเป็นญาติกัน เป็นคำเบิกความที่รับฟังได้ตามกฎหมาย"

สิ่งที่แนบมาด้วย

1. ลำดับเหตุการณ์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล โดยนางสาววิกานดา พัติบูรณ์ นักกฎหมายประจำโครงการ 4 หมอชายแดนจังหวัดตาก ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2557

2. คำพยานรับรองความน่าเชื่อถือพยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิด เพื่อแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล โดยนายแพทย์จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด ลงวันที่ 1 มกราคม 2558

3. คำพยานรับรองความน่าเชื่อถือพยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิด เพื่อแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล โดยนายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง ลงวันที่ 1 มกราคม 2558

4. คำพยานรับรองความน่าเชื่อถือพยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิด เพื่อแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำโครงการ 4 หมอชายแดนจังหวัดตาก ลงวันที่ 1 มกราคม 2558

ตามที่นายอำเภอท่าสองยาง ซึ่งกระทำการในฐานะนายทะเบียนท้องถิ่น ตามมาตรา 8/2[1] แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงตามข้อ 115[2] แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ประกอบกับหนังสือกรมการปกครองถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เรื่อง หารือเรื่องการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เลขที่ มท.0309.1/16671 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ท่านได้มีคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือแจ้งไม่อนุมัติคำร้องขอแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติของข้าพเจ้า ตามหนังสืออำเภอท่าสองยางที่ ตก 01518.2/5175 เรื่อง หารือการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ถึงนายชนินทร์ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2557 และท่านได้แจ้งสิทธิให้ข้าพเจ้าอุทธรณ์คำสั่งเป็นหนังสือต่อท่านภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่อนุมัติ (ซึ่งจะครบระยะเวลา 15 วันในวันที่ 8 มกราคม 2557) โดยคำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือซึ่งระบุข้อโต้แย้ง และข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอ้างอิงประกอบ

ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายจากคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ขอเรียนชี้แจงและโต้แย้งคำสั่งทางปกครองของท่าน เป็น 2 ส่วน คือ (1) การชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางปกครอง (2) การโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง ดังนี้


....................................

ส่วนแรก

: ขอชี้แจงข้อเท็จจริงอันแสดงถึงกระบวนการยื่นคำร้อง การตรวจสอบข้อเท็จจริง และการพิจารณาคำร้อง

....................................

เนื่องด้วยข้าพเจ้า นายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2524 ณ บ้านโน๊ะตี่ตู่บ่อ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก แต่บิดาและมารดาของข้าพเจ้าไม่ได้แจ้งเกิด เนื่องจากบุพการีของข้าพเจ้าไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ และอพยพหนีภัยความตายจากประเทศพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนจากประเทศต้นทาง (ประสบความไร้รัฐ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 ครอบครัวของข้าพเจ้าซึ่งประกอบด้วย นายจ่าซวย (บิดา) นางหมุ่ยแฮ (มารดา) นางมึฉิ (พี่สาว) นางแปะวา (พี่สาว) และนายชนินทร์ (ข้าพเจ้า) ได้รับการสำรวจและบันทึกทางทะเบียนโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง แต่ข้อเท็จจริงในทะเบียนประวัติ ฯ ดังกล่าว ผิดพลาดจากความเป็นจริง 3 ประการ กล่าวคือ (1) สถานที่เกิดของข้าพเจ้าผิดพลาด เนื่องจากข้าพเจ้าเกิดในประเทศไทย แต่ถูกบันทึกผิดพลาดว่าเกิดประเทศพม่า (2) วันเดือนปีเกิดของข้าพเจ้าผิดพลาด เนื่องจากข้าพเจ้าเกิดวันที่ 13 เมษายน 2524 แต่ถูกบันทึกผิดพลาดว่าเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2522 และ (3) ห้วงเวลาในการเข้ามาในประเทศไทยของครอบครัวข้าพเจ้าผิดพลาด เนื่องจากบิดาของข้าพเจ้าอพยพหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 13 ปี แต่ถูกบันทึกผิดพลาดว่า 8 ปี ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดในประเทศไทย : กรณีให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล" และ "ความเห็นทางกฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล" ตามสิ่งที่อ้างถึงลำดับที่ 5 และ 6

ข้าพเจ้าได้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกับคณะนักวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการ 4 หมอชายแดนจังหวัดตาก ดังปรากฏรายละเอียดตามลำดับเหตุการณ์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล โดยนางสาววิกานดา พัติบูรณ์ นักกฎหมายประจำโครงการ 4 หมอชายแดนจังหวัดตาก ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2557


....................................

ส่วนที่สอง

: ขอโต้แย้งคำสั่งทางปกครองไม่อนุมัติคำร้องให้แก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง

....................................

ประการแรก ข้าพเจ้าขอโต้แย้งว่าขั้นตอนและรูปแบบคำสั่งทางปกครองของท่านไม่ชอบด้วยกฎหมาย

....................................

ข้าพเจ้าในฐานะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากคำสั่งทางปกครอง ตามคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร.31) ที่ 1907/2557, 1909/2557, 1910/2557 และ 1911/2557 ขอโต้แย้งว่าคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันขัดต่อมาตรา 29[3] แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และท่านไม่ได้เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่ให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อข้อสงสัยของท่านก่อนท่านจะมีคำสั่งทางปกครองปฏิเสธสิทธิของข้าพเจ้า อันขัดต่อมาตรา 30[4] แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ตลอดจนคำสั่งทางปกครองของท่านซึ่งจัดทำเป็นหนังสือไม่ประกอบด้วยเหตุผลครบถ้วนที่ต้องปรากฏตามกฎหมาย กล่าวคือ (1) ไม่ปรากฏเหตุผลในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ และ (2) ไม่ปรากฏเหตุผลในข้อกฎหมายที่อ้างอิง แต่ปรากฏเพียงข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนบางส่วนในการใช้ดุลพินิจเท่านั้น อันขัดต่อมาตรา 37[5]วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

....................................

ประการที่สอง ข้าพเจ้าขอโต้แย้งว่าเนื้อหาของคำสั่งทางปกครองของท่านไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในส่วนนี้ข้าพเจ้าขอโต้แย้งคำสั่งทางปกครองของท่านตามประเด็นท่านระบุในคำสั่งทางปกครอง 4 ประเด็น ดังนี้

....................................

ประเด็นแรก ท่านชี้แจงว่าทะเบียนประวัติ ฯ มีความถูกต้องสมบูรณ์ และชัดแจ้ง เนื่องจากได้รับการจัดทำโดยคณะทำงานจากท้องถิ่น/พื้นที่ และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางของกรมการปกครอง โดยมีการลงนามรับรองเอกสารไว้ ตลอดจนรายการข้อมูลในทะเบียนประวัติของข้าพเจ้ามีความสอดคล้องกันทุกรายการ

เนื่องด้วยข้อพิจารณาในประเด็นนี้เป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงของโต้แย้งท่านในประเด็น (1) ข้อกฎหมาย/นโยบายเกี่ยวกับความถูกต้องสมบูรณ์และชัดแจ้งของทะเบียนประวัติ ฯ และ ขอเพิ่มเติม (2) ข้อเท็จจริงในการจัดทำทะเบียนประวัติ ฯ ของข้าพเจ้า ดังนี้

(1) โต้แย้งในประเด็นข้อกฎหมาย/นโยบายเกี่ยวกับความ "ถูกต้อง/สมบูรณ์/ชัดแจ้ง" ของทะเบียนประวัติ ฯ นั้น ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ยอมรับมาโดยตลอดว่าเอกสารมหาชนอาจผิดพลาดและสามารถนำพยานมาสืบหักล้างได้ ตลอดจนกฎหมายปกครองเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร และนโยบายทางปกครองก็ ยอมรับอย่างต่อเนื่องว่าข้อมูลในทะเบียนราษฎร/ทะเบียนประวัติ เมื่อปรากฏว่ามีความผิดพลาดก็สามารถตรวจสอบเพื่อแก้ไขให้ตรงตามข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น ในข้อพิจารณาประเด็นแรกของท่าน จึงไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายแต่อย่างใด เนื่องจากทะเบียนประวัติ ฯ นั้นอาจเกิดความผิดพลาด และสามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงได้ กล่าวคือ

(1.1) เนื่องด้วยทะเบียนประวัติเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งแม้จะได้รับการสันนิษฐานเบื้องต้นว่าถูกต้อง ตามมาตรา 127[6] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวก็ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด โดยกฎหมายได้เปิดช่องให้ข้าพเจ้าสามารถนำสืบพยานหลักฐานอื่นเพื่อหักล้างพยานเอกสารได้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมีสิทธิในการนำพยานหลักฐานอื่นมานำสืบต่อท่านเพื่อหักล้างทะเบียนประวัติ ฯ ดังปรากฏตามตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการยืนยันว่า "ข้อสันนิษฐานความถูกต้องของพยานเอกสารมหาชนไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด สามารถนำพยานมาสืบหักล้างได้" ฎ.175/2530[7], 2759/2530[8], 4240/2530[9]

(1.2) ตามหลักกฎหมายทางปกครองในการจัดทำทะเบียนต่าง ๆ หัวใจสำคัญ คือ ความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร ซึ่งหากมีหลักฐานเชื่อได้ว่าข้อมูลที่ได้รับการบันทึกทางทะเบียนไม่ถูกต้องตามความจริง นายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องตามความจริงได้ ตามมาตรา 10[10] แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ดังนั้น เมื่อทะเบียนประวัติของข้าพเจ้ามีความผิดพลาดจากข้อเท็จจริง การดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องแท้จริงย่อมสามารถทำได้ และท่านย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อข้อมูลแก้ไขให้ต้องตรงกับข้อเท็จจริง มิใช่การพิจารณาไว้ก่อนว่าทะเบียนประวัติมีความถูกต้องสมบูรณ์และชัดแจ้งแล้ว

(1.3) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกนโยบายตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรสอดรับเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539[11], 2544[12], 2545[13], 2552[14] จนกระทั่งปี 2557 โดยยืนยันว่าการจัดทำทะเบียนประวัติ ฯ อาจเกิดความผิดพลาด อันเนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ภาษาในการสื่อสาร ความเข้าใจของผู้ให้ข้อมูลและผู้บันทึกข้อมูล เป็นต้น และสามารถแก้ไขได้ ซึ่งท่านก็ตระหนักในข้อกฎหมาย/นโยบายส่วนนี้ เนื่องจากท่านเองได้ทำหนังสือหารือเรื่องการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เพื่อหารือต่อไปยังอธิบดีกรมการปกครอง และเรื่องนี้เป็นที่มาของการยืนยันแนวทางในการแก้ไขทะเบียนประวัติ ฯ โดยให้ดำเนินการตามข้อ 115 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 รายละเอียดตามหนังสือกรมการปกครองถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เรื่อง หารือเรื่องการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เลขที่ มท.0309.1/16671 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557

ดังนั้น ในการพิจารณาว่าทะเบียนประวัติมีความถูกต้องสมบูรณ์และชัดแจ้งโดยเด็ดขาด จึงย่อมขัดต่อหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความปกครอง กฎหมายการทะเบียนราษฎร และนโยบายกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางและมีหน้าที่ในการดูแลและตรวจสอบความถูกต้องของทะเบียนราษฎรไทย

(2) ชี้แจงข้อเท็จจริงในการจัดทำทะเบียนประวัติ ฯ ของข้าพเจ้า ในปี 2534 ก่อนที่จะมีการจัดทำทะเบียนประวัติ ฯ ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในหมู่บ้านแม่หละยาง ผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศทางหอกระจายข่าว และมีการบอกต่อกันเป็นทอด ๆ ว่าจะมีการทำทะเบียนให้กับคนที่ไม่มีเอกสารอะไรเลย ซึ่งในวันที่ 8 – 9 กรกฎาคม 2534 เจ้าหน้าที่ปกครองของอำเภอและส่วนกลางได้มีการลงพื้นที่ออกหน่วย ณ หมู่บ้านแม่หละยาง โดยมีการตั้งโต๊ะเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ ฯ ณ โรงเรียนบ้านแม่สละเหนือ ซึ่งในการลงพื้นที่นี้มีผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ปกครองได้จัดให้มีการตั้งโต๊ะใน 3 จุด กล่าวคือ

  • §จุดแรก ทำหน้าที่สอบถามและกรอกข้อมูลลงในทะเบียนประวัติ ฯ (เล่มสีเหลือง) โดยในจุดนี้จะมีการสอบถามถึงสมาชิกในครอบครัวว่ามีจำนวนกี่คน? ชื่ออะไร? อายุเท่าใด? ซึ่งคนให้ข้อมูลจะเป็นหัวหน้าครอบครัว และล่ามจะทำหน้าที่แปล ให้กับเจ้าหน้าที่ปกครองจดบันทึก
  • §จุดที่สอง ทำหน้าที่จัดเอกสาร และปั้มลายพิมพ์นิ้วมือ
  • §จุดที่สาม ทำหน้าที่ถ่ายรูปสมาชิกในครอบครัว โดยถ่ายเดี่ยวเรียงทีละคน และถ่ายภาพรวม ตลอดจนจัดทำบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูงให้กับทุกคนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป

ใน 2 วันที่มีการจัดทำทะเบียนประวัติ ฯ มีคนมาเข้าคิวจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันแรกมีประมาณ 700 – 800 คน ซึ่งสถานการณ์จัดทำทะเบียนเป็นไปอย่างชุนละมุนวุ่นวาย เร่งรีบ เนื่องจากมีคนแออัดจำนวนมาก และด้วยล่ามแปลภาษาที่มีจำนวนน้อยจึงสื่อสารกันไม่เข้าใจ ตลอดจนมีการแซงคิวเพื่อให้ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ ฯ ที่รวดเร็วขึ้น

ครอบครัวของข้าพเจ้า ประกอบด้วย นายจ่าส่วย (บิดา) นางหมุ่ยแฮ (มารดา) นางมึฉิ (พี่สาว) นางแปะวา (พี่สาว) และข้าพเจ้าซึ่งขณะนั้นอายุได้เพียง 10 ขวบ ได้ไปเข้ารับการสำรวจทะเบียนประวัติ ฯ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 ซึ่งผู้ใหญ่บ้านจะเป็นผู้เรียกคิวทีละครอบครัว และบิดาของข้าพเจ้าเป็นผู้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่ด้วยบิดาของข้าพเจ้าไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่น ๆ จึงต้องใช้ล่ามช่วยแปลภาษา ซึ่งด้วยความเร่งรีบของกระบวนการ ความเข้าใจและภาษาที่สื่อสาร ตลอดจนคำถามหลายส่วนเป็นเรื่องของการนับจำนวนปี หรือ พ.ศ. ซึ่งโดยวัฒนธรรมคนกะเหรี่ยงไม่คุ้นเคยกับการจดจำช่วงเวลา และไม่รู้จักปี พ.ศ. ดังนั้น การระบุห้วงเวลาต่าง ๆ ตลอดจนปี พ.ศ. จึงเป็นการคาดคะเน ของผู้ให้ข้อมูลและล่ามประกอบกัน ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนได้สูง นอกจากนี้ ในการสอบถามเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติไม่ได้มีการตั้งคำถามถึงสถานที่เกิดแต่อย่างใด แต่เป็นการบันทึกโดยความเข้าใจของล่ามซึ่งช่วยแปลภาษาในขณะนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของกรมการปกครองที่ยืนยันมาโดยตลอดว่าทะเบียนประวัติ ฯ อาจเกิดความผิดพลาดในการบันทึกข้อเท็จจริงได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทะเบียนประวัติ ฯ ไม่ได้มีความถูกต้องสมบูรณ์และชัดแจ้งดังที่ท่านกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ข้าพเจ้ามีพยานบุคคลซึ่งสามารถยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้จำนวน ??? คน คือ ?????? ซึ่งพยานเหล่านี้เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ในการจัดทำทะเบียนประวัติ ฯ และพร้อมให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกับท่านด้วยความสัตย์จริง

ประเด็นที่สอง ท่านชี้แจงว่าในการรับฟังพยานบุคคลนั้น พยานบุคคลมีน้อย ไม่มีพยานที่เห็นการเกิดชัดเจน และไม่มีพยานแวดล้อมอื่น ๆ เพิ่มเติม อีกทั้งพยานให้การไม่ชัดเจนและบางรายขัดแย้งกัน

ในประเด็นที่สองนั้น ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกต (1) ในประเด็นข้อกฎหมายว่า ท่านสับสนระหว่าง "หลักกฎหมายในการรับฟังพยานบุคคล" และ "หลักกฎหมายในการชั่งน้ำหนักพยานบุคคล" จึงนำมาเขียนรวมในข้อเดียวกันเช่นนี้ (2) ในประเด็นข้อเท็จจริง ท่านไม่ได้อธิบายโดยชัดเจนอย่างเพียงพอว่า พยานบุคคลที่ข้าพเจ้านำสืบต่อท่านนั้นให้การไม่ชัดเจนอย่างไร ? และพยานบุคคลบางรายของข้าพเจ้านั้น หมายความถึงรายใด ? และปรากฏการให้ปากคำขัดแย้งกันอย่างไร ? ข้าพเจ้าจึงขอโต้แย้งท่านในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ดังนี้

(1) โต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายใน "การรับฟังพยานบุคคล" และ "การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน" กล่าวคือ

(1.1) การรับฟังพยานบุคคลนั้น หมายถึง กฎหมายว่าด้วยการกำหนดว่าพยานหลักฐานใดรับฟังได้ หรือรับฟังไม่ได้ หรือนำสืบได้หรือไม่ได้ นั่นเอง ซึ่งพยานหลักฐานที่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังโดยกฎหมายนั้นเป็นข้อกฎหมาย ต้องแยกออกจากพยานหลักฐานที่ไม่รับฟังเพราะไม่มีน้ำหนักหรือเป็นพยานที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง[15] หรือการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานนั่นเอง ทั้งนี้ พยานบุคคลของข้าพเจ้านั้นเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามได้ และเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดของข้าพเจ้าด้วยตนเอง[16] จึงย่อมเป็นพยานบุคคลที่ไม่ต้องห้ามให้รับฟัง/นำสืบ ตามมาตรา 95[17] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และในปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติห้ามบุคคลเป็นพยานด้วยเหตุของอาชีพหรือฐานะของพยานอีกต่อไป แม้พยานจะเป็นคู่สมรส ญาติมิตรของคู่ความ หรือมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีก็ไม่ต้องห้าม[18] ซึ่งในเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับการให้เหตุผลของท่านในการกล่าวอ้างว่าพยานบุคคลของข้าพเจ้าเป็นพยานสมรู้ร่วมคิด ซึ่งจะขออธิบายท่านเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง

(1.2) การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของพยานบุคคล หมายถึง การพิจารณาว่าพยานบุคคลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเป็นพยานบุคคลที่ไม่มีน้ำหนัก-น้ำหนักน้อยหรือไม่ ซึ่งการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานนั้นเป็นเรื่องการชี้ขาดข้อเท็จจริง โดยใช้เหตุผล สามัญสำนึก และหลักตรรกะวิทยาในการค้นหาความเป็นไปได้ของผู้พิจารณา อย่างไรก็ดี สามัญชนทั่วไปมีความเห็นตรงกันในเรื่องส่วนใหญ่ ศาล/ผู้พิจารณาก็ย่อมต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามมาตรฐานของสามัญชน ฉะนั้น จะอ้างว่าการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานไม่มีกฎเกณฑ์เสียเลยหรือเป็นไปตามอำเภอใจของผู้พิจารณาแต่ละคนย่อมไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีคำพิพากษาซึ่งว่าหลักเกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานไว้จำนวนมาก[19] ซึ่งท่านสามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาได้

ทั้งนี้ ประเด็นที่ท่านให้เหตุผลว่าพยานบุคคลของข้าพเจ้า "มีน้อย ไม่มีพยานที่เห็นการเกิดชัดเจน และไม่มีพยานแวดล้อมอื่น ๆ" ซึ่งข้าพเจ้าขอโต้แย้งชี้แจงในแต่ละเรื่อง ดังนี้

  • §การพิจารณาจำนวนพยาน ตามหลักกฎหมายลักษณะพยาน พยานที่ดีที่สุดก็คือพยานที่ให้ข้อเท็จจริงที่สำคัญได้มากที่สุด และสามารถเบิกความได้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ในเรื่องเดียวกันไม่ควรมีพยานเกิน 3 คน และไม่มีกฎหมายกำหนดว่าคู่ความมีพยานหลักฐานอะไรต้องนำมาสืบจนหมด ทั้งในการวินิจฉัยน้ำหนักพยาน ศาลไม่ได้ถือเอาจำนวนพยานหลักฐานเป็นสำคัญ ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่ง ฎ. 293/2518[20], ฎ. 401/2532[21] หรือแม้กระทั่งในคดีอาญาศาลฎีกาก็เคยพิจารณาพยานเพียงปากเดียว ฎ. 2105/2531[22] และสำคัญอย่างยิ่งในคดีปกครองเกี่ยวกับการพิสูจน์การเกิดในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นอำนาจพิจารณาของศาลฎีกา ฎ. 5834/2537 ศาลรับฟังพยานบุคคลซึ่งรู้เห็นการเกิดและยืนยันว่านายยี่เกียมเกิดในประเทศไทยจริง คือ ญาติลูกพี่ลูกน้อง 1 คน และเพื่อนบ้านตอนเด็ก 1 คน ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับนายยี่เกียมและเบิกความต้องตรงกัน
  • ดังนั้น การที่ข้าพเจ้ามีพยานรู้เห็นการเกิดจำนวน 3 คน จึงไม่เป็นข้อตำหนิ หรือข้อด้อยในการพิจารณาความน่าเชื่อถือ หรือน้ำหนักของพยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของข้าพเจ้าแต่อย่างใด เหตุผลกล่าวอ้างของท่านในส่วนนี้จึงขัดต่อหลักกฎหมายลักษณะพยานอย่างชัดแจ้ง
  • §การพิจารณาประจักษ์พยานเกี่ยวกับการเกิดของข้าพเจ้า ตามหลักกฎหมายลักษณะพยาน ประจักษ์พยาน คือ คนที่เบิกความจากสิ่งที่รับรู้มาด้วยตนเอง และประจักษ์พยานนี้มีคุณภาพเป็นพยานชั้นหนึ่ง หรือ "พยานที่ดีที่สุด (The Best Evidence Rule)"[23] ซึ่งปรากฏในมาตรา 95[24] แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งพยานรู้เห็นการเกิดของข้าพเจ้าจำนวน 3 คน ล้วนเป็นผู้เห็น/รับรู้เหตุการณ์เกี่ยวกับการเกิดของข้าพเจ้าด้วยตนเอง กล่าวคือ (1) นางหมุ่ยแฮ มารดาของข้าพเจ้า เป็นผู้คลอดข้าพเจ้าด้วยตนเอง ย่อมรู้อย่างแน่นอนว่าข้าพเจ้าเกิดที่ใด เมื่อไร อย่างไร (2) นางเนาะกา ข้างเคียงขุนเขา เพื่อนบ้านของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นพยานเห็นตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ข้าพเจ้า และในวันคลอดก็ได้มาช่วยหมอตำแยทำคลอด ต้มน้ำ และร่วมพิธีทำขวัญเด็กเกิดใหม่ให้ข้าพเจ้า (3) นางสีทอน กมลสุขดำรง เพื่อนบ้านของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นพยานที่เห็นตั้งแต่มารดาของข้าพเจ้าตั้งครรภ์ และกลับมาเห็นมารดาของข้าพเจ้าหลังคลอดในช่วงอยู่ไฟ ตลอดจนมีบุตรชายซึ่งเกิดในปี พ.ศ. เดียวกับข้าพเจ้า (พ.ศ. 2524) คือ นายสมเกียรติ โดยเกิดก่อนข้าพเจ้าประมาณ 1 เดือน และนายสมเกียรติได้เข้าเรียนโรงเรียนบ้านแม่สละเหนือเช่นเดียวกับข้าพเจ้า
  • ดังนั้น พยานรู้เห็นการเกิดทั้ง 3 คนของข้าพเจ้า ย่อมเป็นประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นพยานที่ดีที่สุด เหตุผลกล่าวอ้างของท่านที่ว่า ข้าพเจ้าไม่มีพยานที่เห็นการเกิดชัดเจน จึงขัดต่อหลักกฎหมายลักษณะพยานอย่างชัดแจ้ง
  • §การพิจารณาพยานแวดล้อมอื่น ๆ เกี่ยวกับการเกิดของข้าพเจ้า ตามหลักกฎหมายลักษณะพยาน ย่อมหมายถึง พยานแวดล้อมกรณี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าในบางคดีเป็นการยากที่จะหาประจักษ์พยานมาสืบได้ จึงต้องใช้พยานแวดล้อมกรณีแทน[25] กล่าวคือ หากมีประจักษ์พยานแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีพยานแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบแต่อย่างใด ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญา ฎ. 184/2537[26]
  • ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้ามีประจักษ์พยานในการรู้เห็นการเกิดถึง 3 คน จึงไม่จำเป็นต้องนำสืบพยานแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบแต่อย่างใด เหตุผลของท่านที่ว่า ข้าพเจ้าไม่มีพยานแวดล้อมอื่น ๆ เพิ่มเติม จึงเป็นข้อเรียกร้องที่เกินสมควร/จำเป็น และขัดต่อหลักกฎหมายลักษณะพยานอย่างชัดแจ้ง
  • §การพิจารณาหลักพยานเดี่ยว-พยานคู่ ตามหลักกฎหมายลักษณะพยาน ในส่วนของพยานบุคคล หลักในการพิจารณาพยานเดี่ยว-พยานคู่ก็มีผลต่อการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน โดยข้อเท็จจริงใดที่มีพยานเบิกความยืนยันถึง 2 คน ย่อมน่าเชื่อว่าเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์จริง เพราะคนโกหก 2 คนน่าจะไม่ตรงกัน[27] ทั้งนี้ พยานคู่ไม่จำเป็นต้องเบิกความ/ให้ปากคำต้องตรงกันทั้งหมดทุกตอน เพียงแต่ให้การสอดคล้องกันในสาระสำคัญก็มีน้ำหนักเชื่อถือได้ ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2539[28]
  • ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้ามีประจักษ์พยานในการรู้เห็นการเกิดถึง 3 คน ซึ่งให้ปากคำต่อท่านสอดคล้องกันในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดของข้าพเจ้า จึงเป็นพยานที่น่าเชื่อถือ และมีน้ำหนัก

(2) โต้แย้งประเด็นข้อเท็จจริงในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน กล่าวคือ ดังที่ท่านได้ให้เหตุผลว่าพยานบุคคลของข้าพเจ้าให้การไม่ชัดเจน และบางรายให้การขัดแย้งกัน ท่านไม่ได้อธิบายโดยชัดเจนอย่างเพียงพอว่า พยานบุคคลที่ข้าพเจ้านำสืบต่อท่านนั้นให้การไม่ชัดเจนอย่างไร ? และพยานบุคคลบางรายของข้าพเจ้านั้น หมายความถึงรายใด ? และปรากฏการให้ปากคำขัดแย้งกันอย่างไร ? การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่เลื่อนลอยเช่นนี้ไม่เพียงพอต่อข้าพเจ้าในการชี้แจงหรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครองของท่านในส่วนนี้

อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติ ฯ ถึง 3 รายการ ดังที่ได้อ้างแล้วข้างต้น การพิจารณาพยานบุคคลของข้าพเจ้าว่าให้การไม่ชัดเจนหรือขัดแย้งกัน ท่านมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่าชัดเจนหรือไม่ สอดคล้องหรือไม่ ในประเด็นใดบ้างอย่างไรโดยละเอียด และหากท่านต้องการคำชี้แจงจากพยานบุคคลของข้าพเจ้าในส่วนใดเพิ่มเติม เพื่อสร้างความชัดเจน ข้าพเจ้าและพยานก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ปากคำเพิ่มเติมในประเด็นนั้น ๆ ทั้งนี้ ในส่วนของการให้ปากคำขัดแย้งกัน ขอท่านตระหนักว่า การให้การขัดแย้งกัน ย่อมต้องเป็นการขัดแย้งกันในสาระสำคัญของคำร้องแต่ละเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ยื่นต่อท่าน โดยพิจารณาตามหลักกฎหมายลักษณะพยานในเรื่องพยานเดี่ยว-พยานคู่ และย่อมหมายถึง การให้การขัดแย้งกันในเรื่องสถานที่เกิดของข้าพเจ้า หรือ การให้การขัดแย้งกันในเรื่องวันเดือนปีเกิดของข้าพเจ้า หรือ การให้การขัดแย้งกันในเรื่องห้วงเวลาในการเข้ามาของหัวหน้าครอบครัวของข้าพเจ้า ซึ่งในหนังสือแจ้งคำสั่งทางปกครองของท่านไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

ดังนั้น เหตุผลในการกล่าวอ้างส่วนนี้ของท่าน จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สาม ท่านชี้แจงว่าในการความน่าเชื่อถือของพยานบุคคลนั้น พยานบุคคลของข้าพเจ้ามีลักษณะเป็น "พยานสมรู้ร่วมคิด" ในชั้นให้การต่อผู้ช่วยนายทะเบียนให้การไม่สอดคล้องกับการให้การต่อท่านในการลงพื้นที่เดินเผชิญสืบพิสูจน์การเกิด ตลอดจนมารดาของข้าพเจ้าให้การไม่ตรงกันในประเด็นจำนวนบุตรทำให้ขัดแย้งกับลำดับอายุของบุตรแต่ละคน และมีผลต่อการลำดับห้วงเวลาในทะเบียนประวัติ

ในประเด็นที่สามนี้ ข้าพเจ้าขอยืนยันเบื้องต้นว่า พยานของข้าพเจ้าทุกคน มาให้การต่อท่านด้วยความสุจริต และให้การในถ้อยคำที่เป็นจริงทุกประการ เหตุผลที่ท่านระบุว่าพยานของข้าพเจ้าสมรู้ร่วมคิดกันโดยไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ นั้น เป็นถ้อยคำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของข้าพเจ้าและพยานของข้าพเจ้าทุกคนอย่างร้ายแรงโดยไม่เป็นธรรม อันสะท้อนถึงทัศนคติของท่านที่มีต่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งถ้าท่านไม่ได้มีเจตนาเช่นว่านั้น ขอท่านโปรดตระหนักและแก้ไขถ้อยคำในส่วนนี้ให้เหมาะสม

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอโต้แย้งท่านใน 3 ส่วนสำคัญ กล่าวคือ (1) โต้แย้งหลักกฎหมายในการรับฟังพยานบุคคลและการชั่งน้ำหนักพยานบุคคล (2) โต้แย้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิด (3) โต้แย้งข้อเท็จจริงในการให้การของมารดาข้าพเจ้า ดังนี้

(1) โต้แย้งหลักกฎหมายในการรับฟังพยานบุคคลและการชั่งน้ำหนักพยานบุคคล เนื่องด้วยการให้เหตุผลของท่านว่า "พยานของข้าพเจ้าเป็นพยานลักษณะสมรู้ร่วมคิด" โดยไม่อธิบายข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบ

ข้อกล่าวอ้างของท่าน แสดงได้ว่าท่านมีเจตนาจะตัดพยาน (Exclusionary Rules) โดยปฏิเสธการรับฟังพยานบุคคลของข้าพเจ้าอย่างสิ้นเชิง ย่อมขัดต่อหลักกฎหมายลักษณะพยานในเรื่องของการรับฟังพยานบุคคล และแม้ว่าพยานบุคคลของข้าพเจ้าจะเป็นญาติและมิตรที่มีความใกล้ชิดกับครอบครัวของข้าพเจ้า แต่ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามรับฟังพยานในลักษณะดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าพยานรู้เห็นเหตุการณ์และชอบด้วยเหตุผลที่จะรับฟังได้ว่าเป็นความจริง ย่อมรับฟังได้ และในหลายคดีศาลก็รับฟังพยานเช่นว่านี้ว่าเป็นพยานที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะตัดสินชี้ขาดในคดีได้ แม้กระทั่งในคดีอาญาซึ่งศาลต้องมีความระมัดระมัดระวังในการ ดังปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาที่ ฎ. 1351/2539[29] และดังปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งที่ ฎ. 5834/2537 ซึ่งศาลรับฟังพยานบุคคลที่เป็นมารดาเลี้ยง พี่ชายมารดา และเพื่อนบ้านในวัยเยาว์ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับโจทก์, ฎ. 175/2530 ซึ่งศาลรับฟังพยานที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

ดังนั้น พยานบุคคลของข้าพเจ้าทั้งสาม ซึ่งหมายถึง มารดา และเพื่อนบ้านใกล้ชิด ย่อมเป็นพยานที่รับฟังได้ และเป็นประจักษ์พยาน อันหมายถึงพยานที่ดีที่สุด การตัดพยานบุคคลของข้าพเจ้าด้วยคำกล่าวอ้างว่า "สมรู้ร่วมคิด" จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(2) โต้แย้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิด เนื่องด้วยท่านไม่ได้ให้เหตุผลโดยชัดแจ้งว่า พยานของข้าพเจ้ามีลักษณะสมรู้ร่วมคิดกันอย่างไร ข้อกล่าวอ้างเช่นนี้จึงเลื่อนลอย และไม่ชัดเจนเพียงพอให้ข้าพเจ้าอธิบายหรือโต้แย้งอุทธรณ์ความเห็นของท่านได้

อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า พยานบุคคลทุกคนของข้าพเจ้าให้การตามความจริง โดยสุจริต และได้ให้ปากคำโดยตอบคำถามของท่านอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปรากฏพฤติการณ์เลี่ยงคำถาม หรือปิดบังข้อความจริงใดแต่อย่างใด ทั้งนี้ ความเป็นญาติหรือคนใกล้ชิดก็มิใช่เหตุผลเพียงพอที่จะฟังเป็นเด็ดขาดว่าพยานจะเบิกความเข้าข้างกันเสมอไป ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2539[30]

นอกจากนี้ เหตุการณ์เกี่ยวกับการเกิดของข้าพเจ้านั้นได้เกิดขั้นเป็นระยะเวลานานแล้ว แม้พยานของข้าพเจ้าจะเบิกความแตกต่างกันบ้างในเรื่องที่ไม่สำคัญหรือพลความ ก็ไม่ทำให้น้ำหนักคำพยานของข้าพเจ้าเสียไปแต่อย่างใด ตรงกันข้ามพยานที่เบิกความในทำนองเดียวกันหมด แม้รายละเอียดต่าง ๆ ก็จดจำได้หมดและตรงกันทุกประการ อาจมีข้อสงสัยว่ามีการซักซ้อมพยานมาก็เป็นได้[31] แต่พยานของข้าพเจ้าไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ท่านก็ย่อมตระหนักดี

ตลอดจนพยานทุกคนของข้าพเจ้าประกอบอาชีพสุจริต เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน จึงมีคุณสมบัติที่น่าเชื่อถือ คำพยานของพยานบุคคลของข้าพเจ้าจึงน่ารับฟังได้และมีน้ำหนัก ดังคำพิพากษาศาลฎีกา 5834/2537[32]

(3) โต้แย้งข้อเท็จจริงในการให้การของมารดาข้าพเจ้า เนื่องด้วยท่านกล่าวอ้างว่า พยานซึ่งเป็นมารดาของข้าพเจ้าให้การไม่ตรงกันในประเด็นจำนวนบุตรซึ่งทำให้ขัดแย้งกับลำดับอายุของบุตร และห้วงเวลาในการเอกสารทะเบียนประวัติ ข้าพเจ้าขอโต้แย้งว่า มารดาของข้าพเจ้าไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ การถามปากคำจึงต้องสอบถามผ่านล่ามซึ่งท่านจัดหามาให้ จึงอาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร ประกอบกับการสอบถามจำนวนบุตรนั้น ในวุฒิภาวะของชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีอุปสรรคในภาษาและการนับจำนวนต่าง ๆ จึงไม่อาจทราบได้ว่าท่านเจตนาหมายถึง บุตรที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น หรือหมายรวมถึงบุตรที่เสียชีวิตไปแล้วประกอบด้วย ตลอดจนการให้ปากคำเท็จในเรื่องของจำนวนบุตรนั้น ไม่ได้มีนัยยะสำคัญในการนำสืบเพื่อพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของข้าพเจ้าแต่อย่างใด จึงย่อมไม่มีแรงจูงใจใดให้กระทำการเช่นว่านั้น ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจึงเป็นความแตกต่างกันบ้างในเรื่องที่ไม่สำคัญหรือพลความ และไม่ทำให้น้ำหนักพยานมารดาของข้าพเจ้าเสียไปทั้งหมดแต่อย่างใด ซึ่งหากท่านเปิดโอกาสให้มารดาของข้าพเจ้าได้อธิบายข้อเท็จจริงในส่วนนี้เพิ่มเติม ท่านย่อมทราบข้อเท็จจริงว่า มารดาของข้าพเจ้าเคยมีบุตร 10 คน แต่ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่จริงเพียง 4 คนเท่านั้น

ดังนั้น คำกล่าวอ้างของท่านในประเด็นพยานมีลักษณะสมรู้ร่วมคิดนั้น ย่อมขัดต่อหลักกฎหมายลักษณะพยาน และเป็นการใช้ดุลยพินิจทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สี่ ท่านมีดุลยพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่า ปากคำพยานบุคคลมีน้อยไม่เพียงพอที่จะหักล้างความถูกต้องสมบูรณ์และชัดแจ้งของทะเบียนประวัติ ฯ ในประเด็นนี้ข้าพเจ้าขอโต้แย้งว่าการใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ

(1) ข้อพิจารณาว่า ทะเบียนประวัติ ฯ นั้นมีความถูกต้องสมบูรณ์และชัดแจ้งโดยเด็ดขาดนั้นไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายลักษณะพยาน กฎหมายและนโยบายทางปกครองเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนประวัติ ฯและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการทำทะเบียนประวัติ ฯ ในพื้นที่ ซึ่งข้าพเจ้าได้ชี้แจงต่อท่านไว้แล้ว

(2) ข้อพิจารณาว่าพยานบุคคลของข้าพเจ้า มีน้อย และไม่เพียงพอในการหักล้างพยานเอกสารนั้น เป็นข้อพิจารณาที่เกิดจากขาดความเข้าใจถึงหลักการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของท่านเอง ตลอดจนการกล่าวอ้างในลักษณะดูหมิ่นว่าพยานบุคคลของข้าพเจ้ามีลักษณะเป็นพยานสมรู้ร่วมคิด และพิจารณาตัดพยาน-ไม่รับฟัง ซึ่งการพิจารณาของท่านขัดต่อหลักกฎหมายลักษณะพยานโดยชัดแจ้ง

ในกรณีนี้เทียบเคียงได้อย่างยิ่งกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.232/2555 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดรับฟังพยานบุคคลอันเป็นพยานแวดล้อมซึ่งไม่ได้รู้เห็นการเกิดโดยตรง แต่เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนชั้นประถม 2 คน ซึ่งให้การสอดคล้องกันว่ามารดาของผู้ร้องเกิดในเดือนสิงหาคม 2473 และอาจารย์ใหญ่หนึ่งในสองคนดังกล่าวยืนยันว่ามารดาของผู้ร้องเกิดในประเทศไทย ซึ่งศาลพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่ามารดาของผู้ร้องเกิดในประเทศไทยจริง อันนำไปสู่การมีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ซึ่งได้หักล้างพยานเอกสารมหาชน คือ สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ที่ระบุว่ามารดาของผู้ร้องมีสัญชาติญวน

และสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5834/2537 ซึ่งรับฟังพยานบุคคลที่เป็นญาติและบุคคลใกล้ชิดในการพิสูจน์ว่าเกิดในประเทศไทย และปรากฏข้อวิเคราะห์ที่พิจารณาความเป็นจริงในสังคมชนบทในยุคสมัยนั้น ว่าการทะเบียนราษฎรของประเทศไทย โดยเฉพาะในชนบทยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยดังเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น การที่ผู้ร้องไม่มีสูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงจึงไม่ใช่ข้อที่พึงตำหนิ

ดังนั้น ในกรณีของข้าพเจ้าซึ่งเกิดในบ้านโน๊ะตี่ตู่บออันมีสภาพเป็นป่าไร่ และมีพยานบุคคลรู้เห็นการเกิดด้วยตนเองถึง 3 คน มาให้ถ้อยคำต่อท่านด้วยความสัตย์จริง และสอดคล้องกันในสาระสำคัญ จึงเป็นพยานที่รับฟังได้ และเป็นพยานที่ดีที่สุด (ประจักษ์พยาน) ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบเพราะสถานการณ์ความด้อยโอกาสในพื้นที่ชายแดน ก็ย่อมมีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างทะเบียนประวัติ ฯ ได้

(3) ข้อพิจารณาของท่านไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและความเห็นทางกฎหมายตาม "รายงานวิชาการเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล และนายเบียะอ่อ ไม่มีนามสกุล บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก" จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งโรงพยาบาลท่าสองยางได้นำส่งต่อท่านแล้ว เมื่อวันที่ 14 และ 19 กันยายน 2557 ตามลำดับ เพื่อสนับสนุนท่านในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดในประเทศไทยของข้าพเจ้า และข้อกฎหมายในการพิจารณาพยานหลักฐาน ซึ่งดำเนินการและจัดทำโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมายสถานะบุคคล ด้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และคณะทำงานโครงการ 4 หมอชายแดนจังหวัดตาก

และ (4) เพื่อสนับสนุนความน่าเชื่อถือในพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การเกิดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอนำส่ง "คำพยานรับรองความน่าเชื่อถือพยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิด เพื่อแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล" จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งจัดทำโดย นายแพทย์จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง และนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำโครงการ 4 หมอชายแดนจังหวัดตาก

ดังนั้น เพื่อรักษาสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ข้าพเจ้าขอโต้แย้งคำสั่งทางปกครองไม่อนุมัติให้แก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ตามคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร (ท.ร.31) ที่ 1907/2557, 1909/2557, 1910/2557 และ 1911/2557 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2557 และขอให้ท่านเพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติดังกล่าว และทบทวนการใช้ดุลยพินิจภายใต้กรอบของกฎหมายลักษณะพยาน และกฎหมายปกครอง ตลอดจนพิจารณาพยานหลักฐานทั้งปวงอย่างรอบด้าน และแสวงหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือในพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การเกิดของข้าพเจ้าเพิ่มเติม โดยสอบปากคำพยานรับรองความน่าเชื่อถือทั้ง 3 ปากข้างต้น เพื่อประกอบสำนวนคดีในการพิจารณาแก้ไขรายการทะเบียนประวัติ ฯ ของข้าพเจ้าให้ถูกต้อง ข้าพเจ้าขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายปกครองต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดดำเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

(นายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล)

---------------------------------------

[1] มาตรา 8/2 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า "ให้มีนายทะเบียนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้

(1) อธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้อำนวยการทะเบียนกลาง มีอำนาจออกระเบียบหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดแบบพิมพ์เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และแต่งตั้งรองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง และผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง

(2) ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร

(3) ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัด และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด

(4) นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี เป็นนายทะเบียนอำเภอ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ

(5) ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการเขต ปลัดเมืองพัทยาหรือหัวหน้าผู้บริหารของหน่วยการปกครองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เป็นนายทะเบียนท้องถิ่น และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น

ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตาม (1) จะมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการทะเบียนกลาง หรือจะมอบหมายให้ข้าราชการสังกัดกรมการปกครองช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดด้วยก็ได้

นายทะเบียนกรุงเทพมหานครตาม (2) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนกรุงเทพมหานครหรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งไม่ต่ำกว่าระดับกองในสำนักปลัดกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนกรุงเทพมหานครก็ได้

นายทะเบียนจังหวัดตาม (3) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนจังหวัดก็ได้

นายทะเบียนอำเภอตาม (4) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ หรือปลัดอำเภอปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนอำเภอก็ได้

นายทะเบียนท้องถิ่นตาม (5) จะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น รองปลัดเทศบาลผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต รองปลัดเมืองพัทยา หรือรองหรือผู้ช่วยหัวหน้าผู้บริหารของหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี ปฏิบัติราชการแทนนายทะเบียนท้องถิ่นก็ได้"

[2] ข้อ 115 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรนำเอกสารราชการมาแสดงไม่ว่าเอกสารดังกล่าวจะจัดทำก่อนหรือหลังการจัดทำทะเบียนราษฎร ให้ผู้ยื่นคำร้องแสดงเอกสารดังกล่าวต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น เมื่อนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้

(2) ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรไม่มีเอกสารราชการมาแสดง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสอบสวนพยานหลักฐานแล้วรวบรวมหลักฐานเสนอนายอำเภอพร้อมด้วยความเห็น เมื่อนายอำเภอพิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้นายอำเภอสั่งนายทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้

[3] มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า "เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในการนี้ ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แสวงหาพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

(2) รับฟังพยานหลักฐาน คำชี้แจง หรือความเห็นของคู่กรณีหรือของพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่คู่กรณีกล่าวอ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่จำเป็นฟุ่มเฟือยหรือเพื่อประวิงเวลา

(3) ขอข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากคู่กรณี พยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ

(4) ขอให้ผู้ครอบครองเอกสารส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

(5) ออกไปตรวจสถานที่

คู่กรณีต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และมีหน้าที่แจ้งพยานหลักฐานที่ตนทราบแก่เจ้าหน้าที่

พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่เจ้าหน้าที่เรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

[4] มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า "ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น

(1) เมื่อมีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

(2) เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป

(3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคำขอ คำให้การหรือคำแถลง

(4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้

(5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง

(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ"

[5] มาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า

"คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ

(2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง

(3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ"

[6] มาตรา 127 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า "เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น และเอกสารเอกชนที่มีคำพิพากษาแสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร"

[7] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 175/2530 "ผู้ร้องที่ 2 อ้างสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารมหาชนเป็นพยานหลักฐาน มีข้อความระบุว่า ม. เป็นบุตรของ ว. กับ ป. ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง แต่เมื่อผู้คัดค้านนำสืบรับฟังได้ว่า ม. เป็นบุตรของ ป. ที่เกิดจากสามีเดิมก่อนที่จะมาได้ ว. เป็นสามี ดังนี้จึงเป็นการนำสืบหักล้างสำเนาทะเบียนบ้านได้แล้วว่าไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง"

[8] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2530 "แม้ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมจะเป็นเอกสารมหาชนก็มิใช่ข้อสันนิษฐานโดยเด็ดขาดที่จะให้รับฟังตามนั้น จึงนำพยานมาสืบหักล้างได้"

[9] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4240/2530 "แม้ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมและคำร้องขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมจะเป็นเอกสารมหาชน แต่คู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันก็นำพยานหลักฐานอื่นมาสืบหักล้าง ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127"

[10] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า "เพื่อความถูกต้องของการทะเบียนราษฎร ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกเจ้าบ้านหรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้แสดงหลักฐานต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็น และเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยให้มีอำนาจเข้าไปสอบถามผู้อยู่ในบ้านใด ๆ ได้ตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าบ้านทราบก่อน ทั้งนี้ ให้กระทำได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

ในการเข้าไปสอบถามตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่า การดำเนินการแจ้ง การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อดำเนินการจัดทำหลักฐานทะเบียนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน เพิกถอนหลักฐานทะเบียน และดำเนินการแก้ไขข้อความรายการทะเบียนให้ถูกต้องแล้วแต่กรณี

การดำเนินการตามวรรคสาม รวมตลอดทั้งวิธีการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงและการอุทธรณ์ของผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของนายทะเบียน รวมถึงการพิจารณาคำอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนไว้ก่อนที่จะรับฟังคำชี้แจงหรือการโต้แย้งได้"

[11] หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0310.1/8370 เรื่อง หารือการแก้ไขทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ ตุลาคม 2539

[12] หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0310.1/ว 17 เรื่อง การดำเนินงานตามโครงการกำหนดสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2544

[13] หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0310.1/ว 1131 เรื่อง การดำเนินงานตามโครงการกำหนดสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2545

[14] หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309.1/6538 เรื่อง หารือการแก้ไขทะเบียนประวัติเพื่อดำเนินการขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 22 เมษายน 2552

[15] โสภณ รัตนากร, คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2549) น. 56

[16] ในประเด็นพยานที่ไม่ได้เห็นหรือทราบข้อความด้วยตนเองโดยตรงหรือพยานบอกเล่านั้น กฎหมายไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาดและปัจจุบันศาลก็รับฟังอยู่โดยทั่วไป จึงไม่น่าถือว่าเป็นพยานที่ต้องห้ามไม่ให้รับฟังอีกต่อไป, ดู โสภณ รัตนากร, คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2549) น. 340

[17] มาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใดเว้นแต่บุคคลนั้น

(1) สามารถเข้าใจและตอบคำถามได้ และ

(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง แต่ความในข้อนี้ให้ใช้ได้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งหรือคำสั่งของศาลว่าให้เป็นอย่างอื่น ..."

[18] โสภณ รัตนากร, คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2549) น. 162

[19] โสภณ รัตนากร, คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2549) น. 494

[20] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2518 ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า "ศาลเชื่อคำพยานปากเดียวก็ได้ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง"

[21] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ. 401/2532 "แม้โจทก์มีประจักษ์พยานปากเดียว แต่เบิกความมีเหตุผล ไม่มีพิรุธสงสัย ยืนยันว่าจำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ต่อหน้าพยาน ย่อมมีน้ำหนักดีกว่าพยานของจำเลย"

[22] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ. 401/2532 แม้โจทก์มีพยานคือผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความถึงการกระทำของจำเลย แต่ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อ เพราะเหตุเกิดเวลากลางวัน พยานมีโอกาสเห็นคนร้ายได้ชัดเจนและเมื่อตำรวจจับจำเลยกลับมา ผู้เสียหายก็ยืนยันทันทีว่าจำเลยเป็นคนร้าย ทั้งไม่มีเหตุที่จะพึงระวังสงสัยว่า ผู้เสียหายจะปรักปรำใส่ร้ายจำเลย

[23] อุดม รัฐอมฤต, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติม, (กรุงเทพฯ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552) น.15

[24] อ้างแล้ว.

[25] โสภณ รัตนากร, คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2549) น. 503

[26] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2537 "ในคดีข้อหาพยายามฆ่า แม้โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายและประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาล แต่โจทก์มีพยานแวดล้อมเหตุการณ์ เบิกความสอดคล้องต่อเนื่องกันสมด้วยเหตุผล ทั้งจำเลยก็ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ ย่อมรับฟังลงโทษจำเลยได้"

[27] อุดม รัฐอมฤต, คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติม, (กรุงเทพฯ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552) น.162

[28] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2539 "พยานคู่ไม่จำเป็นต้องรู้เห็นเหตุการณ์หรือเบิกความได้ตรงกันหมดทุกตอนจึงจะรับฟังได้ พยานอาจเบิกความสนับสนุนบางตอนเท่าที่ตนรู้เห็นจริง ขึ้นอยู่กับศิลปะในการซักถามพยาน เมื่อพยานเบิกความในสาระสำคัญตรงกันย่อมมีน้ำหนักเชื่อถือได้"

[29] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2539 "ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้รับฟังคำเบิกความของพยานที่เป็นญาติกัน หากศาลเห็นว่าพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและชอบด้วยเหตุผลให้รับฟังได้ว่าเป็นความจริง ศาลก็มีอำนาจรับฟังความเบิกความของพยานดังกล่าวได้" ดูประกอบกับ ศิวนุช สร้อยทอง. "ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อเทียบเคียงพยานบุคคลในคดีของนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ : เรื่อง การรับฟังพยานซึ่งเป็นญาติกัน". เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558 สืบค้นได้ที่ https://www.facebook.com/notes/1028524720498271


[30] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2539"แม้พยานจะเป็นญาติกับโจทก์ แต่ความเป็นญาติก็มิใช่เหตุผลที่จะต้องฟังว่าพยานจะเบิกความเข้าข้างกันเสมอไปคำเบิกความของพยานคนใดจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดอยู่ที่เหตุผลในคำพยานนั้นเอง"

[31] โสภณ รัตนากร, คำอธิบายพยาน, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2549) น. 531

[32] ปรากฏคำพิพากษาที่ยืนยันการพิจาณาน้ำหนักพยานหลักฐาน โดยพิจารณาพยานคู่ และคุณสมบัติที่น่าเชื่อถือของ กล่าวคือ ให้น้ำหนักพยาน 2 คนที่เบิกความยืนยันตรงกันว่านายยี่เกียมเกิดในประเทศไทย และพิจารณาคุณสมบัติของพยานบุคคลอีก 2 คนว่า มีความน่าเชื่อถือโดยอธิบายจาก พยานเป็นผู้ประกอบอาชีพสุจริต เป็นที่ยอมรับของสังคม/ชุมชน ซึ่งหากไม่เป็นความจริงคงไม่มาเบิกความยืนยันต่อศาล ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5834/2537

หมายเลขบันทึก: 583498เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2015 03:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2015 03:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท