"เกรด" ไม่สามารถวัดคุณค่าของความเป็นคนได้


ตอนนี้ดึกแล้วล่ะ ราวตี ๑ กับอีก ๔๐ นาที ของเช้ามืดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๗
วันนี้ (๓๐ ธ.ค.๕๗) กลับมาจากมอ เวลาเกือบเที่ยงคืน เพราะนั่งตัดเกรดห้องสุดท้ายอยู่

"การตัดเกรด" จะกระทำภายหลังการสอบปลายภาคของแต่ละภาคเรียนเสร็จ
แต่ก่อนจะตัดเกรดต้องมีการรวบรวมคะแนนเก็บ คะแนนสอบทั้งหมดก่อน
ให้เป็นไปตามแผนการเก็บคะแนนที่วางแผนไว้ตั้งแต่ต้นภาคเรียน

ผมเคยตัดเกรดมาแล้วทั้งหมด ๓๐ ภาคเรียน (๑๐ ปีการศึกษา)
ปกติ ภาคเรียนที่ ๑ ที่ยังไม่ใช่เปิดแบบอาเซียน
จะตัดเกรด ประมาณปลายเดือนกันยายน ต่อต้นเดือนตุลาคม

แต่พอเปิดแบบอาเซียนแล้ว ภาคเรียนนี้จึงตัดเกรดปลายเดือนธันวาคมแบบนี้
ยังไม่รู้สึกคุ้นเคยตรงไหนกับห้วงเวลาดังกล่าว
เพราะทุก ๆ ปี มันเป็นช่วงแห่งงานรื่นเริงบันเทิงใจ
อากาศที่หนาวเย็น น่าท่องเที่ยวไปโน้นไปนั่นไปนี่เสมอ

สอนภาคเรียนแรก คือ ๑/๔๗
ภาคเรียนแบบอาเซียนภาคเรียนแรกนี้ คือ ๑/๕๗

"การตัดเกรด" หมายถึง การนำผลคะแนนเก็บและคะแนนสอบของผู้เรียนมาจัดเข้า
ระดับชั้นเกรดตามเกณฑ์ที่วางไว้ตามธรรมชาติของรายวิชานั้น ๆ

ขั้นตอนแรกที่ควรทำ คือ การได้มาซึ่งคะแนนเก็บและคะแนนสอบ
คะแนนเก็บ หมายถึง ครูต้องตรวจชิ้นงานให้เสร็จแล้วบันทึกคะแนนเอาไว้
คะแนนสอบ หมายถึง ครูต้องตรวจข้อสอบให้เสร็จแล้วบันทึกคะแนนเอาไว้

ขั้นตอนที่สอง คือ การรวบรวมคะแนนตามแผนการเก็บคะแนนทีวางเอาไว้
ตั้งแต่ต้นภาคเรียนว่า แต่ละชิ้นงานเก็บคะแนนเท่าไหร่

ขั้นตอนที่สาม คือ นำคะแนนทั้งหมดมารวมกัน วัดค่าระดับชั้นเกรดตามที่วางไว้

ขั้นตอนที่สี่ คือ ขั้นตอนการตัดสินใจเป็นขั้นตอนตามสิ่งที่เรียกว่า "มนุษยธรรม"
อันเป็นเรื่องยากที่ตวงหรือชั่งได้ว่า พอดี คือ แค่ไหน ขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้สอนคนนั้น

คำว่า "ลำเอียง" หรือ "อคติ" จะถูกนำมาใช้ขั้นตอนนี้แหละ

หากจิตใต้สำนึกบอกว่า กลัวผู้เรียนไม่รัก การโปรยทานแห่งเกรดจะเกิดขึ้นทันที
หากจิตใต้สำนึกบอกว่า ทุกอย่างเป็นไปตามไม้บรรทัดเหล็ก ก็จะไม่สนใจอะไรทั้งนั้น

การตัดเกรดที่เหมาะสมสำหรับผม คือ ความพอดี
ถึงแม้จะมีเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในการเก็บคะแนนและตัดเกรดต่าง ๆ มากมาย
แต่ก็ต้องดูเหตุผลที่จะช่วยเหลือให้ได้เช่นกัน

เช่น เด็กคนนี้ตั้งใจเรียนมาก แต่หัวไม่ดี สิ่งที่จะช่วยเหลือได้ คือ การให้เกรด I ไว้ก่อน
แต่เมื่อแก้ไขเกรดแล้ว ต้องไม่เกินขั้นต่ำของเกรดที่ควรได้ อาทิ

วิชาชีพครูบังคับ เด็กต้องไม่ต่ำว่า C นั่นหมายความว่า ก็ให้ได้ไม่เกิน C
วิชาปฏิบัติการวิชาชีพครู ก็ไม่ต่ำกว่า C ก็ให้ได้แค่ C เช่นกัน

นั่นเป็นกรณี ๆ ไปเท่านั้น หากเด็กคนนั้นไม่ใส่ใจเรียนอยู่แล้ว งานไม่ส่ง สอบไม่ได้
แบบนั้นหมดทางช่วยเหลือเด็ดขาดเช่นกัน

คนเป็นครูต้องสอนเรื่อง "ผลของกรรม" ให้เขาได้รับรู้ว่า มันเกิดจากผลแห่งการกระทำของตัวเอง
และเขาจะต้องได้รับผลนั้น


อีกประเด็น เรื่อง "การปล่อยเกรด" นั้น ผมมักจะพบเห็นกันได้บ่อยในระดับมหาวิทยาลัย
กับอาจารย์บางคนที่ขาดจิตสำนึกแห่งการสอนคน

"กลัวเด็กไม่รัก" เป็นเหตุผลลึก ๆ ที่พบบ่อย

"กลัวไม่ได้ผลประโยชน์" ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น หากไม่ปล่อยเกรดให้เด็กได้ A หรือ B แล้วนั้น
มันจะทำให้ชื่อเสียงของเขาเสียหาย
เมื่อชื่อเสียงของเขาเสียหาย ก็จะไม่มีเด็กมาลงเรียนกับเขา
เขาจะ "ขาย Sheet หรือ แบบฝึกหัด" ไม่ได้
หากขาดไม่ได้ ก็จะขายรายได้ทันที

มีให้เห็นแล้ว ครูแบบนี้

หรือไม่ก็มีผู้บริหารบางประเภท พอเห็นครูที่เขาออกเกรดแบบตรงไปตรงมา
ก็เรียกครูคนนั้นไปพบแล้วต่อว่า

ว่า "หากครูสอนดี หรือ ทุ่มเทแล้ว เด็กก็จะไม่ได้เกรด D เกรด F หรอก"

สาบานได้ว่า นั่นใช้สมองคิด

บัวยังมีหลายเหล่า นับประสาอะไรกับคนหรือเด็กยุคดิจิทัลแบบนี้
สังคมเสื่อมทรามอย่างไร เด็กก็ย่อมพลอยได้รับผลเช่นนั้นเหมือนกัน

การให้เกรด คือ การสอนให้เขาเห็นผลของการกระทำของตัวเอง
ผมจึงเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะเด็กที่กระทำแบบนั้นจริง ๆ

ไม่งั้น เขาก็จะคิดว่า เดี๋ยวอาจารย์ให้ออกเกรดดี ๆ ให้เองแหละ
ปล่อย ๆ มันไป เหมือนข่าวที่บัณฑิตสอบครูแล้วทำข้อสอบไม่ได้นั่นประไร

การปล่อยเกรด คือ การฆ่าเด็กทางอ้อม
จากบรรดาครูที่ไม่ใช่ครู
เป็นแค่คนรับจ้างมาสอนหนังสือเท่านั้น


ทุกอย่างย่อมมีเหตุมีผลเสมอ
เพียงแต่ลองศึกษาข้อเท็จจริงเท่านั้นเองว่า
มันเกิดอะไรขึ้น


แต่ปัญหาเรื่องเกรดนี้ยังไม่พอ

เด็กที่ดูมีปัญหามาก ๆ เวลาเราออกเกรดไปแล้ว
พวกเขาจะมาโวยวายว่า

อาจารย์แกล้งบ้าง
อาจารย์อคติบ้าง
อาจารย์ให้เกรดยากบ้าง

ดังนั้น ขั้นตอนการเก็บคะแนนทั้งหมดต้องโปร่งใส
ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ทำทุกอย่างให้รู้ว่า
"กรรม คือ ผลแห่งการกระทำ"
ทุกอย่างก็จบ

เมื่อข้อเท็จจริงอยู่ในมือของครูแล้ว
ไม่มีใครที่จะมาทำอะไรเราได้
แม้กระทั่งผู้บริหารที่ฉลาดน้อย ๆ
หรือผู้บริหารที่คอยหาเรื่อง

เมื่อทุกอย่างโปร่งใส
ครูก็เหมือนมีเกราะป้องกันตัวชั้นดีนี่เอง


ผมเชื่อว่า "เกรด" คือ เครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่งที่เราจะใช้สอนเด็กได้
โดยเราต้องควบคุมมันให้ยุติธรรม โปร่งใสที่สุด
ตอบปัญหาทุกคนได้อย่างตรงไปตรงมา


เกรด ไม่สามารถวัดคุณค่าของคนเป็นคนได้
เกรด เพียงแค่ถูกใช้วัดระดับความสามารถภายใน ๑ ภาคเรียนเท่านั้น

มนุษย์ย่อมสามารถพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา

เกรด เป็นเพียงแค่ตัวเลขสมมติเท่านั้น

อย่าได้สอนให้เด็กบ้าคลั่งตัวเลขตัวนี้มากเกินกว่า
การใช้ชีวิตให้มีคุณค่าและมีความหมายในทุก ๆ วัน

มิฉะนั้น เราอาจจะได้ "เด็กเก่งแต่เลว" ออกสู่สังคม
อย่างที่เราคาดไม่ถึงก็ได้

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...



(ที่มา : Timeline ของอาจารย์ศิลา)


หมายเลขบันทึก: 583269เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2014 02:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2014 02:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

มีดอกไม้มาฝาก..มีความหวัง..มามอบให้..

ตีห้าห้าสิบห้า..ของวันนี้...

สวัสดีปีใหม่ค่ะ 2558 ค่ะ

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์

ได้ความรู้ที่คนวงนอกไม่รู้ส่งท้ายปีเก่า หวังให้มีครูอย่างอาจารย์มากขึ้นในปีใหม่ เห็นด้วยว่าเกรดไม่ได้เป็นตัววัดของคุณค่าความเป็นคน เพราะผมไม่มีเกรดครับ

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์

รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ ครับ ท่านอาจารย์ GD ;)...

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ ครับ คุณหมอ ทิมดาบ ;)...

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ ครับ คุณ จันทร์ยิ้ม ;)...

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๘ ครับ ท่านอาจารย์

Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท