Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อฟังว่า นายวีระเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เขาจะมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?


กรณีศึกษานายวีระ ไม่มีนามสกุล : เขาย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? ภายใต้เงื่อนไขใด ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗

---------------

ข้อเท็จจริง[1]

---------------

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ อาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ของคณะดังกล่าวมาขอคำปรึกษากฎหมายจากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายวีระอธิบายปัญหาของตนเองดังต่อไปนี้

"พ่อผมเป็นคนไทยใหญ่ครับ ส่วนแม่ผมเป็นคนมอญ ทั้งคู่เกิดในประเทศพม่า โดยพ่อเกิดในรัฐฉาน แม่เองก็เกิดในรัฐมอญ ทั้งคู่เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ตัวผมเองเกิดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยเกิดที่บ้านกับหมอตำแย ไม่ได้ไปโรงพยาบาล และไม่ได้แจ้งเกิดด้วย มีเพียงฉีดวัคซีนที่อนามัยหลังจากเกิดเท่านั้น

พ่อกับแม่เข้ามาประเทศไทยแบบไม่ถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ หรืออาจก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ตั้งแต่เข้ามาพ่อก็อาศัยอยู่ในตัวอำเภอแม่สอดเลย ไม่ได้เดินทางออกนอกเขต หลายปีต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอดถึงทุกวันนี้และตอนนี้พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ถือบัตรอะไรที่ทางราชการออกให้ครับ เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ เคยทำ ทร.๓๘/๑ ทั้งคู่ คิดว่าทำแล้วสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ จากที่ทำ ทร.๓๘/๑ แล้ว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวนะครับ เพราะพ่อเป็นช่างทองรับทำอิสระไม่มีนายจ้าง

ปัจจุบันนี้ ทั้งพ่อและแม่ถือบัตรที่ทางหมู่บ้านออกให้เพื่อแสดงว่าเป็นผู้อาศัยในหมู่บ้าน และที่ไม่สามารถทำบัตรสิบปีได้ ผู้ใหญ่บ้านเคยบอกว่าใครที่เคยทำ ทร.๓๘/๑ จะไม่สามารถทำบัตรดังกล่าวได้ เพราะไม่เข้าข่ายที่จะทำ เลยไม่ได้ทำบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน)

ส่วนตัวผมเอง ทุกวันนี้ ถือบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ก่อนหน้านี้ ก็ไม่เคยได้ทำอะไรครับ ปัญหาของผมคือผมไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร เนื่องจากพ่อและแม่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยติดต่อทางราชการ อาศัยอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆในหมู่บ้านเท่านั้น แต่คนในหมู่บ้านก็รู้จักกันดีนะครับ"

เราพบว่า บัตรประจำตัวที่อธิบดีกรมการปกครองซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรออกให้แก่นายวีระ ก็คือ บัตรที่มีชื่อว่า "บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" และปรากฏตามบัตรนี้ว่า นายวีระมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และบัตรดังกล่าวไม่ได้ระบุนามสกุลของนายวีระ และระบุว่า นายวีระเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ และอาศัยอยู่ ณ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บัตรนี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงวันที่ ๓๐ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๑ บัตรดังกล่าวนี้แสดงรูปสีของนายวีระอีกด้วย

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๔ นายวีระมีสถานะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้บันทึกรายการสถานะบุคคลของนายวีระในทะเบียนนักศึกษาธรรมศาสตร์ และออกบัตรประจำตัวนักศึกษาธรรมศาสตร์ให้ โดยบัตรนี้ระบุว่า นายวีระมีนามสกุลว่า "ไทยใหญ่" ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ บัตรดังกล่าวนี้แสดงรูปสีของนายวีระอีกด้วย

ในปัจจุบัน นายวีระใช้นามสกุลว่า "ชุปทอง" ในการแนะนำตัวต่อสาธารณชน ซึ่งนามสกุลดังกล่าวไม่ปรากฏทั้งในบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครอง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้วยว่า อาจารย์นคร ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา แสดงความกังวลใจว่า ปัญหาความไร้สัญชาติของนายวีระจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพวิศวกรในอนาคต และปัญหาความไร้นามสกุลในบัตรที่ออกตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรจะสร้างปมด้อยในชีวิตมากขึ้นแก่นายวีระ อาจารย์นครจึงขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และขอความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นไปได้จากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

--------

คำถาม[2]

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่นายวีระกล่าวอ้าง เขาจะมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? และการใช้สิทธิดังกล่าว จะมีเงื่อนไขหรือไม่ ? อย่างใด ?

----------

คำตอบ

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เมื่อปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยเป็นปัญหาตามกฎหมายมหาชน จึงต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

จะเห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายวีระเกิดในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ หากไม่มีการกำหนดเป็นอย่างอื่นทั้งภายใต้กฎหมายไทยอื่นใดหรือกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย กฎหมายที่มีผลกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของนายวีระย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายสัญชาติของรัฐไทยที่มีผลในขณะที่นายวีระเกิด กล่าวคือ มาตรา ๗ (๒) และมาตรา ๗ ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมถึงมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ซึ่งกำหนดว่า บุคคลจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของกฎหมายจะต้องมีข้อเท็จจริง ๓ ประการดังต่อไปนี้ (๑) เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ [3] (๒) ปรากฏมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสถานะเป็นบุคคลที่มีเอกสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศ[4] และ (๓) ปรากฏมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร[5] ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า นายวีระจะเกิดในประเทศไทย และไม่ปรากฏว่า บิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่มีเอกสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เมื่อบิดาและมารดาต่างด้าวทั้งสองนั้นมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร กล่าวคือ เป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาจากประเทศเมียนมาร์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง นายวีระย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

นอกจากนั้น เมื่อนายวีระไม่ได้สัญชาติไทยดังกล่าว เขาจึงมีสถานะเป็น "ให้ถือว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง" ทั้งนี้ "เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น" ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายวีระได้รับอนุญาตให้เป็นคนที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาจึงถูกถือเป็น "คนผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง" แม้ว่า จะเกิดในประเทศไทยก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติ แต่เขาก็มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ในระหว่างวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ [6] และเป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ในระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน[7] ดังนั้น นายวีระจึงอาจได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนเมื่อมี (๑) มติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่คนในสถานการณ์เดียวกับนายวีระ และ (๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งรับรองสิทธิดังกล่าว

เราพบว่า คณะรัฐมนตรีไทยมีมติกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่คนที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา หากบุพการีเป็นคนต่างด้าวไร้สัญชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนชนกลุ่มน้อยตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรก่อน พ.ศ.๒๕๔๘ ดังนั้น เมื่อนายวีระเกิดในประเทศไทยในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ จากบุพการีซึ่งเป็นคนต่างด้าวซึ่งไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนชนกลุ่มน้อยก่อน พ.ศ.๒๕๔๘ และเมื่อไม่ปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีไทยมีมติกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่คนในสถานการณ์ดังกล่าว นายวีระจึงยังไม่อาจยื่นขอรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒

ในท้ายที่สุด นายวีระจึงเป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่มีสถานะเป็น "คนไร้รัฐ" ตั้งแต่เกิดจนถึงเมื่อได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก) ใน พ.ศ.๒๕๕๑ และมีสถานะเป็น "คนมีรัฐ" ตั้งแต่ได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลใน ท.ร.๓๘ ก การบันทึกนี้จึงขจัดปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงให้แก่นายวีระ แต่เขายังคงไร้สัญชาติ ทั้งนี้ เพราะไม่ปรากฏว่า เขามีสถานะเป็นคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ผู้ออกข้อสอบประสงค์จะให้เรื่องราวของนายวีระ ซึ่งเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทยเป็นตัวอย่างของความจำเป็นที่จะต้องมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนให้แก่อนาคตบัณฑิตไร้สัญชาติในมหาวิทยาลัยไทย คงจะเป็นประโยชน์มากกว่าในการพัฒนาประเทศไทยหรือไม่ ? หากคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้บัณฑิตไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน แม้เขาจะเกิดจากบุพการีซึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวรและยังไม่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยก็ตาม

-----------------------------------------------------

[1] ข้อเท็จจริงนี้เรียบเรียงโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร โดยนำข้อมูลมาจากการทำงานโครงการบางกอกคลินิก ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับข้อมูลและขอคำปรึกษาทางด้านกฎหมายกรณีของนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากอาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗

[2] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ในการสอบความรู้ชั้นปริญญาตรี ภาคปกติคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง การสอบภาคที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗

[3] มาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง"

[4] มาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม บัญญัติว่า

"ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าขณะที่เกิด บิดาหรือมารดาเป็น

(๑) หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางทูต

(๒) หัวหน้าคณะผู้แทนทางกงสุลหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางกงสุล

(๓) พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ

(๔) คนในครอบครัวซึ่งเป็นญาติอยู่ในความอุปการะหรือคนใช้ ซึ่งเดินทางจากต่างประเทศมาอยู่กับบุคคลใน (๑) (๒) หรือ (๓)"

[5] มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งบัญญัติว่า

"ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง"

[6] ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด"

[7] ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด"

------------------------------

ข้อเท็จจริงใหม่ของคุณวีระเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ จนถึงปัจจุบัน

-------------------------------

ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสิทธิในสัญชาติไทยของนายวีระนั้น นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอดได้ตรวจสอบเอกสารการศึกษาทั้งหมดของนายวีระแล้ว พบว่า เอกสารดังกล่าวระบุวันเกิดของนายวีระไม่ตรงกันเลย จึงได้เรียกพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของนายวีระมาสอบปากคำใหม่ อันทำให้นายจำรัส กันทะวงศ์ นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลท่าสายลวด ได้ทำหนังสือรับรองการเกิดลงวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อรับรองว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ ณ บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนายหน่ายโอ่ง และนางวาวา ชุบทอง

เมื่อฟังว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ อาจารย์ศิวนุช สร้อยทองจึงได้จัดการให้นายวีระยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอดได้ลงนามอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร๑๔) ให้แก่นายวีระ ชุบทอง ด้วยว่า นายอำเภอดังกล่าวพิจารณาแล้วว่า เขามีข้อเท็จจริงครบตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ ข้างต้น ทั้งนี้ ดังปรากฏตามหนังสืออำเภอแม่สอดที่ ตก ๐๓๑๘.๒/๕๗๐๒ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘

แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน กระบวนการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรยังไม่แล้วเสร็จ เทศบาลตำบลท่าสายลวดจึงยังไม่อาจเพิ่มชื่อของนายวีระในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้เทศบาลดังกล่าวก็ยังไม่อาจออกบัตรประชาชนให้แก่นายวีระ

--------------------------------------

โปรดอ่านข้อเท็จจริงที่สรุปใหม่

---------------------------------------

กรณีศึกษานายวีระ ชุบทอง : เขาเป็นใครกัน ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

-------------------------------------------------------------------

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า[1] เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ อาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ของคณะดังกล่าวมาขอคำปรึกษากฎหมายจากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายวีระอธิบายปัญหาของตนเองดังต่อไปนี้

“พ่อผมเป็นคนไทยใหญ่ครับ ส่วนแม่ผมเป็นคนมอญ ทั้งคู่เกิดในประเทศพม่า โดยพ่อเกิดในรัฐฉาน แม่เองก็เกิดในรัฐมอญ ทั้งคู่เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ตัวผมเองเกิดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยเกิดที่บ้านกับหมอตำแย ไม่ได้ไปโรงพยาบาล และไม่ได้แจ้งเกิดด้วย มีเพียงฉีดวัคซีนที่อนามัยหลังจากเกิดเท่านั้น

พ่อกับแม่เข้ามาประเทศไทยแบบไม่ถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ หรืออาจก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ตั้งแต่เข้ามาพ่อก็อาศัยอยู่ในตัวอำเภอแม่สอดเลย ไม่ได้เดินทางออกนอกเขต หลายปีต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอดถึงทุกวันนี้และตอนนี้พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ถือบัตรอะไรที่ทางราชการออกให้ครับ เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ เคยทำ ทร.๓๘/๑ ทั้งคู่ คิดว่าทำแล้วสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ จากที่ทำ ทร.๓๘/๑ แล้ว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวนะครับ เพราะพ่อเป็นช่างทองรับทำอิสระไม่มีนายจ้าง

ปัจจุบันนี้ ทั้งพ่อและแม่ถือบัตรที่ทางหมู่บ้านออกให้เพื่อแสดงว่าเป็นผู้อาศัยในหมู่บ้าน และที่ไม่สามารถทำบัตรสิบปีได้ ผู้ใหญ่บ้านเคยบอกว่าใครที่เคยทำ ทร.๓๘/๑ จะไม่สามารถทำบัตรดังกล่าวได้ เพราะไม่เข้าข่ายที่จะทำ เลยไม่ได้ทำบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน)

ส่วนตัวผมเอง ทุกวันนี้ ถือบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ก่อนหน้านี้ ก็ไม่เคยได้ทำอะไรครับ ปัญหาของผมคือผมไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร เนื่องจากพ่อและแม่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยติดต่อทางราชการ อาศัยอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆในหมู่บ้านเท่านั้น แต่คนในหมู่บ้านก็รู้จักกันดีนะครับ”

โดยการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยอาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกโรงพยาบาลแม่ระมาด และนักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับผิดชอบงานให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวชุบทอง พบว่า

(๑) นายวีระได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก.) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

(๒) นายวีระถือบัตรประจำตัวที่ชื่อว่า “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครองซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ โดยบัตรนี้ระบุว่า นายวีระมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และบัตรดังกล่าวไม่ได้ระบุนามสกุลของนายวีระ และระบุว่า นายวีระเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ และอาศัยอยู่ ณ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บัตรนี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงวันที่ ๓๐ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๑

(๓) สำนักทะเบียนและวัดผล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกบัตรประจำตัวนักศึกษาธรรมศาสตร์ให้แก่นายวีระ แต่กลับระบุว่า นายวีระมีนามสกุลว่า “ไทยใหญ่” ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

(๔) นายวีระใช้นามสกุลว่า “ชุบทอง” ในการแนะนำตัวต่อสาธารณชน ซึ่งนามสกุลดังกล่าวไม่ปรากฏทั้งในบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครอง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(๕) นางสาวอารีย์ ชุบทอง ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดาและมารดาเดียวกับนายวีระ กลับได้รับการรับรองชื่อสกุล “ชุปทอง” ในการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙

ด้วยเหตุดังกล่าว อาจารย์นคร ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา แสดงความกังวลใจว่า ปัญหาความไร้สัญชาติของนายวีระจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพวิศวกรในอนาคต และปัญหาความไร้นามสกุลในบัตรที่ออกตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรจะสร้างปมด้อยในชีวิตมากขึ้นแก่นายวีระ อาจารย์นครจึงขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และขอความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นไปได้จากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร จึงได้เข้าหารือเพื่อทบทวนข้อกฎหมายและข้อนโยบายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในชื่อสกุลให้แก่นายวีระ ไม่มีนามสกุล ในทะเบียนราษฎรกับ (๑) ท่านดลเดช พัฒนรัฐ รองอธิบดีกรมการปกครองฝ่ายบริหารงานส่วนภูมิภาค และ (๒) ท่านอาจารย์วีนัส สีสุข ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร ณ ห้องประชุมกรมการปกครอง อันนำไปสู่การรับรองสิทธิในชื่อสกุล “ชุบทอง” ให้แก่นายวีระ ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท.๐๓๐๙.๑/๑๑๓๖ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ถึงนายวีระ ไม่มีนามสกุล หรือนายวีระ ชุบทอง ซึ่งการบันทึกชื่อสกุล “ชุบทอง” ให้แก่นายวีระ ตลอดจนคนในครอบครัวทั้งหมด กล่าวคือ บิดา มารดา และน้องสาว ได้ทำในวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ อันทำให้บุคคลทั้งสี่จึงมีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐไทยว่า มีชื่อสกุลว่า “ชุบทอง” เพื่อการแสดงตน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสิทธิในสัญชาติไทยของนายวีระนั้น นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอดได้ตรวจสอบเอกสารการศึกษาทั้งหมดของนายวีระแล้ว พบว่า เอกสารดังกล่าวระบุวันเกิดของนายวีระไม่ตรงกันเลย จึงได้เรียกพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของนายวีระมาสอบปากคำใหม่ อันทำให้นายจำรัส กันทะวงศ์ นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลท่าสายลวด ได้ทำหนังสือรับรองการเกิดลงวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อรับรองว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ ณ บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนายหน่ายโอ่ง และนางวาวา ชุบทอง

เมื่อฟังว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ อาจารย์ศิวนุช สร้อยทองจึงได้จัดการให้นายวีระยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอดได้ลงนามอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร๑๔) ให้แก่นายวีระ ชุบทอง ด้วยว่า นายอำเภอดังกล่าวพิจารณาแล้วว่า เขามีข้อเท็จจริงครบตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ ข้างต้น ทั้งนี้ ดังปรากฏตามหนังสืออำเภอแม่สอดที่ ตก ๐๓๑๘.๒/๕๗๐๒ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘

แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน กระบวนการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรยังไม่แล้วเสร็จ เทศบาลตำบลท่าสายลวดจึงยังไม่อาจเพิ่มชื่อของนายวีระในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้เทศบาลดังกล่าวก็ยังไม่อาจออกบัตรประชาชนให้แก่นายวีระ

ในปัจจุบัน นายวีระเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว และยังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันในคณะเดียวกัน โดยทุนการศึกษาจากคณะดังกล่าว

-------------------------------------------------------------------



[1] ข้อเท็จจริงนี้เรียบเรียงโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร โดยนำข้อมูลมาจากการทำงานโครงการบางกอกคลินิก ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับข้อมูลและขอคำปรึกษาทางด้านกฎหมายกรณีของนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากอาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดย (๑) อาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกโรงพยาบาลแม่ระมาด และนักศึกษาปริญญาเอกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๑) อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรัตน์ นักกฎหมายประจำบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาบัณทิตด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ (๓) อาจารย์ปภาวดี สลักเพชร นักกฎหมายประจำบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจน นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอด

หมายเลขบันทึก: 583264เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2014 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2015 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท