"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

โยนิโสมนสิการ : วิธีคิด(สอน)ตามหลักอริยสัจ ๔ (โดยผู้เขียน)


๒๑/๑๒/๒๕๕๗

*************


โยนิโสมนสิการ : วิธีคิด(สอน)ตามหลักอริยสัจ ๔ (โดยผู้เขียน)

............ความจริงหลายท่านก็คงจะทราบหลักการหรือหลักอริยสัจ ๔ กันดี สามารถท่องจนคล่องปากมาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษากันแล้ว อย่างที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า โยนิโสมนสิการ เป็นหลักวิธีคิดทางพุทธศาสนาหรือวิธีคิดแบบตะวันออก ไม่ใช่แนวคิดทฤษฎีแบบตะวันตก การนำมาใช้ก็ต้องมีการปรับประยุกต์ใช้ หลักวิธีคิดนี้พบกันบ่อยได้จากไหน หากท่านใดเป็นนักทำวัตรสวดมนต์ นักปฏิบัติธรรม จักพบเห็นได้ในบท "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" สวดกันอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่แน่ใจว่าจะพอเข้าใจความหมายกันบ้างหรือเปล่า คือคำบาลีที่ว่า "ทุกขัง อริยสัจจัง" "ทุกขสมุทโย อริยสัจจัง" "ทุกขนิโรโธ อริยสัจจัง" และ "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสัจจัง" ไม่ใช้คำว่า "มรรค" และมีคำว่า "ทุกข" นำอยู่ทุกคำ มาใช้คำว่า "อริยมรรค" ในข้อขยายความ คือ "อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโคฯ เสยยถีทัง สัมมาทิฏฐิ...สัมมาสมาธิฯ"

...........ในแต่ละข้อท่านกำหนดให้ทำกิจหรือหน้าที่อะไรบ้าง พิจารณาความตามภาษาบาลีขอยกมาเป็นข้ออ้างตามลำดับดังนี้


1."...ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยนฺติ..." ขั้นทุกข์ ให้เรากำหนดรู้-ปริญญา

2."...ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพนฺติ.." ขั้นทุกขสมุทัย ให้เรากำหนดละ หรือกำจัด-ปหาน

3."...ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพนฺติ..." ขั้นทุกขนิโรธ ให้เรากำหนดทำให้แจ้ง-สัจฉิกิริยา

4."...ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพนฺติ..." ขั้นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ให้เรากำหนดทำให้เจริญหรือปฏิบัติ-ภาวนา

หลักธรรมหรือหัวใจวิธีคิดทั้ง ๔ นี้ พระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เขียนอธิบายไว้ในพุทธธรรมและโยนิโสมนสิการฯ(บันทึกแรก)กำหนดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า...

"...การเริ่มต้นจากปัญหา หรือความทุกข์ ที่ประสบโดยกำหนดรู้(ปริญญา) ทำความเข้าใจปัญหา คือความทุกข์นั้น ให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข(กำจัด-ปหาน) ในเวลาเดียวกัน กำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร(นิโรธ) จะเป็นไปได้หรือไม่ และเป็นไปได้อย่างไร(สัจฉิกิริยา-ทำให้แจ้ง) แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหา(มรรค) โดยสอดคล้องกับการที่จะบรรลุจุดหมายที่กำหนดไว้นั้น(นิโรธ) ในการคิดตามวิธีนี้ จะต้องตระหนักถึงกิจ หรือหน้าที่ ที่พึงปฏิบัติต่ออริยสัจแต่ละข้ออย่างถูกต้องด้วย..."

...........หลักวิธีคิดดังกล่าวเมื่อนำมาปรับใช้กับงาน สอนหรือใช้ในทางการศึกษาแล้ว ผู้เขียนคิดเห็นตามรูปแบบของการวิจัย โดยไม่ได้กำหนดตามลำดับของแต่ละข้อ หากแต่กำหนดตามความหมายของขั้นตอนนั้น ๆ โดยสรุปดังนี้

1. ขั้นทุกข์-ผล (กำหนดรู้-ปริญญา) ขั้นกำหนดรู้ปัญหา…(บทนำ)

-ปัญหาที่กำหนดหรือที่พบไม่ควรมาก

- ศึกษาทำความเข้าใจปัญหา และบริบทของปัญหา

- กำหนดขอบเขตของปัญหาที่จะแก้ไข(วิจัย)ให้ชัดเจน

2. ขั้นสมุทัย-เหตุ (กำหนดละ กำจัด แก้ไข-ปหานะ) ขั้นสืบค้นหาสาเหตุของปัญหาและสมมุติฐานเพื่อแก้ไขปัญหา…(ค้นหาความรู้เก่าเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่-เอกสารวรรณกรรมหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง)

- พิจารณาหาสาเหตุของปัญหาหลายแง่มุม

- กำหนดสาเหตุของปัญหาที่ต้องการแก้ไขเป็นข้อ ๆ

- ตั้งสมมุติฐานเพื่อกำหนดแก้ไขในแต่ละข้อโดยให้สัมพันธ์กับจุดหมายขั้นทำให้แจ้ง ไม่ควรมากเกินไป

3.ขั้นมรรค-เหตุ (กำหนดข้อปฏิบัติ ลงมือทำ – ภาวนา) ขั้นการทดลอง ปฏิบัติและวิเคราะห์ข้อมูล…

- กำหนดวิธีการทดลอง หรือวิธีดำเนินการวิจัย

- ทดลองหรือใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้ (เครื่องมือ ฯลฯ)

- ทดลองหรือดำเนินการได้ผลประการใด บันทึกข้อมูลเอาไว้เป็นลำดับ (เก็บข้อมูล)

- วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลที่ได้มา

4. ขั้นนิโรธ-ผล (กำหนดทำให้แจ้ง-สัจฉิกิริยา) ) ขั้นจุดหมายหรือคำตอบ คือสรุปข้อมูล สรุปผลหรืออภิปรายผล…

- สรุปผลที่ได้รับจากการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูล และอภิปรายผล

- บอกข้อปฏิบัติที่ได้จากการทดลองหรืออภิปรายผล เพื่อนำไปปฏิบัติตาม

- เสนอแนะแนวทางการปฏิบัติด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม

...........หากมองตามหลักของพระธรรม ก็จะเห็นว่า ข้อที่ 1 กับข้อที่ 2 เป็นขั้นปริยัติ คือการวิเคราะห์องค์ความรู้หรือสภาพบริบทของปัญหา ข้อที่ 3 เป็นขั้นปฏิบัติ คือวิเคราะห์การดำเนินการหรือการทดลองปฏิบัติ ข้อที่ 4 เป็นขั้นปฏิเวธ คือวิเคราะห์ผลที่พึงได้หรือองค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เขียนมีมุมมองอย่างนี้ ส่วนนักการศึกษาท่านอื่น ๆ จะมีแนวคิดหรือหลักการประยุกต์อย่างไรก็ไม่ว่ากัน เพราะมันเป็น "การประยุกต์ใช้" ไม่ได้ใช้ตามความหมายของหลักธรรมที่ลึกซึ้งอย่างแท้จริง เพียงกำหนดตาม เหตุ-ผล กิจหรือหน้าที่ เป็นสำคัญเท่านั้น

............เพื่อจะให้เห็น เด่นชัดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นก็ต้องมีการยกตัวอย่างประกอบ ขอยกตัวอย่างเรื่องการแก้ปัญหาขยะในโรงเรียนง่ายๆ ดังต่อไปนี้...

ขั้นทั้งสี่ของอริยสัจ

ขั้นของการประยุกต์สอน/วิจัย

1.ขั้นปัญหา (ผล)

1.ขั้นปัญหา (ผล)...

*โรงเรียนของเรามีขยะสกปรก มีกลิ่นเหม็นมาก ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ทำอย่างไรขยะเหล่านั้นจึงจะหมดไป และโรงเรียนของเราจะน่าอยู่มากขึ้น

2.ขั้นสมุทัย (เหตุ)

2.ขั้นสมุทัย (เหตุ)...

*กำหนดสาเหตุของปัญหาที่ต้องการแก้ไขเป็นข้อ ๆ

1. ทิ้งขยะไม่เลือกที่

2. ไม่มีถังขยะให้ทิ้ง

3. ขยะมีมากจนเกินไป

4. ขยะเน่ามีกลิ่นเหม็นรบกวน

*ตั้งสมมุติฐานหรือจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดการแก้ไขในแต่ละข้อให้สัมพันธ์กันดังนี้

หากเรากระทำสิ่งต่อไปนี้ จะช่วยลดขยะและมลพิษทางกลิ่นได้ไหม?

1. กำหนดเขตทิ้งขยะ

2. จัดตั้งถังขยะหน้าอาคารเรียนทุกหลัง

3. ลดขยะด้วยการคัดแยกส่วนที่ขายได้ออกก่อนทิ้ง

4. จัดให้มีการแยกขยะแห้ง เปียก อันตราย(อิเล็คทรอนิกส์)ออกอย่างชัดเจนก่อนทิ้ง

3.ขั้นมรรค (เหตุ)

3.ขั้นมรรค (เหตุ)...

*ผู้เรียน-ครูทดลองปฏิบัติตามสิ่งทั้ง4สมมุติฐานเบื้องต้นตามขอบเขตที่กำหนด และจดบันทึกผลของการทดลองนั้นไว้พิจารณาหรือวิเคราะห์ต่อไป

-ทำการวิเคราะห์ผลการทดลองโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ค่าร้อยละฯลฯ โดยนักเรียนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

4.ขั้นนิโรธ (ผล)

4.ขั้นนิโรธ (ผล)...

*สรุปผลที่ได้รับจากวิเคราะห์ข้อมูล และอภิปรายผล

ผู้ทดลองหรือศึกษาก็จะพบว่า

-มีผู้ทิ้งขยะในเขตที่กำหนดไว้กี่เปอร์เซ็นต์ของนร.ทั้งหมด

-มีผู้ทิ้งขยะลงถังหน้าอาคารเรียนวัดได้กี่เปอร์เซ็นต์ของ นร.ทั้งหมด

-มีนร.ม.ต้น คัดแยกขยะได้กี่เปอร์เซ็นต์ นร.ม.ปลาย คัดแยกขยะได้กี่เปอร์เซ็นต์

-การแยกขยะเปียก แห้ง อันตราย ได้กี่เปอร์เซ็นต์ของ นร.ทั้งหมด (ทำเป็นตารางก็ได้ครับ)

*สรุปว่าการกำจัดขยะในโรงเรียนให้ได้ผลดีนั้นเป็นอย่างไร...1...2...3...4...

-เสนอแนะข้อปฏิบัติเพิ่มเติม หรือฟีดแบ็ก(feedback)ในขั้นมรรคในคราวต่อไปก็ได้อีก...

..........หากเห็นว่ามีประโยชน์ ก็สามารถนำไปทดลองใช้ทำงานหรือประยุกต์ใช้ในทางการศึกษา การเรียนการสอนหรือวิจัยในชั้นเรียนได้ตามความเหมาะสม หรือความเข้าใจ แต่อย่าลืมหรือหลงหลักการคือ กิจ และหน้าที่ของแต่ละขั้นตอนว่า ต้องการทำอะไร อย่างไร บางทีต้องมีการประยุกต์โครงงาน วิจัยในชั้นเรียน และวิจัยเต็มรูปแบบเสริมเข้าไป ก็จะยิ่งดีมากนะครับผม...

….

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจ ขอบคุณโกทูโนว์



หมายเลขบันทึก: 582877เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเรียนของสังคมไทยในศตวรรษที่ 25 ค่ะ (2000+543)

ความเป็นปัจจุบัน ด้วยความมั่นใจในรากแก้วแห่งดินแดนพุทธภูมิ

ด้วยความขอบคุณ

พานทอง (ยาดมเอง)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท