เทคนิคการเลือกซื้ออาหาร


อาหารนั้นจำเป็นแก่ชีวิตของคนแน่ แต่ต้องรู้จักเลือกกิน มิใช่กินไม่เลือก แล้วปัญหาโภชนาการจะไม่เกิดขึ้นมาก เพราะปัญหาโภชนาการประการหนึ่งที่สำคัญคือ การเลือกอาหาร ซึ่งการเลือกอาหารหมายถึงการเลือกอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายครบถ้วน เหมาะกับวัยสภาพของชีวิต เศรษฐกิจ สภาพร่างกาย ท้องถิ่นและฤดูกาล ดังนั้นหลักเกณฑ์ในการเลือกอาหาร บริโภคจะต้องคำนึงว่า อาหารนั้นจำเป็นกับร่างกาย ย่อยง่าย ดูดซึมได้ดี เป็นอาหารสด สุก สะอาด น่ากิน ราคาไม่แพง หาง่ายในท้องถิ่น และกินตามฤดูกาล ทั้งนี้จะต้องประกอบกับการประกอบอาหารให้ได้คุณค่าด้วย


วิธีเลือกซื้อปลา

เทคนิคการเลือกซื้ออาหาร
อาหารเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าอาหารนั้นเปรอะเปื้อนสกปรก โดยมีเชื้อโรคและสิ่งเป็นพิษ เช่น สารเคมี หรืออาหารนั้นเสีย เสื่อมสภาพ ไม่สดใหม่ นอกจากทำให้คุณค่าทางอาหารลดลงแล้วยังทำให้ผู้บริโภคเจ็บป่วยและตายได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "กินถูกมีฤทธิ์ กินผิดมีโรค"

ฉะนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการได้อาหารที่ไม่ดี มีเชื้อโรคและสารเคมี การรู้จักเลือกซื้ออาหารจากตลาด หรือแม่ค้าพ่อค้าเป็นสิ่งจำเป็นมากก็เพราะเราต้องการอาหารที่สดและใหม่ใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นมารู้จักวิธีเลือกซื้ออาหารเหล่านี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินไป โดยได้ของไม่ดี

วิธีเลือกซื้ออาหาร มีดังนี้
ก. อาหารประเภทเนื้อ ได้แก่เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อหมู เป็นต้น
1. เลือกซื้อให้เหมาะกับชนิดของอาหารที่จะทำ การย่าง อบ ผัด ยำ ทอด และหุงต้มที่ใช้เวลาน้อยควรซื้อเนื้อสันใน หรือเนื้อที่นุ่ม เพราะมีไขมันปนซึ่งไขมันจะช่วยไม่ให้เนื้อแห้งเกินไป ในเวลานำไปย่างหรืออบ ส่วนการต้ม ตุ๋น เคี่ยวเปื่อย ซึ่งเป็นการใช้เวลานาน ควรซื้อเนื้อที่เหนียวกว่า การซื้อเนื้อส่วนที่นิ่มมาเคี่ยวไม่ประหยัด เพราะต้องซื้อมาในราคาแพงกว่าเนื้อส่วนที่เหนียว และการหุงต้มนานเกินไป จะทำให้เนื้อกระด้างเหนียวได้

2. เลือกซื้อให้ได้ปริมาณและคุณค่าคุ้มกับราคา คือให้มีส่วนที่กินได้ให้มากที่สุด เช่นเนื้อแดงดีกว่าเนื้อที่ติดกระดูกมากอย่างซี่โครง เพราะเนื้อแดงจะมีส่วนที่กินได้มากกว่าซี่โครง เมื่อเทียบส่วนที่กินได้แล้ว ให้ปริมาณคุ้มค่าเงินมากกว่า ราคาที่สูงไม่ได้หมายความว่าคุณค่าทาง อาหารดีกว่าราคาถูก เช่นเนื้อสันมีราคาแพงกว่าเนื้อส่วนอื่น แต่ไม่ให้คุณค่าทางอาหารมากกว่าเนื้อส่วนอื่น

3. เลือกซื้อเนื้อสัตว์อายุน้อย โดยพิจารณาดูจากกระดูกที่ติดมา ถ้ากระดูกพรุน สีแดงมีส่วนหุ้มปลายกระดูกตามข้อต่อหน้าแสดงว่าเป็นสัตว์อายุน้อย แต่ถ้ากระดูกมีรูพรุนน้อย ส่วน ใหญ่ค่อนข้างแข็ง สีขาว มีส่วนหุ้มปลายกระดูกบ้าง แสดงว่าเป็นสัตว์แก่ เนื้อเหนียว คุณภาพไม่ดีเท่าสัตว์อายุน้อย

4. เลือกซื้อเนื้อที่ฆ่าถูกวิธี เช่นฆ่าจากโรงฆ่าสัตว์ของรัฐบาล มีกรรมวิธีชำแหละถูกต้องได้รับการตรวจสอบเรียบร้อยว่าปลอดภัยไม่มีโรคหรือพยาธิที่ติดต่อมาถึงคนได้

5. เลือกซื้อเนื้อสด มีลักษณะดีดังนี้
(1) สีแดงสด มีกลิ่นธรรมดาไม่เหม็นเปรี้ยว
(2) ไม่ซีด เขียวคล้ำ เนื้อละเอียด มีความหยุ่นแน่นตัวดี ใช้นิ้วจิ้มดูไม่บุ๋ม
(3) มีน้ำมันหล่อเลี้ยง ไม่แห้งผาก แข็งกระด้าง
(4) ไม่ยุ่ย ไม่เละ และไม่มีเมือกลื่น
(5) ไม่มีเม็ดสาคู

ประเภทของเนื้อ นักโภชนาการแบ่งเนื้อออกเป็น 3 ประเภท ตามคุณภาพ คือ
เนื้อชั้นที่ 1 ได้แก่ เนื้อสันใน เนื้อสันนอก และเนื้อตะโพก
เนื้อชั้นที่ 2 ได้แก่ เนื้อคอ เนื้อหัวไหล่ เนื้อขาหน้า เนื้อขาหลัง และเนื้อหน้าอก
เนื้อชั้นที่ 3 ได้แก่ เนื้อติดซี่โครง และเนื้อส่วนอื่นๆ นอกจากที่ได้กล่าวแล้ว

health-0305

ภาพของ Beef Chart
1. ส่วนคอ (Neck) สะตูว์
2. ส่วนไหล่ (Chuck) สะตูว์
3. ส่วนซี่โครงตอนบนติดหลัง (Ribs) สะเต็ก
4. ส่วนเนื้อขาตอนบน (shoulder-Clod) สะตูว์
5. ส่วนเนื้อขาตอนล่าง (Fore-Shank) ทำซุป
6. ส่วนเนื้อต่อใต้คอหว่างขาหน้า (Brisket) คอร์นบีฟ
7. ส่วนซี่โครงขวางต่อใต้ท้อง (Cross Ribs) ทอด แล้วต้มให้เปื่อย (Pot Roast)
8. ส่วนเนื้อพื้นท้องตอนหน้า (Plate) คอร์นบีฟ สะตูว์
9. ส่วนเนื้อพื้นท้องตอนหลังต่อลงมา (Naval) คอร์นบีฟ สะตูว์
10. ส่วนเนื้อตอนบนหลังต่อตะโพก (สันนอก) (Loin) สะเต็ก
11. ส่วนเนื้อพื้นท้องใต้สันนอก (Flank) รสดีแต่เหนียว สะตูว์ ซุป
12. ส่วนเนื้อตะโพก (Rump) คอร์นบีฟ สะตูว์
13. ส่วนเนื้อต่อใต้ตะโพกลงมา (Round) อบ สะเต็ก
14. ส่วนเนื้อต่อลงมาจากส่วนที่ 13 (Second Cut Round) อบ
15. ส่วนเนื้อต่อลงมาจากส่วนที่ 14 (Hind Shank) ซุป

ตัวอย่างเนื้อสด เช่น
เนื้อวัว มีสีแดงสด มันมีสีเหลือง เนื้อสันในจะเป็นเนื้อที่เปื่อยง่ายที่สุด เนื้อตะโพกเหนียว ใช้เล็บจิกดูจะไม่ขาดง่าย ถ้าเนื้อไม่สดจะมีสีเขียวๆ ดำๆ
เนื้อควาย มีหลักสังเกตเหมือนกับการซื้อเนื้อวัว แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ เนื้อเหนียว เส้นหยาบ สีคล้ำกว่าเนื้อวัว มันที่ติดเนื้อมีสีขาว
เนื้อหมู มีสีชมพู มันมีสีขาว หนังเกลี้ยงและบางพอสมควร ถ้าเป็นหมูที่ฆ่านาน หนังจะมียางเหนียว ใช้หลังมือแตะดูจะหนืดๆ ติดมือเมื่อเริ่มเป็นสีเขียว

ฃ. อาหารประเภทสัตว์ปีก ได้แก่ไก่และเป็ด และควรมีอายุระหว่าง 2-5 เดือน จึงจะดี ซึ่งเป็ดไก่ที่เขาฆ่าขาย หากยังสดอยู่จะมีลักษณะดังนี้
1. ใต้ปีกไม่เหนียว
2. ดมดูที่ก้นไม่มีกลิ่นตุๆ
3. ตรงปลายปีกจะไม่มีสีคล้ำ
4. หนังบางเต็ม ไม่ย่น สีไม่ซีด
5. สังเกตรอยรูขน ถ้าปุ่มใหญ่เป็นไก่แก่ ปุ่มเล็กเป็นไก่อ่อน เมื่อกดที่กระดูกปลายอก ถ้าเป็นไก่อ่อนจะนิ่มกดลง
6. สังเกตที่เดือยและหงอน ถ้ายาวแสดงว่าไก่แก่
7. สังเกตรูปร่าง น้ำหนักของมัน สัดส่วนของเนื้อ กระดูกและไขมัน
8. ตาใส ไม่ลึกโบ๋ ไม่มีรอยช้ำเขียวตามท้อง คอ และไม่มีเมือก

ค. อาหารประเภทไข่ หากราคาใกล้เคียงกันควรเลือกใบที่มีขนาดใหญ่ เพราะได้ปริมาณและคุณค่ามากกว่าไข่ฟองเล็ก และไข่สดมีลักษณะดังนี้
1. เมื่อเอาเล็บขูดเปลือกไข่ จะสากเล็บ ดัง "แกรก ๆ ๆ"
2. เปลือกต้องสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกติด เพราะสิ่งสกปรกจะนำเชื้อโรคเข้าสู่ภายใน
ไข่ได้
3. เปลือกต้องไม่บุบร้าว ถ้าเปลือกบุบเชื้อโรคอาจเข้าไปแล้วไข่จะเสียเร็ว
4. ไม่มีกลิ่นเน่า ไข่ดีดูดกลิ่นต่างๆ ได้ง่ายถ้าเก็บไข่ไว้กับของมีกลิ่น เช่น ปลาเค็ม ปลาร้า เมื่อนำไปใช้อาจทำให้อาหารมีกลิ่นไม่น่ารับประทาน
5. ไข่สดใหม่ เมื่อนำไปส่องดูในที่สว่าง จะเห็นเงาของไข่แดงที่อยู่ตรงกลางได้รางๆ
6. เขย่าฟังดูไม่มีเสียงดังในไข่
7. หากเอาไข่ส่องดูกับแสงแดดหรือแสงไฟ หากเห็นช่องหรือโพรงอากาศ (AIR CELL) ใหญ่กว่าธรรมดาและเป็นจุดๆ แสดงว่าเป็นไข่เก่าค้างหลายวันหรือไข่นั้นเริ่มเสีย

health-0306
8. ใส่ในน้ำธรรมดาไข่จะจมลงไปตั้งตะแคง หรือตั้งตรง แต่ไข่ใบตะแคงจะสดกว่าใบที่ตั้งตรง

health-0307
ก.ไข่สด นอนก้น ด้านข้างแตะพื้น
ข. ไข่สดน้อย ตั้งก้นแตะพื้น หัวลอยเอียง
ค. ไข่ไม่สด ก้นตั้งแตะพื้นในลักษณะตั้งฉาก
ง. ไข่เน่า ลอยติดผิวน้ำ
9. ใส่ในน้ำผสมเกลือป่น 10% จะจม แต่ถ้าเป็นไข่เก่าประมาณ 3 วัน จะไม่จม

ง. อาหารประเภทปลา ลักษณะปลาสด เป็นดังนี้
1. ตาใสแจ๋วและดำกลมเต็มฝังแน่นในเบ้าตา พร้อมทั้งมีม่านตาใสไม่ขุ่น
2. เมื่ออ้าดูเหงือก เหงือกจะมีสีแดงสด ปลาสดเหงือกมักปิดสนิท ไม่อ้า
3. เกล็ดติดแน่นกับหนังเป็นระเบียบ
4. หนังจะมีเมือกใสๆ หุ้มบางๆ
5. ลำตัวหรือเนื้อแข็ง แน่น กดแล้วยกนิ้วขึ้นไม่บุ๋ม

6. ไม่มีกลิ่นเหม็น ท้องไม่ผุ
7. เมื่อปล่อยลงน้ำปลาจะจม
8. เครื่องในไม่มีกลิ่นเน่าเหม็น
9. เมื่อแล่เนื้อออกเนื้อจะติดกระดูกแน่น

ไม่ควรเลือกปลาเสียที่มีลักษณะดังนี้คือ
1. ตาขุ่นหรือห้อเลือด
2. เหงือกสีเขียว
3. มีกลิ่นเหม็น
4. เนื้อยุ่ยและหลุดออกจากกระดูกได้ง่าย
5. ตัวนิ่ม เมื่อเอานิ้วกดจะมีรอยบุ๋ม
6. เกล็ดจะแห้ง แข็ง และขุ่นไม่เป็นมัน

จ. กุ้ง ควรเลือกกุ้งสดที่มีลักษณะดังนี้
1. เปลือกขึ้นเงาเป็นมันวับ สีเขียวจางๆ ปนน้ำเงินใส
2. หัวติดแน่น ตาใส
3. มองเป็นมันสีแดงได้ชัด
ไม่ควรซื้อกุ้งเสียที่มีลักษณะดังนี้
1. เปลือกมีสีแดง
2. มีกลิ่นเหม็น

ฉ. ปู ควรเลือกซื้อปูสดที่มีลักษณะดังนี้
1. อ้วน สีเขียวเข้ม หนัก ตาใส สีไม่แดงจัด เปลือกบาง
2. กลางหน้าอกแข็งกดไม่ลง
3. ถ้าต้องการปูไข่ต้องเลือกตัวเมีย ซึ่งมีฝาปิดหน้าอกใหญ่ ตัวที่มีไข่เมื่อใช้นิ้วดีดดูบนกระดองจะมีเสียงทึบแน่น
4. ถ้าต้องการปูเนื้อก็ให้เลือกปูตัวผู้ ซึ่งมีฝาปิดหน้าอกเรียวเล็ก

ช.หอย ควรเลือกซื้อหอยสดที่มีลักษณะดังนี้
1. เปลือกปิดสนิท หากทิ้งไว้ปากจะอ้า แต่เมื่อเอามือแหย่มันจะหุบปิดสนิททันทีแสดงว่ายังมีชีวิตอยู่
2. เคาะดูจะมีเสียงทึบ
3. เมื่อใส่ลงในน้ำจะจม
4. ตัวหอยอยู่ในสภาพดีไม่ขาดรุ่งริ่ง
5. น้ำที่แช่หอยไม่มีเมือกมาก และไม่มีกลิ่นเหม็น
6. เนื้อหอยที่แกะออกแล้วต้องมีสีสดใส

ซ. อาหารประเภทผัก ควรเลือกซื้อผักที่มีลักษณะดังนี้
1. ผักที่รับประทาน ใบ ต้น ดอก เช่น ผักกาด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักชีฝรั่ง ฯลฯ ตรงก้านจะไม่มีสีขาวๆ เทาๆ
2. ใบสด ไม่แห้ง ไม่ช้ำ ไม่เหลือง หรือมีราขึ้น
3. ต้นใหญ่อวบ มีใบแน่นติดกับโคนต้น
4. พวกเป็นผล เช่นมะเขือ แตงกวา ให้เลือกที่ขั้วติดแน่น สีสด ใหม่ อวบ ผิวตึงไม่เหี่ยว ไม่มีรอยหนอน มีความแก่อ่อนพอเหมาะ น้ำหนักมาก
5. พวกเป็นผักก็ต้องเขียวสด แน่น อ้วน อ่อน ไม่มีรอยหนอนหรือแมลงข้างใน
6. ซื้อผักตามฤดูกาล

ฌ. อาหารพวกผลไม้ มีหลักการเลือกซื้อเช่นเดียวกับผัก คือ
1. เลือกซื้อตามฤดูกาล
2. มีเนื้อที่รับประทานได้มากกว่าเปลือก
3. ผิวสดใส ไม่แห้งซีด ช้ำ ฝ่อ หรือมีรูแมลงเจาะ
4. ขั้วหรือก้านยังเขียวและแข็ง

ญ. แตงโม ควรเลือกซื้อที่ขั้วเล็ก ผลค่อนข้างเบา จะได้แตงโมหวาน ไส้ไม่ล้ม แต่ถ้าดีดดูมีเสียงแน่นๆ หนักๆ เป็นแตงอ่อนไม่หวาน น้ำมาก อย่าซื้อ

ฎ. อาหารกระป๋อง
ขณะนี้มีการนิยมรับประทานอาหารกระป๋องกันมากขึ้น เพราะช่วยประหยัดเวลาในการปรุงอาหารลงได้ แต่อาหารกระป๋องอาจผลิตด้วยกรรมวิธีที่ไม่ถูกต้องก็ได้ หรืออาจจะเสื่อมคุณภาพ เพราะเก็บไว้นาน เมื่อซื้อไปรับประทาน อาจเกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือเป็นภัยต่อชีวิตของผู้บริโภค เช่น โรคโบทูลิซึมจัดเป็นโรคที่ทำให้มีการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ ที่มีอันตรายร้ายแรงมากที่สุด ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย หากจะรับประทานหรือจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารกระป๋อง เพราะอาหารสดปรุงรับประทานไม่ได้ ก็ควรเลือกชนิดที่ทางการรับรองคุณภาพ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

วิธีเลือก
1. ฝากระป๋องเรียบไม่โป่ง
2. ตัวกระป๋องไม่มีรอยบุบ รั่ว หรือบวม
3. กระป๋องไม่มีสนิม
4. เมื่อเคาะกระป๋องควรมีเสียงทึบ
5. ตะเข็บข้างกระป๋องและฝากระป๋องควรเป็นชนิดตะเข็บเม้ม
6. ควรเลือกซื้อที่ทางการรับรองคุณภาพ

วิธีสังเกตอาหารในกระป๋องเมื่อเปิดฝาแล้ว
1. เมื่อเจาะกระป๋องต้องมีเสียงลมรั่วเข้าในกระป๋อง ถ้ามีลมหรือน้ำกระเซ็นออกจากกระป๋องไม่ควรรับประทาน
2. กลิ่นของอาหารในกระป๋องไม่ควรผิดธรรมดา สีอาจซีดบ้าง แต่ไม่เป็นสีดำคล้ำ
3. ผิวในของกระป๋องควรเรียบเป็นเงา ถ้าผิวกระป๋องด้านในเป็นสีดำไม่ควรรับประทาน
4. ผิวด้านในกระป๋องไม่ควรทาสีหรือมีสีพิมพ์ติดอยู่
5. ถ้าสงสัยว่าอาหารในกระป๋องไม่สะอาดหรืออาจเป็นพิษอย่าลองชิม ควรทิ้งเสีย

วิธีเก็บอาหารกระป๋อง
1. อาหารกระป๋อง เมื่อเปิดแล้วควรรับประทานทันที
2. ถ้าจะเก็บไว้ควรถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด และมีฝาปิดมิดชิด และควรเก็บไว้ในที่เย็น เช่น ตู้เย็น
3. ถ้าจะอุ่นอาหารกระป๋อง ควรถ่ายใส่ภาชนะอื่น ไม่ควรอุ่นทั้งกระป๋อง

ฏ. อาหารสำเร็จรูป ควรเลือกซื้อที่มีลักษณะดังนี้
1. ไม่ควรมีของปลอม ปน สารที่เป็นพิษต่อร่างกาย หรือเน่าเสีย ไม่เหมาะต่อการรับประทาน
2. เลือกซื้อจากผู้ที่ไว้ใจได้ว่าอาหารนั้นสะอาดปลอดภัย
3. เลือกอาหารที่บรรจุในภาชนะที่ห่อเรียบร้อย สะดวกในการขนส่ง นำติดตัว และง่ายในการรับประทาน
4. สำหรับอาหารสำเร็จรูปที่ปรุงเสร็จแล้ว ควรมีภาชนะปกปิดมิดชิด พ้นจากการติดต่อของเชื้อโรค การตอมของแมลง และการเกาะของฝุ่น

ฐ. อาหารแช่แข็ง ควรมีลักษณะดังนี้
1. อาหารที่จะนำมาแช่แข็ง ควรเป็นของที่มีคุณภาพดี ไม่เน่าเสีย อยู่ในสภาพที่เหมาะสมและสะอาด
2. ควรบรรจุหีบห่อ ภาชนะ ที่เรียบร้อยกันความชื้น
3. เก็บไว้ในที่เย็นมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารชนิดนั้น
4. ควรบอกวิธีใช้อาหารนั้น เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้บริโภค
5. ไม่ควรนำอาหารมาตั้งทิ้งให้ละลายแล้วนำกลับเข้าแช่แข็งอีก เพราะจะทำให้อาหารนั้นเสียลักษณะที่ดี สูญเสียคุณค่าทางอาหารไปกับน้ำที่ละลายออก ถ้าจะใช้ควรแบ่งมาจากส่วนใหญ่ตามจำนวนที่ต้องการ

คำสำคัญ (Tags): #food
หมายเลขบันทึก: 582870เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 03:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 03:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท