​ภาวนาคือชีวิต สติที่ "เท่าทัน" ตัวเอง


เอ่ยถึงคำว่า "การภาวนา" อาจฟังดูเป็นเรื่องเข้าใจยากจนหลายคนเมินหน้า ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการภาวนาไม่ใช่เรื่องซับซ้อนไกลตัว อีกทั้งยังมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เห็นชัด หลักคิด ของ "การภาวนา" ในที่นี้ เราอ้างจาก โครงการ "ภาวนาคือชีวิต : วิถีชีวิตที่เกื้อกูลต่อชุมชนและสังคม" ซึ่งสถาบันบ่มเพาะจิตสู่การแปรเปลี่ยนสังคม ขับเคลื่อนงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งตีความการภาวนาคือการสร้างสุขและสมดุลระหว่างกายและใจ โดยไม่ลืมที่จะเกื้อกูลผู้อื่นเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมด้วยหรืออธิบายแบบที่พวกเราคุ้นเคยได้ก็คือ การภาวนาคือการใส่ใจ การเคลื่อนไหวกาย รับรู้ความรู้สึก อารมณ์ ความคิดของตนเองนำไปสู่การ "เท่าทัน" กับอารมณ์และความคิด และหาวิธีรับมือกับมัน ซึ่งถือเป็น "ทักษะทางปัญญา" ในความหมายหนึ่งนั่นเอง

จากหลักความคิดไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัตินั้น ดร. ธรรมนนท์ กิจติเวชกุล ผู้อำนวยการสถาบันบ่มเพาะจิตสู่การแปรเปลี่ยนสังคม อธิบายว่า ได้เน้นการเจริญสติตามแนวทางหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ นั่นคือการใส่ใจการเคลื่อนไหวกาย และรับรู้อารมณ์และความคิดที่เกิดขึ้น ส่วนการภาวนานอกรูปแบบคือการรับรู้อารมณ์ความรู้สึก ความคิดผ่านงานศิลปะ การเคลื่อนไหว และการทำการงานในชีวิตประจำวัน" การภาวนาคือการพัฒนาจิตให้มีความเท่าทันอารมณ์ของตัวเอง สู่ความสามารถในการรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความฟุ้งซ่าน ความสับสนการภาวนายังหมายถึงการบ่มเพาะจิตที่เปิดกว้าง ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์กับธรรมชาติ เราเชื่อว่าการภาวนาคือการสั่งสมปัญญา ที่นำไปสู่การสร้างสุขของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงในทุกมิติ ดังจะเห็นได้จากโครงการย่อยต่างๆภายใต้ชุดโครงการภาวนาคือชีวิตฯ ที่มีการปฏิบัติภาวนาในหลากหลายรูปแบบกับประเด็นงานต่างๆ เช่น การฟื้นฟูสุขภาพองค์รวม การอนุรักษ์ธรรมชาติ วัฒนธรรม การศึกษา และภูมิปัญญาท้องถิ่น"ดร. ธรรมนนท์ กล่าวเสริม

สร้างปัญญาเท่าทันความผิดหวัง

ตัวอย่างกรณีของ พนิดา สารกอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลโนนคูณ ที่เล่าว่า หน่วยงานของเธอได้ผสานการภาวนากับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โดยมีจุดมุ่งหมายให้บุคลากรนำแนวทางปฏิบัติภาวนามาพัฒนาตนเองรู้ถึงจิตใจ อารมณ์ และความคิด โดยเฉพาะรับมือกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เช่น การสื่อสารกับผู้เข้ารับการรักษาที่อาจมีมุมมองต่างกัน ซึ่งบ่อยครั้งอาจกลายเป็นความไม่พอใจระหว่างกัน แต่ผลของการภาวนาในเบื้องต้นทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเอง คิดถึงความรู้สึกความต้องการของผู้เข้ารับการรักษาได้มากขึ้น และ เห็นคุณค่าในงานที่ตัวเองทำมากขึ้นนอกจากนั้นเจ้าหน้าที่เรายังมีจิตใจที่เปิดกว้างมากขึ้นโดยบางกลุ่มงานเริ่มมีการสะท้อนปัญหาหรือ สื่อสารกันภายในกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อกัน "ผลที่ได้จากกิจกรรมนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน สร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความสุขที่สำคัญคือการพูดคุยกันด้วยสติระหว่างบุคลากรด้วยกัน ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น เช่น บางคนอาจรู้สึกเหนื่อย ผิดหวัง ท้อใจ แต่เมื่อนิ่ง ทบทวน ทำให้รู้ว่านั่นเป็นความรู้สึกชั่วครู่ และเกิดจากความต้องการที่จะให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าและยอมรับในสิ่งที่ทำนำไปสู่การให้กำลังใจกัน หรือในบางกรณีอาจมีความไม่เข้าใจกันในการสื่อสาร เช่น หัวหน้าแผนกบางคนอาจใช้คำพูดที่ฟังดูไม่ดี สร้างความโกรธเคืองให้กับลูกน้อง แต่เมื่อต่างคนต่างเท่าทันความรู้สึก ได้ปรับทัศนคติของตัวเอง ปรับท่าทีที่มีต่อกัน ต่างฝ่ายต่างมองกันให้ลึกถึงเจตนาภายใน มากกว่าอารมณ์ หรือสิ่งที่แสดงออกภายนอก การทำงานร่วมกันจึงดียิ่งขึ้น" พนิดาอธิบาย

"สติ"ของคนทำงาน ภาวนาแบบเคลื่อนไหว

เช่นเดียวกับ โครงการ "ภาวนา...สู่จิตอันควรแก่งาน" ที่ใช้ภาวนากับกลุ่มแกนนำที่ทำงานพัฒนาชุมชน ซึ่งแตกย่อยจากหลักคิดดังกล่าว และขับเคลื่อนงานใน จ.ยโสธร และ จ.มหาสารคาม ซึ่ง พระมหาราเชน สุทฺธจิตฺโต ผู้ร่วมร่างหลักสูตร ย้ำว่า การภาวนามิได้จำกัดแค่การนั่งนิ่งๆ หรือต้องปฏิบัติที่วัดเท่านั้น แต่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับในทุกๆอิริยาบถในชีวิตประจำวันได้ การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน ซึ่งเน้นที่การมีสติรับรู้ รู้สึก ถึงการเคลื่อนการไหวของกายเป็นหลัก สามารถใช้กับชีวิตประจำวันได้ง่าย ทำให้ผู้ปฏิบัติมีสติ เท่าทันความคิด ความรู้สึก เท่าทันอารมณ์ เช่นความโกรธ ความฟุ้งซ่าน ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในชีวิต ณ ปัจจุบันขณะได้มากขึ้น เมื่อนำไปทำจริง "ปัทมา ราตรี" ผู้ร่วมกิจกรรมจึงสะท้อนความรู้สึกว่า เป็น "การเดินทางภายใน" เปรียบเสมือนการเท่าทันกับสิ่งที่ทำ ดังนั้นแนวคิดนี้จึงสามารถสอดแทรกในกิจกรรมอื่นให้มีความน่าสนใจได้ เช่นที่ผ่านมาได้ผสมผสานกับกิจกรรมฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งทำให้ทั้งทีมทำงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นความสำคัญกับมิติจิตใจพร้อมๆกับร่างกาย นำไปสู่ความเกื้อกูลกันในชุมชนที่ทำงานร่วมกัน เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมีสติรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง "สติ" ที่มาจากการภาวนาจึงเกิดขึ้นไม่ยากอย่างที่คิดเลย

หมายเลขบันทึก: 582801เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2014 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2014 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท