​เห็ดที่พบตามธรรมชาติที่รับประทานได้ ในแถบจังหวัดพังงา


เห็ดที่พบตามธรรมชาติในแถบจังหวัดพังงา

จากการศึกษาและสอบถามปราชญ์ชาวบ้านในจังหวัดพังงา พบว่าเห็ดที่พบในแถบจังหวัดพังงามีมากหมายหลายชนิดบางชนิดสามารถนำมาปรุงอาหารได้ บางชนิดไม่สามารถปรุงอาหารได้ และเห็ดที่พบตามธรรมชาติสามารถแบ่งตามลักษณะการนำมาใช้ประโยชน์ ได้เป็น 2 ชนิด

1.เห็ดที่รับประทานได้ มีหลายชนิด และเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่รุ่นย่า และได้มีการบอกเล่าต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งเห็ดที่สามารถนำมารับประทานได้ ที่พบในจังหวัดพังงาที่สามารถนำมารับประทานได้ มีหลายชนิด ได้แก่

1.1. เห็ดโคน เป็นเห็ดในสกุล Termitomyces วงศ์ Tricholomataceae เป็นเห็ดขึ้นบริเวณจอมปลวก ดอกเห็ดรูปร่ม ยอดแหลม สีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลดำ ด้านล่างมีครีบ ก้านยาวตั้งตรง โคนเรียวเล็กหยั่งลึกลงไปถึงรังปลวก เป็นเห็ดที่นิยมรับประทานกันมาก เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีรสชาติอร่อยกว่าเห็ดชนิดอื่น ๆ มีราคาแพงมาก และจำหน่ายกันในราคา กิโลกรัมละ 250 – 350 บาท ปกติเห็ดโคนจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม หรือขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในแถบจังหวัดพังงาจะพบเห็ดโคนออกดอกเกือบตลอดปี และจะมีมากในช่วงที่มีสภาพอากาศชื้น ช่วงเดือน มิถุนายน – กันยายน เป็นประจำทุกปี

ลักษณะทั่วไปของเห็ดโคน

จากการศึกษาลักษณะทั่วไปของเห็ดโคน พบว่าเห็ดโคนเป็นเห็ดที่เกิดจากใต้ผิวดิน และมีรากหยั่งลึกไปถึงรังปลวก แม้บางครั้งพบเห็ดโคนเจริญบนพื้นราบที่ไม่ใช่จอมปลวกก็ตาม ถ้าหากขุดดินบริเวณที่เห็ดโคนงอก ขุดลงไปจะพบว่ารากของเห็ดโคนจะสิ้นสุดที่รังปลวกทุกครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเห็ดโคนมีความสัมพันธ์กับปลวก เห็ดโคนเป็นเห็ดที่มีหมวกดอกแข็งแรง มีลักษณะคล้ายหัวลูกศร หรือสมอเรือ ก้านดอกบริเวณติดกับโคนดอกจะพองออก และมีเนื้อเยื่ออัดแน่น เมื่อดอกเห็ดมีอายุมากขึ้น ก้านดอกจะยืดสูงขึ้น มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดโตเท่าๆกันสม่ำเสมอ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่หมวกดอกจะบานออก ขนานกับผิวดิน บริเวณขอบหมวกดอกจะบานงานขึ้นเล็กน้อย และดอกจะร่วงโรยแห้งตายไปภายใน 2 วัน เห็ดโคนที่พบในแถบจังหวัดพังงา สามารถจำแนกได้ 3 ชนิด ดังนี้

1) เห็ดโคนใหญ่ หรือเห็ดปลวก หรือเห็ดโคนชิง มักพบบริเวณจอมปลวกหรือข้างจอมปลวก ลักษณะ หมวกดอกมีสีขาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 เซนติเมตร ผิวด้านบนของหมวกดอกเรียบหรือมีรอยย่นเล็กน้อย ระยะที่หมวกดอกเจริญเติบโตเต็มที่เนื้อเยื่อภายในหมวกดอกจะมีสีขาว ครีบดอกของเห็ดโคนชนิดนี้มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ สีขาวนวล บริเวณครีบดอกของเห็ดโคนจะเป็นแหล่งสร้างสปอร์ และก้านดอกมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ตอนบนของก้านดอกจะมีสีขาว ส่วนตอนล่างของก้านดอกจะมีสีขาวหม่น ก้านดอกมีผิวเรียบ และเห็ดโคนชนิดนี้มีลักษณะต่างจากเห็ดโคนชนิดอื่น ๆ คือ มีวงแหวนรอบก้านดอก

2) เห็ดโคนนมหมู ลักษณะของดอกเห็ดโคนชนิดนี้ ที่บริเวณปลายหมวกดอกมีลักษณะแหลมคล้ายนมหมู หมวกดอกสีน้ำตาลปนดำ –น้ำตาลเทา แต่ถ้าดอกเห็ดแก่สีของดอกเห็ดจะจางลง เมื่อเห็ดเจริญเติบโตเต็มที่ หมวกดอกมีลักษณะเรียบ กว้างประมาณ 7 เซนติเมตร หมวกดอกมีเนื้อแน่น แข็งแรง ครีบดอกมีสีขาว แยกเป็นอิสระไม่ติดกับก้านดอก ก้านดอกของเห็ดโคนชนิดตรงระดับผิวดินจะมีลักษณะโป่งเป็นกระเปาะเล็กน้อย จากนั้นจะยาวเรียวเล็กลงไปเรื่อย ๆ

3) เห็ดโคนน้ำนอง มักพบในสภาพพื้นดินชื้นแฉะ และจะงอกพร้อม ๆ กันครั้งละมาก ๆลักษณะ หมวกดอกมียอดแหลม หมวกดอกมีสีน้ำตาลอ่อน หมวกดอกมีผิวเป็นมันเรียบ มีความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ครีบดอกมีสีขาวแยกเป็นอิสระไม่ติดกับก้านดอก ก้านดอกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เมื่อดอกยังอ่อนอยู่ก้านดอกจะพองออกตรงส่วนกลาง เมื่อโตเต็มที่ก้านดอกจะเป็นรูปทรงกระบอก

1.2.เห็ดแครง หรือเห็ดตีนตุ๊กแก ชนิด schizophyllum commune Fr. ในวงศ์ Schzophyllaceae ขึ้นตามเปลือกไม้ ดอกเห็ดรูปพัดขอบจักม้วนลง สีขาวอมเทาอ่อน ด้านล่างมีครีบสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเหนียว

1.3. เห็ดขาว หรือเห็ดขอนขาว เห็ดชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในแถบจังหวัดพังงา ในช่วงฤดูฝน ประมาณ เดือนมิถุนายน – สิงหาคม จะพบเห็ดขาวงอกที่ตอไม้ผุ หรือขอนไม้เริ่มผุ ดอกเห็ดมีสีขาวสะอาด หมวกดอกมีลักษณะแบนราบ กลางหมวกดอกมีลักษณะเว้าเป็นแอ่ง หมวกดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ลักษณะของหมวกดอกจะเป็นเนื้อเดียวกับก้านดอก ก้านดอกยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ชูขึ้นกลางอากาศ ครีบดอกมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ สีขาว ที่บริเวณครีบดอกเป็นแหล่งสร้างสปอร์ ดอกเห็ดเจริญเติบโตเรียงลดหลั่นกันเป็น ชั้น ๆ เนื้อเห็ดจะเหนียวมาก

1.4. เห็ดขน มักพบที่ขอนไม้ผุ มีดอกเห็ดมีสีน้ำตาลอ่อน หมวกดอกมีลักษณะแบนราบ กลางหมวกดอกมีลักษณะเว้าเป็นแอ่ง และมีขนอ่อน ๆ สีน้ำตาลทั่วหมวกดอก หมวกดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร ลักษณะของหมวกดอกจะเป็นเนื้อเดียวกับก้านดอก ก้านดอกยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ชูขึ้นกลางอากาศ ครีบดอกมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ สีน้ำตาลอ่อน ที่บริเวณครีบดอกเป็นแหล่งสร้างสปอร์

1.5.เห็ดตอก หรือเห็ดข้าวตอก

มักพบในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ในช่วงที่ฝนตก อากาศชื้น มีลักษณะดอกคล้ายเห็ดโคน แต่จะมีขนาดเล็ก ขึ้นเป็นปริมาณมาก สีขาวหมวกดอก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร

1.6.เห็ดหูหนู เป็นเห็ดที่อยู่ในสกุล Auriculariaวงศ์ Auriculaceae ขึ้นบนขอนไม้ ดอกเห็ดเป็นแผ่นวุ้นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ

เห็ดหูหนูเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินฟ้าอากาศในแถบจังหวัดพังงา เป็นเห็ดชาวจังหวัดพังงานิยมนำมารับประทานกันมาก เพราะเห็ดมีรสชาติดี กลิ่นหอม อร่อย และโดยธรรมชาติเห็ดหูหนูจะเจริญเติบโตบนขอนไม้ที่เริ่มผุพัง เห็ดหูหนูสามารถพบได้ในช่วงฤดูฝน และเห็ดหูหนูที่พบในแถบจังหวัดพังงา มี 2 ชนิด ดังนี้

1) เห็ดหูหนูพันธุ์บาง หรือ ชาวบ้านเรียกว่าเห็ดหูลิง จากการศึกษาพบว่าเห็ดชนิดนี้มักเจริญเติบโตบนของไม้ยางพารา ของไม้เนื้ออ่อนอื่น ๆ ที่เริ่มผุ ลักษณะการออกดอกจะออกดอกเดี่ยวๆ มีสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลดำ ลักษณะคล้ายหูหนูหรือหูลิง ดอกบาง คล้ายเยลลี่ ผิวเรียบ ไม่มีขนทั้งด้านบนและด้านล่าง

2) เห็ดหูหนูพันธุ์หนา หรือชาวบ้านเรียกว่าเห็ดกรุบ เห็ดหูหนูชนิดนี้ดอกจะหนาว่าเห็ดชนิดแรก เนื้อแข็งกรอบกรุบ สีน้ำตาลดำ ผิวด้านบนของหมวกดอกมีลักษณะเรียบ ส่วนผิวด้านล่างของหมวกดอกหรือด้านหลังจะเป็นรอยหยัก เมื่อนำไปปรุงอาหาร เห็ดหูหนูจะไม่เมือก และมีความกรอบมาก ก้านดอกสั้นมากหรือแทบไม่มีเลย ดอกเห็นบานคงทน

1.8. เห็ดท่อง

เห็ดท่อง เป็นเห็ดที่พบในพื้นที่บริเวณกว้าง ๆ สมัยก่อนพบบริเวณท้องนา มักพบในช่วงต้นฤดูฝน ลักษณะดอกกว้างประมาณ 2 -4 เซนติเมตร ก้านดอก ยางประมาณ 3-5 เซนติเมตร หมวกดอกมีสีขาวอมสีน้ำตาลอ่อน ครีบดอกสีเข้มกว่าหมวกดอก

1.9.เห็ดไข่ไก่ มีลักษณะกลม รี คล้ายไข่นาดเล็ก ดอกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เนื้อแน่นสีขาว มักขึ้นบริเวณชื้นและในช่วงเดือนมิถุนายน ของทุกปี

9. เห็ดฟางธรรมชาติ มีลักษณะเหมือนเห็ดฟางทั่วไปแต่สีดอกคล้ำและดอกใหญ่กว่า มักพบบริเวณกองฟาง หรือกองขี้เลื่อยยางพารา

หมายเลขบันทึก: 582770เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2014 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2014 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท