"วัยทำ-กับ-วัยธรรม?"



เมื่อเดินไปในสวนป่า สังเกตเห็นต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เล็ก เบียดเสียดกันเติบโต เพื่อรับแสง ทำให้คิดเลยไปถึงเบื้องหลังปรากฏการณ์ของภาพที่เห็น และนำมาเปรียบเทียบกับสังคมชีวิตระหว่างวัยคือ "วัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่" ทำให้เห็นภาพที่สะท้อนความจริงคือ ต้นไม้ใหญ่พึ่งตัวเองได้ ดำรงอยู่อย่างมั่นคง แต่การดำรงอยู่ในสถานะเช่นนี้ ก็เสี่ยงที่จะหักโค่นได้ตลอดเวลาเพราะแก่และกรอบบอบบางลงเรื่อยๆ ในขณะต้นไม้เด็กกำลังทะเยอทะยานเติบโต เพื่อความมั่นคงของตนเอง กระนั้น ก็พยายามสะสมเรียนรู้จากไม้ผู้ใหญ่หรือพึ่งพาไม้ใหญ่ด้วย

ภาพดังกล่าว สะท้อนสังคมมนุษย์ที่ดำรงอยู่เหมือนกับไม้ทั้งสองคือ มีวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ ที่พึ่งพาอาศัยกันอยู่ ในสองลักษณะกล่าวคือ เด็กอาศัยวัยผู้ใหญ่ ในขณะผู้ใหญ่ก็พึ่งพาเด็ก หนุ่มสาว ช่วยเหลือในการดูแลด้วย แม้ทั้งสองจะมีภาพซ้อนที่ขัดแย้งกันอยู่ก็ตาม ก็ไม่สามารถหลีกหนีหรือแยกทางกันได้ โดยเฉพาะสังคมชนบท จะต่างออกไปก็ที่ชุมชนคนเมือง ที่แออัดไปด้วยวัยหนุ่มสาว วัยทำงานที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตน ดังนั้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างต้องอาศัยกัน ประคองกันไป เหมือนต้นไม้เด็กกับต้นไม้ใหญ่ฉันนั้น

อย่างไรก็ตาม ชีวิตแต่ละชีวิตก็มีอัตลักษณ์ในเอกลักษณ์ของตนเอง ภาพที่พึ่งพากันหรือความสัมพันธ์นั้น เป็นเพียงโครงสร้างที่เชื่อมโยงกัน มิให้พังครืนลงเท่านั้น หากมองเข้าไปในแต่ละหน่วย จะเห็นภาพที่ดิ้นรน ต่อสู้ แสวงหา ท้าทายในตัวเองอยู่ ซึ่งดำเนินไปตามกฎ ตามกาล และพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน เรียนรู้ ให้อยู่ยั่งยืนนาน ตามกาลเงื่อนไขของตน แต่พืชนั้นแตกต่างจากสัตว์ตรงที่ไม่ได้มีศักยภาพเหมือนมนุษย์ กระนั้น มันก็มีข้อมูลโลกพอที่จะเรียนรู้เอาตัวรอดได้


สิ่งที่น่าคิดและน่าศึกษาจากต้นไม้คือ มันเอาตัวรอดจากดิน ฟ้า อากาศ สารพิษ ความแห้งแล้ง ไฟ น้ำท่วม มาได้อย่างไร มันไม่สามารถวิ่งหนีหรืออพยพภัยเหล่านี้ได้ สิ่งที่มันทำได้คือ ปรับเพื่ออยู่รอด ในขณะมนุษย์เรียนรู้อะไรจากตัวเอง ดิน ฟ้า อากาศ ไฟ สารพิษ สังคม ฯ ของโลกบ้าง แน่นอนว่า มนุษย์มิได้เกิดมาด้วยความรู้และปัญญา จึงต้องแสวงหาความรู้ ความจริง สติ ปัญญา ความสามารถเอาเอง มิฉะนั้น มนุษย์ก็จะหลงทางกิเลสและสัญชาตญาณสายพันธุ์ของตนเอง จนเลยเถิดในดงของความต้องการ ความไม่ชอบใจ และความไม่รู้ ซึ่งจะคอยกัดกร่อนจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ให้ค่อยๆ สิ้นความเข้มข้นลง

ดังนั้น จึงขอเสนอช่องทางของวัยเด็กว่าควรจะเรียนรู้หรือควรจะแสวงหาอะไรใส่สมอง เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตบนโลกนี้ ให้เกิดความเข้าใจและชำนาญบนชีวิตของตน และวัยผู้ใหญ่ว่า ได้อะไรจากการเกิดมา จากวัยเด็ก มาสู่วัยชรา และกำลังเข้าสู่วัยอัสดง ที่ทุกอย่างจะจบสิ้นลงตรงที่ลมหายใจครั้งสุดท้าย ก่อนตายเรามาทบทวนว่า อะไรคือ สิ่งที่ตกผลึกของชีวิตและอะไรคือ สารพิษของจิตใจ แล้วเราจะพกพาอะไรได้บ้าง หรือมีอะไรบ้างที่จะเป็นมรดกครั้งสุดท้ายก่อนลาโลกไปอย่างไร้ความกังวล--


วัยทำ (ให้ชีวิตสมบูรณ์)

วัยทำ หมายถึง เป็นวัยเด็กที่ควรสร้างโอกาสและสะสมสิ่งต่างๆ ให้เป็นที่พึ่งของตน เป็นวัยที่จะเดินไปสู่การต่อสู้กับภัยต่างๆ ของโลกในอนาคต และเพื่อเรียนรู้ในการใช้ชีวิตให้สมบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจใน ๔ กรอบใหญ่คือ โลก ชีวิต จิต และทางดับ สามทางต้นนั้นเป็นหน้าที่หลักของวัยเด็ก ส่วนกรอบหลังนั้น เป็นกรอบที่จะเห็นในบั้นปลาย เมื่อสร้างฐานต้นให้ดีและบริบูรณ์แล้ว

ดังนั้น สามทางดังกล่าวนั้น มีองค์ประกอบที่พึงสร้างและสะสมไว้ให้มาก เพื่อสร้างรากฐานการครองชีวิตและจิตวิญญาณของตนให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมในสังคมโลกต่อไป ซึ่งมีดังนี้--


๑) ฝึกตน

การฝึกตน หมายถึง การฝึกทักษะในการใช้ชีวิต ซึ่งตามธรรมชาติของชีวิตมีโปรแกรมในการพัฒนาตัวเองข้างในอยู่แล้วนั่นคือ ร่างกาย สมอง อวัยวะต่างๆ ถูกสร้างมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการครองชีวิตให้เป็นไปตามกลไกของมัน แม้เราไม่พัฒนา มันก็เจริญเติบโตไปตามปกติ แต่มันต้องได้รับการช่วยเหลือให้พัฒนาหรือวางโปรแกรมให้สอดคล้องกับอุดมคติของสังคม เช่น การเรียนรู้ ฝึกฝน ให้เกิดทักษะในด้านต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการโรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงาน สถาบัน ฯ

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพขึ้น เมื่อนั้น ชีวิตก็จะมีทักษะในการประคองวิถีชีวิตให้ดำเนินไปไม่ฝืดเคืองนัก เพราะอาศัยการฝึกตนให้เป็นผล จนกลายเป็นวิชาชีพเลี้ยงตนเองได้ เด็กๆ ควรมีวิสัยทัศน์เรื่องการฝึกฝนตนเองต่อไป เหมือนเดินขึ้นภูเขาที่ต้องเหน็ดเหนื่อย แต่เมื่อลงเขาแล้วจะง่าย


๒) ฝึกออม

การฝึกออม หมายถึง เด็กๆ ควรรู้จักฝึกฝนตนเองในเรื่อง การหาทรัพย์ การใช้ทรัพย์ ให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตตนให้มาก เพราะทรัพย์คือ เครื่องมือตอบสนองความต้องการของตน ยิ่งสนองความอยากตน ยิ่งต้องใช้ทรัพย์มาก และไม่รู้จักจบสิ้น ยิ่งอยาก ยิ่งซื้อ ยิ่งเสียทรัพย์ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เพิ่งเกิดมาสู่โลกใหม่ ยิ่งไม่เห็นคุณค่า มายา และโทษของสิ่งของและมายาคติจากสังคม เห็นแต่ความต้องการของตน ยิ่งจะทำให้ตนเอง กลายเป็นคนอ่อนแอต่อสังคม ต่อชีวิต ต่อจิตใจของตน ในภายภาคหน้า เพราะการเสียทรัพย์คือ การหมดผู้ช่วยเหลือ เด็กควรจะใช้ทรัพย์อย่างรู้ค่าและประหยัด เช่น รู้จักใช้เท่าที่จำเป็น ควรใช้ทรัพย์ไปเพื่อสมอง (การศึกษา) มิใช่เพื่อตัณหา

การออม อาจมาจากการรู้ค่าเงินทอง การรู้จักอด รู้จักทน รู้จักแหล่งที่มาของเงิน (พ่อแม่) มาจากทัศนคติ มุมมองในอนาคต และมาจากเม็ดเหงื่อ ความลำบากของชีวิตผู้ให้การสนับสนุน เมื่อรู้จักอดออมหรือสะสมจนกลายเป็นนิสัย เมื่อนั้นจะรู้ว่า ตนเองทำถูกและจะขอบคุณตนเอง เหตุผลคือ สังคมยุคใหม่มุ่งมั่นแสวงหาเงินทองเป็นหลัก การใช้ทรัพย์อย่างฟุ่มเฟือย ก็จะกลายเป็นคนอ่อนแอ ขาดทักษะในการดำรงชีวิตในสังคมเป็น เราควรใช้โอกาสที่คนอื่นประมาท มาเป็นโอกาสสำหรับตน หมายถึง คนรวย คนหลงเพลินสังคม ที่ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายทรัพย์อย่างกะน้ำ ซึ่งเหมือนกับพ่อค้าหน้าปลิง ที่คอยเสนอเครื่องมือ เครื่องดื่ม เครื่องใช้ใหม่ๆ แก่ผู้คนที่ร่ำรวย พวกเขาฉวยโอกาสที่คนเหล่านั้น ใช้จ่ายทรัพย์อย่างไร้ค่า จนกลายเป็นเศรษฐีเมืองไทยนั่นแหละ


๓) ฝึกใฝ่รู้

การฝึกใฝ่รู้ หมายถึง การเรียนรู้ ฝึกฝน หาวิชาความรู้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อยอดหรือสร้างเสริมมุมมองให้เห็นว่า วิชาความรู้ ทักษะ ที่เราถนัด พอที่จะนำไปก่อร่างสร้างอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ทักษะในการฝึกฝนในเบื้องต้นที่เด็กๆ ควรใส่ใจคือ การอ่าน การฟัง การเขียน การพูด และการวิเคราะห์ เพราะทักษะเหล่านี้คือ พื้นฐานในการสร้างอนาคตของตนเองได้ การเรียนรู้มิได้เกิดมาจากโรงเรียนหรือสถาบันใดๆ หากแต่เกิดมาจากอัตองค์ คือ ตนเองข้างในเป็นเบื้องต้น เหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากการสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว

อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนเช่นนี้ ควรได้มาจากคนรอบข้างเช่น พ่อแม่ พี่น้อง ที่ทำให้เห็นประจำบ่อยๆ จนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ จากนั้น ก็ได้มาจากโรงเรียน สถาบันต่างๆ จนเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ได้เอง โดยเฉพาะสังคมยุคใหม่ที่มีแหล่งเรียนรู้จากครูตู้ (tele-teacher) ครูย่า (yahoo) ครูกู (google) ครูยู (youtube) หรือหนังสือ สื่อต่างๆ มากมาย นับวันโลกที่อุดมไปด้วยสหวิทยาการ จะท่วมสมองมนุษย์ จนมนุษย์โหลดไม่ไหว เพราะไม่รู้ว่า อะไรคือความรู้ อะไรคือความลวง เหตุผลที่เด็กควรกอบโกยความรู้ คือ สังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร เด็กควรจะรู้เอาไว้ เพื่อรู้เท่าทันสังคม และเอาไว้เป็นเครื่องมือกรองความรู้ แยกแยะ และวิเคราะห์

นอกจากนี้ พวกเขายังต้องศึกษาหาความด้านสื่อ การใช้สื่อ เทคโนโลยีให้รู้เท่าทันกับโลกอนาคตด้วย เพราะเด็กยุคใหม่จะเติบโตไปพร้อมกับอุปกรณ์ไฮเทค เมื่อทั้งสองมาประสานกันระหว่างสมองเด็กอัจฉริยะและเครื่องมือเทคโนโลยี ความก้าวหน้า ความเจริญ และศักยภาพของมนุษย์ จะมีผลต่อโลก ธรรมชาติ สังคม และตนเองขนาดไหน


๔) ฝึกสร้างจินตนาการ

การสร้างจินตนาการ หมายถึง การเห็น การมองที่แตกต่างจากจุดเดิม เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่แปลก และสร้างนวัตกรรมความคิดที่นำหน้า รุดหน้า มิให้ย้ำอยู่ที่เดิม การสร้างความคิดใหม่อยู่ที่การใช้สมองคิดแบบจินตนาการเหมือนศิลปิน ที่ต้องคิดนอกกรอบ แต่ตอบในกฎให้ได้ เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ซึ่งที่จริง ทั้งสองต้องอาศัยกัน การคิดแบบนี้อาจรวมไปถึง การสร้างความฝัน ความอยากที่สร้างสรรค์ ทะเยอทะยาน ใฝ่ฝันที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมายปลายฝัน มองให้ไกล ก้าวไปให้ถึง

การคิดแบบไร้หยุดนิ่ง เป็นการสร้างเซลล์สมอง มิให้หยุดนิ่ง หรือเป็นการสร้างเซลล์สมองให้แตกขยายให้มากขึ้น ฝึกคิด ฝึกจินตนาการให้มาก เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กเวลาอยู่ในท้องนายามราตรี มองขึ้นท้องฟ้า เห็นแสงดาวกระพริบทั่วท้องฟ้า ก็นึกคิดไปว่า มันเกิดได้อย่างไร ทำไมกลางวันเราไม่เห็น จนทำให้เกิดข้อสงสัยฝังไว้ในสมอง พอโตขึ้นจึงนำมาขยายว่า แสงดาวจริงๆคือ อะไร นี่คือ จุดเริ่มไปในการค้นหาความรู้ ความจริงของสิ่งนั้น ทีนี่อะไรคือ จุดประกายที่จะสร้างจินตนาการนี้ คำตอบคือ การใช้ตาให้ลีกซึ้ง การใช้หูให้ทะลุสมอง การอ่านให้ถึงจิตคนเขียน การท่องเที่ยว การทัศนาจร การสืบค้นสิ่งที่ประทับใจ ฯลฯ

เหตุผลที่เด็กควรจะสร้างจินตนาการในใจคือ เด็กมีสมองที่ยังขาดข้อมูล แผนที่โลก แผนที่ชีวิต แผนที่จิตใจ การคาดเดา การตั้งข้อสมมติฐาน คือ การรู้จักคิดคาดการณ์ การประเมิน การวางแผน การจินตนาการไว้ การสมมติไว้ ฯ นั่นคือ วิธีหนึ่ง ที่อาจเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของเด็กในอนาคตข้างหน้า การฝึกคิด การฝึกฝัน คือ การสร้างฐานสมองให้มีใยเพื่อสานต่อกับสิ่งต่างๆของโลกได้นั่นเอง


๕) ฝึกแสวงหาโอกาส

การแสวงหาโอกาส คือ การใช้เวลานาทีของชีวิตที่กำลังเจริญเติบโต เหมือนต้นไม้เด็กที่กำลังเติบใหญ่ เพื่อรับแสง เพื่อให้รู้ว่า โอกาสเป็นของตน มันเป็นของอิสระ ที่ทุกคนมีอยู่ แต่ใครจะคว้ามาครอง และใช้ให้เกิดประโยชน์ให้กับตน ดังนั้น โอกาส มีสองช่วงคือ เกิดมาจากการสร้างโอกาสเอาเอง คือ รู้ว่าตนเองมีโอกาสอิสระ จึงไขว่าคว้าเอา สอง โอกาสที่คนอื่นมอบให้ ย่อมเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้เรียนรู้ หาประสบการณ์ได้ เด็กๆ ที่เพิ่งเติบโต ย่อมไม่รู้ว่าโอกาสทั้งสองอย่างดังกล่าว

ดังนั้น เด็กควรแสวงหาโอกาสให้เกิดแก่ตน และหาโอกาสที่คนอื่นมอบให้ เพราะโอกาสคือ เป็นบทเรียนที่ไม่มีในตำรา ไม่มีครูคนไหนสอน บางทีโอกาสอาจกลายเป็นทอง บางครั้งโอกาสอาจกลายเป็นลมก็ได้ เหตุผลที่เด็กควรแสวงหาโอกาสคือ เพื่อเรียนรู้ช่องทางของชีวิต และอาจกลายเป็นโอกาสที่จะสร้างฐานาชีพตนเองได้ แต่เด็กๆ มักจะใช้โอกาสไปเพื่อเสพสนุก เพลิดเพลินมากกว่า เช่น การเล่นไลน์ การท่องเวบ เล่นเกมส์ พูดคุย โพสต์ภาพ ฯ ส่วนคนที่สร้างโอกาสได้ ก็ใช้โอกาสนี้เป็นเงิน เป็นทองได้ (e-commerce)


๖) ฝึกสมาธิ

สมาธิ ในที่นี่หมายถึง ความมุ่งมั่นที่จะสร้างฐานความตั้งใจให้แน่วแน่ มั่นคง ลดความวอกแวกต่อกิจกรรมใดๆลง คือ ทั้งกิจกรรมเฉพาะหน้า และกิจกรรมแบบวางแผนไว้แล้ว แต่เด็กๆ ยุคใหม่ไม่ค่อยมีสมาธิ คือขาดความมุ่งมั่น ท้อถอยง่าย เบื่อหน่ายง่าย หงุดหงิดง่าย อ่อนแอง่าย อดทนน้อย ขาดความหนักแน่นในใจ เนื่องจากว่า เกิดมาในท่ามกลางของสูตรสำเร็จรูป เช่น อะไรก็ต้องแบบง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน (แต่เรื่องรัก ทำซ้อนหน้า ซ้อนหลัง ซ้อนกิ๊กซะงั้น) พ่อแม่ส่วนมาก มักจะบ่นว่า ลูกมีสมาธิสั้น นี่คือ ปัญหาสังคมคนเมืองยุคใหม่

การฝึกสมาธิให้ลูกนั้น ต้องอาศัยทฤษฎีทั้งศาสตร์และศิลปะ ทั้งบู๊และบุ๋น แต่พ่อแม่ไม่ค่อยประสีประสาเรื่องการเลี้ยงลูกแบบใหม่ เอาแต่เห่อลูก ประเคนลูกทุกอย่าง (โดยเฉพาะแม่รวย และแม่วัยอ่อน) พอโตหน่อยก็ไม่มีเวลาให้ลูก จึงปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงหรือให้สื่อหล่อหลอม จึงกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตนเอง กลายเป็นลูกแง ลูกเกเร ลูกดื้อ ลูกซน ลูกเทพไป เหตุผลที่เด็กควรได้รับการฝึกสมาธิ เนื่องจากว่า เด็กจะได้รู้จักพฤติกรรมรัศมีของตนว่า การแสดงออก การกระทำเช่นนั้น มีผลต่อตนเองและคนอื่นอย่างไร แต่ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เด็ก หากแต่อยู่ที่พ่อแม่นั่นเอง


๗) ฝึกกำลัง

การฝึกกำลัง หมายถึง การออกกำลังกาย การฝึกหัดเล่นกีฬา การเคลื่อนไหวร่างกาย การเคลื่อนย้ายกายบ่อย ๆ เพื่อให้กำลังที่เด็กๆ มีนั้น สลายไปกับการใช้กำลังที่สร้างสรรค์ การออกกำลังเป็นการสร้างกล้ามเนื้อสมอง กล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อด้านในอวัยวะต่างๆ ให้เกิดความกระชับ มีกล้ามเนื้อแน่นขึ้น การทำงานของร่างกายก็จะไหลเวียนดี สะดวกคล่อง โดยเฉพาะสมองเด็กจะหลั่งสารฮอร์โมนออกมาให้สมดุล การฝึกร่างกายจึงเป็นคุณประโยชน์อย่างดียิ่งต่อร่างกาย เพราะร่างกายกำลังเติบโต

นอกจากนี้ การออกกำลังยังสามารถสร้างอนาคตได้ เช่นการเล่นกีฬาชีพ คือ การเล่นแบบเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้ นอกจากได้ผลดีต่อร่างกายแล้ว ยังได้เงินทอง ได้งานทำ ได้รับความเชื่อถือ มีชื่อเสียงอีกด้วย แต่ในที่นี่มิใช่เป้าหมายที่ผู้เขียนหวัง หากแต่ต้องการให้เด็กรู้จักออกกำลังกาย เพื่อปลดเปลื้องกำลังที่เกินไป ให้กลายเป็นเหงื่อบ้าง เพื่อเบี่ยงเบนเรื่องยาเสพติด เรื่องเพศ เรื่องเกม ซึ่งอาจได้เพื่อน ได้มิตรภาพตามมาได้ เหมือนยิ่งให้ ยิ่งได้


๘) ฝึกหาที่พึ่ง

การหาที่พึ่ง หมายถึง การหาหลัก หาที่อาศัย ที่พักพิง หาที่ยึดเหนี่ยว หาที่ป้องกันภัยให้ตัวเอง เนื่องจากว่า เด็กควรจะได้รับการเลี้ยงดู รักษา ป้องกัน ให้ได้รับความปลอดภัย เพราะวัยเด็ก เป็นวัยที่อ่อนแอต่อสังคม ธรรมดาเด็กๆ ก็จะอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองเช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง อยู่แล้ว แต่บุคคลเหล่านั้น ก็อาจกลายเป็นภัยต่อเด็กก็ได้ ที่พึ่งของเด็กจึงมีหลายที่เช่น ที่มูลนิธิต่างๆ โรงเรียน สถาบันที่ดูแลเด็กโดยตรง กฎหมาย เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ฯ ล้วนเป็นที่พึ่งเด็กได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ที่พึ่งของเด็กยังรวมไปถึงศาสนา เพื่อนๆ ความรู้ ศิลปะการป้องกันตนเอง ฯ ยังสามารถเป็นที่พึ่งของเด็กได้ แต่กระนั้น เด็กยังไม่เข้าในสิทธิ หน้าที่ หลักการ ทฤษฎี หลักศีลธรรม ฯ ที่ที่พึ่งเหล่านี้มอบให้ จึงต้องอาศัยผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องช่วยเหลือ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเด็กว่า จะรับรู้และแสวงหาที่พึ่งเหล่านี้ได้อย่างไร เด็กๆ จึงควรหาที่พึ่งที่หลากหลาย และที่สำคัญที่พึ่งที่เป็นฐานที่จะติดตัวไปจนโตคือ ความรู้และปัญญา ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้


๙) ฝึกสร้างสัมพันธ์

การสร้างความสัมพันธ์ คือ การสร้างเส้นทางที่เชื่อมโยงสังคมให้ตนเอง ได้มองเห็นสังคมโลกมีผลต่อพฤติกรรม ความคิด จิตใจอย่างไร และในขณะเดียวกัน เราเองได้สร้างปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมในทางสร้างสรรค์อย่างไรหรือไม่ และเราจะรู้เท่าทันสังคมคนอื่นอย่างไร ปัจจุบันเด็กๆ มักจะตื่นเต้นกับโลกยุคใหม่ หรือสังคมโชเชี่ยลมิเดียว ที่มีมายาที่ซับซ้อน จนเด็กแยกแยะไม่ออก เด็กๆ จึงตื่นตัวไปกับสังคมแบบใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เด็กจึงหมกมุ่นอยู่กับสื่อจนหลงว่านี่คือ สังคมจริงๆ

ภัยต่างๆ จากสังคมที่เด็กเชื่อมสื่อสัมพันธ์นั้น มิใช่เป็นภาพดีเสมอไป เด็กอยากสร้างสายใยในสังคม แต่ไม่รู้สังคมสื่อมีคุณ มีโทษอย่างไร ทางที่เด็กควรสร้างสัมพันธ์กับสังคมคือ การติดต่อสื่อสาร พูดคุยกับผู้คนต่อหน้ากัน มิใช่เฟสบุ๊ก (น่าจะใช้เซ้นเชลเฟส: ความรู้สึกสีหน้า) ที่ติดต่อสื่อสารกันเพียงอักษร ข้อความ รูปภาพ แต่จิตใจเป็นเช่นไรไม่รู้ ดังนั้น การเข้าค่าย การอบรม การเข้าคอร์สธรรม การทัศนาจร การเดินทางไปที่ต่างๆ การออกไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน คือ การสร้างมิตรภาพจากสายใยหัวใจกันนั่นเอง


๑๐) ฝึกทักษะปัญญา

การฝึกทักษะ คือ การใช้อวัยวะ (ตา หู มือ เท้า สมอง) ในตัวเองให้เกิดความชำนาญ เกิดทักษะในการมอง การคิด การวิเคราะห์ เพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพราะว่า โลกยุคใหม่ ต้องอาศัยความคิด สายตาที่จับได้มั่นแม่น มิใช่เห็น แต่ไม่รู้ รู้แต่ไม่เข้าใจ ทักษะปัญญา คือ มุมมอง ทัศนคติ ที่ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดี มิฉะนั้น จะไม่มีทางมองเห็นสิ่งปรากฏได้อย่างลึกซึ้ง นี่คือ เป้าหมายที่กระทรวงศึกษา และกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ ต้องการให้สมาชิกของชาติ เจริญเติบโตไปเช่นนี้

สำหรับเด็กๆ ยังมีสมองที่ไม่เติบโต จึงไม่พร้อมที่จะสร้างองค์ประกอบทางทักษะด้านปัญญาให้สมบูรณ์ กระนั้น หากเด็กได้รับการเตรียมการ หรือฝึกหัด ฝึกฝน กลไกของกระบวนการคิดวิเคราะห์ เจาะจง ในสิ่งที่พบ ที่เห็นเฉพาะหน้าอย่างง่ายๆ จนสามารถต่อยอดไปสูงขึ้นไปอีกได้ หากสังเกตเด็กยุคใหม่ พบว่า มีเด็กมากมายที่เติบโตด้วยอัจฉริยะคือ มีทักษะ มีความสามารถด้านต่างๆ ที่ก้าวกระโดดมาก เด็กสมัยใหม่รับรู้ข้อมูล สื่อต่างๆ ภาษา สังคม ได้ไวมาก กลายเป็นเด็กกล้าคิด กล้าแสดง กล้าท้าทายสิ่งใหม่ๆ

แต่ต้องระวังทักษะด้านความคิดที่ก้าวกระโดดที่ขาดข้อมูล หรือขาดหลักในการวิเคราะห์ มองเห็นกระแสโลกแบบขาดไตรกาลคือ อดีต ปัจจุบันและอนาคตออก เมื่อนั้น เด็กก็จะเป็นแค่รู้โลก สนุกตามโลก หลงโลก แต่วิเคราะห์โลก สังคม ชีวิต และจิตใจตนเองไม่ออก มันก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักกลเป็นแน่


ทั้งหมดนี้คือ เด็กยุคใหม่ควรทำความเข้าใจให้ดี เมื่อรู้แน่ชัดแล้ว ก็พึงสร้างสังคมให้น่าอยู่ต่อไป กระนั้น สังคมเด็กหรือวัยเด็ก มิใช่เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนประเทศชาติให้เคลื่อนไป หากแต่ต้องอาศัยสังคมวัยผู้ใหญ่คอยสั่งสอน ประคับประคองให้ดำเนินไป เด็กๆ จึงต้องคอยดูบรรพบุรุษของตนที่ทำมา เพราะพวกเขาคือ ตัวอย่างหรือเส้นทางที่เด็กๆ จะต้องดำเนินไปตามเส้นทางอย่างแน่นอน เพราะนี่คือ เส้นทางธรรม ที่มนุษย์ทุกคนต้องถูกบังคับให้เป็นไป ดังนั้น พ่อแม่ วัยชรา จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้เด็กๆ เห็นว่า ชีวิตของพวกเขา มีพ่อแม่เป็นเงาสะท้อนอนาคตของตนเอง


วัยธรรม

ส่วนวัยชราหรือวัยธรรมนั้น เป็นวัยที่ผ่านโลก ผ่านสังคมมาแล้ว ย่อมทบทวน ย้อนกาลเวลาออกว่า โลก สังคม ชีวิต และจิตใจคือ อะไร เป็นวัยที่ควรปล่อยวาง คลายใจ คลายมือ เพื่อมิให้ไปยึดมั่น หน่วงเหนี่ยวโลก สมบัติใดๆ อันจะเป็นเครื่องกั้นกระแสจิตให้บางเบา แต่เป็นหน้าที่ของเด็กๆ ที่ควรรับภาระนี้ตามวัฏจักรต่อไป และวัยนี้ควรทบทวนเอาสาระความรู้มาสู่ตน ให้ได้สมบัติที่เรียกว่า แก่นสารชีวิตดีกว่า ซึ่งพอประมวลได้ดังนี้คือ--


๑) รู้โลก

การรู้โลก หมายถึง การเข้าใจกรอบเชิงกายภาพ ที่สัมพันธ์กับชีวิต เช่น การโคจร การเกิดวัน คืน เกิดฤดูกาล การเคลื่อนไหวของแผ่นดิน ฟ้า อากาศ น้ำ ป่า สัตว์ แรงโน้มถ่วง เวลา ภูเขา คลื่นพลังงาน พายุ อุณหภูมิ ฯ และรวมไปถึงการรู้ว่าโลกคือ ดวงดาวหนึ่งของจักรวาล ระบบสุริยะด้วย กรอบโลกทัศน์เหล่านี้ เป็นเรื่องวิทยาสากลที่เด็กไม่อาจรู้และเข้าใจ ยกเว้นผู้ที่อยู่บนโลกที่ยาวนาน ที่ผ่านกาลเวลา การรับรู้จากกิจกรรมที่ซ้ำซากของโลก ที่ผลักดันให้สิ่งมีชีวิตแปรเปลี่ยนไปด้วย

การเข้าใจโลก จะสร้างให้เราเข้าใจวิถีโลก แล้วค่อยปรับตัวตามกฎของโลก และรวมไปถึงผลการกระทำของเราที่มีผลต่อโลกด้วย เช่น เราตัดไม้ทำลายป่า ทำให้บรรยากาศแปรเปลี่ยน บรรยากาศร้อน ทำให้ผิวโลกร้อน ทำให้ขั้วโลกใต้ เหนือละลาย ทำให้เกิดฝนตกมาก การบริโภคของมนุษย์มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อโลก เพราะยิ่งบริโภคมากเท่าไหร่ โลกก็ยิ่งสูญเสียดุลมากเท่านั้น สิ่งที่ตามมาคือ ฝนมาก พายุมาก น้ำท่วม แล้งหนักขึ้น

ในตัวเราคือ สัดส่วนย่อโลกเอาไว้ เมื่อแม่ใหญ่แปรปรวน โลกส่วนย่อยก็แปรปรวนไปด้วย ที่เห็นชัดเจนคือ กาลเวลาแห่งคืน วัน ที่โคจรในแต่ละวันนั่นคือ ผลสะท้อนที่กระตุ้นให้เราเติบโตและเสื่อมสลายไปด้วย กล่าวง่ายๆคือ โลกคือที่เกิด ที่ดำรงและที่ตายของเรานั่นเอง ดังนั้น เราจะอาศัยโลกเป็นแดนพัฒนาปัญญา และอาศัยการเข้าใจแล้วปล่อยวาง สร้างฐานวิถีชีวิตให้เราเข้าถึงมันอย่างแท้จริง เพราะเรามีเวลาที่จะสำรวจโลกด้วยชีวิตด้วยอายุราว ๕๐ ถึง ๑๐๐ ปี


๒) รู้ชีวิต

การรู้ชีวิต คือ การรู้และเข้าถึงชีวิตตนเอง ซึ่งมีสององค์ประกอบคือ กายภาพและจิตภาพ กายภาพนั้น เป็นรูปภาพทางสสาร ที่เป็นบ่อเกิดของการเปลี่ยนแปลง ส่วนผู้ที่รู้การเปลี่ยนแปลงคือ จิตหรือสมอง เมื่อทั้งสองทำงานร่วมกัน สมองคือ แหล่งเก็บข้อมูลเอาไว้ ข้อมูลทั้งหมดของชีวิตที่สะสมไว้ นั่นคือ ตัวแปรสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับโลก เช่น ประสบการณ์ในการรู้อากาศ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน แล้วชีวิตก็อนุวัตตามตารางกาลเวลาเหล่านี้

สัตว์ส่วนใหญ่จะรู้หรือไม่ว่า พวกเขาคือสิ่งมีชีวิต ในขณะมนุษย์รู้ว่า ตนเองคือสิ่งมีชีวิต แต่ไม่ได้ตระหนักในคำว่า ชีวิตมากนัก หากแต่สนใจในการเอาตัวรอด สนใจในความต้องการของตน และสนใจในสัญชาตญาณของตนเป็นส่วนมาก การรู้จักชีวิต คือ การรู้จักว่าชีวิตคือ ชีวิต ที่มีวงจรของมัน โดยไม่ยึดเอาสัญชาตญาณหรือความรู้พื้นๆว่า ธรรมชาติ แต่ให้รู้อยู่เหนือรู้ว่ารู้ (ในตนเอง) เช่น กายคือ ฐานของชีวิต มองให้ลึกลงไปในชีวิต มีความรู้สึกต่างๆ สะท้อนออกมาตามวิถีของสัตว์ เมื่อหลีกจากวิถีสัตว์ ก็มองให้เหนือนั้น ก็จะเห็นสองภาพคือ ภาพของชีวิต และสภาพของการรับรู้

ดังนั้น คุณค่าที่แท้ของการรู้ชีวิตคือ รู้ว่าชีวิตเป็นไปตามโลก และรู้ว่าความรู้สึกรู้ที่เหนือรู้ (จิตเหนือรู้ รู้เหนือจิต) นั่นแหละคือ รู้ชีวิตที่แท้จริง มีคุณค่าหรือประโยชน์อย่างไร เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์เราย่อมรู้ว่าเราคือ มนุษย์ที่มีวงจรอายุอยู่ไม่นาน การวิเคราะห์ความรู้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นคือ การสำรวจความรู้ และความรู้สึกทั้งธรรมดาและเหนือธรรมดา จนเห็นแก่นภาพของชีวิตจิตใจอยู่เหนือชีวิตได้


๓) รู้กาล

การรู้กาล คือ การรู้วงจรของวันเวลา ที่เกิดมาจากตั้งแต่การโคจรของโลกตามดวงอาทิตย์ ที่ทำให้เกิดฤดูกาล วัน เดือน ปี กาลเวลาเป็นกฎแห่งอมตะ คือมีเกิดแต่ไม่มีตาย การรู้จักเวลา วัน เดือน ปี เป็นการเรียนรู้ที่จะใช้เวลาของชีวิตที่เกิดมาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ในช่วง ๑๐๐ ปี วัน เดือน ปี กำลังหมุนเวียน ผลักดัน ให้ร่างกายของเรา แปรเปลี่ยนไป อย่างไร้ทางหยุด เราจึงมีอายุเพิ่มขึ้น และตรงกันข้ามเราก็มีเวลาอยู่บนโลกน้อยลงเรื่อยๆ

การรู้จักเวลาให้ถึงแก่น คือ การรู้จักใช้เวลาของชีวิตให้คุ้มค่า คุ้มราคาที่เสียไป ไม่ประมาทในกาลเวลาอันน้อยนิดเลย มีคำกล่าวที่ว่า เราซื้อนาฬิกาได้ แต่ซื้อเวลาไม่ได้ หากเราไม่รู้จักเวลา เราก็ใช้เวลาผ่านชีวิตไปแบบสนุกเพลิดเพลิน ที่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่า เราเกิดครั้งเดียว (ภพเดียว) จงใช้ชีวิตให้สนุก ให้คุ้ม มันจริงอย่างนั้นหรือไม่ เราแน่ใจหรือว่า วงจรของชีวิตจะไม่กลับมาอีก หรือถ้าเรารู้แน่ใจจริงๆ การกระทำดังกล่าว คุ้มกับเวลาในปัจจุบันวิถีอย่างไร

ดังนั้น การรู้จักกาล สำหรับมนุษย์ที่อุบัติมาสู่โลกดวงนี้ เรารู้จักใช้ชีวิตตามกาลเวลาในวัน เดือน ปี กว่าจะสิ้นสุดอย่างไร อะไรคือหลักฐานของกาลเวลา อะไรคือ สัญลักษณ์ของอายุ ร่างกายคือ หลักฐานการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา หากไร้ชีวิต ไร้ข้อมูลในสมอง และไร้ความรู้สึกใดๆ เราจะไม่มีทางรู้กาลเวลาเลย ห้วงกระเปาะของเวลาที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตคือ ปัจจุบันขณะที่นี่และเดี๋ยวนี้


๔) รู้กรรม

การรู้กรรม คือ การรู้การกระทำ การแสดงออกของ ๓ สิ่งคือ (๑) โลกกระทำต่อสรรพสิ่ง ที่อยู่บนโลกอย่างไร เช่น แรงโน้มถ่วง แผ่นดินไหว ฝนตก ฟ้าร้อง ไฟไหม้ การโคจรรอบดวงอาทิตย์ ฯ การกระทำดังกล่าวไม่ได้มีตัวเจตนาเป็นแรงผลัก แต่เป็นกริยากรรมไปตามกลไกของวิถีโลกเท่านั้น มะม่วงเมื่อสุกมันย่อมหล่นลงพื้น ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก เป็นกฎการหมุ่นวนซึ่งเป็นกฎการกระทำของกฎโลก (๒) การทำของธรรมชาติคือ สรรพสิ่งที่อยู่ในโลก เมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีแรงปฏิสัมพันธ์ต่อกันเสมอ เช่น ดอกไม้ย่อมดึงดูดแมลง แมลง สัตว์ต่างๆ กินพืช กินกันเอง มนุษย์กินพืชและสัตว์ ฯ ทั้งหมดที่อยู่ในโลกจึงมีพันธกิจต่อกัน และกลายเป็นระบบนิเวศน์ต่อกัน

(๓) การกระทำของสิ่งมีชีวิต ในที่นี่หมายถึง มนุษย์ผู้มีจิตกำเนิดแห่งเจตนาอยู่ เพื่อตัวเองหรือสิ่งเจอปนจิต พฤติกรรมของมนุษย์เป็นพฤติกรรมอยู่ ๒ ประเภทคือ พฤติกรรมแบบสัตว์ คือ ดำเนินไปตามสัญชาตญาณ โดยไม่ต้องควบคุม และพฤติกรรมแบบมนุษย์ ที่ควบคุมได้ด้วยเจตจำนงของปัญญาหรือสามัญสำนึก ในที่นี่ ผู้กระทำกรรมที่มีแรงเจตจำนง ถือว่า เป็นผลของการกระทำที่มีน้ำหนัก เนื่องจากได้วางแผนและทุ่มเทเจตนาเอาไว้

ดังนั้น การรู้จักรรม จึงรู้ตามกรรมดังกล่าวนั้น ทีนี้เมื่อพูดถึงกรรม ผู้คนมักจะเทความหมายว่า เป็นผลร้ายร่ำไป เนื่องจากว่า ไม่แยกแยะคำว่า กรรม ออกให้ชัด หากจะสรุปอีกทีคงย่อได้เป็นสองคือ กรรมแบบไร้เจ้าเจตน์ กับกรรมที่มีเจ้าเจตน์ กรรมแรกคือ การกระทำทั่วๆ ไป ส่วนอันหลังคือ การกระทำเฉพาะในสัตว์มนุษย์ ที่หมายเอาเจตนาเป็นผล ซึ่งผลก็มี ๓ ชนิดคือ ผลลบ ผลบวก และผลกลางๆ ในชีวิตของเรา ซึ่งตลอดเวลา เรากระทำที่ถือว่าเป็นกรรมอะไรตกค้างในจิตวิญญาณทั้งลบ บวกและกลางๆ หรือไม่


๕) รู้ธรรม

การรู้ธรรม คือ การรู้หลักต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในรูปกายภาพและนามภาพไว้ ทั้งที่ถูกสร้างและกำเนิดเอง คำว่า ธรรม ในที่นี่ หมายเอา (๑) สภาพที่ปรากฏขึ้น ดำเนินไป และหายไป ปรากฏการณ์ดังกล่าว เรามองเห็นจริงหรือไม่ (๒) ระเบียบระบบ วินัย ข้อประพฤติ ปฏิบัติตามได้ ซึ่งถือว่า เป็นครรลองเชิงอุดมคติ ที่ดีงาม เจริญ เหมาะสม ที่เรียกว่า จรรยาวัตร มีแต่เฉพาะสัตว์มนุษย์เท่านั้น (๓) ธรรมชาติของความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง วุ่นวาย ทุกข์ และสงบเงียบ ที่ขดอยู่ในวงจรแคบๆ ที่เรียกว่า จิตหรือวิญญาณ ซึ่งถือว่า เป็นแกนแห่งเวทีของการกระทำเงียบๆ ข้างในตนเอง เรียกว่า กัมมันตะ

การรู้ระดับที่ซับซ้อนซ่อนความจริงดังกล่าวนี้ มีแต่มนุษย์ผู้ที่ผ่านกาลฝึกฝน ผ่านกาลเรียนรู้อย่างเข้มข้นเท่านั้น จึงจะมองมิติที่ลุ่มลึกนี้ได้ โดยเฉพาะผู้เกิดมาบนโลกที่ยาวนาน ย่อมพอมีข้อมูลดิบๆ เหล่านี้ได้ ข้อมูลดิบของสมองนั่นคือ ตัวที่จะไขรหัสความจริงแท้ที่เรียกว่า ธรรม ที่ปรากฏในตนเอง โดยอาศัยการควบจิต หรือการพาจิตจำศีล เข้าเงียบ นิ่งๆ ในมิติเอกภาพอย่างลุ่มลึก จึงจะไขรหัสธรรมนี้ได้ ซึ่งมนุษย์ที่ผ่านโลกมานานหรือคนเข้าสู่วัยชราเท่านั้น จะพอมีสิทธิ์

ดังนั้น การรู้ธรรมที่ถือว่าใกล้ตัว ใกล้ชีวิตมากที่สุดคือ การรู้จิตหรือการรู้ข้อมูลสมองที่ถูกเก็บไว้เป็นข้อมูลกรองโลก มองโลก มองธรรม มองรู้ มองตนเอง จนสามารถตกผลึกเป็นหลักธรรมชาติสากลที่สรรพสัตว์ต้องได้รับหรือเป็นอยู่เช่นนั้นอย่างแน่นอน การสรุปหรือมองเห็นรหัสลับข้างในโลก ชีวิต จิตวิญญาณได้ ถือว่า เป็นการรู้ธรรมเฉพาะตนแล้ว


๖) รู้กฎ

การรู้กฎ คือ การรู้วิถีกฎเกณฑ์ของระบบธรรมชาติทั้งรูปธรรมและนามธรรม กฎที่ว่านี้มี ๒ ชนิดคือ (๑) กฎที่เป็นไปตามกลไกของสรรพสิ่งโดยอัตโนมัติ เช่น โลกหมุนรอบตัวเอง และรอบดวงอาทิตย์ หัวใจ กระเพาะ และปอด ทำงานเองอย่างอัตโนมัติ น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ สัตว์มีเกิด มีตาย เป็นต้น (๒) กฎที่สัตว์ มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง โดยอิงจากพฤติกรรมของหมู่คณะหรือสภาพแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นกฎที่เปลี่ยนแปลงได้สำหรับมนุษย์ แต่สำหรับสัตว์อาจถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้

มนุษย์ที่เกิดมายาวนาน ย่อมรู้เห็นปรากฏการณ์ สิ่งที่รู้สึกได้ทางประสาทสัมผัส และผ่านทางจิตใจ จึงสมารถมองเห็นสิ่งรอบๆ ตัวในแง่กฎทั้งสองได้ ชีวิตจึงกลายเป็นแหล่งความรู้ แหล่งเรียนรู้และแหล่งแสดงความรู้สึกต่างๆ ที่สอดคล้องกับกฎต่างๆ ด้วย จึงพบว่า คนที่มีอายุมากจึงสามารถมองเห็นอนาคตและสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ เรียกว่า มีประสบการณ์ชีวิต ย่อมเห็นกฎในตนเองด้วย ด้วยเหตุนี้ คนมีอายุจึงแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับกฎดังกล่าวได้ดีอย่างเหมาะสม ซึ่งต่างจากเด็กๆ ที่อาศัยลองผิด ลองถูกไปก่อน

ดังนั้น คนชราหรือวัยธรรม จึงมีทัศนคติต่อชีวิตที่สงบ แน่นอน มั่นคง เยือกกเย็น สุขุม ตามกลไกของวิถีธรรมชาติมากที่สุด การรู้กฎที่ว่านี้ได้ว่า รู้เพราะอยู่นาน ชำนาญเพราะช่ำชอง มีมุมมองอย่างมั่นคง ไม่หลงตามโลกและสังคม กระนั้น ในสังคมยุคใหม่ คนแก่มากมายถูกหลอก ถูกลวง เพราะความอยากได้ อยากรวยมากขึ้น จนกลายเป็นถูกหลอกเอาทรัพย์ไป นี่คือ อยากแลกอยาก จึงลำบากเพราะอยาก


๗) รู้เกิด -ตาย

การรู้การเกิด การตาย คือ การรู้จุดกำเนิดของตน และรู้ว่าตนจักต้องตายอย่างสงบ ไม่หวาดกลัว นอกจากนั้น การรู้ดังกล่าวยังเกี่ยวโยงไปถึง การรู้ (หลักทฤษฎี) ไปถึงภพคือ ที่ไปในปรโลกหน้า ว่ามีขั้นตอนไป-กลับอย่างไร ถ้ายังมีเจตจำนงที่อยากเดินทางอยู่ นอกจากนี้ ยังต้องรู้วิธีดับจิตก่อนทิ้งร่างด้วย เพื่อให้เป็นปัจฉิมมรรค ก่อนไปสู่โลกใหม่ แม้ไม่อาจรู้ได้อย่างลึกซึ้ง แต่ขอให้นำพาจิตก่อนทิ้งร่างไปว่าทำอย่างไรก็พอ เพราะวัยนี้ มีเส้นทางเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง หรือเหมือนวัยกล้วยไม้แล้ว

การรู้สิ่งใดๆ ในโลก ในชีวิต ในจิตของตนสมัยใกล้จวนเจียนนี้ คงไม่มีความรู้ใดๆ อื่นนอกจาก รู้ภาวะจิตก่อนจบ ไปสู่การจุติ การเข้าใจชีวิตที่ผ่านก็คงหาข้อยุติได้หมดแล้ว คงถอนความสงสัยหมดแล้ว ไร้จินตนาการสร้างฝันอีกแล้ว อาจยังมีภาระที่ผูกพันบ้างเช่น ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน งานต่างๆ ที่ค้างไว้ อย่างไรเสีย ต้องเคลียร์ให้หมดจด หมดสิ้นเยื่อใย เพราะหากจิตหลุดไปวันใด ใจยังโหยหาอาลัยสมบัติอยู่ การเกิดมาครั้งนี้ก็สูญเปล่าหรือไร้สาระ เพราะยังต้องมาเฝ้าทรัพย์ของตนอีก

ดังนั้น การรู้การเกิด จึงเหมือนรู้การดับไปด้วย เพราะถ้ารู้เหนือรู้ในการเกิด และการดับ นั่นแหละคือ ความรู้ที่เรียกว่า รู้แจ้งแห่งปัญญา ฉะนั้น การมีชีวิตที่ยาวนาน หากขาดการรู้ที่ว่านี้ ก็ถือว่า ขาดคุณภาพหรือขาดแก่นสารของการเกิดมา เพราะไม่อาศัยกาลเวลาของชีวิตที่ยาวนานมาฝึกฝน เรียนรู้กลไกให้พ้นวงจรหลุมดำนี้ได้


๘) รู้ปล่อย ละ ผละ วาง

การปล่อยวาง คือ การยอมสละ เตรียมใจสลัดสรรพเยื่อใยทั้งหลายให้ขาดไป สิ้นไป คนชราย่อมเห็นโลก เห็นแก่นแกนของชีวิตดีแล้ว ย่อมตระหนักดีว่า สิ่งที่น่าหลงใหล สิ่งที่เป็นมายา สิ่งที่เป็นก้อนทอง ก้อนหิน ที่แบกไว้บนบ่านั้น มันหนักมากขนาดไหน เป็นภาระที่ต้องดูแลมากขนาดไหน นอกจากนั้น ร่างกาย สังขาร คือ บ้านเรือนที่ต้องทำความสะอาดเช็ดปัดกวาดถูอยู่สม่ำเสมอไม่ขาด อีกทั้งบ้านหลังนี้ ยังกลายเป็นรัง เป็นตู้ เป็นธนาคาร เป็นห้องหับรับเอาสรรพสิ่งที่ใจสะสมมา หมักหมกไว้จนกลายเป็นสารพิษ กัดกร่อนจิตใจ

เมื่ออายุมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อ รอเพียงว่าจะตัดเชือกลมปราณไปตอนไหน คนมีอายุวัยนี้ควรดำรงอยู่ในวิหารธรรม คือ อาศัยอาคารบ้านธรรม มีธรรมเป็นทาง เป็นที่อยู่ ที่พักพิงในวาระสุดท้าย ไม่ควรไปวิ่งเต้น เล่นละครมายาอีกต่อไป ควรทำตัวเหมือนดังหนอนหม่อน เมื่อมันแก่ตัวหรือใกล้จะสุก มันก็เริ่มชักใย ห่อหุ้มรุมล้อมตัวเอง เพื่อฟักตัว เพื่อแปรสภาพชีวิตระดับหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งอย่างไม่ใยดีใดๆ เลย ฉันนั้น นี่คือ การปล่อยวาง สลัดทิ้งเยื่อใยให้หมด มิฉะนั้น จะกลายสายใย ที่ติดจิตไปสูภพใหม่ด้วย

ดังนั้น การรู้ตัวรู้ของจิต นั่นคือตัวดับรู้ในจิตด้วยเช่นกัน เหมือนดั่งรู้กาย และรู้เหนือรู้กายอีกชั้น ย่อมจะเห็นกฎแห่งวงเวียนชีวิต ที่มีทางออกอยู่ในภาวะแห่งรู้นั้น (สภาวะวิชา ที่อยู่ใต้สภาวะปัญญา) การรู้ด้วยการละ การวาง การปลงใจ สงบจิต สงบความรู้สึก นั่นคือ การสงบแห่งสายพานของภพ ของชาติตนเอง ไม่มีใครบอกใครได้นอกจากตนเองรู้เอง


๙) รู้ปัจจุบันขณะจิต

การรู้ในทุกขณะจิต คือ การกำหนดเอาความรู้สึกทั้งหมด มาควบจิตให้ตกอยู่ในภพอะตอมของขณะน้อยๆ ความรู้ของมนุษย์ที่เหนือสัตว์ทั้งปวงตรงที่ "รู้ตัวรู้" (knowing in itself) ซึ่งสัตว์ไม่มีทางรู้เช่นนี้ อาจเข้าใจยาก เพราะนี่คือ วรรคทองแห่งพาราด๊อก (paradox) ที่เป็นจริง การรู้วรรคทองเช่นนี้ ต้องอาศัยการฝึกฝน และอาศัยการสะสมเวลาในการสร้างฐานภูมิรู้ โดยเฉพาะผู้อายุมากที่มีภาระหรือมีเยื่อใยสองกองคือ กองหนึ่งเป็นภาวะจิตของจิต อีกกองคือ ภาระกายของกาย อันนี้เป็นภาระที่ร่างกาย ที่ไปผูกพันมั่นหมายกับทรัพย์ สมบัติทางร่างกาย ที่เปื่อยเน่า ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ เมื่อขาดการฝึกรู้ ฝึกปล่อยผละ ละวางที่มือ ที่สมอง จึงกลายเป็นพันธการกายไป

ส่วนอันแรกนั้น เป็นเรื่องพันธนาการทางจิต ที่ผูกมัด มั่นหมายในความวิตก ความหวาดกลัว ความไม่รู้ ความไม่แน่ใจ จนกลายเป็นความไม่มั่นคงทางจิตวิญญาณ เวลาจะก้าวเดินไปทางอื่นหรือทางตรงข้ามกับชีวิต จึงไม่กล้าเผชิญความจริง เรื่องนี้เป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน กระนั้น ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เหนือมนุษย์จะทำได้ เพราะมนุษย์มีพุทธภาวะอยู่ในตัว ในจิตอยู่แล้ว จะขาดไปก็ตรงที่ไม่มีใครเชื่อมทางให้เดิน หรือเปิดทางให้เห็นแสงรำไรที่ปลายอุโมง

ดังนั้น หลักการหรือวิธีการ ขั้นตอน อยู่ในตัวเราทุกคน โดยเฉพาะคนแก่ชรา จะเป็นจุดแข็งของการฝึกจิตแบบรู้ขณะจิตได้ เด็กไม่มีทางรู้ได้ เพราะมีแรงผลักต้านเยอะ ในรูปแบบของชาวพุทธที่ฝึกกันอาศัยบันไดลมหายใจเป็นพื้นฐาน โดยหาทำเลที่สัปปายะ ที่สงบนิ่งเงียบ แล้วร่ายมนต์กลจิต ให้อยู่กับกาย และจ้องดูการเคลื่อนไหวของกาย มีลมหายใจเป็นเครื่องจักร ในการตามรู้ ดูเห็นพลังกลของจิต ที่รับและรู้พลังการเคลื่อนไวทุกขณะๆ แล้วยกจิตอยู่เหนือ "รู้" การรู้จากการเคลื่อนกาย (ลมปอด ท้อง) และการเคลื่อนไหวของจิตที่คิด แล่นไปมา ไปมา ไม่รู้รอบ กี่ครั้ง ซ้ำไป ซ้ำมา ดั่งวงจรที่เกิด-ดับในอภิภพนั่นแล


๑๐) รู้ทางไปปรโลก

การรู้ทางไปสู่โลกหน้า (hereafter) คือ การแสวงหาจุดพักพิงของจิตวิญญาณที่ต้องการอยากพบจุดที่สงบสุขอันถาวร อันที่จริง เรื่องคติที่ไปภายภาคหน้านี้เป็นอุดมคติที่มนุษย์เสาะแสวงหามานานว่า เป็นที่แดนบริสุทธิ์ เป็นแดนอมตะ เป็นบรมสุข เป็นแดนสุขวดี เป็นแดนศูนยตาภาวะ โลกเทวภาวะฯ นั่นเป็นจริงแค่ไหน ยังหาข้อพิสูจน์ยาก ในขั้นนี้ ต้องยอมตามทัศนคติตามหลักการของศาสนาต่างๆไปก่อน หากพิสูจน์ได้ค่อยว่ากัน

สิ่งหนึ่งที่มนุษย์นับล้านๆ ที่(ตาย)ผ่านมา ที่จุติมากำเนิดเป็นมนุษย์แล้วก็ดับสิ้นไปบนโลกนี้ จนหาที่สุดไม่ได้ว่า มนุษย์จะเกิดไปอีกนานเท่าไหร่ และจะมีวิญญาณจิตที่รอจุติอยู่อีกกี่ล้าน ที่ผ่านมาบรรพบุรุษของมนุษย์ต่างสืบค้นหาทางไปสู่แห่งความตายมาแล้วทั้งสิ้น เช่น ชาวอียิปต์ ชาวอินคา ชาวอินเดีย ชาวจีน ฯ ต่างก็ยังหาจุดสากลร่วมกันไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีนักปรัชญาและนักศาสนา ต่างก็พยายามสร้างหลักการ ทฤษฎีขึ้นอย่างน่าเชื่อถือ จนกลายเป็นที่นิยมกัน

ในที่นี่ ไม่ขอโต้แย้ง หักล้างใดๆ และไม่ยืนยันทางแท้ เพราะมีคติของแต่ละคนมากมาย แต่จะขอพูดเฉพาะเส้นแบ่งโลกที่บางๆ ระหว่าง "โลกเป็นและโลกตาย" โลก"เป็น"คือ โลกของชีวิตที่มีจิตสมบูรณ์รับรู้โลกจริงที่เป็นๆ ได้ และรู้สภาพแวดล้อมได้ นั่นคือ สายพานที่จะเชื่อมต่อสายพานโลก"ตาย"ได้ หมายความว่า การล่วงรู้โลกอื่นนั้น จะต้องอาศัยโลก"เป็น"ของจิต เป็นผู้ดำเนินไป ดังนั้น โลกของชีวิตเบื้องปลายจึงถือว่า ใกล้สภาวะกึ่งทางระหว่าง "เป็นและตาย" หากจิตผู้เป็น สามารฝึกจิตทะลุถึงเส้นแบ่งโลกทั้งสองได้ นั่นคือ ทางพิสูจน์ แต่หากทำไม่ได้ ก็ต้องรอคอยมนุษย์รุ่นต่อไป


ดังนั้น นี่คือ วัยสองขั้ว ที่นำเสนอว่า เด็กที่เกิดมาสู่โลกนี้ ถือว่า เป็นผู้มาใหม่ (new comer) ส่วนผู้ใหญ่วัยชรา ถือว่าเป็นผู้กำลังจะข้ามฝั่ง (coming soon) เป็นวัยที่สะท้อนสองขั้วที่ต่างกันเหมือนเดินทางไปปลายสุดสายกัน คือ เด็กกำลังตามไป ขณะผู้ใหญ่กำลังจะลับไป วัยทั้งสองจึงสะท้อนหลักแง่คิดให้เราได้รู้เห็นการครองชีวิต มีเส้นทางตามหลักสากลของธรรมชาติเช่นนี้ ไม่มีทางหลีกหลบได้ แล้ววัยทั้งสองก็สอนเราว่า วัยเด็กคือ วัยที่ต้อง"ทำ"กิจกรรมต่างๆ ในเบื้องต้น เพื่อเป็นฐานชีวิตข้างหน้า ส่วนวัยชราคือ วัยธรรม ที่สะท้อนกฎ ของกาย ตามธรรมชาติของกาล ที่แก่ชรากลายเป็นผู้แสดงธรรมให้คนรุ่นใหม่ ได้รู้ ได้เห็น ได้ตระหนักเอาไว้ว่า นี่คือ อนาคตของตน

--------------------------(๑๖/๑๒/๕๗)--------------------------

คำสำคัญ (Tags): #วัยทำ วัยธรรม
หมายเลขบันทึก: 582605เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2014 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2014 00:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

...เป็นบันทึกที่ทำให้เข้าใจถึงช่องว่าง และความแตกต่างระหว่างวัย ได้ชัดเจนมากๆนะคะ แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ...ทำอย่างไร? จึงจะลดช่องว่างระหว่างคนในสังคม ทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ...ทำอย่างไร?ผู้ที่เกิดก่อนจะเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ผู้ที่เกิดทีหลังมองเห็นความสำคัญ ให้การยอมรับ มีความเคารพนับถือ ...สุดท้ายทำอย่างไรจึงจะสร้างกระบวนการขัดเกลาทางสังคมให้เข็มแข็ง เพราะเท่าที่มองเห็นการ Socialization Process แทบทุกสังคมในโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากๆจนผู้ที่เกิดก่อน ต้องตามคนเกิดทีหลังแล้วนะคะท่านอาจารย์...

Thank you for the insightful points. But I feel that deviding young from old is not integrating our society. It justifies further separation on other bases too.

I think we should consider "foundational training" such as ariya-sacca and the 3 ~naa.nas (sacca-~naa.na, kicca-*, kata-*) in our lives more. These basic Buddhist Teachings can be applied to all ages and at any time.

(I have written about ariya-sacca when we just replace the word 'dukkha' with 'need'. or 'requirement' or 'want' and the principle still works. I have written about how we can relook at the 5 khandhas and learn to learn. I should write about the way we should acquire '~naa.na' ญาณ or knowledge.)

อ่านบันทึกนี้แล้ว...ชวนนึกถึง
ธรรมชาติ คือบ่อเกิดความรู้
มนุษย์ คือนักถอดบทเรียน
ถอดปรากฏการณ์ธรรมชาติ
จนมาเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากมิติจนบัดนี้ เลย

ขอบพระคุณครับ

สัตว์ทั้งหลาย..เป็น..ผู้ร่วมทุกข์สุข เกิดแก่เจ็บตาย..ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น..จงเป็นสุขๆเถิดอย่าได้เบียดเบียน..ซึ่งกันและกันเลย...(ท่องบ่น..กันไป..นะ..คน..นะ..ผู้เป็นไม่ธรรมดาสำหรับสัตว์โลก...)...

ชอบมากบทความนี้ละเอียดละออมากๆๆเจ้าค่ะ...

มีดอกไม้มาฝาก..มีรักมามอบให้..สุขสันต์..วัน..ตรุษจีน..เจ้าค่ะ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท