หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (​ดุริยางคศิลป์) : การพัฒนาวงลูกทุ่งนักเรียนและการบรรลุภารกิจ ๓ In ๑


โครงการการพัฒนาวงดนตรีลูกทุ่งโรงเรียนน้ำพองศึกษา อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ของวิทยาลัย ดุริยางคศิลป์ มีความเป็นรูปธรรมด้านการบูรณาการภารกิจแบบ In ๑ อย่างน่าสนใจ (บริการวิชาการ > การเรียนการสอน > การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม) คงเหลือแต่เฉพาะด้านการวิจัยเท่านั้นที่ยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้คู่บริการ

ปี ๒๕๕๗ "โจทย์การทำงาน" เริ่มจากการที่นิสิตกลับมาจากการฝึกสอนแล้วสะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนน้ำพองศึกษามีต้นทุนอันเป็น "วงลูกทุ่ง" ที่ดี กล่าวคือ มีการตั้งวงและบรรจุเป็นสาระการเรียนรู้ผ่านความเป็น "ชุมนุม" (ชมรม) ในโรงเรียน มีการแสดงต่อเนื่องทั้งในโรงเรียนและชุมชน แต่กลับยังไม่ประสบความสำเร็จตามครรลองการ "เรียนรู้" และการ "แข่งขัน" ในระดับภูมิภาค เพียงเพราะยังติดอยู่กับข้อจำกัดด้านงบประมาณและการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้าน เช่น

  • ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเรื่องการบรรเลงเครื่องดนตรี
    ในแต่ละชิ้น
  • ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการขับร้อง
  • ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเต้น
  • ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการบรรเลงวง



ในทางด้านการเรียนการสอน โครงการดังกล่าวฯ นำนิสิตจากรายวิชาที่เกี่ยวข้อง (Western Music Ensemble, Western Music Skill) รวมถึงชมรม "ชมรมดนตรีสากล" มาช่วยถ่ายทอดและฝึกทักษะแก่นักเรียนแบบ "ตัวต่อตัว" ครอบคลุมเครื่องดนตรีทุกชิ้นที่มีในวง รวมถึงการฝึกทักษะการร้องเพลง เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ความเป็นศาสตร์และศิลป์ของการแสดงดนตรี นับตั้งแต่การประเมินความรู้และทักษะเบื้องต้นของนักเรียน จากนั้นจึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงที่มีทั้งการทำแบบฝึกหัด การฟังเพลง แกะโน้ต ศึกษาโน้ต การเตรียมความพร้อมทางดนตรี (Music Warm-up) การแยกซ้อมกลุ่มย่อย การซ้อมรวมวง ฯลฯ



เช่นเดียวกับการ "บูรณาการศาสตร์" ร่วมกับหลักสูตร "ศิลปะและการแสดง" (คณะศิลปกรรมศาสตร์) ด้วยการถ่ายทอดความรู้และทักษะการเต้นที่ร่วมสมัยให้กับครูและนักเรียน ก่อเกิดความรู้ใหม่ เรื่อง "ออกแบบท่าเต้น" และการ "อบอุ่นร่างกาย" (Warm-up Section) ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เนื่องเพราะเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อและการยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความพร้อมต่อการแสดง โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองประเด็นถือเป็นจุดอ่อนที่ทางโรงเรียนยังขาดความรู้และทักษะเป็นอย่างมาก



ส่วนด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มีการบูรณาการให้นิสิตและนักเรียน ตลอดจนคณะครูได้เรียนรู้ความเป็นศิลปะในศาสตร์ของดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ที่เป็นพื้นบ้านและร่วมสมัยอย่างจริงจัง ไม่ได้เน้นแต่เพียงการฝึกซ้อมไปสู่การแข่งขัน เพื่อความเป็นเลิศในระดับจังหวัด ภูมิภาคและประเทศเท่านั้น หากแต่เน้นย้ำเพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของดนตรีและการแสดงที่ยึดโยงอยู่กับความเป็น "ภูมิปัญญา" ของมนุษย์ บทบาทของดนตรีและการแสดงที่มีต่อการ "สร้างชีวิต" และ "จรรโลงสังคม" หรือการทำหน้าที่บ่งบอก "อัตลักษณ์ความเป็นชาติ" รวมถึงการวางหมุดหมายนำเอาต้นทุนในท้องถิ่นมารังสรรค์เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงของวง ทั้งที่เป็นดนตรี คำร้องและการเต้นรำ โดยในทุกกระบวนการเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างอาจารย์ นิสิต คณะครูและนักเรียน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง หรือคณะกรรมการการศึกษาประจำโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วม หรือสังเกตการณ์เป็นระยะๆ



ปัจจุบันวงลูกทุ่งโรงเรียนน้ำพองศึกษา ได้รับความนิยมชมชอบจากท้องถิ่นและชุมชนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีโปรแกรมออกแสดงและบริการสังคมต่อเนื่อง ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ ผู้ปกครองรวมถึงภาครัฐและเอกชนเริ่มให้การสนับสนุนเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ ขณะที่นักเรียนเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดี เช่น มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่มากยิ่งขึ้น มาฝึกซ้อมตรงเวลา หรือไม่ก็มาก่อนเวลา ไม่หนีหายไปอยู่ในร้านเกมเพื่อรอเวลาฝึกซ้อมเหมือนในอดีต มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือกันทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม มีความภูมิใจในความเป็นชุมชนและโรงเรียนของตนเอง




เช่นเดียวกับปัจจุบันวงลูกทุ่งดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นตัวแทนเขต ๔ ของจังหวัดขอนแก่น เตรียมเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมศิลปวัฒนธรรมนักเรียนในระดับภูมิภาค ส่วนหนึ่งได้รับการรันตีจากภาคส่วนตรงกันว่ามีพัฒนาการแสดงที่ลงตัวกว่าทุกๆ ปี ทั้งดนตรี การร้องและการเต้น อันเป็นผลพวงการเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มิใช่สักแต่ขับเคลื่อนตามกระแสตัวชี้วัด หรือขับเคลื่อนในแบบครั้งสองครั้งก็จากหายไป โดยไม่สนใจว่ากระบวนการทั้งปวงล้วนสำคัญและมีพลังต่อการพัฒนาคนและสังคมอย่างยิ่งใหญ่


หมายเหตุ :

ปี ๒๕๕๗ สาขาดุริยางคศิลป์ ได้รับการประเมินให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ จากเวทีโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน

หมายเลขบันทึก: 582282เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2014 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นโครงการนี้พบว่า

โรงเรียนและคณะทำงานร่วมกัน

นักเรียนได้เรียนรู้ นิสิตได้เรียนรู้ มหาวิทยาลัยได้ช่วยกันบริการสังคม

เยี่ยมมากมาก

ขอแสดงความยินดีกับสาขาดุริยางคศิลป์ ได้รับการประเมินให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ จากเวทีโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน

ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท