(87) ลูกขี้อิจฉา!


.. ดิฉันพบเธอคนหนึ่งครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ ในสภาพที่ถูกผูกไว้ในรถเข็นนั่ง เธอร้องไห้ไม่หยุด​สลับกับร้องตะโกนซ้ำๆ ว่า "แก้ให้แหน่ๆ" นานกว่า 15 นาทีแล้ว

วันนี้ดิฉันอ่านบทความเรื่อง 'วิธีป้องกันคุณลูก (พี่น้อง) ทะเลาะกัน' ของ นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ (https://www.gotoknow.org/posts/582082) สรุปอย่างสั้นที่สุดได้ว่าปัญหานี้มีสาเหตุมาจากความ 'ความอิจฉา-ริษยา' กัน ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติแบบไม่คงเส้นคงวาของผู้ปกครองและคนรอบข้างที่มีอิทธิพลต่อเด็กค่ะ .. ดิฉันนึกถึงประสบการณ์การเลี้ยงลูกสาวสองคนที่ห่างกันเพียง 2 ปีครึ่ง น้องสาวกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่พี่สาวอยู่ในวัยรักและหวงแหนพ่อ-แม่มากที่สุด เราจึงระมัดระวังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พยายามนำความรู้และทักษะที่เป็นพยาบาลจิตเวชทั้งพ่อ-แม่มาปฏิบัติกับลูกของตน เรียกว่าเปิดตำราเลี้ยงลูกกันเลยทีเดียว .. ก็คุ้มค่านะคะ

หลังจากโฆษณาชวนเชื่อ สักเล็กน้อย ก็มาเข้าเรื่องนะคะ วันนี้ดิฉันจะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพยาบาลจิตเวชในบทบาทพ่อแม่ที่ต้อง 'เลี้ยงลูก' ซึ่งมีอาการทางจิต+ปัญญาอ่อน+ความพิการซ้ำซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เด็กๆ ทั่วไปต้องการความรักความเอาใจใส่มากเพียงใด เด็กกลุ่มนี้ต้องการมากกว่าหลายเท่าทวีคูณ แม้เวลาผ่านไป 30 ปี เขาหรือเธอเหล่านี้ก็ยังคงเป็น 'เด็ก' อยู่เช่นเดิม .. เมื่อเธอๆ เห็นดิฉัน (เหมือนเห็นแม่) เธอจะร้องเรียก 'หมอตู่ๆๆ' พร้อมกับวิ่งร้อยเมตรตรงเข้าโผกอดดิฉัน พร้อมกับน้ำหนักตัวเกินพิกัด .. ภาพหมู 2 ตัวล้มกลิ้งลงบนพื้นสนามจึงเป็นภาพชินตาของคนพระศรีมหาโพธิ์ค่ะ ปัจจุบันเด็กๆ กลุ่มนี้ของดิฉันต่างชราภาพไปพร้อมกับแม่ตู่ของเธอ แต่เธอก็ยังคงต้องการความรักมากเป็นพิเศษ .. เหมือนเดิม

ช่วง 10 ปีหลังดิฉันถูกย้ายไปปฏิบัติงานในพื้นที่แผนกชาย จะได้พบปะพวกเธอเมื่อมาตรวจเยี่ยมสัปดาห์ละครั้งในบทบาทของผู้นิเทศนอกเวลาราชการเท่านั้น ดิฉันพบเธอคนหนึ่งครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ ในสภาพที่ถูกผูกไว้ในรถเข็นนั่ง เธอร้องไห้ไม่หยุดสลับกับตะโกนซ้ำๆ ว่า "แก้ให้แหน่ๆ" (ช่วยแก้ผ้าผูกมัดให้ฉันหน่อย) นานกว่า 15 นาทีแล้ว ทันทีที่ดิฉันเดินขึ้นบันไดตึกผู้ป่วย น้องพยาบาลก็รีบขอคำปรึกษาทันที "พี่ทำไงดี เธอร้องไม่หยุดเลย"

แล้วเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เช้านี้เธอไล่ตีผู้ป่วยทุกคนที่พยาบาลพูดด้วย ห้ามไว้ก็รับฟัง แต่ครู่เดียวก็ไปตีคนอื่นอีก พยาบาลจะให้การดูแลใครไม่ได้เลย จึงต้องผูกมัดไว้ เมื่อดิฉันซักไซ้รายละเอียดก็พบว่า มีสาเหตุมาจากความอิจฉา 'คู่กรณี' ค่ะ

ขออภัย! ถ้าจะถามว่าเข้าใจคำว่าคู่กรณีใช่ไหมคะ? กับคนอื่นพอยอมได้ แต่แหม .. ถ้ากับคู่กรณีละ เป็นไงเป็นกัน! ใช่เลย

ดิฉันก็ให้คำแนะนำว่าให้ประเมินและปฏิบัติเป็นขั้นตอนแบบนั้น แบบนี้ เท่าที่บทบาทผู้นิเทศจะทำได้ ก่อนกลับออกมาก็หันไปย้ำกับน้องพยาบาลว่า

"จำไว้ว่า หากจะปรับพฤติกรรมคนไข้สักคน นั่นหมายความว่าเธอต้องปรับพฤติกรรมบุคลากรทุกคน" "ตั้งแต่หัวหน้าถึงลูกน้องคนสุดท้าย ไม่มีการยกเว้น"

"คิดดูก็แล้วกันว่า อยู่ที่บ้านมีพ่อ-แม่เพียง 2 คน อย่างมาก ก็มีปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาอีกหนึ่งโขยง ยังปฏิบัติไปคนละอย่าง เมื่อไม่สม่ำเสมอเด็กก็สับสน แล้วที่นี่มีพ่อ-แม่ยี่สิบกว่าคน (บุคลากรทุกระดับทั้งหอผู้ป่วย)"

ฮา.. เมื่อถึงบางอ้อ! (อุปสรรคสำหรับการปรับพฤติกรรมผู้ป่วย) พวกเราก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน

เข้าใจแล้วใช่ไหมคะ ว่าการเลี้ยงดูลูกให้มีความรักความผูกพันกันนั้น นอกจากจะอิงหลักการที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมออีกด้วย ที่สำคัญคือเด็กๆ ควรมีพ่อ-แม่(หรือโมเดลหลัก) ให้เด็กเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน.. เป็นเหตุผลหนึ่งที่ดิฉันและสามีตัดสินใจแยกครอบครัวออกมาอยู่ห่างไกลญาติของทั้งสองฝ่าย ที่ดูเหมือนจะรักเรามากเกินไปค่ะ

ต้องขอขอบคุณ พ่อปู่แม่ย่า พ่อตาแม่ยาย ลุงป้าน้าอา เพื่อนพ้องน้องพี่ ที่ยอมให้เราปลีกตัวออกมาเติบโตเข้มแข็งในที่ไกลๆ โดยลำพัง โดยยังคงรักและเยี่ยมเยือนกันอย่างสม่ำเสมอค่ะ

หมายเลขบันทึก: 582252เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2014 23:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะคุณหมอที่ถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆมาให้ได้อ่าน

นอกจากจะอิงหลักการที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

...

ขอบคุณครับ สำหรับวาทกรรมหลักคิด ฐานคิดอันสำคัญที่ชวนตระหนักอย่างยิ่งใหญ่...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท