"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

​"โยนิโสมนสิการ: การคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ"


๑๐/๑๒/๒๕๕๗

****************

"โยนิโสมนสิการ: การคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ"

............การคิดแบบโยนิโสมนสิการเป็นการคิดตามแนวปรัชญาตะวันออก โดยอาศัยหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่หลักการคิดตามแบบของตะวันตกหรือหลักการของนักคิดทฤษฎีฝรั่งที่เราได้ศึกษาเรียนรู้กันมาจากตำราทางสังคมศาสตร์และตำราอื่นๆ ทั่วไป

............บันทึกก่อนหน้านี้ เคยกล่าวถึงหลักวิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียมมาบ้างแล้ว โดยพื้นฐานก็มีจุดเริ่มที่ไม่ต่างกันคือ ต้องมีการเรียนรู้จากภายนอกหรือกัลยาณมิตรต่างๆ รอบตัวเราเสียก่อน เรียกว่า ปรโตโฆสะ ขอแปลว่า องค์ความรู้จากภายนอก เมื่อได้ศึกษาเรียนรู้หลักการวิธีการดีแล้ว ก็นำมาใคร่ครวญ พินิจพิจารณา คิดประมวลผล กำหนดลักษณะ คุณลักษณะความสำคัญอย่างละเอียดรอบคอบ ด้วยตนเอง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

...........ครั้งนี้กล่าวถึงหลักวิธีคิดหนึ่งที่ท่านพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)ได้ชี้แนะแนวทางไว้ในพุทธธรรมคือ "การคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ" โดยเริ่มจากขอยกหลักคำสอนในพระไตรปิฎก(ออนไลน์) ที่เห็นว่าเกี่ยวข้องมาแสดงไว้ วชิราสูตร(เล่ม๑๕/ข้อ๕๕๔/หน้า๑๙๐)และมหาหัตถิปโทปมสูตร(ผู้เห็นธรรม) เล่ม๑๒/ข้อ๓๔๖/หน้า๒๕๒-๒๕๓. มาแสดงก่อนคือ...

"...ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่า "สัตว์" ฯ เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียง(เรียก)ว่า "รถ" ย่อมมี ฉันใด ฯ เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่า "สัตว์" ย่อมมี ฉันนั้น..."

"ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้า แวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า เป็น "เรือน" ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูกและอาศัยเอ็นเนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า "รูป" ฉันนั้นเหมือนกัน...รูป แห่งสภาพที่เป็นแล้วอย่างนั้นอันใด...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ...ย่อมถึงความสงเคราะห์ ในอุปาทานขันธ์ ...การสงเคราะห์ การประชุมพร้อม หมวดหมู่แห่ง"อุปาทานขันธ์ ๕" เหล่านี้ ย่อมมีได้ ด้วยประการอย่างนี้..."

...........ดังตัวอย่างที่ยกมานี้ชี้ให้เห็นถึงการควบรวมและการแยกแยะไปพร้อมๆ กัน หลักการหรือหลักธรรมทางพุทธศาสนาประสงค์ให้ผู้ศึกษาเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เข้าใจว่าสิ่งไหนเป็นรูปธรรม สิ่งไหนเป็นนามธรรม เข้าใจเรื่องความเป็นจริงตามที่มัน(สิ่งต่างๆ)เป็น ไม่ยึดติดในความเป็นสิ่งสมมุติ ยกตัวอย่าง คน หรือมนุษย์ ชื่อที่สมมุติกัน เช่น นาย ชาย. นาย ชาติ. นาง น้อย. นาง นี. เป็นต้น ล้วนแต่เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาทั้งนั้น หากพิจารณาโดยละเอียดลึกลงไปให้เห็นตามสภาพเป็นจริง ของคน หรือมนุษย์แล้ว จะเห็นว่าเป็น "รูป" คือ มีกระดูก เอ็น เนื้อ หนังหุ้ม ประกอบกันขึ้น ทางพระท่านเรียกว่า "ธาตุ ๔" คือ ดิน ลักษณะแค่นแข็งเป็นก้อน ร่างกายที่มีลักษณะนี้ เช่น ผม ขน เล็บ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกฯลฯ ก็จัดไว้ในหมวดนี้, น้ำ ลักษณะไหลเอิบอาบแผ่ซึมซาบไปได้ทั่ว เช่น เลือด หนอง น้ำดื่ม น้ำลายฯลฯ ก็จัดในหมวดนี้, ลม ลักษณะเคลื่อนไหวขึ้นลงในร่างกาย รวมทั้งลมหายใจเข้าออกก็จัดในหมวดนี้, ไฟ ลักษณะร้อนเผาผลาญ ย่อยสลาย อุณหภูมิความร้อนในร่างกายก็จัดเข้าในหมวดนี้...

...........ที่กล่าวมาคือ รูปขันธ์ กอง หรือ หมวดหมู่แห่งรูป เราเรียกรวมว่า "รูปธรรม" ยังขาดส่วนที่เป็น "นามธรรม" คือ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ, สัญญา ความจำได้ หมายรู้, สังขาร ความปรุงแต่งคิดนึกสิ่งที่รู้สึกและจำได้, และวิญญาณ ความรับรู้หรือเสวยอารมณ์เมื่อมีสิ่งมากระทบอายตนะภายในตัวตนของเรา (ตา+รูป,หู+เสียง,จมูก+กลิ่น,ลิ้น(ปาก)+รสชาติ,กาย+สัมผัส,ใจ+ธรรมารมณ์=เกิดความรู้ขึ้นเรียกตามชื่อสิ่งนั้นๆ) หลายท่านคงรู้และได้ศึกษามาบ้างแล้ว จักได้นำมาเขียนโดยละเอียดในโอกาสต่อไป

...........สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นการแยกแยะองค์ประกอบของ "คน" เป็นกองๆแบบ "ขันธ์ ๕" เพื่อให้เห็นถึงรายละเอียดหรือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปในทางบรรเทาความทะยานอยาก(ตัณหา) และบรรเทาเบาบางความรู้ไม่จริง(อวิชชา)ความยึดติดถือมั่น(อุปาทาน)ของตน เห็นการเกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนไปตามหลักไตรลักษณ์(ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) หลักการวิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบทางพุทธศาสนามุ่งหวังไปอย่างนี้

...........การคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ ท่านเรียกอีกอย่างว่า "การคิดวิเคราะห์" เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานหรือการศึกษาเรียนรู้ได้ โดยแยก แตกประเด็นของสิ่งต่าง ๆ ออกมา เพื่อง่ายต่อการคิดคำนวณ การวัด การประเมินผล เป็นต้น เช่น ตัวอย่างที่กล่าวถึงในเบื้องต้นคือ "เรือน" สมัยก่อนอาจไม่มีอะไรมากมายนัก ปัจจุบันเรือน เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า "บ้าน" การสร้างบ้านสักหลังมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เราต้องนำองค์ประกอบมาแยกแยะออกเป็นส่วนๆ เช่น

  • เสา กี่ต้น ต้นละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • คาน ระหว่างเสากี่ตัว ตัวละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • ตง รับไม้กระดานกี่ตัว ตัวละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • กระดาน หรือไม้ปูพื้น ใช้กี่แผ่น แผ่นละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • ประตู พร้อมวงกบกี่ด้าน ชุดละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • หน้าต่าง พร้อมวงกบกี่ด้าน ชุดละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • ไม้ฝา ทั้งหมดกี่แผ่น หรือจะใช้วัสดุอะไรแทนดี ราคาแผ่นละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • ไม้จันทัน กี่ตัว ตัวละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • ไม้แป กี่ตัว ตัวละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • เหล็กรับสังกะสีหรือกระเบื้อง กี่เล่ม เล่มละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่
  • สังกะสี หรือกระเบื้อง ใช้กี่แผ่น แผ่นละเท่าไหร่ คิดเป็นเงินเท่าไหร่

..........ส่วนประกอบอาจไม่ครบทั้งหมด เท่าที่จำเป็นและพอนึกได้ก็ประมาณนี้ พอเราแยกแยะองค์ประกอบได้ดังนี้ และคิดคำนวณทั้งหมดแล้ว ก็จะรู้ว่า ค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านของเราหลังหนึ่งนั้น ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไหร่ และพื้นที่กว้างยาวเท่าไหร่...ต้องเขียนลงในหน้ากระดาษพร้อมกับเตรียมโฉนดไปขอกู้เงินกับธนาคารเพื่อนำเงินมาสร้างบ้าน(ฮา) เป็นต้น...

...........มองในมุมของธุรกิจบ้าง เช่น ตัวอย่างในเรื่อง "รถ" ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นที่ว่า "เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียง(เรียก)ว่า "รถ" ย่อมมี..."

...........ยกตัวอย่างรถมอเตอร์ไซค์(รถเครื่อง) ส่วนทั้งหลายของ "รถเครื่อง" มีอะไรบ้าง เราลองนั่งหลับตาแล้วแตกแยกส่วนของรถดูกัน มองจากล่างขึ้นบน คือ...

  • ล้อหน้าพร้อมดุม ซี่ลวดและสลักยึด ขนาดขอบวงล้อเท่าไหร่ ราคาชุดละเท่าไหร่
  • ล้อหลังพร้อมดุม ซี่ลวดและสลักยึด ขนาดขอบวงล้อเท่าไหร่ ราคาชุดละเท่าไหร่
  • โช๊คคู่หน้า รุ่นไหน หนึ่งชุดคู่ละเท่าไหร่
  • โช๊คคู่หลัง รุ่นไหน หนึ่งชุดคู่ละเท่าไหร่
  • โครงหรือเฟรมรถ รุ่นไหน ราคาเท่าไหร่
  • เครื่องรถ รุ่นไหน กี่จังหวะ ราคาเครื่องละเท่าไหร่
  • แบตเตอรี่ พร้อมชุดสายไฟ รุ่นไหน ราคาชุดละเท่าไหร่
  • แฮนด์จับหน้า ชุดละเท่าไหร่
  • ไฟหน้า ชุดละเท่าไหร่
  • แผงไมล์หน้า ชุดละเท่าไหร่
  • ชุดไฟเลี้ยวหน้า ชุดละเท่าไหร่
  • ชุดไฟเลี้ยวหลัง ชุดละเท่าไหร่
  • คาบูเรเตอร์ รุ่นใด ชุดละเท่าไหร่
  • ถังน้ำมัน รุ่นไหน ถังละเท่าไหร่
  • เบาะนั่ง เบาะละเท่าไหร่
  • เฟรมจับท้าย ตัวละเท่าไหร่
  • ไฟเลี้ยวท้าย อันละเท่าไหร่
  • จานเบรกหรือกล่องผ้าเบรกหน้าหลัง ชุดละเท่าไหร่
  • ท่อไอเสีย ตัวละเท่าไหร่
  • โซ่ สะเตอหน้าหลัง หนึ่งชุด ราคาเท่าไหร่
  • รถรุ่นใหญ่ อาจต้องใช้หรือมีชุดน้ำยาหล่อเย็นเพิ่มเข้ามา


..........เมื่อเห็นภาพทั้งหมดของรถหรือแยกแยะส่วนประกอบออกทั้งหมดดังนี้แล้ว ก็ไม่เหลือความเป็น "รถ" อีก หากแต่สามารถคุมหรือนำมาประกอบเป็นตัว "รถ" ได้ สามารถนำไปคิดคำนวณ ราคาอุปกรณ์ อะหลั่ยแต่ละชิ้น รู้ค่าใช้จ่ายต่อชิ้น การลงทุน ราคาซ่อมหรือติดตั้ง สถานที่เก็บรักษา การเป็นช่าง ฯลฯ เหมาะกับห้างร้านที่ซ่อมประกอบและขายรถมอเตอร์ไซค์เป็นอย่างมาก...

...........มองในมุมการศึกษาอีกสักตัวอย่าง ทางด้านการศึกษาการแตกประเด็นองค์ความรู้ด้วยแผนผังก้างปลา แผนผังองค์กรหรือวิทยาลัย การจำแนกรายละเอียดของแบบสอบถาม ก็ใช้แนวคิดเดียวกันนี้ได้ ขอยกตัวอย่างแบบที่โรงเรียนสายน้ำผึ้ง(อ้างอิงด้านล่าง)โดยคุณครู Chalengsak Chuaorrawan แสดงไว้ โดยตั้งประเด็นคำถามนำว่า...

"...ทำไมเราจึงสอบตกวิชาพระพุทธศาสนา

นำวิธีการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาของเรา มาพิจารณา ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง อาทิ โรงเรียน สภาพแวดล้อม เวลา ตารางสอน ครู ตัวเรา เพื่อน ตำราเรียน สิ่งที่เราได้รับมอบหมายให้ทำ แบบฝึกหัด การบ้าน การสอบ ฯลฯ แล้วส่วนใดที่เราสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ให้นำสิ่งนั้นมาพิจารณาหาจุดบกพร่อง ปรับปรุง แก้ไข อุดช่องว่าง ที่จะทำให้เราได้คะแนนน้อยลง หรือมีวิธีการใดอีกที่จะทำให้เราได้คะแนนเพิ่มขึ้น โดยไม่ทำให้ตัวเราและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน..."

.........เป็นหลักวิธีคิดแยกแยะองค์ประกอบที่ผู้เขียนเห็นว่าดีมาก สามารถนำไปปรับใช้ได้กับระบบการศึกษาอื่นๆ ได้อีกมาก

นอกจากนี้ยังสามารถปรับใช้ได้กับสิ่งอื่นๆ อีกตามความหมายของ "ขันธ์" คือ กอง, หมวด, หมู่, ส่วน, กลุ่ม(ผู้เขียน) เช่น กองข้าว, กองหิน, กองทราย, กองเงินหรือกองทุนฯ, หมวดคำศัพท์, หมวดร่างกาย, หมวดวิทย์, หมู่อาหาร, หมู่แมลง, ส่วนงาน, ส่วนองค์กร, กลุ่มชาวนา,กลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มอสม. ที่เกี่ยวกับภาระหน้าที่แบบนี้ก็สามารถปรับใช้ได้เช่นกันครับ

..........บันทึกนี้ก็คงจะยาวมากเกินไปแล้ว ขอพักแนวคิดนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน...

...

อ้างอิง

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_page/?book=15

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_page/?book=12

http://www.sainampeung.ac.th/chalengsak/units/unit1/chapter%208/borihanchit/yoniso2.html

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C

...

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจ ขอบคุณโกทูโนว์

หมายเลขบันทึก: 581997เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2014 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสมาชิก ครู อาจารย์ คุณหมอ กัลยาณมิตรที่เคารพรักทุกท่าน...ที่ให้กำลังใจและคำขอบคุณมากครับผม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท