"เราอ่อนแอตอนไหนบ้าง?"



ภาพจาก www.ubmthai.com

เมื่อวานได้ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งที่นอนป่วยอยู่ที่รพ.ฮันยี ซึ่งพูดไม่ได้ เห็นเราก็เอาแต่ร้องไห้อย่างเดียว และเมื่อเดินทางกลับ ทำให้ได้อะไรจากคนป่วยเป็นธรรมะด้วย สิ่งหนึ่งที่ชวนให้คิดถึงช่วงหนึ่งของชีวิตมนุษย์เราคือ เราอ่อนแอในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้เราส่วนใหญ่จะฮึกเหิม มั่นใจตนเองว่า ฉันยังแข็งแรงก็ตาม เมื่อยังไม่ถึงวันนั้น เราย่อมประมาทในกาลเวลาและความอ่อนแอของตน

ผู้เขียนจึงขอยกเอาช่วงที่เราอ่อนแอมาขยาย เพื่อให้เรารู้และตระหนักว่า ชีวิตมิได้มั่นคงหรือยั่งยืน แข็งแรงอย่างที่เราต้องการหรือขอพร รับพรตามความปรารถนาของเรา และเพื่อเตือนตนเองว่า สักวันหนึ่งเราจะพบกับจุดอ่อนของชีวิตนี้แน่นอน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราไม่ประมาทในชีวิตและกาลเวลา ซึ่งมีดังนี้--


๑) ยามเป็นเด็กทารกเมื่อครั้งอยู่ในครรภ์และช่วงคลอดใหม่

เราเกิดมาด้วยความเงื่อนไขของกาลเวลา อาหารและอากาศ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง หากเราขาดสิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นไปในความเป็นมนุษย์ได้ยาก ความอ่อนแอในช่วงนี้คือ ไม่สามารถต่อสู้เพื่อตัวเองได้ กินเองไม่ได้ ปกป้องตนเองไม่ได้ ไม่รู้ดี รู้ชั่ว ไม่รู้สิ่งอันตรายใดๆ เคลื่อนไหวไม่ได้ เหมือนเป็นมนุษย์พิการฉันนั้น แต่เราก็โชคดีที่มีพ่อแม่เมตตา ชุบเลี้ยง ปกป้อง ดูแลจนเราเจริญเติบโต เมื่อโตขึ้น เรายังคิดว่า เราพึ่งตนเองได้และอิสระจากการช่วยเหลือจากคนอื่นกระนั้นหรือ

๒) เวลานอนหลับ

เมื่อเราเกิดมา กลไกของร่างกายต้องการพักผ่อน เพื่อให้สมองกรองกิจกรรมและการทำงานอย่างอิสระภายใน การนอนหรือการพักผ่อนคือ การซ่อมแซมร่างกาย การสร้างสรรค์ระบบภายใน เป็นการดูแลตัวเองในระบบทั้งหมด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตอบสนองกิจกรรมข้างนอกของเรา การนอนหลับจึงอยู่สภาพที่อ่อนแอคือ ไม่รู้อะไรทั้งหมด ขาดสติ ไม่รู้ภัย ไม่รู้ดี ชั่ว เป็นการหยุดทำงานภายในอย่างสิ้นเชิงเพียงชั่วครู่ เราจึงเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายได้ง่าย เหมือนเรากำลังตายอยู่ฉันนั้น

๓) ยามพิการ

ร่างกายเมื่อเกิดมาแล้ว กลับไม่สมบูรณ์เหมือนคนอื่นๆ ย่อมไม่สามารถที่จะตอบสนองกิจการใดๆ ๆ ได้ ขาดประสิทธิภาพในการทำงานหรือการช่วยเหลือตนเอง จึงบกพร่องในการป้องกันตัวเอง จึงอยู่สภาพที่อ่อนแอ ไม่อาจเสี่ยงที่จะถูกคนอื่นทำร้ายหรือรังแกได้ ชีวิตจึงตกอยู่สภาพที่พึ่งตนเองไม่ได้ จึงตกเป็นภาระของพ่อแม่ ญาติหรือคนอื่นๆ ร่ำไป เหมือนมีชีวิตแต่ขาดจิตวิญญาณของตนเองอย่างแท้จริง

๔) อยู่คนเดียว

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงต้องอยู่กันเป็นกลุ่มชุมชน เพื่อปกป้องดูแล หรือตอบสนองตามความต้องการของตนเอง เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่ลำบากนัก หากใครหลีกแยก แตกกอ ไปอยู่ด้วยตนเองตามลำพัง ย่อมจะอยู่อย่างลำบาก จนอ่อนแอ และเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย รังแก ข่มเหงได้ง่าย เพราะขาดพลังสามัคคีของคนอื่นคอยช่วยเหลือ หรือยามเจ็บป่วย บาดเจ็บมา ขาดคนอื่นช่วย ขาดยารักษา และขาดเครื่องมืออุปกรณ์ช่วยเหลือ ย่อมอยู่ลำบากยิ่งไปอีก โดยเฉพาะสตรี ที่อยู่คนเดียวตามลำพัง ยิ่งเสี่ยงต่อชีวิตอย่างยิ่ง เหมือนต้นไม้ที่สูงเดี่ยว ย่อมเสี่ยงต่อพายุ ลมฝนโค่นได้

๕) ยามเจ็บป่วย

ยามเจ็บป่วยคือ ยามที่มนุษยือ่อนแอที่สุด เมื่อกายสิ้นกำลัง ก็ยากที่จะมีใจดิ้นรนต่อไปได้ เพราะร่างกายคือ ฐานกำลังใจ หากขาดกำลังกาย ย่อมยากที่ใจจะฮึกเหิมได้ จึงทำให้จิตใจตกกระไดพลอยโจรไปด้วย การเจ็บไข้ได้ป่วย จึงเป็นช่วงที่เราต้องการกำลังใจ เหมือนประหนึ่งว่า เราไม่มีภูมิกำลัง และภูมิคุ้มใจ เราจึงรู้สึกอ่อนแอ ท้อแท้ ถึงขนาดอยากตายก็มี เช่น คนที่เป็นโรคร้าย หรือป่วยเรื้อรัง ยิ่งป่วยนานเท่าไหร่ ยิ่งบั่นทอนกำลังใจลง จึงอยู่ในช่วงภาวะที่อ่อนแอไปด้วย เหมือนเดินไปในทะเลทรายฉันนั้น

๖) ยามอยู่ในสังคม

มนุษย์ต้องการ "ความต้องการ" ของตนเองให้สมบูรณ์จากสังคม หมายถึง เราอยู่ในสังคมที่แออัดมากมาย เช่น สังคมคนเมือง ทุกคนย่อมมองไม่เห็นความต้องการของคนอื่น (นอกจากพ่อค้า) จึงตั้งเอาตนเองเป็นฐานในการมุ่งมั่นที่จะหาทางเอาตัวรอด แข่งขัน เห็นแก่ตัว จนตนเองรอดพ้นเท่านั้นเป็นหลัก การแสดงออกเช่นนี้ของผู้คนในสังคม จึงกลายเป็นเรื่องที่หาน้ำใจยาก หาคนที่มีจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ยากยิ่ง เราจึงพบว่า ยิ่งมนุษย์อยู่ในเมืองที่แออัดมากเท่าไหร่ มนุษย์ยิ่งอ่อนแอตาม ที่แปลกกว่านั้นคือ ผู้ที่แข็งแรงกลับกลายเป็นการแสวงหาประโยชน์จากคนอ่อนแออยู่ร่ำไป เหมือนนกอยู่ในกรงทองฉันนั้น

๗) ยามอยู่ในสงคราม

สงครามคือ สนามแห่งการต่อสู้ ใครอ่อนแอคือ คนที่ตายไปแล้วครึ่งตัว ไม่มีประเทศไหน สังคมไหน มีความสงบสุขเมื่อเกิดภาวะสงคราม มีแต่จะเกิดเป็นกลียุค ที่ไร้ขื่อแป ไร้กฎหมาย ไร้มารยาท ไร้กติกา จนนำไปสู่การเกิดภาวะยุ่งเหยิง จนอาจทำให้มนุษย์เสี่ยงที่จะถูกทำ้ราย ก่อจราจล ทุกชีวิตจึงตกอยู่ในภาวะที่อ่อนแอที่สุด น่ากลัวที่สุด เพราะพ่อแม่ พี่น้อง ที่พึ่ง ที่หลบภัย ไม่มีใครช่วยใครได้ทั้งสิ้น จึงต้องพลัดพรากแตกแยกกันไปอย่างน่าสลดหดหู่ที่สุด เหมือนสัตว์ที่ถูกล่าให้วิ่งหนีไปอย่างไร้ที่หลบภัยฉันนั้น

๘) ยามอยู่ป่า เขา ถ้ำ

มนุษย์เมืองล้วนเต็มไปด้วยอันตรายต่อชีวิตทั้งสิ้น แต่ก่อนเราอยู่ในป่า เขา ถ้ำ ย่อมอยู่ด้วยความตื่นตัว ระวังภัยอยู่ตลอดเวลา เพราะมีอันตรายมากมายเช่น งู เสือ สัตว์ร้าย ผีสาง แผ่นดินไหว ภูเขาไฟ ฝนตก ฟ้าร้อง ฯ มนุษย์จึงอ่อนแอง่าย เพราะต้องเสี่ยงกับภัยต่างๆ มากมาย การอยู่เช่นนั้น ทำให้มนุษย์ต้องหาที่พึ่ง หาที่อาศัยใหม่เช่น สร้างบ้าน สร้างชุมชน เพื่อปกป้องตนเอง แต่ครั้นเมื่อมาอยู่รวมกันเป็นมนุษย์เมือง มนุษย์กลับล่ากันเอง ข่มเหง ทำร้าย แย่งชิงสิ่งของกันเอง เหมือนมนุษย์อยู่ในป่า ในถ้ำฉันนั้น

๙) อยู่กับสัตว์ร้าย

เมื่ออยู่ในป่า เรากลัวสัตว์ร้ายมากิน เราจึงต้องหาทางป้องกันตนเอง เช่น สร้างอาวุธ สร้างบ้าน สร้างกับดัก เพราะความกลัว ความอ่อนแอทางกายภาพนี้เอง ที่สร้างความเข้มแข็งทางปัญญาขึ้นมา จนที่สุดเราก็สามารถจับสัตว์ร้ายเหล่านั้น มาเป็นเครื่องมือใช้งาน เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เสือ สิงโต ฯ กระนั้นก็ตาม เราก็คงได้ยินว่า สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่าที่ถูกจับมาทำร้ายมนุษย์ สัตว์ไม่ว่าชนิดไหน ย่อมมีเชื้อชาติแห่งสัตว์ป่าเสมอ และสัตว์พวกนั้น ย่อมมีอาวุธในตัวเอง ไม่ว่า พิษ งา เขา เล็บ เขี้ยว กรง ฯ มนุษย์ย่อมไม่อาจต่อกรได้ ฉะนั้น มนุษย์จึงอ่อนแอเสมอเมื่ออยู่กับสัตว์ต่างๆ จึงพึระวังเสมอว่า สัตว์มีอาวุธในตัว เหมือนเรากำลังเราเดินเปลือยตัวให้ยุงกัดฉันนั้น

๑๐) ยามท้อแท้ สิ้นหวัง

เมื่อไหร่ก็ตาม เมื่อจิตขาดพลังต่อสู้ หรือกำลังใจ สิ้นหวัง ร้องไห้ กำลังกายย่อมอ่อนแอลง กำลังใจคือ น้ำหล่อเลี้ยงกำลังกายให้ดำเนินไป มนุษย์ดูลึกๆ และดูภาพรวมแล้วเหมือนอ่อนแออยู่เสมอ ทั้งๆ ก่อนหน้านี้เราไม่เคยหวัง ไม่มีใจต่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์เรากลับสร้างความหวัง สร้างกำลังใจให้เกิดเป็นที่พึ่งแก่ชีวิตตนเอง เราทุ่มเทใจให้กับสิ่งลวงๆ นั้น พอสิ้นหวัง หมดหวัง กลับจะทำร้ายตน ฆ่าตนเอง เหมือนนั่งลอยอยู่บนก้อนเมฆที่ลอยไปฉันนั้น

๑๑) ยามเมา

ชีวิตเกิดมาไม่รู้จักเครื่องมอมเมาใดๆ เพราะมนุษย์กิน เสพ ดื่ม สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ จนเห็นสิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งที่น่าหลงใหล น่าลอง น่าท้าทาย บางเรื่องก็ถูกชักจูงให้ลอง ให้เสพ จนกลายเป็นผู้ติดเอง อาหาร น้ำ อากาศ คือ สิ่งจำเป็นที่ร่างกายติดไปแล้วอย่างขาดไม่ได้ เพราะนั่นคือ สิ่งหล่อเลี้ยงกาย แต่สิ่งที่มนุษย์เรียกว่า ยาอี ยาไอซ์ ยาบ้า สุรา ฝิ่น สิ่งเสพติด ฯ เป็นสิ่งที่มอมเมาสมอง จนร่างกายเรียกร้อง เพราะสร้างให้มันติด เมื่อติดแล้วเรากลับเสียสติ เสียการยับยั้งชั่งใจ ที่จะควบคุมร่างกายและสติปัญญาของตน จึงกลายเป็นคนประมาท ขาดสติ และกลายเป็นคนอ่อนแอในที่สุด เหมือนสายน้ำที่ไหลไปตามแรงโน้มถ่วงฉันนั้น

๑๒) ยามหวาดกลัว ตกใจ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเรื่องร้ายขึ้น ผู้คนที่ขาดการฝึกฝน ย่อมมีจิตเตลิด ปล่อยให้จิตหวาดหวั่น จนเสียจริต เสียสติ ขาดการตั้งใจ ตั้งสติให้อยู่เฉพาะหน้าไม่ได้ คิดวิเคราะห์ไม่ได้ ย่อมกลายเป็นนิสัยของสัญชาตญาณออกมา คือ ส่งเสียง โวยวายหรือตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ช็อกใจ จนทำให้ต้องหาทางวิ่งหนี ลนลาน หรือขัดขืน ต่อสู้ จนอาจกลายเป็นภัยต่อตนเองได้ สภาพดังกล่าวเข้าสู่การตกอยู่ในความอ่อนแอหรือเสียสติได้ ทำอย่างไรเราจะเสียสัตย์ เสียทรัพย์ เสียตัว เพื่อรักษาชีพได้ การกลัวเช่นนี้เหมือนโจรนักธุรกิจปล้นพรหมจารีย์ฉันนั้น

๑๓) ยามเดินทางบนเครื่อง

ในสมัยใหม่ ผู้คนเดินทางโดยเครื่องบินบ่อยๆ การเดินทางเช่นนี้ เป็นการเดินทางแบบเสี่ยงแล้ว ๙๐ เปอร์เซ็นต์กับความตาย เมื่อเราขึ้นเครื่องก็หมดสิทธิที่จะโดดลงเครื่อง หรือบินออกจากเครื่องได้เลย เราไม่มีทางออกจากเครื่องได้ เมื่อเครื่องพาไปไหน เราก็ต้องไปด้วย ไม่มีทางค้านได้เลย นี่คือ ภาวะที่เราทำอะไรไม่ได้ ถือว่าเราอ่อนแอเป็นที่สุด ลักษณะอื่นๆเช่น บนรถยนต์ รถไฟ ฯ ย่อมมีลักษณะเดียวกันนี้ การเดินทางแต่ละครั้ง เราจึงสะสมความออ่นแอเอาไว้ตลอด (ประมาท) จนเราลืมสนิทว่า เราอยู่เหนือแผ่นดิน เหมือนเรากำลังเดินทางไปสู่หลักประหารฉันนั้น

๑๔) ยามแก่ชรา

แน่นอนทีเดียวว่า เมื่อร่างกายทรุด แก่หง่อม โทรมทรุดลง ย่อมจะหมดกำลัง ยากที่จะพยุงร่างกายให้เคลื่อนไหวไปได้ มีทางเดียวคือ นั่ง นอน ประหนึ่งเด็กทารกเมื่อครั้งชีวิตเริ่มใหม่ๆ หมดหนทางที่จะช่วยเหลือตนเอง หากมีใครมาทำร้าย ก็คงหมดทางต่อสู้ ปกป้องตนเองได้ บุคคลเช่นนั้น ย่อมได้ชื่อว่า อ่อนแอเป็นที่สุด ลูกๆ พึงตระหนักเรื่องนี้ ๒ กรณีคือ ๑) พ่อแม่เหมือนเด็กทารก (เหมือนลูกเมื่อแรกเกิด) ลูกควรดูแลเอาใจใส่เหมือนที่ท่านเคยเอาใจใส่ลูกมาก่อน ๒) พ่อแม่คือ แบบอย่างที่ลูกกำลังเดินทางไปสู่ทางที่พ่อแม่กำลังสาธิตให้เห็นอยู่เช่นนี้ ซึ่งจะเป็นแม่แบบของลูกของลูก ของลูกต่อไป ลักษณะนี้เหมือนแม่ปูสอนลูกปูให้เดินทางตรงฉันนั้น

๑๕) ยามโกรธ

เวลาปกติเราก็แสดงพฤติกรรมปกติ แต่เมื่อไหร่เราแสดงอาการโกรธ ฉุนเฉียว โมโห จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของเราเหมือนกำลังเผาไหม้ตัวเองให้เกิดไฟรุ่มร้อน เฟื่องฟู จนกลายเป็นเปลวไฟไหม้คนอื่น อาการไม่พอใจ ไม่ชอบใจ จนทะลุปรอทสูงสุด จนทำให้ปรอทแตกได้ เวลานั้น สติ กาย ใจเรามันถูกครอบงำด้วยไฟโมโห จนขาดการชั่งใจ ขาดปัญญา ขาดคุณธรรมได้ จนทำให้เราไม่รู้ทางที่จะทำอะไรในข้างหน้าได้ จึงมุทะลุดุเดือด เลือดพล่าน กลายเป็นคนเสียอาการทรงสติ หมดสายตาแห่งอนาคตได้ จึงทำได้เฉพาะหน้าด้วยแรงกระตุ้นความโกรธอย่างสุดขีด บุคคลเช่นนี้ ย่อมเป็นคนที่อ่อนแอที่สุด กล้า บ้าบิ่น ที่จะทำอะไรได้อย่างมืดมน เช่น ฆ่าตนเอง ฆ่าคนอื่น ทำลายข้าวของ ไม่ละอายใคร เหมือนไฟที่เผาไหม้สรรพสิ่งไม่หวั่นกลัวใดๆฉันนั้น

๑๖) ยามถูกกุมขัง

ปกติเมื่อเราไม่ถูกจับมัด มือเท้า ร่างกาย เราจะทำอะไรก็ได้ จึงทำให้เรามีกำลัง มีพลังที่จะต่อสู้กับอะไรก็ได้ จนเราเชื่อมั่นตนเองว่า เราแข็งแรง มีกำลังมากพอ ตรงข้ามหากเราเอากำลังไปทำร้ายคนอื่น ย่อมถูกลงโทษด้วยการถูกจับกุม ล่ามโซ่ ติดคุก ติดตาราง เมื่อนั้นเราย่อมหมดฤทธิ์ลง ไม่ว่าจะเก่ง มีอำนาจแค่ไหน เมื่อถูกจับกุม คุมขัง ย่อมไม่มีทางจะต่อสู้ได้ ด้วยเหตุนี้ตำรวจจึงจ้องใส่กุญแจมือโจร เมื่อโดนจับได้ เพื่อมิให้ต่อสู้ดิ้นรนนั่นเอง เมื่อนั้น เขาก็หมดอิสรภาพความเข้มแข็งไป จนมีการใส่กุญแจแล้วนำไปฆ่าทิ้งเสียก็มี เหมือนสัตว์ถูกมัดเพื่อผูกล่ามไว้ ฉันนั้น

๑๗) อากาศสุดโต่ง

มนุษย์หรือสัตว์ย่อมต่อสู้กับสภาพแวดล้อมของโลก จนสามารถปรับตัวเองให้อยู่ในสภาพนั้นๆ ได้ จนทำให้ร่างกายต้องปรับกายให้ทนสู้กับอากาศของโลกได้ กระนั้น สัตว์ สิ่งมีชีวิตก็มีขีดจำกัดในการเป็นอยู่ในสภาพนั้นๆ หากสภาพนั้นๆ มีความสุดโต่งเกินไป สัตว์ก็ไม่อาจอยู่ได้จะกลายเป็นผู้อ่อนแอทันที เช่น หนาวจนเกินไป ร้อนเกินไป แต่ถึงจะปรับตัวได้ สัตว์สายพันธุ์นั้น ต้องอาศัยกาลเวลาในการปรับตัวอยู่หลายล้านๆ ปี ปกติทั่วๆไป สัตว์ย่อมอยู่สภาพปกติ หากเกินความปกติ สัตว์ต่างๆ จะเกิดผลกระทบเช่น เกิดโรค เกิดน็อค ช็อก หรือเกิดการผ่าเหล่า หรืออาจตายอย่างฉับพลัน เช่น โลกอยู่กึ่งกลางระหว่างหนาวกับร้อน เป็นต้น เหมือนอยู่ในสายกลางฉันนั้น

๑๘) เสพสุข (เกินไป)

การเสพสุขนี้ หมายถึง สภาพที่มนุษย์เสพสุขจากโลกและกายตนเอง หากมนุษย์ตกอยู่โลกจนเกินไป ก็อาจกลายเป็นผู้อ่อนแอต่อโลกได้ เนื่องจากว่า ไม่รู้จักโลกดีพอนั่นเอง อีกกรณีหนึ่ง การอาศัยร่างกาย ใจของตนเองเป็นแดนเสพสุขเช่น การดื่มกิน การเสพกาม การเที่ยว แสวงหาความปรารถนาตามความต้องการของกิเลสตน นัยว่า แสวงหาความรู้ หาประสบการณ์ แต่ไม่รู้จักพอหรือจำกัดความรู้หรือขอบเขตของกาย ใจ ได้ จนกลายเป็นลืมตนเองว่า เสพตามใจหรือกิเลสกันแน่ นั่นคือการสนองชีวิตไปอย่างไร้ขีดจำกัด หมายถึง เราอ่อนแอต่อโลก ต่อชีวิต จิตใจ ของตน จนลืม เพลินหลง จนเสียเวลาไปมาก นี่คือ ความอ่อนแอของการเสพสุขชีวิต เหมือนเทวดาเสวยสุขจนเพลินในสุขอันน้อยนิดฉันนั้น

๑๙) ขาดธรรมกรองใจ ชีวิตและโลก

ความอ่อนแอในทางโลกีย์นั้น หมายถึง การมีทรัพย์ไม่พอ การไม่มีกำลังกาย ไม่มีกำลังคน หรือการไม่มีอำนาจพอ นั่นคือ สิ่งที่ชาวโลกโหยหา แต่กำลังหรือสิ่งที่ต้องการเหล่านั้น มิได้หมายถึง ทำให้เราเข้มแข็ง หรือไม่มีโรคภัย ไม่เจ็บป่วย ไม่แก่ ไม่ชรา ไม่ตาย จึงไม่ใช่อำนาจที่แท้จริงหรือไม่ใช่ความเข้มแข็งที่ใช้ได้ตลอดเวลา สักวันเขาเหล่านั้น ย่อมล้มลง แก่ลง และสิ้นสุดลง ไม่จีรังใดๆ เมื่อถึงคราวิบัติทางจิต ทางชีวิต เขาย่อมไม่พ้นความอ่อนแอ เหมือนคนปกติทั่วๆ ไป การที่ขาดไปคือ ความเข้าใจในหลักความจริงของโลกในภาพรวม ในหลักความจริงของชีวิต และหลักการวางใจในโลก ในชีวิตนั่นเอง เหมือนคนได้ทรัพย์แต่ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เกิดเป็นคุณต่อชีวิตฉันนั้น

๒๐) อ่อนแอในการหายใจ

ชีวิตส่วนใหญ่ต้องการลมหายใจ เพื่อเลี้ยงปอด ฟอกเลือด ให้เกิดพลังงานในร่างกาย ปกติเราหายใจโดยอัตโนมัติ เพราะธรรมชาติของกาย สร้างปอดขึ้นมาให้อิสระต่อจิตใจ ต่อการควบคุมของจิต ปอดจึงทำงานโดยไม่พึ่งจิต ไม่ว่าเราจะคิด ไม่คิด สนใจหรือไม่สนใจ นอนหลับ หรือทำอะไรก็ตาม ปอดยังทำงานตอบสนองต่อร่างกายอยู่เสมอ เราจึงไม่รู้ ไม่เห็นงานหลักนี้เลย เราเคยชินกับการคิด การทำงานของกายอย่างปกติ จนลืมว่า ปอดคือ ผู้สร้างพลังทั้งหมดให้ เราจึงอ่อนแอที่จะรู้พลังปอดให้กำลังแก่เราอยู่รอดได้ พระเส้าหลิน นักโยคาจารย์ อาศัยลมปราณนี้เป็นเครื่องมือฝึกฝนกำลังอยู่รอด จนเข้าถึงกฎแห่งสากลชีพ จนสร้างพลังสมดุลได้

ฉะนั้น ยิ่งเราห่างการรู้ลมหายใจของปอดมากเท่าไหร่ เรายิ่งเสี่ยงในชีวิตคือ ประมาท ยิ่งอยู่ในเมือง ในชุมชนแออัด เรายิ่งเกินห่างการรู้และการเข้าถึงการทำงานของปอดเท่านั้น เราจึงมองเมินปอดแบบของตายของชีวิต เพราะเราสนใจสิ่งของอื่นๆ ที่ตอบสนองตัวกิเลสได้ดีว่าปอดตอบสนองชีวิต แต่พอเจ็บป่วย จะสิ้นลม เรากลับเห็นชีวิตจวนเจียนจะสิ้นกาย เพราะจะหมดลมหายใจ นี่คือปอดผู้ซึ่งให้กำลังชีพ เหมือนประหนึ่งเรามีแขนขา แต่ไม่เห็นค่าของมัน พอขาแขนด้วนเราจึงเห็นค่ามันฉันนั้น


ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้วเราอ่อนแอมาตั้งแต่คลอด (แม้เราจะเป็นที่หนึ่งมาตั้งแต่ปฏิสนธิก็ตาม) หากขาดพ่อแม่ดูแลเราคงไม่มีทางรอดได้ พอโตขึ้นหน่อยเราก็ยังต้องได้รับการดูแลจากพ่อแม่ และญาติๆ พอโตขึ้นอีก เราก็ต้องได้รับการดูแลจากคนอื่นๆ เสมอ จากนั้นเราต้องอาศัยบริษัท หน่วยงาน ผู้ใหญ่ดูแลให้โอกาสทำงาน เพื่อเลี้ยงตนเอง เมื่อแก่ลง ลูกหลาน หมอและพยาบาลดูแล ตลอดเวลาของชีวิต เราจึงถูกค้ำจุนโดยกำลังของคนอื่นทั้งสิ้น นี่คือ จุดที่สะท้อนความอ่อนแอของตนเอง จึงควรตระหนักในภาระของคนอื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม การได้รับการดูแลจากคนอื่นนั้น มาจากการกระทำที่เป็นประโยชน์แก่ลูก หลาน คนอื่น สังคมและธรรมชาติ เมื่อผลจากการกระทำของตนเป็นผลต่อคนอื่น เขาย่อมมีคุณค่าที่ควรได้รับผลตอบแทน กระนั้น ก็ไม่พึงนิ่งนอนใจว่า ทำดีเช่นนั้นจะเป็นผลดีกับตนเสมอไป พึงสังวรในการกระทำดีที่สุดคือ ทำดีที่จิตให้บริสุทธิ์ก่อนลาโลกไป ใครเล่าจะรู้ว่า ตนเองจะกลับมาเกิดใหม่หรือไม่ และเมื่อนั้นเราจะเดินทางไปอย่างไร้ความกังวลที่สุด

------------------------(๑๐/๑๒/๕๗)-----------------------------

หมายเลขบันทึก: 581994เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2014 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2014 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยอยางยิ่งยิ่ง ทั้ง 20 ข้อค่ะ โดยเฉพาะข้อ ๑๕. .... ยามโกรธ .... อ่อนแอ มากๆๆ ค่ะ เพราะเราไม่มี "สติ" นะคะ


ขอบคุณค่ะ

เดี๋ยวจะกลับมาอ่านครับอาจารย์...ขอบคุณบันทึกคุณภาพที่เขียนไว้มากครับผม

ได้มุมมองหลากหลายมาก...ขอบคุณอีกครั้งครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท