How to Retire Happy


ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเกษียณอายุ ที่ต้องเจอเข้าสักวัน

เตรียมให้พร้อมก่อนเกษียณ

How to Retire Happy

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

28 พฤศจิกายน 2557

บทความเรื่อง เตรียมให้พร้อมก่อนเกษียณ นำมาจากหนังสือเรื่อง How to Retire Happy: The 12 most important decisions you must make before you retire, Third Edition, Fully Revised and Updated, McGraw-Hill Companies, 2010 ประพันธ์โดย Stan Hinden

หมายเหตุ หนังสือเล่มนี้เป็นบริบทของอเมริกา ไม่ใช่ไทย ควรเทียบเคียงกันเอง

ผู้ที่สนใจเอกสารแบบ PowerPoint (PDF file) สามารถศึกษา และ Download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/how-to-retire-happy-31737885

ผู้ประพันธ์คือ Stan Hinden เกษียณจาก Washington Post ในปี ค.ศ. 1996 ขณะที่มีอายุได้ 69 ปี เขาได้ทำงาน 23 ปีที่ Post โดย 12 ปีสุดท้ายเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับหุ้นและกองทุนรวม หลังเกษียณแล้ว ยังเขียนคอลัมน์ให้กับ Post คือ "Retirement Journal" เกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง ที่มีเป้าประสงค์คือ ลดความรู้สึกสับสนให้กับผู้เกษียณอายุ

The 12 Key Decisions

1. พร้อมจะเกษียณแล้วหรือยัง?

2. สามารถเลี้ยงดูตนเองหลังเกษียณได้แล้วหรือ?

3. เมื่อใดจึงใช้สิทธิประกันสังคม?

4. จัดการกับเงินบำนาญอย่างไรดี?

5. จัดการกับเงินร่วมสมทบทุนอย่างไรดี?

6. เมื่อใดจึงสมควรนำเงินออกจากบัญชีสะสมเลี้ยงชีพ?

7. ลงทุนหลังเกษียณอย่างไรดี?

8. ทำอย่างไรกับการประกันสุขภาพ?

9. เตรียมพร้อมกับการป่วยหนักอย่างไร?

10. หลังเกษียณจะอาศัยที่ไหน?

11. จัดการกับกองมรดกอย่างไรจึงประหยัดภาษีและไม่ต้องพิสูจน์พินัยกรรม?

12. ทำอย่างไรจึงจะก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุด้วยดี?

1.พร้อมจะเกษียณแล้วหรือยัง?

  • คุณเคยใฝ่ฝันว่าถ้ามีเวลาเมื่อเกษียณอายุแล้ว จะได้ท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ท่องเรือรอบเกาะกรีซ ท่องเที่ยวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดูการสู้วัวกระทิงที่สเปน หรือ สนุกกับงานคาร์นิวาลในบราซิล เป็นต้น แต่โปรดระลึกว่า "ถ้าฟังดูแล้วเป็นเรื่องดีเหลือเชื่อ มักจะไม่เป็นจริง" (If it sounds too good to be true, it probably is.)

เหตุผลที่ดีในการเกษียณอายุ

  • การเกษียณคล้ายกับการเดินทางไปต่างประเทศ คุณจะต้องเตรียมให้พร้อมในเรื่อง เงินประกันสังคม การประกันสุขภาพ เงินบำนาญ และเงินออมสะสมเลี้ยงชีพ (Social Security, Medicare, Medigap, long-term care, pensions, and 401(k) plans) และตัดสินใจว่าจะทำอะไรหลังเกษียณอายุ
  • ข้อแรก : ถึงเวลาสมควรแล้ว (Reason one: The time is right) การเกษียณอายุแล้วอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ทำอะไร จะทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ ไม่เป็นที่ต้องการ และชีวิตไม่มีความหมายอีกต่อไป คุณควรมีวัตถุประสงค์ของการเกษียณคือ : มีร่างกายและจิตใจที่มีความกระปรี้กระเปร่าและยังติดต่อกับผู้คนอยู่ นั่นจึงจะเป็นการเกษียณที่ประสบความสำเร็จ
  • ข้อที่สอง: ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องทำอีก (Reason two: You've got more compelling things to do) เพื่อทำพันธกิจส่วนตัวให้ลุล่วง ตามหาความฝันส่วนตัวที่ยังไปไม่ถึง
  • ข้อที่สาม : งานเปลี่ยนไป (Reason three: Your job is changing) ไม่พอใจเนื่องจากถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ชอบหรือไม่ได้ใช้ความสามารถพิเศษ นอกจากนั้น ผู้คนที่คุ้นเคยกันก็ลาออกไปแล้ว

เหตุผลที่ดีในการไม่เกษียณอายุ

  • ข้อแรก : การทำงานคือชีวิตจิตใจของเรา (Reason one: Work is your identity) นั่นคือแม้คุณพร้อมเกษียณแล้วแต่ยังอยากทำงานอยู่ เพราะหน้าที่การงานที่ทำ ทำให้เรามีหน้ามีตาอยู่ได้ในสังคม (ในอเมริกาคุณค่าของคนขึ้นอยู่กับตำแหน่งและหน้าที่การงาน)
  • ข้อที่สอง: คิดถึงเพื่อนร่วมงาน (Reason two: You'll miss the people you work with) มีหลายคนที่มีที่ทำงานเป็นบ้านที่สอง มีความสุขและชอบใช้เวลากับกลุ่มเพื่อนฝูง
  • ข้อที่สาม: ยังต้องการอยู่ในวงการต่อไป (Reason three: You want to stay in the loop) เป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญในการคงอยู่ในวงการ เพราะต้องการความเป็นคนที่ทันสมัยไม่ตกยุค และชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ถึงแม้จะเกษียณแล้วก็ยังทำงานอยู่ ในความเป็นจริง มีผู้คนอีกมากมายที่ครบวาระเกษียณแล้ว แต่ยังคงกลับมาทำงานเต็มเวลาบ้าง ไม่เต็มเวลาบ้าง เพราะความมีอายุยืนยาวและยังอยากมีผลงานอยู่ ปัจจัยเรื่องอายุ จะมีผลน้อยกว่าการมีสุขภาพที่แข็งแรง

การมีเวลาอยู่กับคู่ครอง 24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นการทดสอบความอดทนของการมีชีวิตคู่ มีข้อแนะนำคือ

1. หลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งเรื่องสถานที่ (turf battle: turf battle เกิดจากความรู้สึกความเป็นเจ้าของบ้านของภรรยา แล้วอยู่ ๆ มีสามีที่เกษียณอายุมานั่งเกะกะขวางทางในการทำงานบ้านประจำวัน)

2. ควรจัดตารางชีวิตให้มีการใช้เวลาร่วมกัน และบางเวลาเป็นอิสระต่อกัน

2. สามารถเลี้ยงดูตนเองหลังเกษียณได้แล้วหรือ?

  • ขึ้นกับรายได้และค่าใช้จ่าย คำถามที่สำคัญคือ คุณมีรายรับกับรายจ่ายแต่ละเดือนเป็นอย่างไร? ถ้าไม่พอเพียง มีทางแก้อยู่ 2 วิธีคือ เพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก อีกทางเลือกหนึ่งคือ ใช้เงินที่ออมไว้มาอุดช่องว่าง ซึ่งจะต้องถอนเงินมาใช้อย่างระมัดระวัง อย่าบ่อยและอย่ามากเกินไป
  • แหล่งรายได้ของแต่ละเดือนที่คงที่ จะมาจากเงินประกันสังคม (monthly Social Security benefits) และเงินบำนาญ (pension checks) ในอเมริกา เงินบำนาญแต่ละเดือนจะคงที่ แต่เงินจากประกันสังคมจะมีการปรับปรุงตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น เมื่อยังทำงานเต็มเวลาอยู่ ยังมีการปรับอัตราขึ้นเงินเดือนได้ หรือได้รับเงินโบนัส และถ้าทำงานเกินเวลาจะมีค่าล่วงเวลาให้ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเกษียณอายุแล้ว รายได้จะคงที่
  • ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีแต่จะเพิ่มขึ้น เมื่อเกษียณอายุแล้ว (อายุ 65 ปี) จึงจะได้รับสิทธิค่ารักษาพยาบาลจากรัฐ (Medicare benefits) แต่ก็ไม่ครอบคลุมทุกอย่าง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อการประกันสุขภาพเพิ่มเติม (Medigap) ในส่วนที่รัฐไม่จ่ายให้
  • ในการออมเงินเพื่อเกษียณอายุ ต้องคิดเผื่อไว้ตอนที่ต้องเสียภาษีรายได้ด้วย เป็นการดีที่จะปรึกษากับฝ่ายการเงิน ถึงรายละเอียดในการเสียภาษีรายได้ภายหลังเกษียณอายุไปแล้วว่ามีอะไรบ้าง จะได้เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า การออมเงินในรูปแบบกองทุนเลี้ยงชีพเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปี (401(k) และ IRA ) ขณะที่ยังทำงานทุก ๆ ปี เป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกครั้งที่มีการถอนเงินจากกองทุนนี้ต้องเสียภาษีรายได้ จนกว่าจะมีอายุ 70.5 ปี รัฐบาลจึงจะยกเว้นภาษีรายได้ให้
  • การที่ยังอาศัยอยู่สถานที่เดิม รายจ่ายก็ยังคงเท่าเดิม นอกเสียจากจะหาสถานที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีค่าครองชีพถูกลง ต้องคำนึงถึงค่าอาหารการกิน ค่าเสื้อผ้า ค่าน้ำมันรถที่เติมเวลาไปศูนย์การค้า ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ และค่าความบันเทิง ต่าง ๆ ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น
  • เวลาเป็นของมีค่า การรู้จักออมเงินเมื่ออายุยังน้อยจะส่งผลมหาศาลตอนเกษียณแล้ว เป็นเรื่องของดอกเบี้ยทบต้น (Compound interest) เช่นถ้าออมเดือนละ $100 เป็นเวลา 15 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 6 จะได้รับเงิน $29,082 ถ้าออมเป็นระยะเวลา 30 ปี จะได้เงินทั้งสิ้น $100,452 ซึ่งจะมากกว่าเป็นสามเท่า

วิธีที่ทำให้เงินงอกเงย

  • ออมเงินไว้ในโครงการ 401(k) plan
  • เปลี่ยน IRA เป็น ROTH IRAค.ศ. 2010 เป็นปีที่ดีที่จะเปลี่ยน
  • ออมใน ROTH 401(K) คล้ายกับ 401(k) plan
  • ลงทุนใน Tax-efficient funds เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปี
  • การมีชีวิตหลังเกษียณต้องอาศัยเงินประกันสังคมและเงินบำนาญซึ่งจะช่วยได้มาก แต่การมีเงินออมไว้ จะช่วยให้เรามีชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างสุขสบาย ดังนั้นควรออมเงินให้มากเข้าไว้

ให้ระวังว่า เมื่อรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว "Too old, too soon. Too wise, too late."

3. เมื่อใดจึงใช้สิทธิประกันสังคม?

  • ในอเมริกาให้โทรศัพท์ฟรีที่หมายเลข 1-800-772-1213 และแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าพร้อมลงทะเบียนใช้สิทธิประกันสังคม การประกันสังคมไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็นระบบประกันระดับชาติว่า คนทำงานเสียภาษีทุกคนจะได้รับสวัสดิการจากรัฐเมื่อเกษียณอายุ จุดประสงค์คือการมีรายได้ขั้นต่ำของบุคลากรและครอบครัว "floor of protection" ในการเลี้ยงชีวิตรอด
  • สูตรในการคำนวณจึงต้องดูจากพื้นฐานหลายประการ เช่น จำนวนเงินที่หักจากนายจ้างและลูกจ้าง ผู้มีรายได้น้อยจะได้ปันส่วนตามความจำเป็น สัดส่วนอาจมากกว่าผู้ที่ถูกหักเงินมากกว่าก็ได้ เพราะมีรายได้น้อยกว่าจึงส่งเงินได้น้อย แต่มีภาระเลี้ยงดูบุตรและภรรยาด้วย เวลาเหมาะสมที่จะเริ่มคิดถึงเงินประกันสังคมคือช่วงอายุ 50- 60 ปี
  • สภาคองเกรสตัดสินใจเพิ่มอายุเกษียณจาก 65 ปีเป็น 67 ปี ในปี ค.ศ. 1983 ทำให้รัฐสามารถประหยัดเงินประกันสังคมได้หลายพันล้านเหรียญ ในช่วง ค.ศ. 2009 – 2014 หากใครทำงานเกินอายุเกษียณ รัฐบาลจะคำนวณเพิ่มเงินประกันสังคมให้อีกด้วย ปัจจุบัน การคาดหมายอายุเฉลี่ยของประชากร ผู้ชายอยู่ที่ 82 ปี ผู้หญิง 84 ปี ในอเมริกาเกษียณอายุที่ 65 ปี (เพิ่มเป็น 67 ปีสำหรับผู้เกิดหลัง ค.ศ. 1960) การเกษียณก่อนกำหนดทำได้เมื่ออายุ 62 ปี ในการทำงานอาจทำได้ถึงอายุ 70 ปี

ทางเลือกในการเกษียณอายุ

  • ทางเลือกแรก เกษียณก่อนกำหนด (early retirement) แม้ว่ากำหนดอายุไว้ที่ 67 ปี แต่สามารถเกษียณก่อนกำหนดที่อายุ 62 ปี เงินประกันสังคมจะได้รับลดลง เนื่องจากระยะเวลารับนานขึ้น ข้อเตือนใจ - ให้คำนึงถึงผลกระทบกับคู่ครองที่จะได้รับเงินจากประกันสังคมที่น้อยลงด้วยกรณีที่เราเสียชีวิต
  • ทางเลือกที่สอง เกษียณตามปกติ (normal retirement) เมื่อถึงอายุที่กำหนด จะเลือกเกษียณเมื่อใดก็ได้ ข้อคำนึงคือ "ต้องการจะเกษียณช้าลง เพื่อเพิ่มเงินประกันสังคมหรือไม่?"
  • ทางเลือกที่สาม เกษียณช้ากว่ากำหนด (late retirement) การเกษียณช้าทำให้ได้รับเงินประกันสังคมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 ในแต่ละปีที่เพิ่ม การเพิ่มสิ้นสุดที่อายุ 70 ปี แม้ว่าจะยังทำงานเต็มเวลาอีกต่อไปเรื่อย ๆ
  • การเลือกหนทางใดมีปัจจัยที่ต้องคำนึงคือ ความต้องการเงินสด สุขภาพและประวัติอายุยืนยาวของครอบครัว รายได้อื่น ๆ ความต้องการเงินในอนาคต การคงทำงานต่อไป ฯลฯ ดังนั้นการตัดสินใจจึงไม่ใช่ขึ้นกับยอดเงินที่สูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับจำนวนเงินและระยะเวลาด้วย
  • การยื่นแบบแล้วชะลอการจ่ายไว้ก่อน (file and suspend) หมายถึงผู้ที่ถึงกำหนดเกษียณยื่นแบบรับสิทธิ แล้วงดการรับไว้ก่อน เพื่อประโยชน์คือ จะได้รับเงินจากประกันสังคมเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน แต่ต้องดูสภาวะสุขภาพและความมีอายุยืนยาวของครอบครัวด้วย ก่อนตัดสินใจใช้วิธีนี้
  • ทุกคนที่มีรายได้จะถูกหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคม รวมถึงนายจ้างที่จะถูกหักด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7.65 ผู้ทำกิจการของตนเองต้องส่งเงินเข้ารัฐร้อยละ 15.3 แต่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปีได้ครึ่งหนึ่ง
  • ผู้มีสิทธิได้รับเงินประกันสังคมคือผู้ที่เกิดหลัง ค.ศ. 1929 และต้องมีเครดิต 40 หน่วย ซึ่งหมายถึงมีอายุการทำงานเฉลี่ยอย่างน้อย 10 ปี ในปี ค.ศ. 2010 รายได้ทุก $1,120 จะได้เครดิต 1 หน่วย แต่ละปีได้ไม่เกิน 4 หน่วย
  • ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1999 หน่วยงานประกันสังคมจะมีจดหมายให้กับผู้ทำงานอายุ 25 ปีขึ้นไป และยังไม่ได้ใช้สิทธิ ทราบถึงบันทึกของประวัติรายได้ และประมาณการเงินประกันสังคมที่จะได้เมื่อเกษียณอายุ การประมาณการจะระบุจำนวนเงินที่จะได้แต่ละเดือน เมื่อมีการเกษียณก่อนอายุที่ 62 ปี การเกษียณตามปกติที่อายุ 67 ปี และที่อายุ 70 ปี
  • การยื่นแบบขอใช้สิทธิประกันสังคม มี 3 วิธีคือ
    • ยื่นได้ที่ www.socialsecurity.gov
    • แจ้งขอใช้สิทธิทางโทรศัพท์
    • วิธีสุดท้ายคือนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องการยื่นแบบเป็นรายบุคคลที่สำนักงานประกันสังคม
  • รายได้จากการทำงานหลังเกษียณมีข้อจำกัด เรียกว่า earnings limits ใช้กับกลุ่มอายุ 62-64 ปี และกลุ่มอายุ 65-69 ปี หลังจากอายุ 70 ไปแล้ว ไม่มีข้อจำกัดของรายได้ ในปี ค.ศ. 2010 ผู้เกษียณที่มีรายได้ต่อปีเกิน $14,160 นั้น ส่วนที่เกินทุก $2 จะนำมาหัก $1 จากเงินประกันสังคมที่จะได้ ทำให้ผู้เกษียณอายุจะทำงานแค่มีรายได้ถึงข้อจำกัด (up to the limit) แล้วจะไม่ทำงานต่อ เพราะจะถูกหักเงินมาก
  • รายงานในปี ค.ศ. 2009 กล่าวว่าเงินประกันสังคมมีพอจ่าย "adequately financed" ได้ถึง ค.ศ. 2037 เท่านั้น ในปี ค.ศ. 2075 จะมีผู้รับเงินประกันสังคม 50 คนต่อผู้ทำงาน 100 คน แต่ประธานาธิบดี โอบามา มีความพยายามรักษากองทุนนี้ไว้ โดยไม่ให้แปรรูปเป็นเอกชน เพื่อสิทธิประโยชน์ของคนทำงานต่อไป

4. จัดการกับเงินบำนาญอย่างไรดี?

  • ปีละครั้ง บุคลากรจะได้รับรายงาน ถึงจำนวนเงินบำนาญที่จะได้ในแต่ละเดือน ตอนเกษียณอายุ เมื่อมีอายุครบ 65 ปี
  • เงินบำนาญ ที่บุคลากรสามารถเลือกได้ 3 แผน พร้อมตัวอย่าง คือ
    • รับแต่ผู้เดียว (A single life pension) (รับเดือนละ $2,532 เมื่อเสียชีวิตคู่ครองไม่ได้อะไร)
    • ให้คู่ครองร้อยละ 50 (A 50 percent spousal benefit)(รับเดือนละ $2,160 เมื่อเสียชีวิต คู่ครองได้เดือนละ $1,080 ตลอดชีพ)
    • ให้คู่ครองร้อยละ 100 (A 100 percent spousal benefit)(รับเดือนละ $1,900 เมื่อเสียชีวิต คู่ครองได้เดือนละ $1,900 ตลอดชีพ)
  • เนื่องจากไม่มีใครล่วงรู้อนาคตได้ จึงเป็นข้อจำกัดในการตัดสินใจว่าจะรับเงินบำนาญวิธีใดดี รัฐต้องการให้คู่ครองร่วมรับรู้ในการเลือกบำนาญในแต่ละแบบด้วย เพราะมีผลเกี่ยวเนื่องถึงการเป็นอยู่ในอนาคต
  • การรับเงินก้อน ข้อดี (PROS): สามารถนำเงินก้อนไปลงทุน ซึ่งอาจจะได้ผลประโยชน์มากกว่าเงินบำนาญในแต่ละเดือน เพราะเมื่อเสียชีวิตก็ไม่ได้รับเงินบำนาญอีกต่อไป แต่เงินก้อนยังเป็นมรดกให้ลูกหลานต่อไปได้
  • การรับเงินก้อน ข้อเสีย (CONS): มีแนวโน้มว่าจะใช้จ่ายเงินก้อนจนหมดโดยเฉพาะเมื่อสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี และถือว่าเป็นเงินรายได้ที่ต้องเสียภาษี
  • รับบำนาญเป็นรายเดือน ข้อดี (PROS): รับรู้รายได้ที่แน่นอนในแต่ละเดือน ถ้าเกิดมีอายุยืนก็ถือว่าคุ้ม
  • รับบำนาญเป็นรายเดือน ข้อเสีย (CONS): บำนาญในอเมริกาไม่ปรับตามค่าเงินเฟ้อ ทำให้กำลังซื้อลดลงเมื่อข้าวของแพงขึ้น และถ้าเสียชีวิต เงินบำนาญไม่ได้รับอีกต่อไป (ขึ้นกับการเลือกแผนการรับบำนาญให้คู่ครองด้วย)
  • มีหน่วยงานของรัฐ คือ the Pension Benefit Guaranty Corporation: PBGC คอยติดตามบำนาญที่บุคลากรควรจะได้ มีบุคลากรในอเมริกาหลายพันราย ที่ต้องสูญรายได้จากเงินบำนาญที่หายไป ("missing" pension) เพราะไม่รู้จะค้นหาได้จากที่ใด เช่นจากบริษัทที่เคยทำงานแล้วล้มละลาย หรือมีการควบรวม หรือไม่อยู่ในสารบบธุรกิจอีกต่อไป เป็นต้น

5. จัดการกับเงินร่วมสมทบทุนอย่างไรดี?

  • 401(k) savings plan เป็นโครงการที่กระตุ้นให้บุคลากรเก็บเงินสะสมไว้ใช้ยามเกษียณ เงินที่สะสมเข้ากองทุนเลี้ยงชีพนี้ สามารถใช้ลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปี
  • บางบริษัทมีการสบทบทุนร่วม "a company match" ให้กับบุคลากร แต่บุคลากรต้องตัดสินใจว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะลงทุนในกองทุนรวมใดเอาเอง เงินที่บริษัทร่วมสมทบถือว่าได้มาฟรี ๆ (free money)
  • เงินที่สะสมไว้ใน 401(k) plan ไม่ต้องเสียภาษีจนกว่าจะถอนออกมา (ถ้าไม่อยากเสียภาษีให้ถอนออกตอนมีอายุ 70½ ปี) 401(k) plan ทำให้เรามีการสะสมโดยอัตโนมัติทุกเดือน แต่การลงทุนมีความเสี่ยง เช่น ในปี ค.ศ. 2008–2009 ดัชนีหุ้น S&P 500 ติดลบร้อยละ 2.5
  • บทเรียน : อย่าคาดเดาทิศทางตลาดล่วงหน้าในการเปลี่ยนการลงทุน ถ้าวางแผนระยะยาวมาอย่างดี อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อาจทำให้สูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้
  • รัฐมีแนวคิดให้บุคลากร มีความรู้ด้านการเงินการคลัง "financial literacy" เพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดการการลงทุนได้อย่างชาญฉลาด เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว
  • วิธีการจัดการกับเงินสะสมเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณ มี 3 วิธี
    • A rollover IRA: เพื่อให้เงินลงทุนงอกเงยอยู่เรื่อย ๆ
    • Indirect rollover IRA: บุคลากรจะถูกกันเงินไว้ร้อยละ 20 เพื่อชำระภาษีเงินได้
    • A cash distribution: การถอนออกมาเป็นเงินสด ไม่แนะนำอย่างยิ่งเพราะจะถูกหักภาษีมาก
  • บางแผนของ 401(k) plans อนุญาตให้คงเงินไว้ในแผนต่อไปได้ ถ้าบุคลากรยังคงทำงานบางเวลา เช่นบุคลากรสายแพทย์ ควรคงรักษาเงินสะสมไว้ในแผนของ 401(k) plans ดีกว่าสะสมไว้ใน IRA ถ้าในแผน 401(k) plan มีหุ้นของบริษัทที่ทำงานอยู่ สามารถโอนไปยังบัญชี IRA rollover account หรืออยากจะขายก็ได้
  • แต่ถ้าไม่ต้องการขาย จะเป็นผลดีด้านภาษีมากกว่า กล่าวคือ : เมื่อทายาทขายหุ้นบริษัท เขาไม่ต้องเสียภาษีที่เกิดจากมูลค่าเพิ่มของหุ้น นับตั้งแต่การโอนหุ้นเข้าบัญชีจนกระทั่งถึงวันเสียชีวิตของคุณ (คือคิดราคาหุ้น ณ วันที่โอนหุ้น ไม่ใช่ราคาปัจจุบัน ณ วันที่ขาย)
  • สภาวการณ์ปัจจุบันสำหรับคนในรุ่น baby boomers ที่อายุไม่ครบ 65 ปี จะยังคงทำงานต่อไป เพราะจะได้ไม่เสียสิทธิด้านประกันสุขภาพที่บริษัทจ่ายให้ (Medicare ใช้สิทธิได้เมื่อมีอายุ 65 ปี) ยังเป็นการเพิ่มเงินสะสมใน 401(k) plans และรอเวลาให้เศรษฐกิจฟื้นตัว จะได้มีเงินออมเพิ่มขึ้น

6. เมื่อใดจึงสมควรนำเงินออกจากบัญชีสะสมเลี้ยงชีพ?

  • การสะสมเงินไว้ในบัญชี IRA เป็นการลดหย่อนภาษีรายได้ขณะที่เราทำงานอยู่ เมื่อเกษียณอายุต้องถอนเงินมาใช้ซึ่งต้องเสียภาษีรายได้ประจำปี และทุก ๆ ดอลลาร์ต้องเสียภาษี 25 เซนต์ เพราะกฎของสรรพากรถือว่าเงินที่ถอนจากบัญชี IRAs เป็นรายได้
  • การถอนเงินจากบัญชีเป็นจำนวนเท่าใดในแต่ละปีนั้นต้องอาศัยตาราง—the Uniform Lifetime Table—ในการคำนวณ คือยอดเงินทั้งหมด หารด้วยดัชนีที่ให้ไว้ในตาราง ผลลัพธ์เป็นจำนวนเงินขั้นต่ำในแต่ละปีที่ต้องถอนออกมา ข้อควรระวังคือการถอนเงินต้องไม่น้อยกว่าจำนวนต่ำสุดที่คำนวณได้ ห้ามน้อยกว่าเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับเป็นเงินครึ่งหนึ่งของความแตกต่างระหว่างเงินที่สมควรถอนกับจำนวนเงินถอนจริงที่น้อยกว่าที่กำหนด
  • การถอนเงินครั้งแรกทำได้เมื่อมีอายุ 70½ ปี แต่สามารถรอได้ถึง วันที่ 1 เมษายนในปีถัดไป จากนั้นถอนครั้งที่สองก่อนวันที่ 31 ธันวาคม การถอนปีละสองครั้งทำให้ต้องเสียภาษีรายได้รวมของทั้งสองครั้ง
  • บัญชี IRAs ที่ต้องเสียภาษี มีดังนี้
    • TRADITIONAL IRAS
    • IRA ROLLOVER ACCOUNTS
    • SIMPLIFIED EMPLOYEE PENSION PLAN (SEP-IRA)
    • SAVINGS INCENTIVE MATCH PLAN FOR EMPLOYEES (SIMPLE-IRA)
    • DEFINED CONTRIBUTION PLANS (INCLUDING PROFIT-SHARING AND MONEY PURCHASE PLANS)
    • COMPANY 401(K) PLAN
    • 403(B) PLAN
  • เมื่อรวบรวมยอดเงินจากบัญชีที่ต้องถอนออกมาทั้งหมดแล้ว ต้องคำนวณยอดเงินที่ต้องถอนจากแต่ละบัญชีเป็นจำนวนเท่าใดก่อนวันที่ 31 ธันวาคม เรียกว่ายอดต่ำสุดที่ต้องถอน(RMDs -"required minimum distributions") สรรพากรมีเป้าประสงค์ให้ถอนเงินออมเพื่อการเกษียณในแต่ละปีและเสียภาษีให้ถูกต้อง โปรดจำไว้ว่าสามารถถอนได้มากกว่าที่คำนวณ ห้ามน้อยกว่า
  • ตัวอย่างการคำนวณโดยใช้ยอด $100,000 ของบัญชี IRA เมื่ออายุ 70½ ปี จากตารางคำนวณตัวหารคือ 27.4 นำไปหารยอดเงิน $100,000 จะได้ $3,649 เป็นยอดเงินขั้นต่ำที่ต้องถอนออกในปีนั้น ปีถัดไป จากตาราง ตัวหารจะเป็น 26.5 ให้นำไปหารยอดเงินในบัญชี ก็จะเป็นยอดเงินขั้นต่ำที่ต้องถอนในปีนั้น ๆ ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม
  • ถ้ายังมีความสับสน ให้คำนวณแต่เนิ่น ๆ ดูรายละเอียดให้ดี และแสวงหาคำแนะนำเท่าที่จะหาได้ แล้วจะทำเป็น

7. ลงทุนหลังเกษียณอย่างไรดี?

  • ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะนำเงินออมไปลงทุนอย่างไรให้มีผลประโยชน์งอกเงยความสำเร็จคือ สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ผู้เกษียณอายุมักประเมินค่าใช้จ่ายต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น การถอนเงินออมต้องดูสถานการณ์ตลาดให้รอบคอบ อย่าใช้เงินเกินตัว
  • การลงทุนเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ขึ้นกับความจำเป็นในการใช้เงิน ระยะเวลาที่ใช้ และความเสี่ยง วิธีใหญ่ ๆ ในการนำเงินออมไปลงทุนคือ เพื่อให้เงินงอกเงย เพื่อนำดอกผลมาใช้ หรือเพื่อทั้งสองประการข้างต้น

Five Golden Rules

1.ต้องเรียนรู้ในการลงทุน (YOU MUST LEARN HOW TO INVEST)

  • มีกองทุนรวมมากมาย การลงทุนในหุ้น กองทุนแลกเปลี่ยน และพันธบัตร
  • ความสามารถในการลงทุน ทำให้ผู้เกษียณอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีได้
  • ข้อเตือนใจ : ก่อนลงทุนทุกครั้ง ต้องมีการศึกษาล่วงหน้าเกี่ยวกับการลงทุนพื้นฐาน มันไม่ยากจนเกินไป แต่ต้องทำด้วยตนเอง

2.ผลตอบแทนสูงความเสี่ยงยิ่งมีมาก (THE GREATER THE RISK, THE GREATER THE REWARD)

  • ความเสี่ยงกับผลตอบแทนมักไปด้วยกัน โปรดจำไว้ว่า ผลตอบแทนสูงแล้วมีความเสี่ยงต่ำหาได้ยาก และอะไรที่ขึ้นเร็วมักจะลงเร็ว

3.อย่าทำตัวฉลาดกว่าตลาด (NEVER TRY TO OUTGUESS THE MARKET)

  • นักลงทุนที่มีประสบการณ์จะรู้ว่า แนวโน้มระยะยาวของตลาดหุ้นมีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่อาจมีความผันผวนระยะสั้นได้ไม่ควรตระหนกจนเกินไป เพราะอาจทำให้เจ็บตัวได้

4.มุ่งสู่ราคาเฉลี่ย (GO FOR THE AVERAGES)

  • เป็นการทยอยซื้อเป็นรายเดือน ในระยะเวลานาน
  • บางครั้งซื้อในราคาสูง บางครั้งซื้อได้ในราคาต่ำ แต่ในระยะยาวแล้วราคาที่ซื้อมาจะได้เป็นราคาเฉลี่ย ซึ่งเป็นผลดีกว่าซื้อคราวเดียวทีละมาก ๆ

5.กระจายความเสี่ยง (SPREAD YOUR RISK)

  • อย่ารวมไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเดียวกัน ("Don't put all your eggs in one basket.")
  • การกระจายการลงทุน (diversification) นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ มักจะมีการลงทุนแบบกระจายหลายรูปแบบ มีทั้งลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือกองทุนรวม การกระจายการลงทุน ลดโอกาสเสี่ยง จากการที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของตลาดเกิดทรุดขึ้นมา
  • นอกจากการกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังมี การโยกเงินลงทุน (asset allocation.) เช่นถ้าหุ้นดีดตัวขึ้น ก็โยกเงินจากพันธบัตรมาลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น

เงินเฟ้อ อาจจะทำให้เงินออมที่มีอยู่ไม่พอเพียง เป้าหมายของการลงทุนคือ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถคุ้มกับค่าของเงินเฟ้อ ทำได้โดยลงทุนในหุ้น พันธบัตร กองทุนรวม และมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

  • การเปลี่ยนแปลงของตลาด เช่น การเพิ่มแผนเงินออม 401(k) plan การขยายตัวของกองทุนรวม ธุรกรรมการเงินที่รวดเร็ว สามารถซื้อขายหุ้นหลายล้านหน่วยในไม่กี่วินาที ความไม่โปร่งใสของ Wall Street เช่น มีข่าวเกี่ยวกับการประพฤติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของบริษัทในตลาดหุ้น
  • เป้าหมายของการลงทุนของผู้เกษียณอายุ คือ เพิ่มรายได้และรักษาสินทรัพย์ไว้ให้นานที่สุด ซึ่งในแต่ละปีไม่ควรถอนเงินออมออกมาใช้มากกว่าร้อยละ 5 เป้าหมายสูงสุดไม่เพียงแต่เพิ่มรายได้และรักษาทรัพย์สินเท่านั้น แต่ต้องให้เท่าทันกับค่าของเงินเฟ้อ หนทางที่ดีคือลงทุนในหุ้น
  • การลงทุนในกองทุนรวมต้องดูการให้ระดับความน่าเชื่อถือของกองทุนนั้นด้วย ลำดับที่ดีที่สุดคือ AAA ถึง BBB ถ้าต่ำกว่า BBB ถือว่าไม่น่าไว้ใจ (junk bond) การได้ผลประโยชน์มากจากกองทุนที่ไม่น่าไว้ใจ ถือว่าความเสี่ยงสูง กองทุนพันธบัตรถือว่ามีความเสี่ยง เพราะเมื่อใดที่ดอกเบี้ยสูง ค่าของพันธบัตรจะลดลง และถ้าดอกเบี้ยต่ำมูลค่าพันธบัตรจะสูงขึ้น
  • การลงทุนต้องวิเคราะห์ว่าอยู่ในช่วงใด ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอย และตลาดหุ้นอยู่ช่วงขาลง ต้องลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม

8. ทำอย่างไรกับการประกันสุขภาพ?

  • ในอเมริกา ตอนทำงานอยู่ บริษัทจะมีสวัสดิการการเจ็บป่วยให้ แต่เมื่อเกษียณสมควรซื้อประกันสุขภาพเอง (เช่นเดียวกับการประกันรถยนต์ คือถ้าไม่ใช้ก็เสียสิทธิ แต่ถ้าได้ใช้สิทธิก็คุ้มกว่าต้องจ่ายเอง) ระบบประกันสุขภาพ Medicare รับผิดชอบโดย the Centers for Medicare and Medicaid Services (CMS) ซึ่งเป็นหน่วยงานประกันสุขภาพของรัฐสำหรับผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี (เกษียณการทำงานแล้ว) หรือผู้มีความทุพลภาพ และผู้ป่วยที่เป็นโรคไตระยะสุดท้าย
  • ระบบแรกเรียกว่า Medicare Part A ซึ่งจ่ายเมื่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล และการดูแลที่บ้าน ในปี ค.ศ. 2010 ผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจ่าย $1,100 คุ้มครอง 1-60 วัน ในวันที่ 61–90 ผู้ป่วยจ่าย $275 ต่อวัน และวันที่ 91–150 ผู้ป่วยจ่ายวันละ $550 (โดย 60 วันสุดท้ายใช้สิทธิได้ครั้งเดียวตลอดชีวิต) ถ้าพักนานเกิน 150 วันวันที่เกินผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
  • ระบบที่สองคือ Medicare Part B ซึ่งเป็นการประกันเพื่อไว้จ่ายค่าแพทย์ การทดสอบต่าง ๆ และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับ Part B ค่าประกันต่อเดือนสามารถหักออกจากเงินประกันสังคมได้ ในปี ค.ศ. 2010 ค่าประกันเพิ่มจาก $96.40 เป็น $110.50
  • ระบบที่สาม Medicare Part C เป็นระบบการประกัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิได้ในโรงพยาบาลเอกชน เช่น health maintenance organizations (HMOs)หรือรูปแบบอื่นที่คล้ายกัน เพื่อคุณภาพการรักษาและการประหยัด แต่การได้รับเงินชดเชยน้อย ทำให้บริษัทเอกชนถอนตัวออกจากโครงการนี้มาก
  • มีการเสนอรูปแบบการประกันคือ Medicare Advantage program ซึ่งมีดังนี้:
    • MEDICARE HEALTH MAINTENANCE ORGANIZATIONS (HMOS)
    • PROVIDER-SPONSORED ORGANIZATIONS (PSOS)
    • PREFERRED-PROVIDER ORGANIZATIONS (PPOS)
    • REGIONAL PREFERRED-PROVIDER ORGANIZATIONS (RPPOS)
    • PRIVATE FEE-FOR-SERVICE PLANS (PFFSS)
    • MEDICAL SAVINGS ACCOUNT PLAN (MSAS)
    • SPECIAL NEEDS PLANS (SNPS)
  • รูปแบบสุดท้ายคือ Medicare Part D เป็นการประกันให้กับผู้ป่วยเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายยาตามใบสั่งยาของแพทย์ สภาคองเกรส ได้ผ่านกฎหมายเพื่อให้บริษัทเอกชนมีความอ่อนตัวในการให้สิทธิกับผู้ป่วยตามเกณฑ์ที่วางไว้ของ Medicare
  • การเลือกซื้อประกันสำหรับใบสั่งยาของแพทย์เป็นสิ่งท้าทาย ค่าเบี้ยประกันขึ้นกับพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ประเภทการคุ้มครอง และส่วนลด ในปี ค.ศ. 2010 เบี้ยประกันกำหนดไว้ห้ามเกิน $310 รายละเอียดศึกษาได้ที่ www.medicare.gov แล้วเลือก "Compare Medicare Prescription Drug Plans."
  • เมื่อคิดว่าพร้อมที่จะเกษียณตอนครบอายุ ให้ลงทะเบียนเลือก Part A, Part B, และ Part D โดยแจ้งกับสำนักงานประกันสังคมล่วงหน้าเป็นเวลา 3 เดือน ถ้าทิ้งเนิ่นนานค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น การลงทะเบียน Medicare ติดต่อสำนักงานประกันสังคมที่เบอร์โทรฟรี : 1-800-772-1213
  • เพื่อลดช่องว่างของสิ่งที่ Medicare ไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงมีการประกันเสริมที่เรียกว่า Medigap ซึ่งมีความคุ้มครองทั้งหมด 11 ประเภท แต่ต้องระลึกว่า สิ่งใดที่ Medicare ไม่คุ้มครอง Medigap ก็ไม่คุ้มครองเช่นกัน (Medigap เป็นการร่วมจ่ายในกรณีที่ Medicare คุ้มครองแต่มีส่วนหนึ่งที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเอง Medigap จะจ่ายส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเองให้)
  • การจะซื้อประกัน Medigap ให้สำรวจรอบ ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ จุดเริ่มต้นควรเริ่มต้นที่หน่วยประกันของมลรัฐ ผู้ที่มี HMOs และ Medicare Advantage แล้วไม่จำเป็นต้องซื้อประกัน Medigap อีก

9. เตรียมพร้อมกับการป่วยหนักอย่างไร?

  • สุขภาพร่างกายคนเราอาจทรุดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งต้องอาศัยที่พักผู้สูงอายุ (nursing home) เป็นเวลานาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง (ห้องเดี่ยววันละ $219 หรือปีละ $79,935 ) แต่ถ้าต้องอาศัยอยู่ที่พักผู้สูงอายุไม่มีกำหนด ควรใช้สิทธิ Medicaid ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับผู้ยากจน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่การจะใช้สิทธินี้ได้ต้องจ่ายค่าที่พักผู้สูงอายุ จนหมดเงินจริง ๆ จึงจะใช้สิทธินี้ได้
  • มีการประกันสุขภาพระยะยาวที่เรียกว่า long-term-care policy ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับการซื้อประกันภัยรถยนต์ เมื่อผู้ซื้อประกันต้องเข้าที่พักผู้สูงอายุ บริษัทประกันจะช่วยร่วมจ่าย เป็นเงินวันละ $100, $150, หรือ $200 ขึ้นกับเงื่อนไขการรับประกัน ผู้ซื้อประกันที่มีอายุน้อยจะมีเบี้ยประกันถูกกว่าผู้มีอายุมาก
  • เบี้ยประกันขึ้นกับ อายุ สุขภาพ สถานที่อาศัย และเงื่อนไขการรับสิทธิประกัน การซื้อประกันสุขภาพระยะยาว (long-term-care insurance) เช่นเดียวกับการประกันรถยนต์ ถ้าเลิกส่งเบี้ยประกันจะถูกตัดสิทธิ ไม่ว่าจะเคยส่งมานานเท่าใด
  • ดังนั้นผู้จะซื้อประกันภัยสุขภาพระยะยาวได้ ควรมีรายได้มากกว่า $50,000 และมีสินทรัพย์ $100,000 - $500,000 ยังไม่รวมบ้านและรถยนต์ ไม่ควรเซ็นสัญญาใด ๆ ถ้ายังไม่เข้าใจเงื่อนไขการประกันอย่างถ่องแท้ และยังไม่ได้เปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้จากหลาย ๆ บริษัท
  • ทางเลือกอื่น มีนิคมที่เรียกว่า group homes, assisted-living facilities, และ continuing-care retirement communities อุตสาหกรรมพี่เลี้ยง (assisted-living industry) คือ มีการเตรียมอาหารให้ ช่วยแต่งตัว อาบน้ำ และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แนวโน้มนิคมการดูแลต่อเนื่องหลังเกษียณ (care retirement communities หรือ CCRCs) กำลังรุ่งเรือง ที่ผู้ยังมีสุขภาพดีสามารถเข้าพักอาศัยได้จนกระทั่งสุขภาพทรุดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงระดับของที่พักผู้สูงอายุ
  • นิคมดูแลต่อเนื่องผู้สูงอายุ มีค่าใช้จ่ายแรกเข้า และค่าใช้จ่ายรายเดือน ถ้าต้องการเข้าอาศัยในนิคมที่กล่าว ควรปรึกษาทนายก่อนเซ็นสัญญาใด ๆ CCRC จัดสรรให้ทั้งบ้าน และการดูแลทั้งสามระดับ คือ:
    • ผู้อาศัยพึ่งพาตนเองได้ (Independent living.)
    • ผู้อาศัยต้องมีพี่เลี้ยง (Assisted living.)
    • ผู้อาศัยต้องมีผู้เชี่ยวชาญดูแล (Skilled nursing care.

10. หลังเกษียณจะอาศัยที่ไหน?

  • เป็นความฝันของผู้คนว่า ภายหลังเกษียณ จะได้ย้ายไปอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์ (Fantasy Island) การโยกย้ายมีผลกระทบทั้งครอบครัว การได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและลูกหลาน เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะการได้เลี้ยงดูหลาน ๆ
  • การโยกย้ายมีผลกระทบทั้งกายภาพและจิตใจ การโยกย้ายมีค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่พักใหม่ควรมีราคาถูกกว่าปัจจุบัน
  • การปรับตัวมีทั้งการคิดถึงเพื่อนบ้าน และสิ่งแวดล้อมที่เคยอาศัย โดยเฉพาะการคิดถึงหลานตัวเล็ก ๆ "Out of sight, out of mind." ปัจจัยสำคัญ: เมื่อมีการเจ็บป่วยหนัก ไม่ควรอาศัยอยู่ไกลจากลูกหลานและญาติพี่น้องเกินไป (ให้คำนึงถึงการเดินทางไกลด้วย)
  • ผู้ที่คิดจะโยกย้าย ควรคิดก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี และลองไปใช้ชีวิตในสถานที่ใหม่ว่ามีความเหมาะสมกับเราหรือไม่อย่างไร ผู้คนมักจะติดที่ (a sense of place) หรือไม่มีที่ใดสุขใจเท่าบ้าน (There's no place like home.) มีประชากรน้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้มีอายุมากกว่า 60 ที่มีการโยกย้าย สาเหตุการโยกย้ายมาจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ มากกว่าสภาพอากาศ
  • การสร้างสัมพันธ์ใหม่กับเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งจำเป็นต่อการโยกย้ายที่อยู่อาศัย ทางที่ดีควรค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรือการเป็นอาสาสมัคร

11. จัดการกับกองมรดกอย่างไรจึงประหยัดภาษีและไม่ต้องพิสูจน์พินัยกรรม?

  • การเสียชีวิต ไม่เพียงเป็นความรู้สึกทางอารมณ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องทางกฎหมายและภาษีอีกด้วย เป้าประสงค์ของการเตรียมพร้อมก่อนเสียชีวิต คือ
    • หนึ่ง ต้องการจากโลกนี้ไปด้วยดีไม่สร้างความลำบากให้ลูก ๆ
    • สอง มั่นใจว่ามรดกตกทอดดังที่เราตั้งใจ
    • และสาม เสียภาษีให้น้อยที่สุดและไม่เกิดความยุ่งยาก
  • มีการเตรียมพร้อมงานศพ คือ งานพิธีในโบสถ์และหลุมฝังไว้ล่วงหน้า โดยการชำระล่วงหน้าไว้ให้เรียบร้อย การเตรียมพร้อมล่วงหน้าถ้ามีอาการป่วย จนไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล โดยมีการทำหนังสือเจตจำนง (advance medical directive) ว่าจะไม่ยืดชีวิตต่อ ในกรณีที่มีอาการขั้นโคม่า (persistent coma) ที่ไม่อาจฟื้นคืนได้
  • นั่นคือหนังสือปฏิเสธการรักษาพยาบาล (the final expression of legal right to refuse medical or surgical treatment) เพื่อจะเสียชีวิตตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องช่วยฟื้นชีวิต ("no code" or "do not resuscitate" ) อย่างไรก็ตาม ทุกโรงพยาบาลจะมีกรรมการด้านจริยธรรมในการตัดสินใจยุติการการรักษาพยาบาล (pull the plug) ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้เวลา
  • ปัญหายุ่งยากอีกประการหนึ่ง คือ การไร้ความสามารถทางนึกคิด (mental incapacitation) การเตรียมล่วงหน้าคือเขียนหนังสือมอบหมายอำนาจ (general durable power of attorney) ในการตัดสินใจแทนในเรื่องเกี่ยวกับด้านกฎหมายหรือด้านการเงิน หนังสือมอบอำนาจนี้ต้องเก็บไว้เป็นอย่างดี และไม่นำมาใช้จนกว่าบุคคลจะไร้ความสามารถด้านความนึกคิด และควรมอบอำนาจให้กับคนที่ไว้วางใจมากที่สุด
  • การทำพินัยกรรมแบบคู่รัก (sweetheart wills) นั่นคือ การที่สามีมอบหมายทุกสิ่งทุกอย่างให้กับภรรยา และทำนองเดียวกัน ภรรยาทำพินัยกรรม มอบหมายทุกสิ่งทุกอย่างให้สามี
  • การพิสูจน์พินัยกรรม (probate) เป็นขั้นตอนด้านกฎหมายสำหรับทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต ที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการกองมรดก ต้องรับผิดชอบเรื่องการชำระภาษีให้ถูกต้อง และดำเนินการตามสิ่งที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ซึ่งจะต้องผ่านการพิสูจน์ตามขั้นตอนของศาลยุติธรรม
  • การเสียภาษีให้น้อยที่สุดและไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์พินัยกรรมตามกฎหมาย วิธีที่ดีที่สุดคือทำหนังสือสัญญา การเพิกถอนการไว้วางใจ ("revocable living trust") สำหรับคู่ครองทั้งสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ทรัพย์สินที่อีกฝ่ายได้จะได้รับการยกเว้นภาษีในระดับหนึ่ง ขึ้นกับกฎหมายในแต่ละมลรัฐ
  • ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ขั้นที่หนึ่ง (STEP ONE) จดทุกรายการ เช่น สมุดบัญชีธนาคาร หุ้น พันธบัตร กองทุนรวม กรมธรรม์ประกันชีวิต ราคาบ้านและที่ดิน รถยนต์ เรือ เครื่องเรือน เครื่องเพชร บัญชีบำนาญ ฯลฯ รวมทั้งหนี้สินที่มี ไม่ว่ากู้เงินจากธนาคาร การจำนอง เช่าซื้อรถ หรือ บัตรเครดิต
  • ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ขั้นที่สอง (STEP TWO) เก็บเอกสารไว้ในที่ปลอดภัยและหาได้ง่าย เช่นในตู้นิรภัยที่กันไฟได้ที่บ้าน ซึ่งจะสะดวกดีกว่าตู้นิรภัยของธนาคาร และให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้ว่าเอกสารเหล่านี้เก็บไว้ในที่ใด ถ้าเก็บไว้ในตู้นิรภัยของธนาคาร ให้ทำรายการทั้งหมดของสิ่งของที่มีอยู่ในตู้ไว้ด้วย ระบุเลขที่ตู้ สาขาของธนาคาร อย่าลืมระบุชื่อ เลขที่ รายละเอียดของการประกันชีวิต ประกันรถยนต์ และประกันบ้าน

ต้องคาดคิดสิ่งที่ไม่ได้คาดคิด

  • เมื่อมีเงินมาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องก็โบยบินออกทางหน้าต่าง (When it comes to money, family loyalty goes out the window)
  • บิดามารดาควรแบ่งมรดกอย่างยุติธรรม ที่มีข้อควรระวังเช่น
    • การแบ่งไม่เท่ากัน (Unequal shares) ไม่สมควรทำ เพราะอ้างเหตุว่าความจำเป็นด้านสถานการเงินของบุตรแต่ละคนไม่เท่ากัน
    • การแต่งงานใหม่ของคู่ครอง (Second marriages) ควรระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนว่า บุตรแต่ละคนจะได้อะไร เท่าใด
    • ระวังสะใภ้หรือเขย (Watch out for those in-laws) ให้ระบุในพินัยกรรมว่าหลานคนใดได้รับอะไร จำนวนเท่าใด และในเวลาใด
    • กรณีบุตรขอยืมเงิน (When children owe money to their parents) ให้ระบุในพินัยกรรมอย่างชัดเจน ถึงรายละเอียดการกู้ยืมเงิน
    • ชื่อผู้จัดการมรดก (Naming the executors and trustees) ควรใส่ทั้งหมด (all of them) คงไม่มีบุตรคนใดพอใจที่ถูกละเลย
    • ใครได้กิจการ (Getting the business) โดยมากมักจะยกให้บุตรคนที่ช่วยทำธุรกิจ ดังนั้นในพินัยกรรมต้องระบุให้ชัดเจนว่า ห้ามขัดขืน (no contest) ถ้าบุตรคนใดไม่เชื่อฟังและมีการฟ้องร้อง จะไม่ได้ส่วนแบ่งอะไรเลย (If they sue, they get nothing)
    • ลูกไม่รักดี (Disinheriting children) มีเหตุผลหลากหลายที่บุตรบางคนไม่ได้ส่วนแบ่งเลย เนื่องจากไม่มาดูแลยามแก่เฒ่า ติดสุราหรือติดยาเสพติด หรือกระทำผิดกฎหมาย ทางที่ดีควรให้มีรายชื่ออยู่ในผู้รับมรดกด้วย แต่ต้องมีเงื่อนไขว่า จะต้องทำตนแบบใด อย่างไร หรือเมื่อใด จึงจะได้รับส่วนแบ่งในมรดกนั้น ๆ
  • เป็นการดีที่จะมีการพูดคุยกันในเรื่องรายละเอียดของการแบ่งสินทรัพย์ บุตรทั้งหมดจะได้เข้าใจในเจตนารมณ์ของบิดามารดา ถ้าเกิดมีปัญหาใด ๆ จะได้ซักถามและชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจก่อนที่จะสายเกินไป

12. ทำอย่างไรจึงจะก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุด้วยดี?

  • ทุกคนยอมรับว่า การแก่ตัวลงเป็นเรื่องธรรมชาติ มันคืบคลานหาเราทุกวัน เช่น เริ่มมีผมหงอกเมื่ออายุ 30 สายตาเริ่มยาวเมื่ออายุ 40 หูเริ่มตึงเมื่อ 50 ผ่าตัดหัวใจเมื่ออายุ 60 และมีอาการหลงลืม จากการสำรวจผู้สูงอายุ พบว่า ร้อยละ 49 ของผู้มีอายุ 65 – 69 ปี กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาดีที่สุดของชีวิต (These are the best years of my life.)
  • การเป็นผู้สูงอายุด้วยดี มี 3 คุณลักษณะคือ
    • มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหรือทุพลภาพต่ำ (A low risk of disease and disease-related disability)
    • มีความสามารถสูงทั้งร่างกายและจิตใจ (High mental and physical abilities)
    • มีความกระปรี้กระเปร่าและยังมีการสมาคมอยู่ (The desire to remain actively engaged with people)
  • เราเลี่ยงการเป็นโรคได้ยาก เมื่อเกษียณแล้ว อยากทำอะไรให้รีบทำ ดังคำพูดที่ว่า จิตใจที่สดใสอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง (With good health, everything is possible. Without it, nothing is possible.)"
  • การลงทุนด้วยการออกกำลังกายมีแต่จะได้ ไม่มีขาดทุน เพราะเมื่อออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสาร "เอ็นดอร์ฟินส์" Endorphins ทำให้เรารู้สึกสดชื่น สบาย ผ่อนคลาย (runner's high)" การออกกำลังกาย ไม่เพียงเป็นผลดีต่อร่างกายเท่านั้น ยังมีผลดีต่อจิตใจด้วย

อาการหลงลืม "senior moments." เช่น

  • คุ้นหน้า แต่นึกชื่อไม่ออก
  • จำไม่ได้ว่าจอดรถที่ไหน
  • จำไม่ได้ว่ามาจะทำอะไรตรงนี้
  • รับโทรศัพท์แล้วลืมบอกต่อ ว่ามีคนโทรศัพท์มาหา
  • นึกชื่อเมืองหลวงของรัฐนั้น ๆไม่ออก

มีวิธีช่วยความจำ คือ

  • ใช้ปฏิทินรายเดือน ที่มีช่องว่างใหญ่ ๆ ใช้จดการนัดหมายได้
  • มีที่วางประจำของของใช้ที่จำเป็น เป็นที่หาของได้สะดวกและวางคืนที่เมื่อใช้เสร็จ
  • จอดแล้วจด เมื่อจอดรถให้จดตำแหน่งและชั้นที่จอดรถไว้
  • มีรายการที่ต้องทำ จดรายการที่เรียงตามลำดับความสำคัญ
  • การจดจำชื่อ พูดซ้ำ ๆ จนจำได้ มีการทำแผนผังครอบครัวแล้วระบุชื่อสมาชิกในครอบครัวนั้น ๆ
  • พยายามใช้สมองอยู่เสมอ การมีร่างกายที่แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกิจกรรมสันทนาการอ่านหนังสือ หนังสือพิมพ์
  • เพื่อนช่วยเพื่อน ให้คู่ครองหรือเพื่อนฝูงช่วยกันจดจำเรื่องที่สำคัญเอาไว้

การสร้างสรรค์ที่เกิดจากการมีเสรีภาพ (liberation phase) ผู้ที่เกษียณอายุแล้ว จะมีเวลาว่าง และมีรายได้ที่ประคองตนเองได้ จึงเป็นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ในการทำสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านศิลปะ อาจมีบทบาทเป็นผู้นำหรือผู้ชี้นำสังคม (role of 'shapers' or 'shakers' of society.) เช่นเดียวกับ Socrates, Copernicus, Galileo, Mahatma Gandhi, Golda Meir, และ Nelson Mandela.บทบาทฐานะผู้สั่งสมประสบการณ์ (The summing-up phase) โดยเป็นผู้รักษาศิลปวัฒนธรรม (keepers of the culture) มีการเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ชีวิต เป็นผู้เล่าเรื่องราว เป็นผู้มีจิตอาสา ฯลฯ ผู้สูงวัยยังทำตนเป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่นทำงานหรือเป็นอาสาสมัคร ช่วยดูแลหลาน ๆ มีการออกกำลังกาย หรือท่องเที่ยว เป็นต้น

  • เรื่องที่ไม่ควรทำ (The don'ts)
    • อย่าทำตนเป็นที่น่าเบื่อหน่าย ด้วยการบ่นถึงสุขภาพที่ไม่ดีของตนเอง
    • อย่าเล่าเรื่องเดิมให้คนเดิมฟังซ้ำอีก
    • อย่าดูดายเพื่อนเก่า ที่มีความสำคัญกับเรา
    • อย่าทำตนเป็นคนขี้โมโห หลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้ง โลกนี้ไม่สมบูรณ์แบบ ผู้คนยังเกิดการพลั้งพลาดได้
    • อย่าคิดว่าตนเองฉลาด ให้คำแนะนำผู้อื่น โดยไม่ต้องรอให้เขาร้องขอ
    • อย่ายึดติดกับอดีต
    • อย่าพลาดโอกาสอันดีงาม ถ้าไม่ทำตอนนี้จะไปทำตอนไหน
    • อย่าทำตนเป็นคนอารมณ์ไม่ดี
    • อย่ารบกวนผู้อื่น โดยทำตนน่ารำคาญ เช่นถ้าหูตึงให้หาเครื่องช่วยฟังมาใช้ ไม่ใช่ให้คนต้องพูดตะโกน
    • อย่าพร่ำบ่นเรื่องอายุของตนเอง
  • เรื่องที่สมควรทำ (The dos)
    • มีกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ทำงานแบบไม่เต็มเวลา เป็นอาสาสมัคร มีงานอดิเรก หรือเล่นกีฬา
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งร่างกายและจิตใจ
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    • เป็นคนทันเหตุการณ์
    • พบปะและผูกสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ ๆ
    • อยู่ได้โดยตนเอง
    • เป็นที่ปรึกษาให้กับบุตรหลาน เมื่อเกิดปัญหา
    • ทำตมให้สมวัย เดินช้าลง รอคอยคิวได้ ขับรถใจเย็น
    • มีอารมณ์ขัน หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส "Laughter is the best medicine.)
    • พยามยามผูกมิตรกับลูกและหลานไว้ อย่างไรเสีย ก็ยังต้องอาศัยพึ่งพายามยาก
  • สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเกษียณอายุ ที่ต้องเจอเข้าสักวัน คิดเสียว่า การเกษียณเป็นการเปิดโอกาสที่ดีสำหรับเรา ในการได้ช่วยเหลือสังคม ในการมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนฝูง ครอบครัวรวมทั้งบุตรหลาน และโอกาสในการทำอะไรที่ช้าลง ไม่ต้องรีบเร่งอีกต่อไป

*********************

หมายเลขบันทึก: 581346เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2014 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2014 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท