การทำเกษตรธาตุ4


ป๊ะหรน หมัดหลี

"การทำเกษตรธาตุ 4 ไม่ใช่การทำสวน แบบปริมาณเยอะๆ ปรัชญาของมันคือทำเอง ทำเล็กๆ พอกินและมีความสุข ไม่ต้องเร่งร้อน ไม่ต้องลงทุนมากมาย ไม่ต้องขึ้นกับตลาดมากนัก นะครับ เพราะเกษตรธาตุ 4 คือเกษตรที่ให้ความสุข กลับบ้าน มานอนก็ไม่ต้องคิดมาก ว่าราคาเท่าไหร่ ใช้หนี้เท่าไหร่ ค่าปุ๋ย ค่าแรงเท่าไหร่"

นิยามเกษตรธาตุ 4 คือ คน พืช และสัตว์ มีธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มากน้อยต่างกัน การทำเกษตรธาตุ 4 จะต้องมีความรู้เรื่องธาตุและสามารถแยกแยะความเหมาะสมของพืชที่จะนำมาปลูกในหลุมเดียวกันและดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา

ปรัชญาเกษตรธาตุ 4 เราต้องทำด้วยตัวเราเอง ทำให้ปริมาณที่น้อย ๆ ทำเพื่อพอกินและมีความสุขเราต้องทำไปข้างหน้า อย่าทำถอยหลัง และก็ไม่ต้องลงทุนมากไม่ต้องรีบร้อน ทำแล้วมีความสุข ไม่ต้องไปคิดถึงค่าอาหาร ค่าปุ๋ย ค่าแรง หรือแม้แต่ค่าหนี้ มีเงินเราก็กิน ไม่มีเงินเราก็กิน


ความรู้เรื่องธาตุ และธาตุของต้นไม้แต่ละชนิด

ธาตุน้ำ รสจืด เช่น มังคุด, กล้วย, จำปาดะ, อ้อย, มะม่วง, ชมพู่
ธาตุดิน รสฝาด ขม เช่น มะมุด, สะตอ, เหรียง, ใบยาสูบ
ธาตุลม รสหื่น เฝื่อน เช่น ลองกอง, ลางสาด, ผักเสี้ยนผี

ธาตุไฟ รสเผ็ด ร้อน เช่น ทุเรียน, พริก, ส้ม, ไฟเดือนห้า, พาหมี


เทคนิคเกษตรธาตุ 4


การขยายพันธุ์พืช
ปลูกด้วยเมล็ดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากเราจะได้ต้นที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทนต่อโรค ทนต่อสภาพภูมิอากาศ ระบบรากสมบูรณ์ และที่สำคัญก็คือ ประหยัดเงิน ซึ่งบางครั้งเราอาจจะได้ต้นพันธุ์ที่ดีกว่าต้นแม่เสียด้วยซ้ำ ในการที่จะเอาเมล็ดมาปลูกควรเอามาปลูกให้หลายเมล็ดหรือหลากหลายถ้าหากเราปลูกเพียงไม่กี่เมล็ด บางครั้งมันอาจตายไป

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบรากของพืช
มีการดัดแปลงพื้นที่การปลูก และกระบวนการปลูก โดยคำนึงถึงระบบรากเป็นหลัก เช่น มังคุด จะเป็นพืชที่มีระบบราก การหาอาหารจะอยู่ลึกต่างกับพืชชนิดอื่น จึงได้นำไปปลูกร่วมกับทุเรียน ซึ่งมีระบบรากที่ตื้นแต่การหาอาหารของทุเรียน จะชอบหาอาหารบริเวณไกลจากต้น คือ บริเวณปลายเงาของทรงพุ่มของพืช ซึ่งหากทดลองขูดดูจะเห็นได้อย่างชัดเจน สำหรับต้นลองกอง, ลางสาด นั้นจะชอบกินอาหารบริเวณใกล้ ๆ กับลำต้น ซึ่งไม้ผลเหล่านี้มีระบบรากฝอยอยู่มาก ดังนั้นเราไม่ต้องไปกังวลเลยว่าหากปลูกร่วมกันแล้วต้นไม้มันจะแย่งอาหารกัน


วิถีชีวิตในเกษตรธาตุ 4

การเกษตรในปัจจุบัน ถ้าเราปลูกต้นใดแบบเดี่ยว ๆ หรือเชิงเดี่ยว ถ้ามันตายก็จะตายไปเลย การปลูกใหม่ก็โตไม่ทัน แต่ถ้าเราปลูกแบบรวมหรือหลุมเดียว 3 – 4 ต้น ต้นหนึ่งตายยังเหลืออีก 2 ต้น ซึ่งหากเรานำสวนเหล่านั้นมาเทียบกับสวนเกษตรธาตุ 4 ไม้จะอายุยืนกว่าและได้ผลผลิตที่คุ้มค่ากว่าและลงทุนน้อยกว่าแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่ต้องออกเงินเลย ไม่เหมือนกับการปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งจะต้องใช้ทุนเยอะมาก เกษตรธาตุ 4 นั้น สำคัญเราต้องทำทุกวัน วันละนิดแบบพอดี เน้นความสุข เน้นการพึ่งตนเองแบบพอเพียง และที่สำคัญในการปลูกพืช เราจะต้องดูลักษณะของพื้นที่เป็นหลักว่าควรจะเพิ่มเติมหรือลดอะไร

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบธาตุ 4

มีความเชื่อว่าไม้ทุกชนิดมีธาตุ ทั้ง 4 อยู่ในตัว แต่จะมีธาตุใดธาตุหนึ่งในแต่ละต้นมากน้อยแตกต่างกัน เช่น ต้นมังคุด มีธาตุดินกับธาตุน้ำมาก ธาตุไฟและธาตุลมน้อย ยางพารามีธาตุไฟมาก ต้นกล้วยมีธาตุน้ำมาก เป็นต้น จากการทดลองเอาไม้ผลชนิดต่าง ๆ มดทดลองปลูกรวมกันในส่วนได้พบว่า ต้นไม้ที่มีธาตุเหมือนกัน ไม่ควรเอามาปลูกร่วมกัน แต่ถ้าจะปลูกรวมกันต้องเอาไม้ผลอย่างอื่นมาร่วมด้วย หรือไม้ผลที่มีธาตุต่างกันมาร่วมกันได้ เช่น ถ้ามีธาตุไฟมาก ก็นำพืชที่มีธาตุน้ำมาปลูกใกล้กันเพื่อได้พึ่งพาต่อกัน ทำให้ออกดอกผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย

รูปแบบการทำเกษตรคนจน

หลักการทำสวนเพื่อการเลี้ยงชีพด้วยการปลูกพืชหลายชนิด การปลูกพืชก็ควรจะมีความรู้เรื่องการให้ผลผลิตของพืชแต่ละชนิด เพราะว่าการทำเกษตรแบบนี้ ต้องให้ได้รับผลในช่วงระยะเวลาภายใน 3 เดือน ต้องการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดใด ก็ปลูกลงไปแล้วค่อยเพิ่มชนิดของพืชที่ปลูกเพื่อให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลายาว ตัวอย่าง เช่น มีที่ดินเพียง 2 ไร่ ในที่ดินผืนนี้เราอยากจะปลูก ทุเรียน ลองกอง มังคุด สะตอ เราก็ไปซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูก โดยเราจะต้องเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีกิ่งมาก ๆ แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีว่าในการซื้อกิ่งพันธุ์คนจะไม่ชอบซื้อ เนื่องจากมันยุ่งยากและดูเกะกะในการขนส่ง เมื่อเอาไปปลูกมันจะแย่งอาหาร หลักจากที่ได้กิ่งพันธุ์มาแล้ว เมื่อเรานำไปปลูกเราก็เตรียมกิ่งพันธุ์ไว้ หลังจากนั้นก็นำต้นที่ใส่ถุงไว้นำเอาไปทาบกิ่งที่เราซื้อมา เราไม่ต้องทาบมากเอาเพียง 2 กิ่ง ก็พอ ทาบให้หมดทุกต้น พอได้ประมาณ 3 เดือน ก็ตัดกิ่งเหล่านั้นออก แล้วนำกิ่งนั้นไปขาย เอากำไรเพียงต้นละ 10 บาท ก็
พอเอาเงินที่ขายกิ่งพันธุ์ไปซื้อผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดรับรองได้ว่าได้กินอย่างแน่นอน

การบำรุงรักษาและการป้องกัน

การดูแลไม่ต้องไปดูแลมากนักแต่ต้องดูแลทุกวัน แต่ในช่วงเวลาที่พืชพักตัว เราต้องดูแลเขา เช่น ปุ๋ย ถางหญ้าในแปลง ปุ๋ยที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็มีอยู่ 3 สูตร คือ

สูตรที่ 1 คือ ปุ๋ยตรา จระเข้

สูตรที่ 2 คือ ปุ๋ยคอก

สูตรที่ 3 คือ สูตรธรรมชาติ

ปุ๋ยตราจระเข้ ก็คือ จอบ มีด พร้า และคราด ให้ปุ๋ยในช่วงเข้าฤดูฝน โดยจะถางหญ้าในช่วงนี้เพราะว่าถ้าไปถางหญ้าในช่วงฤดูแล้งต้นไม้ที่เราเริ่มปลูกหรือต้นเล็ก ๆ มันจะตายหมดเพราะไม่มีความชื้นคอยให้น้ำหรือช่วยดูดความร้อนอยู่ในช่วงนั้น แต่ถ้าเราถางหญ้าในช่วงฤดูฝนพอเราถางจนหมดกว่าจะถึงฤดูแล้งต้นไม้ที่เราถางมันก็งอกออกมาพอดีทำให้ช่วงหน้าแล้งพื้นที่ของเราก็ยังชื้นอยู่เสมอ หรือหน้าดินไม่แห้ง สิ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนควรจะจำเอาไว้ ส่วนในเรื่องของการให้ปุ๋ยนั้น จะคำนึงถึงความเป็นธรรมชาติของต้นไม้ จึงปล่อยให้มันเจริญงอกงามตามธรรมชาติและจะใส่ปุ๋ยบำรุงรักษาเป็นครั้งคราวเท่านั้น โดยปุ๋ยที่ใช้ คือ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก เศษหญ้า ฟาง ไม้ผุ ฯลฯ ในการใส่ปุ๋ย คำนึงถึงช่วงของฤดูกาล เราไม่จำเป็นต้องดูช่วงระยะเวลามากนัก แต่เราต้องสังเกตด้วยว่าถ้าเราให้ปุ๋ยในช่วงฤดูแล้งนั้น ต้นไม้จะนำไปใช้ได้หรือไม่ ช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุด คือ หลักจากที่ถางหญ้าในสวนแล้วช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ให้ปุ๋ยกับต้นพืชเหล่านั้น หรือในช่วงฤดูฝน สิ่งสำคัญเราต้องให้น้ำอยู่ตลอด หากเราเพิ่งปลูกเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะในแปลงพื้นที่เกษตรใหม่ ๆ

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงความต่างระดับของพืช

ต้นไม้แต่ละต้นแต่ละชนิดจะขึ้นไม่เหมือนกัน เช่น ผลไม้ประเภทมังคุด ลองกอง ลางสาด จะเป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางและต้องการแสงแดดร่มปานกลาง สามารถปลูกถัดลำดับลงมาได้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นไม้ชนิดอื่น ส่วนพืชชนิดสูงก็ปลูกให้อยู่รวมกันกับพืชที่ขึ้นในระดับปานกลางได้ ส่วนในพื้นที่ว่างเราก็สามารถปลูกพืชแซมประเภท พริก ตะไคร้ สมุนไพร ฯลฯ ได้อีกด้วย แต่ในการปลูกพืชนั้นเราต้องดูด้วยว่า พืชเหล่านั้นให้ผลผลิตตรงส่วนไหน บางชนิดอาจให้ผลที่ปลายยอด, ปลายกิ่ง บางชนิดอาจให้ผลตามกิ่งหรือตามลำต้น ดังนั้นเราควรดูให้แน่ใจก่อนที่จะนำมาปลูก และ หากมีไม้ป่างอกขึ้นมาในแปลง เราก็ไม่ควรไปตัดทิ้งเนื่องจากไม้บางอย่างอาจเป็นประโยชน์กับเรากับพืชหรือกับสัตว์

การทำเกษตรธาตุ 4 มีแนวคิดในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนี้

ย. ที่ 1. ยั่งยืนต่อชีวิต คือ ต้องทำให้ชีวิตทั้งคน พืช สัตว์ยั่งยืนแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ตาย ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดแล้วมีดับ การทำเกษตรรูปแบบนี้ใช้ปัญญานำ โดยคิดเสมอว่าทำแล้วไม่เป็นอันตรายกับคนอื่น เพราะทุกวันนี้เกษตรกรหลายคนทำโดยไม่มีความรู้หรือรู้แต่คาดไม่ถึง ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฉีดหญ้าในแปลงเพื่อจะปราบหญ้าแต่หารู้ไม่ว่าได้ทำลายพืชสมุนไพรและสัตว์ไปหลายชนิด และยังมีสารเคมีตกค้างทำให้ดินเสื่อมเวลาฝนตกสารเคมีก็จะไหลลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า (แปลงของคนใกล้เคียง) และจะไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้น้ำเสียและจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ ถ้าทุกคนสามารถลด ละ เลิกการใช้สารเคมีก็จะทำให้สุขภาพดี

ย. ที่ 2. ยั่งยืนต่อต้นน้ำ คือ ต้องคำนึงถึงป่าต้นน้ำ และมีวิธีจัดการป่า, น้ำอย่างถูกวิธีและต้องช่วยกันสร้างป่าเพื่อเพิ่มน้ำและปลูกไม้เสริมในแปลงของตัวเองเท่ากับเราได้รักษาป่าและต้นน้ำ "ป่าอยู่รอด เราอยู่ได้"

ย. ที่ 3. ยั่งยืนต่อดิน คือ ไม่ใช้สารเคมีทำลานหน้าดิน (ปุ๋ยเคมีและยาฉีดหญ้า) เพราะสารเคมีตกค้างทำให้ดินเสื่อมเมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็ต้องเพิ่มปริมาณการใช้หรือต้องลงทุนทั้งเงินทั้งแรงมากขึ้น

ย. ที่ 4. ยั่งยืนต่อผลผลิต คือ การปลูกพืชหลายชนิดในแปลงให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปี เช่น ไม้ผล, ไม้ใช้สอย, ผักพื้นบ้าน, ไม้เศรษฐกิจ ฯลฯ

การปลูกไม้ที่ทำให้มีรายได้ตลอดปี

เดือนมกราคม – เมษายน

คือ มะนาว, กล้วย, ผักพื้นบ้าน ฯลฯ

เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน

คือ ส้มโอ, กล้วย, ผักพื้นบ้าน ฯลฯ

เดือนสิงหาคม – ธันวาคม

คือ ทุเรียน, กล้วย, ผักพื้นบ้าน ฯลฯ

ประโยชน์ที่ได้รับ

1. ลดความเสี่ยงจากการแปรปรวนของสภาพลม ฟ้า อากาศ

2. ลดความเสี่ยงจากความแปรผันของราคาผลผลิต

3. ลดความเสี่ยงต่อการระบาดของศัตรูพืช

4. ช่วยเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ตลอดปี

5. ช่วยก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ

6. ช่วยกระจายการใช้แรงงาน

7. ช่วยก่อให้เกิดการหมุนเวียน (Recycling) ของกิจกรรมต่าง ๆ ในระบบไร่นา

8. ช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพเพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือน

9. ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น









อ้างอิง : หนังสือ "องค์ความรู้และภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน" สำนักช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

:

หมายเลขบันทึก: 581196เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท