จัดการความรู้เรื่องอะไร? จัดการไปทำไม?


  • "การจัดการความรู้" (Knowledge Management: KM) ในเมืองไทยวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ยังพบอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จัก KM เลย อันที่จริงแล้วทุกองค์กรต่างเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว มากบ้าง น้อยบ้างต่างกันไป อาจเป็นเพราะด้วยชื่อของมันที่ดูขึงขัง ซึ่งมีทั้ง "การจัดการ" (Management) แถมยังมีคำว่า "ความรู้" (Knowledge) เข้ามาร่วมผสมโรงอีก เลยดูซีเรียสเข้าไปใหญ่ แค่ได้ยินชื่อ ก็ไม่อยากรู้จักแล้ว
  • หากตั้งคำถามใหม่ว่า "มีองค์กรใดบ้างที่ตั้งแต่ทำงานมา ไม่ได้ใช้ความรู้อะไรเลย?" หรือ "มีองค์กรใดบ้างที่ไม่เคยรู้ว่ามีความรู้อะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับการทำงานในบริบทของตนเอง?" คงจะหายากสำหรับองค์กรที่ตอบว่า "ไม่ได้ใช้ความรู้อะไรเลย" หรือ "ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าความรู้ที่จำเป็นสำหรับงานของตนเองนั้นมีอะไรบ้าง" เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถดำรงอยู่ได้มาจนถึงวันนี้ นั่นแสดงว่าต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย หากเริ่มอย่างนี้ ก็เท่ากับมองเห็นว่า องค์กรใดๆ ย่อมหนีจากการเกี่ยวข้องกับความรู้ไม่ได้เลย แม้แต่ชีวิตเราก็หนีความรู้ที่ทำให้เราอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุขไม่ได้เช่นกัน
  • แต่จากประสบการณ์ส่งเสริมการจัดการความรู้ในบ้านเรา หลุมพรางใหญ่ไม่ใช่ "เทคนิค" หรือ "วิธีการ" ของการจัดการความรู้ ไม่ว่าเครื่องมือใดๆ เมื่อนำเข้ามาในองค์กร ถูกนำเข้ามาในฐานะ "ภาระ" ใหม่ของคนทำงาน เราจึงต้องเจอกับอาการต่อต้านของคนหน้างาน "มาอีกแล้ว KM ของเล่นใหม่ของนาย ยังทันหายเหนื่อยจากเครื่องมือเก่าเลย!" ทั้งๆ ที่แนวคิดของเครื่องมือทุกตัวถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่ม "พละ" ให้แก่คนทำงานได้พัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร แล้วทำไมมันกลับกลายเป็นภาระไปเสียนั่น
  • สิ่งที่พบในองค์กรส่วนใหญ่ คือ หลงชู "ธงเครื่องมือ" เด่นเกิน "ธงของงาน" วิธีการนำเครื่องมือเข้าไปใช้จึงเกิดอาการบ่นประมาณว่า "ต้องทำ KM อีกแล้ว แทบจะไม่มีเวลาทำงานปกติอยู่แล้ว!" สิ่งที่นำเข้าไปใหม่มันจึงไม่สำแดง "พละ" ให้ปรากฏ แต่ปรากฏเป็นภาระใน "ตัวชี้วัด" เป็นส่วนใหญ่ นี่คือตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนว่า หลุมพรางใหญ่ที่กล่าวถึงนั้น มันเป็นวิธีคิด เข้าขั้นกระบาลทัศน์กันเลยทีเดียว แต่อาการป่วยในองค์กรเยี่ยงนี้ ใช่ว่าจะไม่มียาแก้ เราพบองค์กรที่ข้ามหลุมพรางเช่นนี้ได้ แล้วลองแกะรอยดูว่าเขามีเคล็ดลับ หรือมีของดีอะไรที่รอดพ้นมาได้และใช้ KM ได้จนเกิด "พละ" สิ่งนั้นคืออะไร?
  • พอเข้าไปสัมผัสบรรยากาศจริงในองค์กรเหล่านั้น ก็ทำให้เข้าใจว่า มันไม่ใช่สิ่งวิเศษ หรือความสามารถพิเศษแต่อย่างใด แต่มันเป็น "กระบวนการเรียนรู้" ที่แฝงอยู่ในวิถีการทำงานเดิมได้อย่างแนบเนียน เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบ เรียนไป ทำไป พัฒนาไปในเวลาเดียวกันกับการทำงาน พบว่า KM รวมทั้งเครื่องมืออื่นถูกออกแบบใหม่ในหน้าตาที่ดูจะแปลกไปในสายตาของนักวิชาการที่ถูกความรู้จัดการ หน้าตาใหม่อาจอยู่ในวิธีการปฏิบัติหรือกิจกรรมแบบเล็กจิ๋วจนหลายๆครั้งต้องค่อยๆ เชื่อมโยงว่ามันคืออะไร นำไปสู่อะไร และเกิดคุณค่าอย่างไร ที่จริงแล้วคนทำงานเหล่านี้ เขาต้องใช้การเรียนรู้เยอะมากกว่าจะเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ลองผิดลองถูก ตั้งคำถามแบบนักวิจัยซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนค้นพบทางออก ปรากฏการณ์เช่นนี้มันบ่งบอกถึงอะไร? สื่อถึง "ภาวะผู้นำ" ใช่หรือไม่? เพราะผู้นำ หรือ ผู้บริหาร เขาเรียกนามสมมติว่าเป็น "Executive" ซึ่งมาจากคำว่า"ผู้ที่นำสู่การปฏิบัติได้" ซึ่งเขาเหล่านั้นก็มีสิ่งนี้
  • มันจึงเป็นศิลปะของการจัดการ มากกว่าศาสตร์ที่แข็งตัว ทำอย่างไรจึงจะจัดการฝันให้กลายเป็นจริงได้ ทำอย่างไร จึงจะนำวิสัยทัศน์สู่ปฏิบัติได้ แต่เรื่องราวเหล่านี้ มักไม่ได้ถูกนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพราะว่าดีกรีเขาเหล่านั้นดูธรรมดาไป นี่ก็ปัญหากระบวนทัศน์อีกเช่นกัน มุมมองบางมุมจึงถูกกดทับไปอย่างน่าเสียดาย

  • ผู้เขียน : thawat
  • โพสต์เมื่อ 25 ตุลาคม 2556 จากเว็บไซต์ http://kmi.or.th/uthor/thawat/
คำสำคัญ (Tags): #จัดการความรู้
หมายเลขบันทึก: 581185เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท