โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ใหม่ของหาดใหญ่


โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของหาดใหญ่

1. ชื่อโครงการ"โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ใหม่ของหาดใหญ่"

2. หลักการและเหตุผล

ตามที่ได้รับทาบทามให้ร่วมเป็นคณะกรรมการใหม่ในสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาในสมัยปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ด้วยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีทุนทางประวัติศาสตร์อันมหาศาล กอร์ปกับทิศทางการขับเคลื่อนของประเทศชาติในการเป็นประชาคมอาเซี่ยนในปี ๒๕๒๘ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อกับประเทศไทยได้เริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศโดยเริ่มต้นขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาโดยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ได้มีการลงนามสัญญาสงบศึก ที่ห้องประชุมสันติภาพ ชั้น ๑๒ โรงแรมลี การ์เดนส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีจีนเป็ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นผู้ลงนามฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดาโต๊ะ ฮาจี วันซีเดท ปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียเป็นผู้ลงนามฝ่ายมาเลเซีย และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการทั่วไปและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นประธานผู้ไทยในฐานะพยาน ถือเป็นการยุติบทบาทของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาทำให้แผ่นดินประเทศมาเลเซียเกิดความสงบและมีสันติภาพทำให้บ้านเมืองมีการพัฒนา คนรุ่นใหม่ในมาเลเซียอาจหลงลืมประวัติศาสตร์หน้านี้ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่นิยมเข้ามาท่องเที่ยวมักนิยมมาหาอาหารรับประทาน ซื้อของ ไหว้พระไหว้เจ้าตามความเชื่อและศรัทธา หากสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาหยิบยกประวัติศาสตร์หน้านี้ของประเทศมาสร้างเป็นจุดขาย น่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และขายได้ตลอดไป และเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประชาคมอาเซี่ยนและทั้งโลกให้เดินทางมาจิบกาแฟแลอดีตแห่งสันติภาพที่จังหวัดสงขลา

3. ลักษณะของโครงการ โครงการจัดสร้างหุ่นขี้ผึ้งและรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันลงนามวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๒ จัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว

4.ผู้รับผิดชอบโครงการ สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาร่วมกับหอการค้าจังหวัดสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และสถาบันการศึกษาในจังหวัดสงขลาและพันธมิตรอื่น ๆ(กองทัพบก และ กองทัพภาคที่ ๔)

5. ระยะเวลาดำเนินการ ในสมัยการทำงานจนกว่าภารกิจสำเร็จ

6. วัตถุประสงค์

6.1 เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ระดับชาติและระดับโลก

6.2 เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่จะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวอุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

6.3 เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศที่สามารถชักชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งประเทศมาเลเซียและประชาคมอาเซี่ยนตลอดจนทั้งโลกได้มาศึกษาเพราะการสงบศึกนี้เป็นประวัติศาสตร์ของสันติภาพโลก

6.4 เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพ

6.5 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชมได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดและช่องทางการการสร้างสันติภาพในโลก
7. เป้าหมาย / ตัวชี้วัด

- มีนักท่องเที่ยวเข้าชมประมาณ 300 คนต่อวัน

- นักสันติวิธีสามารถใช้ตัวแบบการพัฒนาสันติภาพที่เกิดขึ้นเป็นตัวแบบการเสนอ

8. สถานที่ดำเนินการ

ห้องประชุมสันติภาพ ชั้น ๑๒ โรงแรมลี การ์เดนส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

10. แผนการดำเนินงานและระยะเวลาดำเนินการโครงการ

เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติในที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา นัดประชุมเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสร้างความเข้าใจร่วม มอบหมายสถาบันการศึกษาจัดการรวมรวมหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง

11. งบประมาณที่ดำเนินการ

11.1ค่าจัดการประชุมคณะกรรมการ และพันธมิตรประมาณ ๔ ครั้ง

11.2งบประมาณการรวมรวมหลักฐาน

11.3งบประมาณการการจัดเตรียมสถานที่และการทำหุ่นขี้ผึ้ง

-

12. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

จะมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและประชาคมอาเซี่ยน ตลอดถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าชมปีละประมาณ ๑,๐๐๐.๐๐๐ คน

13. การติดตามประเมินผล

13.1 มอบสถาบันการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ

13.1 การวิจัย

14. วิธีดำเนินการ

14.1 ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ขอบเขต และงานที่จะทำ

14.2 จัดหางบประมาณดำเนินการ

14.3 หาผู้ทำโครงงานนำเสนอ

14.4 เมื่อเปิดทำการแล้วหารายได้จากการขายขนมและกาแฟ ชนิดเดียวกับที่เลี้ยงผู้เข้าร่วมประชุมและลงนามในวันนั้น

14.5 การจัดทำของที่ระลึกสันติภาพขาย

ผู้เสนอโครงการ/ประสานงาน นายชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ กรรมการสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา

เอกสารผนวก

การเคลื่อนไหวปฏิบัติการและการตั้งฐานที่มั่นของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ก่อให้เกิดผลและผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง และความมั่นของของชาติ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายในการป้องกันและปราบปราม ด้วยการทำความตกลงร่วมมือกับมาเลเซีย นับตั้งแต่การประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อ พ.ศ. 2491 ได้จัดตั้ง "กองปราบปรามผสม" มีกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการรักษาการณ์กลาง และคณะกรรมการรักษาการณ์ทักษิณ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย [36] ต่อจากนั้นได้ทำความตกลงร่วมมือกันอีกหลายครั้งและปรากฏในรูปของการทำความตกลงร่วมมือในการปฏิบัติการร่วมตามแนวพรมแดนไทย – มาเลเซีย สรุปได้ดังนี้ [37]

ระยะที่ 1 พ.ศ. 2492 – 2495 เป็นการทำความตกลงรวมมือในระดับผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 9 ที่ได้รับมอบอำนาจจากกรมตำรวจ กับผู้บังคับการตำรวจมลายูสาระสำคัญของข้อตกลง คือ ต่างฝ่ายต่างทำการปราบปรามในเขตแดนของตน แต่ให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน การปราบปรามได้ผลดีอยู่ระยะหนึ่งแต่เมื่อโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาคุ้นเคยกับภูมิประเทศตามพรมแดนมากขึ้นการปราบปรามจึงไม่ค่อยได้ผล

ระยะที่ 2 พ.ศ. 2496 เป็นการตกลงระดับกรมตำรวจมาเลเซียกับกรมตำรวจไทย เพื่อปรับปรุงการหาข่าวเกี่ยวกับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยมีการจัดตั้งหน่วยสันติบาลผสมขึ้นที่จังหวัดสงขลา

ระยะที่ 3 พ.ศ. 2498 เป็นการตกลงในระดับรัฐบาลเพื่อดำเนินการปราบปรามร่วมกัน เนื่องจากโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาตามบริเวณแนวพรมแดนได้ทวีการคุกคามรุนแรงยิ่งขึ้น โดยฝ่ายไทยตั้งกองบังคับการไว้ที่อำเภอเบตงและฝ่ายมาเลเซียตั้งกองบังคับการไว้ที่โกระ

ระยะที่ 4 พ.ศ. 2502 รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียได้มีการเจรจาการทางการทูตพิจารณาจัดตั้งหน่วยปราบปรามร่วมขึ้นใหม่โดยฝ่ายไทยได้จัดตั้ง กองอำนวยการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ภาคใต้ขึ้น และแต่งตั้งกรรมการขึ้น 2 ระดับ เพื่อพิจารณาปัญหาร่วมกันกับฝ่ายมาเลเซีย คือ คณะกรรมการฝ่ายอำนวยการชั้นสูง มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกับคณะกรรมการปฏิบัติการที่ชายแดน มีรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน) เป็นประธาน

ระยะที่ 5 พ.ศ. 25

06 การดำเนินการปราบปรามในความรับผิดชอบของกองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) หลังจากรัฐบาลไทยได้สั่งยุบเลิก กองอำนวยการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ภาคใต้ และโอนความรับผิดชอบในการปราบปรามขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ให้แก่กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) เมื่อ 1 ตุลาคม 2506 การรับโอนงานปราบปรามครั้งนี้ กรป.กลาง ได้พิจารณาเห็นว่าควรจะเน้นหนักในการป้องกันมากกว่าการปราบปราม โดยดำเนินการให้ราษฎรมีความรู้สึกซาบซึ้งในเจตนาดีของรัฐบาลและพยายามช่วงชิงมวลชนจากฝ่ายโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาให้ได้ ส่วนการปราบปรามให้ใช้เป็นวิธีสุดท้าย

จากแนวคิดดังกล่าวรัฐบาลไทยจึงได้ขอยกเลิกความตกลงฉบับเดิมทั้งหมด และได้ทำความตกลงใหม่กับรัฐบาลมาเลเซียอีก 3 ครั้ง [38] คือ

1) ความตกลงเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2508 ได้กำหนดกรรมการขึ้น 2 คณะ คือ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป และ คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค

2) ความตกลงฉบับที่แก้ไขใหม่เมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ. 2513

3) ความตกลงฉบับแก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2520 โดยมีสาระสำคัญ คือ การร่วมมือกันปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา

หลังจากที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียได้ลงนามในความร่วมมือในการปฏิบัติการร่วมตามแนวพรมแดนไทย – มาเลเซีย เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ดำเนินการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา โดยใช้กำลังทหารระหว่างไทย – มาเลเซีย พอสรุปได้ดังนี้

ในช่วง พ.ศ. 2510 – 2519 มีการปฏิบัติการที่สำคัญ 4 ครั้ง คือ ยุทธการสวัสดี, ยุทธการซาลาม, ยุทธการสวัสดี – ซาลาม และยุทธการไชโย ทั้งหมดมีพื้นที่ปฏิบัติการในประเทศไทย บริเวณอำเภอเบตง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ในพื้นที่ปฏิบัติการของ จคม. กรมที่ 12 อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในพื้นที่ปฏิบัติการของ จคม. กรมที่ 8 และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ในพื้นที่ปฏิบัติการของ จคม. กรมที่ 10 [39]

ในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีปฏิบัติการร่วมที่สำคัญ 4 ครั้ง [40] คือ

ครั้งแรก แผนดาวใหญ่ มุสน่าห์ 1 เริ่มกลางเดือน มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นปฏิบัติการในการแถบอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

ครั้งที่สอง แผนดาวใหญ่มุสน่าห์ 2 เริ่ม 15 มีนาคม ถึง 20 เมษายน 2520 เป็นปฏิบัติการในแถบอำเภอสะเดา อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ครั้งที่สาม แผนซาฮาย่า เบน่า 1 แสงอาญาสิทธิ์สู่เบตง) เริ่มวันที่ 4 กรกฎาคม ถึง 10 สิงหาคม 2520 เป็นเวลา 31 วัน เป็นปฏิบัติการในแถบอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

ครั้งสุดท้าย แผนซาฮ่ายา เบน่า 2 (แสงอาญาสิทธิ์สู่เบตง) เริ่ม 7 – 28 กรกฎาคม 2520 ในแถบอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

ในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีการปฏิบัติร่วม [41] คือ

ครั้งแรก แผนรายวัน ใช้เวลา 1 สัปดาห์ ในเดือน มกราคม 2521 โดยมุ่งพัฒนามาตรฐานของกระบวนการปฏิวัติการสำหรับกองทัพทั้งสองประเทศในการติดต่อประสานงานร่วม ทั้งการสื่อสารการใช้ภาษา

ครั้งที่สอง แผนซาลามัติ – สวัสดี 1 เริ่ม 24 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2521 เป็นปฏิบัติการในเขตอำเภอเบตง กิ่งอำเภอธารโต และอำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา

ครั้งที่สาม แผนซาลามัติ – สวัสดี 2 หรือยุทธการ 791 เริ่ม 1 ตุลาคม 2521 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2522 พื้นที่ปฏิบัติการเช่นเดียวกับแผนยุทธการซาละมัต – สวัสดี

ครั้งที่สี่ คือ ยุทธการ 792 อัลฟ่า เริ่มวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2522 โดยมุ่งหมายถล่มโจรจีนคอมมิวนิสต์ กรมที่ 8 ที่เขาน้ำค้าง ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

นอกจากนั้นได้มีปฏิบัติการอีกหลายครั้ง เช่น ยุทธการ 792 บราโว่, ยุทธการ 792 ซาร์ลี, ยุทธการ 801 อัลฟ่า เหล่านี้ เป็นต้น

ในพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/ 2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ หรือ นโยบายการเมืองนำการทหาร ที่รู้จักกันในนาม "นโยบาย 66/23" พร้อมกับจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท. 43) [42] เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์ด้วย

จากการดำเนินการปราบปรามขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ทั้งทางการเมืองการทหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ดำเนินนโยบาย 66/2523 ยุคพลโทหาญ ลีลานนท์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ใช้นโยบายใต้ร่มเย็นกดดันโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาปฏิบัติการจิตวิทยาและการทหารตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น 11 และ ยุทธการใต้ร่มเย็น 15 [43] จนสามารถยึดกองกำลังของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาได้หลายพื้นที่ ต่อมาในสมัยพลโทวันชัย จิตต์จำนง และพลโทวิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และพลตรีกิตติ รัตนฉายา (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังผสมเฉพาะกิจฝ่ายไทยได้มีการเจรจากับโจรจีนคอมมิวนิสต์เพื่อยุติปัญหาในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

การดำเนินตามแนวนโยบาย 66/2523 และนโยบายใต้ร่มเย็นของกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 ภายใต้การบังคับบัญชากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่งผลให้ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ กรมที่ 8 และกรมที่ 10 เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อ 1 มีนาคม 2530 และ 28 เมษายน 2530 [44] หลังจากนั้นได้มีการเจรจากับผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อยุติปัญหาอีก 5 ครั้งที่จังหวัดภูเก็ต คือ

1. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 1 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2532 [45]

2. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 2 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2532 [46]

3. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 3 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2532 [47]

4. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 4 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 2 – 3 ตุลาคม 2532 [48]

5. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 5 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2532 [49]

ภายหลังการเจรจาทั้ง 5 ครั้ง จึงได้มีการลงนามในความตกลงเพื่อยุติสถานการณ์การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีจีนเป็ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นผู้ลงนามฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดาโต๊ะ ฮาจี วันซีเดท ปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียเป็นผู้ลงนามฝ่ายมาเลเซีย และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการทั่วไปและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นประธานผู้ไทยในฐานะพยาน ถือเป็นการยุติบทบาทของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา

นโยบายของรัฐบาลไทยและการดำเนินการกับสมาชิกโจรจีนคอมมิวนิสต์มลาลยาในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ. 2530 และเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2530 รัฐบาลไทยได้เสนอแนวทางให้เลือก 2 แนวทาง คือ

1). ส่งกลับประเทศมาเลเซีย

2). เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ซึ่งรัฐบาลก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ และให้สัญชาติไทยเมื่ออยู่ครบ 5 ปี

การดำเนินการกับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รัฐได้ดำเนินการดังนี้ [50]

ขั้นที่ 1 นำผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เข้าอำเนินกรรมวิธีขั้นต้นที่ศูนย์ใต้ร่มเย็นสัมพันธ์ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท 43) ค่ายสิรินทร จังหวัดยะลา จัดทำประวัติ ถ่ายรูป อบรมฟื้นฟูจิตใจ และให้ความรู้พื้นฐานทางสังคมในการปรับตัวกับสังคมภายนอก

ขั้นที่ 2 ดำเนินการสร้างที่พักชั่วคราว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณที่จัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้พัฒนาชาติไทย

ขั้นที่ 3 ดำเนินการปรับพื้นที่ และสร้างบ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น

ขั้นที่ 4 – 5 ส่งมอบหมู่บ้าน ให้ฝ่ายบ้านเมืองในลักษณะหมู่บ้าน อพป. และพิจารณาให้ใบต่างด้าวผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยตามขั้นตอนกฎหมาย โดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

จุดที่ 1 บ้านปิยะมิตร วนคาม 1 อยู่ในพื้นที่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่พิกัด คิว.จี. 2542

จุดที่ 2 บ้านปิยะมิตร วนคาม 2 อยู่ในพื้นที่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พิกัด คิว.จี. 2449 อยู่หางจากจุดที่ 1 ประมาณ 12 กิโลเมตร

จุดที่ 3 บ้านปิยะมิตร วนคาม 3 อยู่ในพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พิกัด คิว.จี. 3355

จุดที่ 4 บ้านปิยะมิตร วนคาม 4 อยู่ในพื้นที่ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พิกัด คิว.จี. 3689

จุดที่ 5 บ้านปิยะมิตร วนคาม 5 อยู่ในพื้นที่ตำบลคลองกวาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา พิกัด พี.เอช 7427

สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาหรือโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ภายหลังจากเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยก็ได้อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาจวบจนปัจจุบันนี้

หมายเลขบันทึก: 581050เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2014 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2014 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท