สอนอย่างไรให้เด็กรู้ภาษาไทยภายในเทอมแรก และสอนอย่างไร ให้เด็กอ่านออก เขียนได้ 7 จบ โดย ชาตรี สำราญ


"ตราบใดที่ยังใช้แบบเรียนภาษาไทยที่กระทรวงศึกษาแจกให้ เพียงเล่มเดียวแล้ว ผลการอ่านคล่อง เขียนคล่อง จะไม่บังเกิดที่นักเรียน เพราะกิจกรรมที่เด็กได้รับจากแบบเรียนเพียงเล่มเดียวนั้น ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้กิจกรรมอื่นๆ อย่างทั่วถึง"

3. เอาอะไรมาสอน

เมื่อศึกษาการวัดผลการอ่านออก เขียนได้ ของ สปช.แล้ว จะเห็นได้ว่าครูจะต้องใช้ สื่อ หลากหลายในการสอนเด็กนักเรียน จะยึดแบบเรียนภาษาไทยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้เสียแล้ว ครูจะต้องย้อนกลับมาดูกิจกรรมการเรียนของนักเรียนที่ครูเคยมอบให้ หรือค้นหาวิธีสอนของครูที่ผ่านมา ถ้าที่พินิจพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบแล้ว ครูจะได้คำตอบว่า "ตราบใดที่ยังใช้แบบเรียนภาษาไทยที่กระทรวงศึกษาแจกให้ เพียงเล่มเดียวแล้ว ผลการอ่านคล่อง เขียนคล่อง จะไม่บังเกิดที่นักเรียน เพราะกิจกรรมที่เด็กได้รับจากแบบเรียนเพียงเล่มเดียวนั้น ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้กิจกรรมอื่นๆ อย่างทั่วถึง" เพราะภาษาที่ใช้ในหนังสือพิมพ์หรือฉลากยา ฉลากปุ๋ย เป็นภาษาที่แตกต่างจากในแบบเรียนภาษาไทย แม้จะอ่านคำเหมือนกันสะกดการันต์เหมือนกัน แต่ความหมายของคำต่างกัน นักเรียนจะอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ได้เข้าใจดี นักเรียนต้องรู้จัก ตีความ ต้องรู้จักวิเคราะห์คำและข่าว ฉลากยา ฉลากปุ๋ย ก็เช่นกัน นักเรียนต้องรู้ เพราะบางคำเป็นคำเฉพาะของข่าว ของยา

เช่น "ยาแก้แพ้" ไม่ได้หมายความก่อนนักมวยจะขึ้นเวที กินยานี้แล้วจะไม่แพ้

"เคี้ยวก่อนกลืน"

"ยาทาเฉพาะที่"

"ยาทาภายนอก"

ล้วนแล้วเป็นภาษาที่ครูต้องทำความเข้าใจร่วมกับนักเรียน นั่นคือครูต้องเขียนภาษาที่ใช้ในหนังสือพิมพ์นั้น นักเรียนจะต้องตีความ เช่น

"หนองงูเห่า...เกิด

เขตปลอดภัยทางอากาศ

ท่าอากศยานฯ คับอก - ดอนเมืองแน่น"

(ไทยรัฐ 18 มิถุนายน 2533)

แต่ถ้าครูสามารถดึง สื่อ เหล่านี้มาเป็นเครื่องมือช่วยสอนของครูได้ จะทำให้ชั่วโมงการเรียนการสอนในชั่วโมงนั้นสนุกสนาน เพราะอภิปรายข้อความ หรือประโยคต่างๆ ที่เด็กค้นพบจากตัวหนังสือ สามารถสร้างความภูมิใจให้กับเด็ก เป็นการ

ยั่วให้เด็กอยากรู้

ยุให้เด็กอยากเรียน

และเด็กจะยิ้มเมื่อเด็กเข้าใจบทเรียนอย่างแตกฉาน สร้างความประทับใจแก่เด็กใฝ่เรียน ใฝ่รู้ทันที

การสอนอ่านและสอนเขียนนั้น ครูอย่าได้ยึดตำราหรือหนังสือเล่มเดียวเป็นคัมภีร์ให้เด็กอ่าน ครูควรฝึกให้เด็กอ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ เอกสาร ฯลฯ รวมทั้งฉลากยา ฉลากปุ๋ย ธนาณัติ โทรเลข และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ครูต้องให้เด็กคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ เพราะในชีวิตจริงนั้น เด็กจะต้องพบกับสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอน ถ้าครูเตรียมเด็กให้พร้อมในระดับชั้นประถมศึกษา ขณะที่เรียนอยู่กับครูแล้ว ต่อไปภายหน้า นักเรียนก็จะเรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาได้อย่างสบาย เพราะประสบการณ์เดิมนั้นมีอยู่มากแล้ว

อาจารย์ประภาศรี สีหอำไพ ได้แนะนำการจัดกิจกรรมฝึกอ่านในใจ (ซึ่งก็เป็นการอ่านนั่นแหละ) ไว้ว่า

ฝึกอ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ เอกสาร ฯลฯ แล้วทำงานต่อไปนี้

1. พูดหรือเขียนสรุปใจความสำคัญ

2. พูดหรือเขียนมโนทัศน์ที่ได้รับ

3. อธิบายคำศัพท์ โดยค้นคำจากพจนานุกรม

4. เขียนตีความหมาย ตามวัตถุประสงค์ของเรื่องที่อ่าน โดยเขียนจดหมายที่สำคัญได้อย่างน้อย 3-5 ข้อ ตามรายละเอียดของเนื้อหา

5. ฝึกอ่านเพื่อแก้ไขลักษณะการอ่านที่สังเกตเห็น

6. แบ่งกลุ่มให้อ่านเฉพาะตอนที่กำหนด แล้วอภิปรายร่วมกันเพื่อออกมารายงานหน้าชั้น

7. อ่านในใจ แล้วเขียนชี้บ่งใจความที่ไพเราะ หรือประทับใจพร้อมทั้งยกตัวอย่างได้

8. อ่านแล้วเขียนวิจารณ์เรื่องตามเกณฑ์การวิจารณ์หนังสือประเภทต่างๆ ได้

9. ครูและนักเรียนร่วมกันวิจารณ์ผลงานทั้งปากเปล่า และข้อเขียนในชั้นเรียน เมื่อกิจกรรมการฝึกอ่านในใจเสร็จสิ้นลงแต่ละข้อ

10. อ่านแล้วสังเกตการจัดรูปแบบรูปเล่มในหนังสือสามารถชี้ส่วนประกอบในเล่ม เช่น สารบัญ ดัชนี คำอธิบายศัพท์ ภาคผนวก หนังสืออุเทศได้ถูกต้อง

4. สอนอย่างไร

ผมได้อ่านงานวิจัยของ อาจารย์เพ็ญแข สุภีภิตย์ และอาจารย์อัมพร นิสัยจริยคุณ แล้วพบข้อความที่นำมากล่าวอ้างในหนังสือทั้งสองเล่ม เห็นว่าพอที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้จึงขอนำมาอ้าง ดังนี้

"เมื่อนักเรียนมีปัญหาการอ่านอย่างไรก็มักจะสอนซ้ำทั้งชั้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องนัก ทั้งนี้เพราะนักเรียนมีปัญหาการอ่านที่แตกต่างกัน ครูควรสำรวจค้นหาปัญหาการอ่านของนักเรียนแต่ละคนว่าบกพร่อง หรือมีปัญหาด้านใดบ้าง เพื่อที่ครูจะได้ช่วยเหลือแก้ไขให้ตรงจุดที่เป็นปัญหา" 7

"การอ่านนั้น มิใช่แต่ต้องการการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรู้ความหมายและเข้าใจความหรือถ้อยคำจากสัญลักษณ์เหล่านั้นด้วย" 8

"ฝึกให้อ่านเรื่องที่น่าสนใจ กำหนดเวลาให้...ไม่ควรให้อ่านต่อๆ ไปนานๆ จะทำให้เบื่อ ควรแทรกกิจกรรมการอ่านให้ออกเสียงไว้ชั่วโมงละไม่เกิน 10 นาที แต่ฝึกหลายๆ ชั่วโมง... จัดสื่อการเรียนช่วยการสอนอ่าน เช่น เครื่องบันทึกเสียง การจัดห้องเรียน เช่น แบ่งกลุ่ม ฝึกอ่านเอกสารประกอบเรื่องต่างๆ สั้นๆ ให้ฝึกอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ อ่านรายงาน อ่านผลการเรียน อ่านบทประพันธ์ที่ช่วยกันแต่ง ประกวดการอ่านทำนองเสนาะ แข่งขันการทายปัญหา เล่นละคร..." 9

"อุปสรรคของผู้เรียนอ่านช้า คือ ความไม่สามารถสร้างสิ่งเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เห็นและสิ่งที่ได้ยินในความจำระยะสั้น...การทบทวนเป็นการทำซ้ำต่อสิ่งเร้า จึงถือได้ว่าการทบทวนเป็นการสร้างสิ่งเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งที่เห็นและสิ่งที่ได้ยิน การทบทวนทำให้จำได้ง่ายขึ้น... การอ่านมีความสำคัญกับการเขียนมาก... ผู้ที่มีความสามารถทางการเขียนสะกดคำสูง จะมีความสามารถทางการอ่านสูงด้วย... ให้นักเรียนเขียนควบคู่กับการอ่าน พบว่าวิธีการดังกล่าว ทำให้การอ่านออกเสียงของนักเรียนดีกว่าการสอนแบบปกติที่ให้เรียนอ่านแยกต่างหากกับการเขียน..." 10

ครับ ทั้งหมดนั้นพอเป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ว่าเราจะสอนเด็กนักเรียนอย่างไรที่จะให้อ่านออก เขียนได้ อย่างแท้จริง และข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของการตอบปัญหาว่า สอนอย่างไร ให้เด็กอ่านออก เขียนได้ เพราะเทคนิค หรือวิธีสอนที่จะให้เด็กอ่านออก เขียนได้ หรือที่ผมชอบพูดว่า อ่านออก บอก (ความหมาย) ได้ ใช้ภาษาเป็นนั้น ยังมีวิธีการอีกมาก และวิธีการเหล่านั้นอยู่ในชั้นเรียนของคุณครูนั่นแหละ ลองค้นหาดูก็จะรู้ว่า เราควรสอนอย่างไรในขณะนี้ เด็กจึงจะอ่านออก บอกได้ ใช้เป็น ครับผม


เชิงอรรถ

1. ก่อ สวัสดิพาณิชย์ ใน เพ็ญแข สุภีภิตย์. ปัญหาการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่สองของนักเรียนใน

สังกัดกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน. 2526. (อัดสำเนา)

2. กิติวดี บุญซื่อ ใน เพ็ญแข สุภีภิตย์

3. ประเทิน มหาขันธ์ ใน ล.ค.

4. กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ฉบับปรับปรุง.

กรุงเทพมหานคร

5. สมาน แสงมลิ ใน เพ็ญแข สุภีภิตย์. ปัญหาการอ่านฯ.

6. ประภาศรี สีหอำไพ. วิธีสอนภาษาระดับมัธยมศึกษา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, 2524.

7-8. เพ็ญแข สุภีภิตย์. ปัญหาการอ่านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่สอง ของนักเรียนในสังกัด

กรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน. 2526 (อัดสำเนา)

9-10. อัมพร นิสัยจริยคุณ. ผลของวิธีการทบทวนและประเภทคำที่มีต่อการอ่านออกเสียงของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีภาแม่ต่างกัน. (อัดสำเนา) 2529.

* ลงพิมพ์ใน แสงเทียน วารสารวิชาการ วิทยาลัยครูยะลา ปีที่ 30 ฉบับภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2533, หน้า 15-21

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume... 



หมายเลขบันทึก: 580909เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท