สอนอย่างไรให้เด็กรู้ภาษาไทยภายในเทอมแรก และสอนอย่างไร ให้เด็กอ่านออก เขียนได้ 2 โดย ชาตรี สำราญ


ผมเชื่อว่าสื่อการสอนนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเสริมเทคนิคการสอนให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น และผมเชื่อว่า เทคนิคการสอนที่ดีของครูจะทำให้เกิดเทคนิคการเรียนรู้ที่ดีของเด็ก ครูจำเป็นต้องสอนวิธีเรียนให้กับเด็กในการเรียนครั้งที่ 1 และครูจำเป็นต้องสอนวิธีเรียนให้กับเด็กในการเรียนครั้งที่ 2, 3, 4,... และครั้งต่อๆ ไป จนเด็กเกิดการเรียนรู้ว่าเขาจะเรียนอย่างไร

เอกสารประกอบการบรรยาย

สอนอย่างไรให้เด็กรู้ภาษาไทยในเทอมแรก

ชาตรี สำราญ

ชื่อเรื่องข้างต้น คือ ผลจากการที่เพื่อนครูจำนวนมากที่ไปดูการสอนการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนบ้านบาโด ในภาคเรียนแรก แล้วเกิดปัญหาอยากรู้ขึ้นมา และครูคนแล้วคนเล่าได้ถามผมด้วยประโยคคำถามดังกล่าว จนกลายเป็นปัญหาถาวรของเพื่อนครูที่สอนประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และผมเองก็ได้ตอบปัญหาดังกล่าวข้างต้นจนเกิดเป็นสูตรเฉพาะตัวไป

ความจริงแล้วชื่อเรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหา เป็นการถามถึง เทคนิคการสอน ตัวปัญหาน่าจะอยู่ตรงที่ สอนแล้วเด็กไม่รู้ภาษาไทย อ่านไม่ออก บอกไม่ได้ ใช้ภาษาไทยไม่เป็นมากกว่า

เมื่อเรารู้แล้วว่า ปัญหามาจากการที่สอนแล้วเด็กยังอ่านไม่ออก บอกไม่ได้ เขียนไม่เป็น เราก็ต้องนั่งทบทวนถึง วิธีการสอน ของเรา คู่มือการสอน แนวการสอนหรือแผนการสอนที่เราทำไว้ว่า ยังขาดตกบกพร่องตรงไหน เราก็หาวิธีการปรับปรุงที่ขาดไป ตัดสิ่งที่เหลือออกให้หมดสิ้น แล้วความสมบูรณ์ของการสอนก็จะปรากฎมีขึ้นมาได้

เพื่อนครูหลายคนพอพบว่า เด็กอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ถูก ก็มักจะพุ่งประเด็นไปที่ อุปกรณ์การสอน เพียงอย่างเดียว โดยลืมพิจารณาถึง เทคนิคการสอน ผมเชื่อว่าสื่อการสอนนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเสริมเทคนิคการสอนให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น และผมเชื่อว่า เทคนิคการสอนที่ดีของครูจะทำให้เกิดเทคนิคการเรียนรู้ที่ดีของเด็ก ครูจำเป็นต้องสอนวิธีเรียนให้กับเด็กในการเรียนครั้งที่ 1 และครูจำเป็นต้องสอนวิธีเรียนให้กับเด็กในการเรียนครั้งที่ 2, 3, 4,... และครั้งต่อๆ ไป จนเด็กเกิดการเรียนรู้ว่าเขาจะเรียนอย่างไร

เราสังเกตได้ว่าเด็กที่รู้จักวิธีเรียนจะเรียนรู้หนังสือได้ดีกว่าเด็กที่ไม่รู้วิธีเรียน ตัวอย่างเช่น เด็กหญิงซารีฮัน มะยี (ป.2 : 2534 : อายุ 7 ปี) ซึ่งรู้จักการเขียนร้อยกรอง ตั้งแต่ชั้น ป.1 โดยการท่องจำบทกลอนจากหนังสือ "เสียงจากบาโด" (รวมผลงานร้อยกรองของเด็กบาโด) แล้วซารีฮัน มะยี ก็คัดลอกเปลี่ยนคำใหม่บ่อยๆ จนในที่สุดตนเองก็สามารถแต่งบทร้อยกรองได้ เช่น บทที่ ชื่อ ทะเล

ฉันไปทะเล

มีคนมากมาย

คนถูกทำลาย

มากมายจริงเอย

ด.ญ.ซารีฮัน มะยี ป.2 : 2534


ความจริงนั้น ซารีฮัน สามารถเขียนสื่อความรู้สึกของเขาได้ตั้งแต่ ป.1 แล้ว เช่น บทกวีชื่อ "แม่น้ำ"

"ฉันเห็นแม่น้ำในลำคลอง

เราทุกคนดูแม่น้ำในลำคลองให้ดีๆ"

ด.ญ.ซารีฮัน มะยี ป.1 อายุ 6 ปี : 2533

(ตีพิมพ์ในเด็กก้าวหน้า ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 พฤษภาคม 2534)


บทกวีทั้งสองบทนั้น ถ้าเราอ่านผ่านๆ ก็จะเข้าใจว่า เด็กคนนั้นเขียนคำไม่เป็น ไม่เข้าใจการใช้คำ แต่ ซารีฮัน เธอบอกผมว่า

"หนูเห็นลำคลองมากๆ มันไหลไปเป็นแม่น้ำครู" และอีกบทหนึ่ง เธอบอกว่า "หนูไปเที่ยวทะเล มีคนมากแต่คนทิ้งขยะมาก ไม่นานน้ำเน่าคนก็ตายครู" ผมจึงรู้ว่า ซารีฮัน รู้จักวิธีการเรียน ที่ผมสอนให้


วิธีเรียนง่ายๆ สำหรับเด็กที่ผมสอน คือ การเชื่อมโยงประสบการณ์ ผมชอบวิธีการนี้มาก และนำมาใช้สอนเป็นประจำ เช่น

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2534 เป็นวันเปิดเรียนวันแรก เด็กเรียนรู้คำว่า ดอกไม้ ผีเสื้อ ตั๊กแตน บินมาเกาะที่ ดอกไม้ ผมก็นำประสบการณ์ตรงของเด็กมาเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเดียวกัน โดยการกระตุ้นให้เด็กคิดคำพูดขึ้นมาผูกร้อยกรองให้ได้ ในภายหลังที่เด็กเรียนรู้คำว่า ตั๊กแตน ผีเสื้อ ดอกไม้ และสวยแล้ว เด็กก็นำคำนั้นมาใช้ประโยชน์ทันที เด็กๆ บอกให้ผมเขียนบนกระดานดำว่า

ดอกไม้

ดอกไม้สวย

ผีเสื้อสวย

ตั๊กแตนสวย


คำเหล่านั้นจะถูกกระตุ้นโดยครูเป็นคนถามว่า "ดอกไม้สวยไหม" "ผีเสื้อล่ะ" "ตั๊กแตนล่ะ" คำตอบก็คือ เราจะได้ข้อความข้างต้นนั่นเอง และวันต่อมาผมก็จะเชื่อมโยงการเรียนรู้จากเรื่องเก่าไปสู่เรื่องใหม่ ในความรู้สึกของเด็กแต่แท้ที่จริงแล้วก็เพียงแต่ครูเพิ่มคำใหม่เข้าไปเท่านั้นเอง เขาก็คิดว่าได้เรียนรู้สิ่งใหม่แล้ว เด็กๆ จะจดจำคำใหม่ๆ รวมเข้ากับคำเก่าที่เรียนผ่านมา เช่น

ฉันดูดอกไม้สวย

ฉันดูผีเสื้อสวย

ฉันดูตั๊กแตนสวย


แต่ก่อนที่ครูจะเพิ่มคำว่า ฉันดู เข้าไปนั้น ครูต้องทบทวนคำเก่าๆ ที่เคยเรียนผ่านมาแล้ว เช่น ครูอ่านคำว่า ดอกไม้สวย พร้อมกับชี้ไปที่คำ ดอกไม้สวย บนกระดานดำ เมื่อเด็กอ่านทบทวนครูก็ถามว่า "ใครดูดอกไม้สวย" ครูต้องชี้นำให้เด็กตอบร่วมกันว่า "ฉันดู" เพราะประโยคใดที่เด็กมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จะช่วยให้เด็กสนุกในกิจกรรมนั้นอย่างแท้จริง

ผมเคยทดลองนำบทเรียนที่เด็กเป็นเพียงผู้อ่านเรื่อง หรือประโยคนั้นเพียงอย่างเดียว เช่น "แดงดูดอกไม้" มาสอนเปรียบเทียบกับประโยค "ฉันไปเที่ยวที่ภูเขา" ปรากฎว่า เด็กสนใจประโยคที่เด็กมีส่วนเป็นเจ้าของนั้น ได้ถาวรกว่าประโยคที่เด็กเป็นเพียงผู้อ่านเท่านั้น และเมื่อเด็กอ่านแล้ว ควรให้เด็กเขียนข้อความนั้นลงในสมุดแบบฝึกหัดทันที ครูอย่ามัวพะวงว่าเด็กจะเขียนไม่ได้ เขียนไม่ถูก เขียนไม่สวย เพราะเพียงแต่เด็กจรดดินสอลากเส้นลงบนสมุดก็ถือว่าถูกต้องแล้ว ครูอย่าเพิ่งไปตำหนิเด็กหรือช่วยจับมือให้เด็กเขียน เพราะการที่ครูไปมัวคอยช่วยเหลือเด็กนั้น เด็กจะไม่มีโอกาสฝึกฝนกล้ามเนื้อ นิ้มมือ เด็กจะไม่มีโอกาสฝึกลีลาการเขียน ครูต้องปล่อยให้เด็กช่วยตัวเอง แล้วเด็กจะเกิดความมั่นใจในตนเอง เมื่อเขามั่นใจตนเองในครั้งแรก เขาก็จะมั่นใจในครั้งต่อไปด้วย แต่ถ้าครูไปช่วยเหลือหรือตำหนิเด็ก เด็กก็จะเกิดปมด้อยในตนเองทันที

ผมสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ตลอดเวลา ที่สอนติดต่อกันมานานนับสิบปีแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 เด็กชายอับดุลราพี ซึ่งเรียนชั้น ป.1 ในวันที่ 2 ของภาคเรียนแรก พอผมอนุญาตให้ทุกคนคัดลายมือ อับดุลราพีก็เขียนหนังสือจากขวามือไปซ้ายมือ แม้แต่การขีดเส้นก็ขีดทางขวามือเช่นกัน เช่น เวลาเขียน ตัว ด ก็เขียนเป็น อ แต่พอให้เขียน อ กลับเขียนเป็นคล้ายๆ ด ผมดูแล้วก็รู้สึกเฉยๆ แต่ไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปเพียงแต่คิดว่า นี่คือการท้าทายเทคนิคการสอนของผม

ความจริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับครูที่สอนเด็กๆ ในชนบทที่มีลูกศิษย์ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นภาษาแม่ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง จะต้องมีภาษาแม่เข้ามามีบทบาทสอดแทรกอีกภาษาหนึ่ง ทั้งด้านการเขียน การอ่าน ซึ่งเราเรียกอิทธิพลทางลบที่เข้ามาสอดแทรกอีกภาษาหนึ่งนี้ว่า "ความสับสน"

ความสับสนในเรื่องการเขียนนี้เราจะแก้ไขได้ไม่ยากนัก ถ้าให้โอกาสแก่ผู้เรียนมีเวลาเรียนรู้แก้ไขปรับปรุงตนเอง


ผมได้ทดลองเล่านิทานเรื่อง ไส้เดือน ให้อับดุลราพี และเพื่อนๆ ฟัง พร้อมกัน โดยไม่แยกเด็กออกเพียงคนสองคน เพราะคนอื่นจะน้อยใจว่าครูไม่สนใจ และอับดุลราพีเองจะเกิดปมด้อยในความคิดของเขา จนมีผลถึงขั้นไม่มั่นใจในการเรียนต่อไป

นิทานที่ว่านั่นคือ "ไส้เดือนตัวน้อยเลื้อยจากซ้ายมือไปขวามมือ" พร้อมกับลากเส้นจากขอบกระดานดำทางซ้ายมือไปทางขวามือ และให้เด็กๆ ลากเส้นดินสอบนกระดาษด้วย ดูเด็กสนุกกับนิทานเรื่องนี้ เพราะไส้เดือนของแต่ละคนเลื้อยไม่เหมือนกัน ลากเส้นพลาง หัวเราะพลาง พอดูว่าแกเพลินกับการลากเส้นซ้ายไปขวามือแล้ว ก็ลองให้ไส้เดือน ขดตัวม้วนแบบ ด และ อ ไม่นานนัก อับดุลราพีก็เขียน ด และ อ ได้ถูกต้อง

พฤติกรรมของอับดุลราพีนั้นไม่ใช่ผิด เพราะชีวิตจริงก่อนจะเข้าเรียนภาษาไทย แกต้องเรียนภาษาอาหรับ วัฒนธรรมทางภาษาจึงมีอิทธิพลต่อเด็ก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ครูจะต้องคำนึงถึง คือ วัฒนธรรมทางภาษาแม่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้มาก กุดซันสกี, ซาราห์, ซี ได้กล่าวไว้ใน คู่มือการสอนให้รู้หนังสือว่า "คนเราจะอ่านหนังสือออกในภาษาที่เขาเข้าใจ มิฉะนั้นเขาจะไม่รู้เรื่องข้อความที่อ่านเลย..." และ "...เขาควรได้เรียนเพื่ออ่านข้อความอะไรก็ได้ที่เขาเคยฟังมาแล้วเข้าใจ..."

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ครูควรคำนึงถึงให้มากก็คือ สอนในสิ่งที่นักเรียนรู้และเข้าใจแล้วให้เข้าใจยิ่งขึ้น โดยการเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมสู่ประสบการณ์ใหม่ให้ผสมกลมกลืน

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume... 


หมายเลขบันทึก: 580904เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท