สอนอย่างไรให้เด็กรู้ภาษาไทยภายในเทอมแรก และสอนอย่างไร ให้เด็กอ่านออก เขียนได้ 6 โดย ชาตรี สำราญ


"ตราบใดที่ยังใช้แบบเรียนภาษาไทยที่กระทรวงศึกษาแจกให้ เพียงเล่มเดียวแล้ว ผลการอ่านคล่อง เขียนคล่อง จะไม่บังเกิดที่นักเรียน เพราะกิจกรรมที่เด็กได้รับจากแบบเรียนเพียงเล่มเดียวนั้น ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้กิจกรรมอื่นๆ อย่างทั่วถึง"

สอนอย่างไรให้เด็กอ่านออกเขียนได้

ชาตรี สำราญ

1. ทำไมต้องสอน

"...ผู้นำทุกประเทศพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะพยายามทำให้คนทั่วประเทศอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น รัฐบาลทุกประเทศระดมทรัพยากร เพื่อจัดการศึกษาให้ทั่วถึง ไม่ว่าเด็กประถมศึกษาอยู่ที่ไหน ระบบการศึกษาก็พยายามจัดหาที่เรียนให้ แม้แต่เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ ก็ได้รับบริการทางการศึกษาเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพราะ การประถมศึกษาเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สังคมต้องการให้ทุกคนได้รับ ถ้าประชาชนจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนน้อยแค่ไหนก็ตาม ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ประชากรส่วนนี้ ก็มีแนวโน้มในการเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยอาศัยความคิดเบื้องต้น แบบนี้รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงรณรงค์เพื่อขจัดปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้หมดสิ้นไป..." 1

ข้อความ ที่ยกมากล่าวข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวของ ดร.ก่อ สวัสดิพาณิช ซึ่งอาจารย์เพ็ญแข สุภีภิตตร์ ได้อ้างไว้ในงานวิจัย และผมเห็นว่าสามารถตอบคำถามที่ใครๆ ก็ถามว่า ทำไมต้องสอน ได้เป็นอย่างดี เราจะเห็นได้ว่า ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น เป็นปัญหาที่ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งผู้นำทั้งโลกต่างมุ่งมั่นที่จะให้ประชากรในโลกนี้ สามารถอ่านออก เขียนได้ทุกคน เพราะการอ่านเป็นเสมือนกุญแจวิเศษที่จะไขไปสู่ความกระจ่างในปัญหานานาประการ2 และการอ่านมีคุณค่าหลายประการ เช่น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เพื่อความบันเทิง เพื่อสนองความต้องการของแต่ละบุคคล ตลอดจนการสร้างความรู้สึกในด้านสุนทรียะ3

เมื่อเรายอมรับว่าการอ่านเป็นกุญแจวิเศษที่จะไขไปสู่ความกระจ่างในเรื่องต่างๆ ได้ แม้แต่การเขียน

เพราะถ้าอ่านเสียงเพี้ยนก็จะเขียนผิดพลาด กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ถ้านักเรียนอ่านออกเสียงอย่างไร ก็จะเขียนอย่างนั้น เช่น นักเรียนอ่านออกเสียง กะปิ ว่า กะกิ เวลาเขียนก็เขียนว่า กะกิ ด้วย 4

ถึงเวลาแล้วใช่ไหมที่เราจะต้องรณรงค์ให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ อย่างแท้จริงกันเสียที

2. เอาอะไรมาวัด

ปัญหาอยู่ที่ว่า ปัจจุบันนี้ ครู (บางคน) ไม่รู้เอาอะไรมาวัด จึงจะรู้ว่านักเรียนอ่านออกเขียนได้ เพราะเท่าที่ผ่านมา เด็กนักเรียนที่สอบผ่านออกไปจากโรงเรียนนั้น ส่วนใหญ่แล้วทำข้อสอบได้ อ่านหนังสือแบบเรียนได้ เขียนคำที่ครูบอกได้กันทั้งนั้น แล้วจะมาว่าเด็กนักเรียนอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้อีก แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ผลของการวิจัย ปรากฎออกมาว่าเด็กนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาไปแล้ว ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้มีจำนวนมาก ท่านอาจารย์สมาน แสงมลิ ได้กล่าวไว้ว่า "ขณะนี้มีเสียงกล่าวกันว่า เด็กที่จบจากโรงเรียนไปแล้ว อ่านเขียนหนังสือไม่ได้ หรือมิฉะนั้นก็ไม่สามารถจะนำความรู้ที่เรียนจากโรงเรียนไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้ ทำให้เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา5" ถ้าเราตระหนักถึงปัญหาข้อนี้แล้ว ในฐานะที่เราเป็นครูผู้รับผิดชอบการเรียนการสอนของชาติ เราต้องรีบเร่งขจัดปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ให้มันหมดไป หรือทุเลาเบาบางลงให้มากที่สุด โดยที่เราจะต้องหาเครื่องมือในการวัดมาวัด แล้วเราจะเอาอะไรมาวัด ผลจึงจะบ่งชี้ว่า เด็กนักเรียนสามารถอ่านออก เขียนได้

สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดขอบข่ายของการอ่านออก เขียนได้ ใช้เป็นเครื่องมือวัด คือ

1. อ่านคำ ตามบัญชีคำพื้นฐาน ที่กรมวิชาการกำหนดไว้ได้คล่อง ออกเสียงคำควบกล้ำชัดเจน เข้าใจความหมายของคำและประโยค

2. จับใจความของเรื่อง หรือข้อความที่กำหนดให้อ่านได้

2.1 อ่านข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์รายวันบางกรอบได้และวิเคราะห์ได้

2.2 อ่านป้ายประกาศ คำขวัญ คำเชิญชวนได้

2.3 อ่านป้าย คำเตือน ข้อห้าม คำแนะนำสถานที่ต่างๆ ได้

2.4 อ่านแบบฟอร์มทางราชการที่ใช้ในชีวิตปะจำวัน เช่น โทรเลข ธนาณัติ ตั๋วต่างๆ เป็นต้น

2.5 อ่านฉลากปุ๋ย ฉลากยาฆ่าแมลง ฉลากยาสามัญประจำบ้าน และฉลากอื่นๆ ด้านการเกษตรที่เป็นข้อความสั้นๆ ได้

3. เขียนคำตามบัญชีพื้นฐานที่กรมวิชาการกำหนดได้ถูกต้อง

4. เขียนหรือกรอกข้อความได้

4.1 การกรอกแบบฟอร์มทางราชการในชีวิตประจำวันได้ เช่น โทรเลข ธนาณัติ ใบสมัครงาน

เป็นต้น

4.2 จดบันทึก รายรับ-รายจ่าย ต่างๆ ได้

4.3 เขียนจดหมายติดต่ออย่างง่ายๆ ได้

4.4 เขียนแสดงความคิดเห็นได้

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume... 



หมายเลขบันทึก: 580908เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท