สอนอย่างไรให้เด็กรู้ภาษาไทยภายในเทอมแรก และสอนอย่างไร ให้เด็กอ่านออก เขียนได้ 5 โดย ชาตรี สำราญ


เทคนิคการสอนอีกอย่าง ซึ่งครูต้องตระหนักให้มากคือ การสร้างความคิดรวบยอด ครูอย่าด่วนสรุปความคิดรวบยอด

เทคนิคการสอนอีกอย่าง ซึ่งครูต้องตระหนักให้มากคือ การสร้างความคิดรวบยอด ครูอย่าด่วนสรุปความคิดรวบยอด เพราะเด็กที่เรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองนั้น คำทุกคำที่ครูสอนจะเป็นคำใหม่ของเขาทั้งหมด เช่น คำว่า ภูเขา เป็นคำใหม่ของเด็ก ครูต้องให้เด็กไปหาภาพ (ถ้าไม่มีภูเขาอยู่ใกล้ๆ) ภูเขาหลายรูปแบบจากห้องสมุดมาดูกัน แล้วให้อธิบายแบบวาดภาพให้เห็นแทนอธิบายด้วยภาษาพูด เพราะเด็กจะสรุปความคิดถึงลักษณะภูเขาไม่ได้ต้องอาศัยภาพแทน เด็กจะแยกแยะได้ว่าภูเขาไม่ใช่จอมปลวก ไม่ใช่เนินดิน ผีเสื้อไม่ใช่แมลงปอ ไม่ใช่ผึ้งหรือตัวต่อ ถ้าจะสอนเรื่องพืชต้องให้เขาไปในป่าใกล้โรงเรียนหาทุกอย่างที่เป็นพืชมาให้ดู ผลไม้ก็ไม่ใช่ส้มเพียงอย่างเดียว ผลไม้ต้องประกอบด้วยผลไม้หลายชนิดรวมกัน ต้องให้เด็กเห็นอย่างชัดเจน เด็กจึงจะสรุปความคิดรวบยอดได้ถูกต้อง และส่งผลถึงการรู้ความหมายของคำด้วย เมื่อเด็กเข้าใจความหมายของคำ เด็กก็จะสามารถใช้คำ สามารถฝึกให้เขารู้จักใช้

ทุกครั้งที่เด็กเรียนรู้คำต้องฝึกให้เด็กเรียนรู้การใช้คำ และใช้คำให้สม่ำเสมอ ฝึกการใช้คำให้มากๆ เขียนกันจริงๆ ฝึกกันจริง ทำกันจริง เด็กก็จะเกิดทักษะถาวรขึ้น

ผมได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้และการฝึกทักษะให้เด็กไว้ดังนี้

1. สร้างความพร้อมโดยการฝึกบริหารกล้ามเนื้อ นิ้วมือ ข้อแขน และทุกส่วนของร่างกายแสดงท่าทางประกอบเพลงหรือนิทานง่ายๆ

2. ทบทวนคำที่เรียนผ่านมาโดยการอ่าน

3. เขียนตามคำบอก โดยเน้นคำที่อ่านในข้อ 2

4. นำคำในข้อ 3 มาแต่งประโยคปากเปล่า

5. อ่านแผนภูมิหรือประโยคที่ช่วยกันแต่ง

6. คัดลายมือประโยคสั้นๆ

7. เล่านิทานง่ายๆ เรื่องใหม่ประกอบภาพหรือดูภาพแล้วจินตนาการเป็นนิทานเรื่องใหม่ (ให้เด็กช่วยกันแต่งเรื่องตามภาพ)

8. ทบทวนเรื่องที่เล่า

9. นำเรื่องที่ทบทวนมาเขียนบนแผนภูมิ

10. ผลัดกันอ่านเรื่องที่เขียนบนแผนภูมิ

11. คัดลายมือเรื่องที่เขียนบนแผนภูมิลงสมุด

12. เขียนเรื่องอย่างอิสระ (วาดภาพประกอบ)

และเทคนิคการสอนที่กล่าวมาทั้งหมดพอสรุปเป็นแผนภูมิได้ ดังนี้

กรุณาดูรูปแผนภูมิจาก https://sites.google.com/site/chatreesamran/----do... ครับ

จะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนทักษะทางภาษานั้น ครูผู้สอนตั้องเน้นการฝึกให้มากๆ ฝึกบ่อยๆ จนผู้เรียนเกิด ทักษะถาวรขึ้น อุปสรรคต่างๆ ก็ย่อมจะผ่านพ้นไปด้วยดี


ถ้าเด็กรู้จักวิธีการอ่าน เด็กก็จะอ่านหนังสือในระดับเดียวกันกับคำที่ครูสอนได้อย่างถูกต้อง ถ้าเด็กอ่านออก บอกความหมายได้ และเขียนสื่อความได้ถูกต้องแล้วก็ถือว่าครูผู้สอน สอนได้บรรลุเป้าหมายที่กระทรวงศึกษาธิการวางไว้ โดยมีเครื่องมือการประเมินผลสำหรับชั้นประถมศึกษา คือ

1. ฉลากยาง่ายๆ

2. ฉลากปุ๋ยอย่างง่าย

3. หนังสือพิมพ์คอลัมน์ง่ายๆ ที่เหมาะสำหรับเด็ก

4. หนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับระดับชั้น ป.1

5. แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ

6. หนังสือที่ครูและนักเรียนช่วยกันเขียนขึ้น

เอกสารอ้างอิง

กุดซินสกี, ซาราห์, ซี. คู่มือการสอนให้รู้หนังสือ. แปลและเรียบเรียงโดย ยุพา ส่งศิริ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์

คุรุสภา, 2532.

มาเรียม นิลพันธ์. อิทธิพลของคำสิ่งแวดล้อมการทบทวนที่มีผลต่อการอ่านคำใหม่ ของนักเรียนที่พูดภาษาแม่

ต่างกัน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2529. อัดสำเนา.

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ https://docs.google.com/docume... 



หมายเลขบันทึก: 580907เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2014 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท