ทิศทางแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรและการสอน


นางสาวชุติมาคล้ำภิบาลรหัส 57D0103104

รายวิชา 102611 การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้

ผู้สอนผศ. ดร. อดิศรเนาวนนท์

อนุทินครั้งที่ 6

วันที่ 31 สิงหาคม 2557

ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมตามโครงการอบรม ทิศทางแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรและการสอน โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พิมพันธ์เดชะคุปต์ เป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้ อาจารย์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-Centered) ซึ่งก่อนที่เราจะทำการสอนนั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือ การวิเคราะห์ผู้เรียน เพื่อจะได้ทราบข้อมูลพื้นฐานและความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนแต่ละคน จะได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน จากนั้นวิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการสอนที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไว้หลายรูปแบบด้วยกัน เริ่มจาก Teaching Method วิธีการสอน คือ ขั้นตอนที่ผู้สอนดำเนินการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไปตามองค์ประกอบ และขั้นตอนสำคัญอันเป็นลักษณะเด่น หรือลักษณะเฉพาะที่ขาดไม่ได้ของวิธีนั้น ๆ ซึ่งวิธีการสอนมีหลายรูปแบบด้วยกัน และวิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการสอน

ไว้หลายแบบด้วยกัน เริ่มจาก วิธีสอนแบบสืบสอบ (Inquiry Teaching Method) วิธีการสอนนี้อยู่บนฐานของแนว Constructivism เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ใหม่ และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ด้วยตนเอง ความรู้ที่ได้จะคงทนถาวรอยู่ในความจำระยะยาว ผู้สอนเป็นเพียงผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ วิธีการสอนแบบสืบสอบ จึงหมายถึง การจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง หรือสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมาย วิธีสอนแบบสืบสอบความรู้ จะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

วิธีการสอนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ วิธีสอนแบบโครงงาน หมายถึง ขั้นตอนการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนศึกษาเพื่อค้นพบความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ด้วยตัวผู้เรียนเอง โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีครูอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำปรึกษาความรู้ใหม่และสิ่งประดิษฐ์ใหม่นั้น ทั้งผู้เรียนและผู้สอนไม่เคยรู้หรือมีประสบการณ์มาก่อน (Unknown by all) วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้เป็นขั้นตอนดำเนินการทำโครงการเพื่อหาคำตอบของปัญหา ประกอบด้วย 1. ระบุปัญหา/2. ตั้งสมมุติฐาน/3. ออกแบบการรวบรวมข้อมูล/4. ปฏิบัติการรวบรวมข้อมูล/5. วิเคราะห์และสื่อความหมายข้อมูล/6. แปลความหมายข้อมูลและสรุปผล นอกจากนี้วิทยากรยังให้ความรู้เกี่ยวกับ รูปแบบการเรียนการสอน (Instructional model) คือ รูปแบบแผนดำเนินการสอนที่ได้รับการจัดเป็นระบบอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับทฤษฎี/หลักการเรียนรู้ หรือการสอนที่รูปแบบนั้นยึดถือ และได้รับการพิสูจน์ ทดสอบว่ามีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายเฉพาะรูปแบบนั้น ๆ รูปแบบการสอนที่วิทยากรได้กล่าวถึงคือ การจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบวงจรการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน (5E learning cycle model) การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต้องเป็นการให้นักเรียนใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สร้างความรู้ด้วยตนเอง อันทำให้เกิดความเข้าใจ และสามารถประยุกต์ความรู้สร้างชิ้นงานเพื่อนำไปบริการสังคมได้ แนวการสอนที่นิยมใช้และใช้ได้อย่างง่าย ๆ คือรูปแบบวงจรการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ซึ่งพัฒนามาจากวิธีการสอนสืบสอบ เป็นวิธีที่อยู่บนฐานทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ 1. ขั้นสร้างความสนใจ (Engagement) สังเกตสิ่งเร้าเพื่อเกิดความสงสัย ตั้งคำถามสำคัญ/คำถามหลัก คาดคะเนคำตอบ/ตั้งสมมุติฐาน/ 2. ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration) วางแผนเพื่อรวบรวมข้อมูล รวบรวมข้อมูลทั้งหมดด้วยการทดลอง วิเคราะห์และสื่อความหมายข้อมูล/ 3. ขั้นสร้างคำอธิบาย (Explanation) อภิปรายเพื่อสร้างคำอธิบายด้วยตัวนักเรียนเอง เชื่อมโยงสู่คำอธิบายที่ถูกต้องโดยครู/ 4. ขั้นขยายความรู้ (Elaboration) นำความรู้ไปใช้หรือประยุกต์ความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ สร้างผลงานหรือภาระงานเพื่อบริการสังคม / 5. ขั้นประเมิน (Evaluation) ประเมินข้อดี ข้อบกพร่อง สิ่งสงสัยใน 4 ขั้นที่

กล่าวมา

จากนั้นอาจารย์ได้ให้ความรู้เรื่อง การเรียนเน้นทีม (Team Learning) การจัดการเรียนรู้โยใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนแบบ Construction เริ่มจากการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Learning by Doing (LD) ด้วย 4T คือ Task, Text, Talk และ Transfer of Learning และให้นักเรียนสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง Team Learning (TL) เกิดความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ จากการทำงานเป็นกลุ่ม ปฏิบัติงานร่มกับผู้อื่น ทำให้ผู้เรียนเกิดคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม (Attribute + Attitude)

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ของเด็กไทย = E (4R + 7C) Ethical Person (ผู้มีคุณธรรม จริยธรรม) 4R คือ Read / Write / Arithmetic และ Reasoning 7C คือ Creative Problem Solving Skills / Critical Thinking Skills / Collaborative Skills / Communicative Skills / Computing Skills / Career and Life Skills และ Cross-Cultural Skills เด็กไทยยุคนี้ต้องเป็นพลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน และพลโลกที่มีคุณภาพ และต้องมีทักษะสำคัญที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบันอย่างมีความสุข มีคุณธรรม จริยธรรม ลักษณะของครูไทยและนักเรียนไทย E (L+L+I) คือ มีคุณธรรม (Ethical) ในขณะเดียวกันต้องเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ (Learner) เป็นผู้นำ (Leader) และเป็นผู้เปลี่ยนแปลง (Innovator)

ในยุคปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ควรเป็นแบบผสมผสาน CIP – 3P Teaching Model C = Construction of the new knowledge (สร้างความรู้) I = Interaction (ปฏิสัมพันธ์) P = Process of Learning (กระบวนการเรียนรู้) P = Presentation ๖บอก/อธิบาย) P = Practice (ทำแบบฝึกหัด) และ P = Production (นำความรู้ไปสร้างชิ้นงาน) การจัดการเรียนการสอนมีหลายรูปแบบ แต่ในการจัดควรให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งจะทำให้ได้ผู้เรียนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่หลักสูตรแกนกลางฯกำหนดไว้

จากที่ได้รับความรู้ในวันนี้ ทำให้ทราบว่า การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ แต่ผู้สอนจะต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับธรรมชาติวิชาของตนเอง มีการเตรียมความพร้อมก่อนทำการสอนเป็นอย่างดี และต้องทำความรู้จักผู้เรียนให้มากที่สุด เพื่อการจัดการเรียนรู้จะได้สัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งจุดประสงค์ไว้

สำหรับการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับงานที่ทำ ดิฉันจะนำการจัดการเรียนรู้แบบ CIP-3P Teaching Model เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างบทบาทหน้าที่ของครูและของนักเรียนในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง มีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกระหว่างการจัดการเรียนรู้

บรรยากาศในการอบรมเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ผู้เข้าอบรมมีความกระตือรือร้น มีส่วนร่วมกับกิจกรรมในการอบรมตลอดเวลา ได้รับความรู้แบบไม่เคร่งเครียด วิทยากรผู้ให้ความรู้ รองศาสตราจารย์

ดร. พิมพันธ์ เตชะคุปต์ เป็นผู้มีความรู้และมีความสามารถถ่ายทอดให้ผู้อบรมเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง สามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ไปใช้พัฒนางานสอนของตนให้ดียิ่งขึ้นได้

คำสำคัญ (Tags): #aar
หมายเลขบันทึก: 580305เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2014 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท