​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๗๕. คำกล่าวเปิดงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม


คำกล่าวเปิดงาน

โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ในเวทีนำเสนอผลงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม

(University Network for Change: UNC)

ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่

วันที่ 16 กันยายน 2557

ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เรียน

ท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์

ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดร. มัทนา สานติวัตร์

ท่านรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ. ทพ. นพ. ดร. สิทธิชัย ทัดศรี

ท่านรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร รศ. วัฒนา เกาศัลย์

ท่านรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ดร. วินธัย โกตระกูล

ท่านผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ. ดร. วิลาสินี อดุลยานนท์

รักษาการเลขานุการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) นพ. ชูชัย ศุภวงศ์

ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร

คณาจารย์ นักศึกษา

สื่อมวลชน และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

          กระผมมีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานเปิดเวทีนำเสนอผลงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งวันนี้นอกจากจะมีการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์สื่อของนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย ที่เข้ามาร่วมในโครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เพื่อขยายผลสู่การรับรู้และการใช้ประโยชน์ในการสื่อสารสู่การรับรู้ของสังคมร่วมกับภาคประชาสังคม

          สิ่งที่น่ายินดี และสำคัญมากอีกประการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ คือ การลงนามความร่วมมือ ระหว่างองค์กรสนับสนุน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิสยามกัมมาจล กับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ในการร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ และพื้นที่การทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนการสร้างคนรุ่นใหม่ ให้เป็นคนที่มีความรู้ มีความสามารถ มีสำนึกความเป็นพลเมือง และเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม

          ผมทราบมาว่า แกนหลักสำคัญของเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานครั้งนี้ คือ สภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสภาของผู้คณบดี ของคณะที่เปิดสอนวิชาด้านศิลปะและนิเทศศิลป์ ซึ่งเกี่ยวข้องการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและสร้างสรรค์สื่อ ท่านผู้บริหารทั้งหลายได้เห็น “ประโยชน์” ที่ลูกศิษย์จะได้รับจากการมาร่วมเรียนรู้กับภาคประชาสังคม ได้ทดลองสร้างสรรค์ผลงานเพื่อการเรียนรู้จากโจทย์จริง ซึ่งในหลักการศึกษาสมัยใหม่เรียกว่าเป็น Authentic Learning หรือการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง

          การจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษาของไทยนับแต่นี้ต้องดำเนินไปภายใต้แนวคิด วิชาการสายรับใช้สังคม และเรื่อง The 21 st Century Learning หรือ “การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” บทบาทของมหาวิทยาลัย ต้องปรับเปลี่ยนจากการสอน “ความรู้” จำกัดอยู่แต่ใน “ห้องเรียน” มาเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาเรียนรู้จากการ “ลงมือทำ” จาก “ประสบการณ์จริง” การมีภาคีภายนอกเข้ามาร่วมมือ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และชุมชน เอาโจทย์มาให้ และร่วมกันพัฒนาชิ้นงาน จะช่วยให้นักศึกษาไม่ใช่จะได้ฝึกเรียนศาสตร์ของตนเท่านั้น ยังจะได้เรียนรู้ความเป็นไปในบ้านเมือง ได้ร่วมทำประโยชน์ คือการพัฒนาสังคม เท่ากับได้ฝึกจิตสาธารณะ ฝึกการเป็นพลเมืองที่สนใจความเป็นไปของสังคมของบ้านเมือง ที่เรียกว่า concerned citizen การเรียนรู้แนวนี้เรียกว่า Service-learning หรือ Service-Based Learning

          บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอเปิดเวทีนำเสนอผลงานเครือข่าย มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม และขอให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จตามป้าหมายที่ท่านมุ่งหวังร่วมกัน

ขอบคุณครับ

หมายเหตุ

ดูวีดิทัศน์แนะนำโครงการนี้ได้ ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 579318เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2014 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สังคมไทยน่าอยู่ การศึกษาเป็นความหวัง
ด้วยการสร้างสรรค์ จากผู้ใหญ่ใจงดงาม

ขอมอบบทเพลงครู หัวใจของการศึกษา
แต่งจากแรงบันดาลใจ จากคำสอนของอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
เพื่อเป็นกำลังใจ และแทนคำขอบคุณ
แด่อาจารย์หมอวิจารณ์ คุณครูพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ
และผู้ใหญ่ใจงดงามแห่ง SCB
ด้วยความเคารพครับ ^_^



อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท