ศูนย์เรียนรู้ฯ หางแขยงแนะลดต้นทุนการผลิตข้าว


                

              ปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ พื้นที่เพาะปลูกขาดความอุดมสมบูรณ์ การบริหารจัดการที่ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ผลผลิตที่ได้รับไม่มีประสิทธิภาพทั้งปริมาณและคุณภาพที่ต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ จึงประสบกับภาวะขาดทุน เกิดปัญหาหนี้สินรุมเร้าจนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มปริมาณและพัฒนาคุณภาพของผลผลิตการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงให้มีการดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มผลผลิตการเกษตร” หรือ “แปลงสาธิต” ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหางแขยง ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นอีก 1 ศูนย์ฯ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ ได้คัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ กิจกรรมลดต้นทุนการผลิตข้าว/การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว


                  นางสาวภิรานันท์ ระดี เกษตรกรหัวไวใจสู้วัย 42 ปี ผู้เป็นเกษตรกรเจ้าของแปลงเรียนรู้ กล่าวว่า “ แม้ว่าราคาข้าวขณะนี้อยู่ที่ตันละ 7,000 – 8,000 บาท แต่การทำนาก็ยังมีกำไร เนื่องจากต้นทุนการผลิตประมาณ 3,000 – 4,000 บาท ที่สำคัญผลผลิตข้าวยังได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละตัน ไม่เพียงลดต้นทุนการทำนาเท่านั้น ยังหารายได้เสริมจากกิจกรรมที่เกื้อกูลกัน เช่น การเลี้ยงเป็ดในนา การทำสวนไผ่ และสวนมะนาว”

                จากชีวิตที่ก้าวเข้าสู่การเป็นชาวนาเมื่อปี พ.ศ.2545 โดยเริ่มจากการทำนา 20 ไร่ ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับโรงสี เป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นที่ต้องการของเพื่อนเกษตรกร จึงเพิ่มพื้นที่การทำนา รวมพื้นที่เป็น 64 ไร่ และทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อยังชีพหรือลดความเสี่ยงที่เกิดจากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน และลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติต่างๆ นั่นเอง

                  สำหรับศูนย์เรียนรู้ฯ ได้จัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้ได้ศึกษาตามที่ต้องการนอกจากฐานเรียนรู้แปลงลดต้นทุนการผลิตข้าว/การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีแล้ว เสริมด้วยแปลงไผ่กิมซุงจำนวน 2 ไร่การเลี้ยงเป็ดไข่ 300 ตัว และการปลูกมะนาวในวงบ่อ อีกด้วย

                   ด้านการลดต้นทุนการผลิตข้าว/การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีนั้น คุณภิรานันท์ เปิดเผยว่า ควรวางแผนการทำนาและกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสม และการบริหารจัดการที่ดีคือ การเตรียมดิน ที่ไม่เผาฟางข้าว เพราะเป็นการทำลายสภาพดิน แก้ปัญหาฟางและตอซังข้าวเป็นปัญหาเตรียมดินไม่ได้ด้วยการหมักฟางข้าวโดยใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย เพียงใช้เวลาหมักฟางข้าวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนทำเทือก ปรับพื้นที่นาให้เรียบสม่ำเสมอ จัดระบบพื้นที่แปลงนาให้สามารถระบายน้ำเข้าออกได้ง่ายโดยขุดร่องรอบแปลงนา อีกทั้งการปลูกและการเลือกเมล็ดพันธุ์ เพื่อนเกษตรกรจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ตรงตามสายพันธุ์ เลือกเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมต่อฤดูที่ปลูก คำนึงถึงความต้านทานของเมล็ดพันธุ์ข้าวต่อฤดูที่ปลูก และเมล็ดพันธุ์มีความงอกไม่ต่ำกว่า 80% อัตราที่ใช้ นาหว่านไม่เกิน 20 ก.ก./ไร่ นาปักดำไม่เกิน 7 ก.ก./ไร่ นาโยนกล้าไม่เกิน 5 ก.ก./ไร่ สำหรับการใช้ปุ๋ยเคมี จะใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน คือช่วงที่ 1 ปักดำ 10 – 15 วัน หรือหว่านน้ำตาม 20 – 25 วัน ใช้แม่ปุ๋ยสูตร 18 – 46 – 0 อัตรา 9 กิโลกรัม / ไร่ ปุ๋ยสูตร 0 - 0 - 60 อัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 อัตรา 1 กิโลกรัม / ไร่ ช่วงที่ 2 ระยะกำเนิดช่อดอกหรือ 50 – 55 วัน ข้าวอายุสั้น 45 – 50 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 อัตรา 10 กิโลกรัม / ไร่ และช่วงที่ 3 ระยะตั้งท้องถึงเริ่มออกรวง พิจารณาว่าควรจะใส่ปุ๋ยหรือไม่ สังเกตจากใบข้าว ถ้าจำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 อัตรา 5 กิโลกรัม / ไร่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ก.ก./ไร่ เป็นปริมาณที่น้อยกว่าการใช้ปุ๋ยตามความพอใจดังที่ผ่านมา


                  ด้านการการป้องกันโรคและแมลงศัตรูข้าว ใช้เชื้อราไตรโครเดอร์ม่า เพื่อป้องกันเชื้อรา เริ่มตั้งแต่แช่เมล็ดพันธุ์ ในนาดำใช้เชื้อไตรโครเดอร์ม่า ฉีดพ่นพร้อมยาคุมเลน ในช่วงที่ 2 ใช้ผสมปุ๋ยหว่านหรือปล่อยตามน้ำขณะเปิดน้ำเข้านา ร่วมกับการใช้น้ำแบบเปียกสลับแห้ง คือขังน้ำไว้ในแปลงจนกว่าใบจะชนกัน ปล่อยทิ้งไว้จนถึงระยะกำเนิดช่อดอกให้เปิดน้ำเข้า เพราะช่วงนี้ไม่ควรให้ขาดน้ำ เมื่อข้าวหนาแน่นมากจะทำให้เกิดโรคและมีแมลงศัตรูข้าวระบาดในช่วงนี้จึงควรใช้ระบบน้ำผ่าน ระบายน้ำออก 7 วัน เปิดน้ำเข้าขังน้ำไว้ 2 วัน ให้ไขน้ำออก ทำสลับกันจนกระทั่งก่อนวันเก็บเกี่ยว 10 วัน สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ เพื่อนเกษตรกรจะต้องหมั่นสำรวจแมลงศัตรูพืช ทุก ๆ 7 วัน เมื่อพบแมลงศัตรูพืชให้ใช้สมุนไพร หรือน้ำส้มควันไม้ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เพื่อรักษาระบบนิเวศในแปลงนาไว้ไม่ให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืช เสริมเพื่อเพิ่มผลผลิต ด้วยน้ำหมักชีวภาพหมักเอง เป็นระยะคือ ระยะที่ข้าวเล็กใช้ฮอร์โมนน้ำหมักปลา 100 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร ช่วงติดตาดอกใช้ฮอร์โมนไข่ 80 – 100 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร ช่วงข้าวเริ่มออกรวงใช้ฮอร์โมนผงชูรส + โอร์โมนลูกตาล อัตราส่วน 125 ซีซี + 100 ซีซี / น้ำ 20 ลิตร  

                ด้านการเก็บเกี่ยว เกี่ยวข้าวระยะพลับพลึง (หลังข้าวออกดอก 30 วัน) เท่านั้น โดยระบายน้ำออกจากนาข้าวเมื่อข้าวออกดอกแล้ว 15 วัน ช่วงเก็บเกี่ยวดินในนาจะแห้ง สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือการทำบัญชีฟาร์ม ควรทำการบันทึกบัญชีฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ ทุกฤดูการปลูกข้าว หมั่นพิจารณาเปรียบเทียบบัญชีฟาร์มด้วยตนเอง ก่อนปลูกข้าวฤดูต่อมา จะเห็นได้ว่าตนเองสามารถลดต้นทุนอะไรได้บ้าง เพียงเท่านี้เพื่อนเกษตรกรก็จะสามารถเพิ่มคุณภาพ ผลผลิตข้าว กำไรเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุน เมล็ดพันธุ์ข้าว ลดค่าใช้จ่ายในการใส่ปุ๋ย ลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง อีกทั้งรักษาสุขภาพของชาวนา และ รักษาสภาพแวดล้อม อีกด้วย


                 นายสุทธิพงษ์ จ่างทอง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวเสริมว่า ถ้าเกษตรกรสนใจเข้ามาเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังเชื่อว่าจะช่วยให้เกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินการผลิตสินค้าเกษตรของตนเองได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะช่วยให้เกษตรกรเกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน.

ชัด ขำเอี่ยม/รายงาน

[email protected]

หมายเลขบันทึก: 579270เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมไม่มีความรู้ทางด้านนี้

อยากให้กำลังใจ ส่งกำลังใจให้เกษตรกรครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท