บันทึก AAR 4 (เรื่องที่อบรม การสอนเพื่อพัฒนาการคิด) วิทยากร รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ / ผู้บันทึกนางสาวผกาวรรณ สุวรรณภูมานนท์


After Action Review 4

เรื่องที่อบรม การสอนเพื่อพัฒนาการคิด

วิทยากร รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ

วันที่อบรม 7 กันยายน 2557

ผู้บันทึก นางสาวผกาวรรณ สุวรรณภูมานนท์ รหัสนักศึกษา 57D0103110

นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน (ภาคพิเศษ หมู่ 1 รุ่นที่ 13)


1. ได้เรียนรู้อะไรในวันนี้

การเข้ารับการอบรมเรื่องการสอนเพื่อพัฒนาการคิด โดย รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ข้าพเจ้าได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้นจากที่มีอยู่ทำให้เติมเต็มในส่วนของข้อมูลที่ยังไม่กระจ่าง ดังนั้นข้าพเจ้าขอบันทึกความรู้ที่ได้ ดังนี้

1. การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้กล่าวถึง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตราที่ 22 คือหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และพัฒนาการทางสมองผู้เรียนต้องมีส่วนร่วม ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพตามแนวทางที่ตนถนัด

ดังนั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ผู้เรียนต้องมีความสำคัญที่สุด การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องสอดคล้องกับความถนัด ความต้องการ ความสนใจตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูต้องเปลี่ยนวิธีการสอนจากรูปแบบเดิมคือการสอนแบบบรรยาย ป้อนข้อมูลให้ผู้เรียนฝ่ายเดียว เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทำได้ คิดเป็น ทำงานเป็นกลุ่ม ฝึกการยอมรับซึ่งกันและกัน

2. การจัดการเรียนรู้ตามธรรมชาติและความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็นการจัดการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ยุคแห่งสมอง The Brain New World ต้องจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและพัฒนาการทางสมอง ผู้สอนต้องใช้วิธีการสอนที่หลากหลายยืดหยุ่นสอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน เพราะผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านของกระบวนการทำงานของสมองที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนอันเป็นผลมาจากประสบการณ์เดิม สิ่งเร้า และสภาพแวดล้อมที่เข้ามากระทบส่งผลให้เกิดความคิดในการสามารถแก้ไขปัญหา หรือปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้เรียนแต่ละคนจึงมีความสามารถและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้แตกต่างกันตามการทำหน้าที่ของสมองของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกันทำให้มีความสามารถที่แตกต่างกัน

ซึ่งข้าพเจ้าได้นำแนวคิดที่ได้รับจากการอบรมนี้ไปเชื่อมโยงกับทฤษฎีพหุปัญญา เพราะเป็นทฤษฎีที่มุ่งส่งเสริมความสามารถของผู้เรียนในทุกด้าน โดยคำนึงถึงศักยภาพของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 8 ด้านดังนี้

1) ความฉลาดด้านภาษา

2) ความฉลาดด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ

3) ความฉลาดด้านดนตรี

4) ความฉลาดด้านร่างกาย

5) ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์

6) ความฉลาดด้านมนุษย์

7) ความฉลาดด้านเข้าใจตนเอง (Intrapersonal)

8) ความฉลาดด้านรู้จักธรรมชาติ

หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้ คือ มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่สามารถส่งเสริมเชาวน์ปัญญาหลาย ๆ ด้านให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของผู้เรียน การสอนควรเน้นการส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ของผู้เรียน ครูควรสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนค้นหาเอกลักษณ์ของตน ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของตนเอง และเคารพในเอกลักษณ์ของผู้อื่นรวมทั้งเห็นคุณค่าและเรียนรู้ที่จะใช้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

3. สมองกับความคิด การใช้ความคิดเป็นกลไกของสมองมนุษย์จึงควรได้รับการฝึกฝนและเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมองและเพื่อให้สมองได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สมองแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ซีก ที่ควบคุมความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ที่แตกต่างกันสมองซีกซ้ายจะควบคุมความคิดที่มีระบบ ความคิดที่มีการใช้เหตุผล เช่น ด้านตัวเลข ภาษา ส่วนสมองซีกขวาจะควบคุมเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ

สรุปได้ว่า สมองซีกซ้ายเป็นการคิดในรายละเอียดและสิ่งที่เป็นนามธรรม สมองซีกขวาเป็นการคิดในภาพรวมและสามัญสำนึก

ดังนั้น ข้าพเจ้ามีความคิดว่าสมองทั้งสองซีกต้องทำงานประสานสัมพันธ์กัน ถ้าหากสมองทั้งสองซีกทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ไม่มีความสมดุลกัน มีการพัฒนาสมองแต่ละซีกแตกต่างกันก็จะทำให้การคิดไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร

4. ระบบการสอนแบบ 4 MAT เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งส่งเสริมความถนัดของผู้เรียนและส่งเสริมการใช้สมอง 2 ซีกอย่างสมดุลกัน อันจะส่งผลให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ และผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีพหุปัญญา ประกอบกับแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้ง 2 ซีก ทำให้เกิดเป็นแนวคิดทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้คำถามหลัก 4 คำถาม กับผู้เรียน 4 แบบ คือ

แบบที่ 1 WHY ผู้เรียน : สังเกต เฝ้ามอง ช่างคิด ช่างสงสัย ช่างตั้งคำถาม

ครู : ผู้กระตุ้น ผู้ยั่วยุ

แบบที่ 2 WHAT ผู้เรียน : ผู้ฟัง ผู้จดจำ ผู้คิดวิเคราะห์

ครู : ผู้สอน ผู้บอก ผู้อธิบาย

แบบที่ 3 HOW ผู้เรียน : ผู้แสดง ผู้ลงมือกระทำ ผู้ปฏิบัติ

ครู : ผู้ฝึกสอน ผู้ชี้แนะ ผู้กำกับ ผู้จัดสถานการณ์

แบบที่ 4 IF ผู้เรียน : ผู้ค้นคว้า ผู้แสวงและหาความรู้ใหม่

ครู : ผู้ร่วมเรียนรู้ ผู้ประเมิน

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4 MAT เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามลักษณะและความต้องการของตนเองอย่างเหมาะสม กิจกรรมบางช่วงจะตอบสนองให้ผู้เรียนแต่ละแบบมีความสุขในการเรียนในช่วงกิจกรรมที่ตนถนัดและรู้สึกท้าทายในช่วงที่ผู้อื่นถนัด ดังนั้นผู้เรียนจะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ


2. รู้แล้วคิดอย่างไร คิดอะไรต่อ

สมองทั้งสองซีกมีกลไกการทำงาน 4 แบบซึ่งสามารถแยกย่อยความคิดของมนุษย์ออกเป็น 4 ส่วนซึ่งมีผลทำให้มนุษย์มีความคิด มีพฤติกรรม มีความสามารถ มีความสนใจ มีความต้องการที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางจิตใจ ลักษณะทางพฤติกรรม รวมทั้งลีลาหรือกลวิธีการเรียนรู้และความต้องการในการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่จึงต้องคำนึงถึงกลไกการทำงานของสมอง ความถนัดและความแตกต่างระหว่างบุคคลเน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิด การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงเพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้


3. การนำไปประยุกต์ใช้

ในฐานะที่ข้าพเจ้ามีอาชีพเป็นครูผู้สอน ข้าพเจ้าจะจัดรูปแบบการเรียนการสอนโดยยึดหลักที่ว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตราที่ 22 ดังนั้นการจัดกิจกรรมข้าพเจ้าจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาสมองโดยการบูรณาการสอดแทรกเนื้อหาให้เข้ากับเทคนิคการสอน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะความคิดต่าง ๆ ได้ดี ฝึกการใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาไปพร้อมกันอาจใช้เทคนิคการเรียนการสอนแบบ 4 MAT การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นต้น เพราะเป็นเทคนิคการสอนที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล

หมายเลขบันทึก: 579143เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2014 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2014 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท