อาจรีย์ เส้นทอง : คุณป้านวน


ข้าพเจ้าได้มีโอกาสดูแลผู้ป่วยท่านหนึ่ง ขอเรียกชื่อว่า คุณป้านวน สืบเนื่องจากได้รับปรึกษาจากทางแผนกอายุรกรรมหญิงว่า คุณป้านวนมีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ขณะนอนพักในรพ. ก่อนหน้านี้คุณป้าถูกส่งมาจากรพ.ชุมชนด้วยเรื่องแขนขาข้างขวาอ่อนแรงเพียงหนึ่งวัน และมาที่รพ.สุรินทร์ ป้าได้รับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบว่าเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้มีอาการของการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนที่ควบคุมกำลังแขนขาด้านขวา รวมถึงสมองที่ควบคุมด้านพฤติกรรมและอารมณ์ก็เกิดภาวะขาดเลือดร่วมด้วย ทำให้ป้ามีอารมณ์ฉุนเฉียว ตะโกนเสียงดังสลับกับนอนนิ่งๆ ไม่ยอมพูด ทางแพทย์แผนกอายุรกรรม ได้ให้การรักษาด้วยยาลดความดันโลหิตและยาแอสไพริน ป้องกันการกลับเป็นซำ้ของโรคเส้นเลือดสมองตีบ หลังจากที่ได้รับคำปรึกษา ข้าพเจ้าก็เข้าไปคุยและ ตรวจภายในข้างเตียง สงสัยว่าป้าเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 โดยมีการกระจายของโรคไปที่ผนังเชิงกรานทั้งสองข้าง จึงได้ตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกไปตรวจและรับย้ายป้ามาที่ตึกนรีเวชกรรม เพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

1 สัปดาห์ต่อมา ผลการตรวจชิ้นเนื้ออกมาเป็นมะเร็งที่ปากมมดลูกชนิดสเแควมัส ซึ่งต้องได้รับการตรวจทางรังสีเพิ่มเติมเพื่อบอกระยะของโรค หลังจากทราบผลการตรวจ ป้าได้รับการเจาะระบายปัสสาวะที่คั่งอยู่ในไตด้านขวา ทำเพื่อรักษาภาวะไตวายเรื้อรัง ส่วนเรื่องมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ได้คุยกับสามีของคุณป้า (คุณลุง) เพื่อส่งไปฉายแสงและฝังแร่ในช่องคลอดที่ศูนย์มะเร็งอุบล แต่เนื่องจากติดปัญหาที่มีคนดูแลคือคุณลุงเท่านั้น ลูกชายสองคนไปทำงานที่ต่างจังหวัดไม่สามารถมาดูแลได้ รวมถึงปัญหาในการเคลื่อนย้ายเพราะป้าไม่สามารถเดินเองได้ ทางคุณลุงเลยขอให้รักษาอยู่ที่รพ.สุรินทร์เท่าที่ทำได้ จึงได้ส่งไปปรึกษาแพทย์ทางรังสีรักษาเพื่อวางแผนการรักษา หลังจากที่ได้ประชุมกลุ่มย่อยของทางแพทย์รังสีรักษาและแพทย์ทางมะเร็งนรีเวช ได้ข้อสรุปคือ ให้ฉายแสงแบบประคับประคอง จำนวน 10 ครั้ง เพื่อลดอาการเลือดออกทางช่องคลอด และอาการเจ็บปวดจากก้อนมะเร็งที่ปากมดลูก ได้คุยกับลุง ลุงเข้าใจและยินดีที่จะดูแลช่วยเหลือให้ป้าฉายแสงให้ครบ 10 ครั้ง

แต่ปัญหาก็เกิดขี้นเมื่อพาป้าเข้าไปทดลองฉายรังสีจำลอง ป้าไม่สามารถที่จะอยู่บนเตียงได้นาน จะมีการขยับตัวไปมา รู้สึกเหมือนว่าอยู่คนเดียวในห้อง พร้อมดึงสายนำ้เกลือ และสายออกซิเจนออก ทางแพทย์รังสีรักษาได้เแจ้งกลับมาว่าคงต้องให้ยาเพื่อให้ป้าหยุดขยับตัว และนอนนิ่งขณะฉายแสงให้นานที่สุด จีงได้ส่งปรึกษาแพทย์ทางวิสัญญี เรื่องของการใช้ยาเพื่อให้ป้ามีอาการนิ่งสงบในระยะเวลาสั้นๆ 10-15 นาที ซึ่งคำตอบที่ได้รับคือ ป้ามีอาการไตวายมาก และมีโรคทางสมองจากเส้นเลือดตีบ รวมถึงกลัวทางรังสีรักษาจะดูแลไม่ได้เต็มที่เพราะเพิ่งเปิดให้บริการ ทางวิสัญญีแพทย์จึงแนะนำว่าไม่ควรฉายแสงเลย ทางข้าพเจ้าเองรู้สึกถึงเหตุผลของการปฎิเสธการรักษาป้า น่าจะมีแนวทางอื่นที่พอจะทำได้ จึงได้จัดทำการประชุมร่วมกันหลายๆแผนก เพื่อหาแนวทางที่จะพอช่วยป้าได้บ้าง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากแพทย์ทางรังสีรักษา อายุรแพทย์ด้านมะเร็ง อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา มะเร็งนรีเวช จิตแพทย์ นักกายภาพบบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ วิสัญญีเแพทย์ และพยาบาลประจำตึกนรีเวชที่ดูแลป้า พวกเรามาคุยปรึกษาหารีอกัน หาแนวทางที่จะดูแลเพื่อให้ขั้นตอนการฉายแสงผ่านไปให้ได้ และวางแผนถึงการส่งต่อป้ากลับไปรักษาประคับประคองอาการต่อที่โรงพยาบาลชุมชน

ผลสรุปจากที่ประชุมร่วมคือใช้ยาที่ทำให้ป้าสงบ ทั้งกลุ่มไมด้าโซแลม และยาทางโรคจิตเวช ที่คุณหมอช่วยเพิ่มให้ เพื่อทำให้ป้าสงบนิ่งได้นานขึ้น โดยใช้ในขนาดน้อยๆ แล้วค่อยเพิ่มขนาดถ้าป้ายังไม่นิ่งพอที่จะฉายแสงได้ และให้มีแพทย์ 1 ท่านไปดูแลป้าในช่วงที่ฉายแสงทุกครั้ง ซึ่งจากข้อสรุปที่ประชุม ทำให้ข้าพเจ้ากลับมามีความหวังที่จะรักษาป้าให้ได้ถึงที่สุด

จากนั้นการฉายแสงให้ป้าก็เริ่มขี้น และผ่านไปด้วยดี จนครบ 10 ครั้ง จากการช่วยเหลือของแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกๆ แผนก น้องๆ แพทย์ใช้ทุนปี 1 เวรเปล ที่สละเวลาช่วงบ่าย ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงในการไปฉายแสงกับป้า เพราะเวลาในการเคลื่อนย้ายป้าลงจากรถเข็น และย้ายจากรถเข็นขึ้นเตียงฉายแสงใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะป้าไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องให้ลุง และพี่เวรเปลช่วยกันย้ายป้าขึ้นเตียงหลังจากฉายรังสีครบ 10 ครั้ง อาการเลือดออกทางช่องคลอด และอาการปวดที่อุ้งเชิงกรานป้าดีขึ้นมาก ป้าเริ่มพูดได้บ้าง แขนขาด้านขวาเริ่มพอขยับได้บ้าง รับประทานอาหารได้มากขึ้น ไม่สำลัก จึงได้วางแผนส่งต่อป้ากลับไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากนักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่อาชีวเวชกรรม ที่ช่วยติดต่อประสานงานให้

ก่อนวันที่ป้าจะกลับบ้าน ได้นิมนต์พระมาที่ตึก เพื่อให้ป้ากับลุงได้ถวายสังฆทาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์และพยาบาลที่ได้ดูแลกันมาเกือบสองเดือนกว่า รอยยิ้มเล็กๆ จากมุมปากป้า และ ภาพของป้าที่ประคองมือทั้งสองขึ้นมาสวดมนต์ และรับพรจากการถวายสังฆทานวันนั้น ยังติดอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าเสมอ การรักษาของป้าตลอดสองเดือน จะผ่านไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกๆฝ่าย ที่กล่าวข้างต้น รวมถึงคุณลุงที่ดูแลรักษาอาการป้าเป็นอย่างดีมาตลอดในช่วยระยะเวลาสองเดือน ขอขอบคุณทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้น และขอบคุณทุกปัญหาของการรักษาที่เกิดขึ้นมาตลอดในการรักษา ที่ทำให้เราได้ช่วยกันดูแล ช่วยกันแก้ปัญหา และ เราสามารถผ่านปัญหานั้นไปด้วยกันได้อย่างดี ขอบคุณที่สุดคือป้านวนและคุณลุง ที่ทำให้ข้าพเจ้า รู้สึกดีใจกับผลการรักษาที่ลุล่วงไปด้วยดี และ เป็นกำลังใจในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชต่อไป

พญ. อาจรีย์ เส้นทอง

สูตินรีแพทย์ รพศ. สุรินทร์

หมายเลขบันทึก: 578835เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2014 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2014 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบันทึกที่แสดงให้เห็น การประสานงาน การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของ palliative care ได้อย่างชัดเจนครับ ขอบคุณมาก

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท