บันทึกอนุทิน ครั้งที่ 6 เรื่อง ทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรและการสอน วันที่บันทึก วันอาทิตย์ ที่ 31 สิงหาคม 2557


บันทึกอนุทิน ครั้งที่ 6

วันที่บันทึก วันอาทิตย์ ที่ 31 สิงหาคม 2557

เรื่อง ทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรและการสอน

รายวิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ รหัส 102611 อาจารย์ผู้สอน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์

ผู้บันทึก นางสาวรดาการ ปรางสุข รหัส 57D0103204

ป. โท หลักสูตรและการสอน ภาคพิเศษ รุ่นที่ 13 หมู่ที่ 1

..............................................................................................................................................................................

1.ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจาการเข้าร่วมอบรม เรื่องทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรและการสอนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. พิมพันธ์ เดชะคุปต์ วิทยากรผู้ให้ความรู้ สรุปได้ดังนี้ คือ ท่านวิทยากรได้อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centered) ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมการเรียนการสอนครูผู้สอนควรมีการวิเคราะห์ผู้เรียน เพื่อทราบข้อมูลพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน เป็นการวางแผนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ

วิธีการสอน (Teaching Method) เป็นการสอนที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปตามองค์ประกอบ และขั้นตอนที่สำคัญที่เป็นลักษณะเด่น หรือลักษณะเฉพาะที่ขาดไม่ได้ของวิธีนั้น ๆ ท่านวิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการสอนตามทฤษฎี Constructivism คือ วิธีการสอนแบบสืบสอบ (Inquiry Method) เป็นการเรียนการสอนด้วยการสืบเสาะหาความรู้ ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ใหม่ ค้นหาความรู้ด้วยตนเองด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คิดและประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง รูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบสอบใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยครูผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จนบรรลุเป้าหมาย นอกจากนั้นท่านวิทยากรได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการสอนแบบโครงงาน (Project Based Learning) ซึ่งเป็นขั้นตอนการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเพื่อค้นพบความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ด้วยตนเองของผู้เรียน โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้สอนจะเป็นผู้คอยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการเป็นขั้นตอนในการทำโครงงานเพื่อให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบ ประกอบด้วย

1.ระบุคำถาม

2.ตั้งสมมติฐาน

3.ออกแบบรวบรวมข้อมูล

4.ปฏิบัติการรวบรวมข้อมูล

5.วิเคราะห์และสื่อความหมายข้อมูล

6.แปลความหมายและสรุปผล

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบ 5E (5E Learning cycle model) การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นการให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเองซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจ และผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้สร้างชิ้นงานเพื่อนำไปบริการสังคมได้ แนวการสอนนี้มีรูปแบบ 5 ขั้นตอน ดังนี้

1.การสร้างความสนใจ (Engagement)

2.การสำรวจและค้นหา (Exploration)

3.สร้างคำอธิบาย (Explanation)

4.การขยายความรู้ (Elaboration)

5.ขันประเมิน (Evaluation)

และการให้ความรู้ของท่านวิทยากรในเรื่องต่อไป คือ การเรียนแบบเน้นทีมTl (Team Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎี Construction โดยเริ่มจากการให้ผู้เรียนเกิดการการเรียนรู้ด้วยการให้ลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing : LbD) ด้วยหลัก 4T คือ Task , Text , Talk , และ Transfer of Learning และให้ผู้เรียนสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง เกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ปฏิบัติการกลุ่ม ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้มีชิ้นงานใหม่

การเรียนการสอนที่ท่านวิทยากรได้ให้ความรู้แก่นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมเรื่องต่อไป คือ การสอนแบบวิธีนิรนัย (Deductive method) และวิธีการสอนแบบวิธีอุปนัย (Inductive method) การสอนแบบวิธีนิรนัย หรือการสอนแบบตรง (Direct teaching) หรือวิธีที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง (Teach - centered) เป็นวิธีการสอนที่เน้นครูเป็นศูนย์กลาง ครูสอนหลักการ, ยกตัวอย่าง, ให้ทำแบบฝึกหัด, นำความรู้ไปสร้างชิ้นงาน การสอนแบบนิรนัยใช้หลัก PPP teaching model (3P teaching model) ดังนี้

1.บอก/อธิบาย (Presentation)

2.ทำแบบฝึกหัด (Practice)

3.นำความรู้ไปใช้สร้างชิ้นงาน (Production)

วิธีการสอนแบบวิธีอุปนัย (Inductive method) หรือการสอนแบบอ้อม (Indirect teaching) หรือวิธีการสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child – centered) การสอนแบบวิธีอุปนัยใช้หลัก CIP – PPP teaching model (CIP – 3P teaching model) ดังนี้

1.สร้างความรู้ (Construction of the new knowledge)

2.ปฏิสัมพันธ์ (Interaction)

3.กระบวนการเรียนรู้ (Process of Learning)

4.บอก/อธิบาย (Presentation)

5.ทำแบบฝึกหัด (Practice)

6.นำความรู้ไปใช้สร้างชิ้นงาน (Production) ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์สร้างผลงานตามความสนใจ

2. ความคิดเห็นประเด็นที่เรียน

จากการเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ทำให้ทราบเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (เป็นศูนย์กลาง) มีรูปแบบและวิธีการสอนหลายวิธี ครูผู้สอนต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับการนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเลือกให้เหมาะสมกับธรรมชาติวิชา เนื้อหาสาระ มีการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสนใจ ความชอบ และความถนัดของผู้เรียน สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อนำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ ควรมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงวัดประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย และนำผลการประเมินไปปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

3.การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตน/และการปฏิบัติงาน

สำหรับการนำไปปรับใช้ จะนำไปใช้ในวิชาที่สอนอยู่ คือ วิชาสังคมศึกษาฯ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยวิธีที่จะนำไปใช้ คือวิธีการสอนแบบวิธีอุปนัย เพราะเป็นวิธีการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ตามหลัก CIP – 3P teaching model คือ ผู้เรียนมีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีปฏิสัมพันธ์ในการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูลแลตอบคำถาม สร้างองค์ความรู้นำความรู้ไปประยุกต์สร้างสรรค์ผลงานได้ตามความสนใจ

4.บรรยากาศในการเรียน

บรรยากาศในการอบรมวันนี้ มีความสนุกสนานมากผู้เข้ารับการอบรมมีความตั้งใจฟังในการถ่ายทอดความรู้ของท่านวิทยากร มีความเป็นกันเอง มีความสามัคคีในการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม

5.ความรู้สึกที่มีต่อเพื่อน

เพื่อน ๆ นักศึกษาที่เข้าร่วมอบรม มีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี มีความสามัคคีในการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม มีการอภิปรายซักถามในเรื่องที่สงสัย ในการอบรมครั้งนี้ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษ จะทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ดังนั้นต้องไปศึกษาค้นคว้าเรียนรู้เพิ่มเติมให้มาก ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในการพัฒนาตนเองต่อไป

6.ความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์ผู้สอน

ท่านวิทยากร รศ.ดร. พิมพันธ์ เดชะคุปต์ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถดีมาก (ขั้นเทพ) ท่านมีเทคนิควิธีการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างดี เช่น มีเทคนิคในการพูด มีลีลาท่าทางที่น่าสนใจ (น่าทึ่งมาก) ท่านมีความเป็นกันเอง มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เข้ารับการอบรม และเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีกิจกรรมมาให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ร่วมปฏิบัติ ทำให้เกิดความสนุกสนานไม่น่าเบื่อเลย

และสุดท้ายต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการอบรมในครั้งนี้ ทำให้นักศึกษาได้รับความรู้ และสิ่งดี ๆ ที่ท่านวิทยากรได้ถ่ายทอดให้ (....ขอขอบพระคุณมากค่ะ....)


แสดงเพจ

GotoKnow
ระบบแนะนำ
  • Wonkdy Academy คลังความรู้การศึกษาไทย จาก ป.1 ถึง ม.6
  • ClassStart ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต จัดการการเรียนการสอนได้ง่าย ไม่ต้องติดตั้งระบบเอง เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
  • L3nr เกมส์สำหรับห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom) เด็กสอน ผู้ใหญ่เรียน เรียนกันทั้งประเทศไทย

ทุกระบบลงทะเบียนใช้ได้เลย บริการฟรีแก่ทุกสถานศึกษาโดย ม.สงขลานครินทร์

GotoKnow เป็นบริการสังคมของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการสนับสนุนโดย

GotoKnow ให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้เงื่อนไขที่สมาชิกใช้บริการโดยไม่หวังผลทางการค้า

หมายเลขบันทึก: 578737เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2014 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2014 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท