บันทึกอนุทิน ครั้งที่ 4 เรื่อง วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) และการจัดการความรู้ ( (Knowledge management : KM) วันที่บันทึก วันอาทิตย์ ที่ 17 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557


บันทึกอนุทินครั้งที่ 4

วันอาทิตย์ ที่ 17 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)

วิชา การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ รหัสวิชา 102611 อาจารย์ผู้สอน ผศ. ดร. อดิศร เนาวนนท์

ผู้บันทึก นางสาวรดาการ ปรางสุข รหัสประจำตัว 57D0103204

ป. โท หลักสูตรและการสอน ภาคพิเศษ รุ่นที่ 13 หมู่ที่ 1

…………………………………………………………………………………………………………………………………………

1. การเตรียมตัวล่วงหน้าในการเรียน

ได้ศึกษาค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้ หรือ KM (Knowledge management) การจัดการความรู้ คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร นำมาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ

2. ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

วันนี้อาจารย์สอนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) และการจัดการความรู้ หรือ KM (Knowledge management) สำหรับการเขียน Best Practice จำทำให้เราได้บันทึกเรื่องราวดี ๆ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อย ๆ ก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่

สำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ หรือ KM (Knowledge management) สรุปพอเป็นสังเขปได้ดังนี้ ความสำคัญของความรู้ IKUJIRO NONAKA ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่าเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนที่สุด โดยเฉพาะในยุค KNOWLEDGE – BASED ECONOMY การที่องค์การต่าง ๆ จะอยู่ได้ในยุค KNOWLEDGE – BASED ECONOMY จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์สู่ด้านต่าง ๆ ดังนี้ คือ สู่การแข่งขันที่ต้องใช้ สู่ความสำเร็จ ความถูกต้อง และความมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้ และทรัพยากรที่จับต้องได้ ทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้ได้แก่ ความรู้ ทักษะ การจัดการ ประสบการณ์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และให้ความสำคัญกับลูกค้า (ถ้าในโรงเรียนลูกค้าที่สำคัญ คือ ผู้เรียน) และทรัพยากรที่จับต้องได้ ซึ่งได้แก่ เครื่องจักร อาคาร อุปกรณ์ ความรู้จะมีลักษณะเด่น เช่น ความรู้ยิ่งใช้ยิ่งมีมาก ไม่มีขีดจำกัด เมื่อนำความรู้ใหม่มาผสมกับความรู้เดิมที่มีอยู่ในตัวคนก็จะเกิดความรู้ใหม่ ๆ มากขึ้นไปอีก เป็นการสร้างความรู้ใหม่จากงานที่ทำ และหมุนเวียนกลายเป็นความรู้ไม่จบสิ้น ในส่วนของความหมายของความรู้นั้นHIDEO YAMAZAKI ได้อธิบายเอาไว้ 4 ขั้น ดังนี้คือ ขั้นที่1 DATA (ข้อมูล) ขั้นที่ 2 INFORMATION (การจัดการข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ ยังไม่เป็นความรู้เป็นเพียงการจัดการข้อมูล) ขั้นที่ 3 KNOWLEDGE (ความรู้) และขั้นที่ 4 WISDOM (ปัญญา) การแบ่งประเภทของความรู้ มีอยู่ 2 ประเภท คือ ความรู้ภายใน (TACIT KNOWLEDGE) หมายถึงความรู้ที่มีอยู่ภายในตัว 80% และความรู้ที่มีอยู่ภายนอก (EXPLICIT KNOWLEDGE) หรือความรู้ที่เป็นเนื้อหา มีจำนวน 20% การจัดการความรู้ หรือ KM เป็นกระบวนการนำความรู้ที่มีอยู่ หรือที่ได้รับจากการเรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร โดยกระบวนการต่าง ๆ ดังนี้ การสร้างรวบรวม (ของเดิม) การจัดเก็บ เช่นในรูปของตำรา เว็บไซต์ จดหมายข่าว Face book การแลกเปลี่ยน และการใช้ ความรู้มีอยู่ในมากมาย ถ้าเราไม่จัดการความรู้เอาไว้ (ไม่ทำ KM) ความรู้นั้นอาจสูญเปล่า แต่ถ้าเราทำ KM ไว้ถ้าบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงไม่มาทำงานเราก็สามารถทำงานได้ องค์กรหรือโรงเรียนของเราก็จะได้ประโยชน์

3. ความคิดเห็นประเด็นที่เรียน

ประเด็นที่ได้จากการเรียนรู้ คือ ทำให้เราทราบว่าในการจัดการความรู้สามารถทำได้ เราจะทำอย่างไรความรู้ต่าง ๆ จะอยู่ในองค์กรหรือโรงเรียนต่อไป เช่น ในโรงเรียนของเรามีครูที่เก่ง ๆ ถ้าหากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในองค์กรของเราเสียชีวิตลง ย้ายโรงเรียน หรือลาออก เราจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ความรู้ดี ๆ (เก่งๆ) อย่างนี้อยู่ในองค์กร หรืออยู่ในโรงเรียนเพื่อที่จะใช้ความรู้นี้พัฒนาผู้เรียนได้ต่อไป

สิ่งที่จัดเป็นความรู้มีหลากหลายเช่น เทคนิค วิธีการ ทักษะในการถ่ายทอด ศิลปะในการถ่ายทอด ประสบการณ์ของคนในหน่วยงาน ถ้าหากเราจัดการความรู้ (KM) นำมาจัดเป็นความรู้ใหม่ได้ เราสามารถนำไปพัฒนาองค์กร /โรงเรียน/นักเรียนได้ การทำเว็บบล็อก (AAR) การบันทึกอนุทิน ก็ถือว่าเป็น KM

การเขียน Best Practice เราสามารถทำได้จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ เช่น การแก้ปัญหาผู้เรียนโดยการพูดคุย สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การให้กำลังใจผู้เรียน การไปเยี่ยมบ้าน สิ่งเหล่านี้เราสามารถใช้แก้ไขปัญหาของผู้เรียนได้ ซึ่งเรานำไปแชร์ความรู้กับคนอื่น แนะนำคนอื่นได้ (แต่ให้ระมัดระวังว่า วิธีการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลในบางเรื่อง บางคน อาจจะไม่ได้ผลกับอีกเรื่องหรือกับอีกคนหนึ่งก็ได้

4. การนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนและการปฏิบัติงาน

จะนำไปใช้ในการพัฒนาในวิชาที่สอน คือวิชาสังคมศึกษาฯ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง บันทึก หรือจัดการความรู้ในสิ่งที่ได้เรียน เช่น ให้ผู้เรียนทำสมุดบันทึกความดี บันทึกสิ่งต่าง ๆ บันทึกการสวดมนต์แปล และแผ่เมตตา นั่งสมาธิ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยให้ผู้เรียนได้บันทึกการปฏิบัติ ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีการแก้ไข และผลที่ได้รับ การบันทึกหรือจัดการความรู้เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ จะเป็นการฝึกทักษะการปฏิบัติให้กับผู้เรียนได้จัดระบบความรู้หรือส่งที่ได้รับรู้ และจะนำไปพัฒนาการทำงานของตนเอง เพราะคิดว่าวิธีการจัดการความรู้ หรือ KM เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามไป ความรู้ดี ๆ สิ่งดี ๆ ที่เราได้ทำ แต่เราไม่เคยบันทึก ไม่เคยถ่ายทอดให้ผู้อื่น หรือไม่เคยเขียนเอาไว้อาจทำให้ความรู้เหล่านั้นลืมเลือนไป ไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กร/ต่อโรงเรียน (เราควรแชร์ความรู้กับครูในกลุ่มสาระ) เพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนต่อไป

5. บรรยากาศการเรียน

บรรยากาศในการเรียนวันนี้ อาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาเป็นอย่างดี รวมถึงเล่าประสบการณ์ในการทำงานของท่านให้นักศึกษาได้แง่คิดในการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ประสบการณ์การเรียนรู้ซึ่งกันและกันมีความเป็นกันเอง สนุกสนานในการปฏิบัติกิจกรรม

หมายเลขบันทึก: 578733เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2014 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท