วาจา กับใจคิดจะด่า


การใช้ชีวิตในโลก เราต้องติดต่อกับบุคคลอื่นตลอดเวลา ในการติดต่อ สัมพันธ์กัน สิ่งที่เราใช้เพื่อสื่อให้ผู้อื่นเข้าใจความรู้สึก ความต้องการ ความเห็น ฯลฯ ของเราได้มากที่สุดก็คือ วาจา

เนื่องจากเราใช้วาจาในการสื่อสารแทบทั้งวัน ดังนั้นสิ่งที่เราๆพึงระวังให้มากก็คือเรื่องของวาจานี้เอง วาจาที่เราพึงหลีกเลี่ยงมีหลายลักษณะ หนึ่งในวาจาที่เราควรระวังเป็นอย่างมากก็คือ ผรุสวาจา วาจาหยาบคาย

ผรุสวาจานี้มาจากศัพท์คือ ผรุส + วาจา

ผรุส แปลว่า ยังผู้อื่นให้เดือดร้อน

วาจา แปลว่า การกล่าว คำพูด

รวมความว่าหมายถึงวาจาหยาบ วาจาที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ร้อนใจ เจ็บใจ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราควร

"เว้นจากผรุสวาจา กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ อันไพเราะโสต เป็นที่ตั้งแห่งความรัก หยั่งลงถึงหทัย เป็นคำของชาวเมือง ที่ชนหมู่มากพอใจ ชอบใจ"

คำตรัสนี้น่าจะแสดงความหมายของผรุสวาจาในมุมกลับกันได้นะคะ

เรามักมองว่าหมายถึงคำหยาบ คำด่าทอ คำด่าว่า เท่านั้น หากในความหมายที่แท้จริง ได้รวมเอาวาจากระทบกระทั่ง ประชดประชัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี ที่มาจากใจที่โกรธหรือผูกโกรธไว้ด้วยแม้ว่าวาจานั้นดูราวจะเป็นวาจาอ่อนโยนก็ตาม

ผรุสวาจานั้นมีองค์ ๓ คือ

๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า

๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ

๓. อกฺโกสนา การด่า

อรรถกถายกตัวอย่างมาอธิบายว่า แม้แม่จะตะโกนดุด่าลูกที่เอาแต่เที่ยวเล่นว่าขอให้แม่วัวดุจงขวิดลูก วาจานี้แม้จะไม่เป็นวาจาอ่อนหวานแต่ก็ไม่ถือว่าวาจานั้นเป็นผรุสวาจา เพราะแม่ไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้นจริงๆ

หรือ ครูที่ดุด่าลูกศิษย์ที่ไม่ยอมเล่าเรียน ว่าจงไล่เด็กพวกนี้ไป ก็ไม่ถือว่าเป็นผรุสวาจา เพราะที่ครูดุด่าศิษย์ก็ด้วยเจตนาให้ศิษย์บรรลุมรรคผล ตรงข้าม หากครูพูดกับศิษย์อย่างอ่อนหวานว่า ขอให้พวกเธอจงนอนสบาย อย่างนั้นถือว่าเป็นผรุสวาจา เพราะมาจากจิตที่โกรธ

ที่ท่านว่าเป็นวาจาหยาบ น่าจะเป็นเพราะเป็นวาจาที่มาจากความโกรธกระมังคะ

และเป็นเหตุให้เกิดการแตกความสมัครสมาน ทำให้คนที่รักกลายเป็นคนชัง ทำให้คนที่ไม่พอใจกันอยู่แล้ว กลายเป็นคู่ทะเลาะ คู่แค้น เป็นวาจาที่เป็นโทษ

แต่โทษที่เรามักไม่เห็นคือโทษที่ทำให้เรากลายเป็น ผู้ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด

คุณเอ สูญเสียคนรักให้คุณบีที่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน ไป คุณเอได้แต่คิดถึงอดีตคนรักและคุณบีด้วยความเสียใจ โกรธ แค้นเคือง ดังนั้นพอคุณเอเห็นคุณบีทีไรใช้วาจากระทบกระเทียบกับคุณบีทีนั้น ยิ่งเห็นคุณบีมีสีหน้าลำบากใจ คุณเอก็ยิ่งสุขใจที่สามารถทำให้คุณเอเจ็บปวดเหมือนที่ตนเคยเจ็บปวดเพราะการสูญเสียได้

คุณเอควรยินดีกับสุขเวทนานั้นหรือคะ

อันที่จริง คุณเอเธอกำลังมีมิจฉาทิฏฐิค่ะ คือ เธอเห็นเหตุแห่งทุกข์เป็นเหตุแห่งสุข เธอไม่มีเมตตาทั้งต่อตนและคนอื่น

ที่ว่าไม่เมตตาตนก็เพราะกำลังเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลธรรม

ที่ว่าไม่เมตตาคนอื่นเพราะไม่ได้หวังให้เขาเป็นสุข

จึงทำให้อุปกิเลสจรเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จรเข้ามาทีไร ก็เพิ่มกิเลสนาๆชนิดให้ทีนั้น ทำกองแห่งกิเลสให้ยิ่งใหญ่โตขึ้น ยากที่จะไถ่ถอนยิ่งขึ้น

นั่นคือ

เมื่อคิดถึงคนที่ไม่ควรคิดถึงทีไร ก็ร้อนใจ พยาบาทเขา (พยาบาท)

อิจฉาคนใหม่ของเขา (อิสสา)

เกิดการเปรียบเทียบตนกับคนใหม่ของเขา ว่าตนดีกว่าเขาบ้าง ต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง (มานะ)

โกรธคนรักที่เปลี่ยนใจไปบ้าง (โกธะ)

ผูกโกรธ คือ นึกขึ้นมาทีไรก็โกรธเขาซ้ำได้ทุกทีบ้าง (อุปนาหะ)

คอยจับจ้องเขาด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆบ้าง (อภิชฌาวิสมโลโภ)

ลบหลู่คุณอดีตคนรักหรือคนใหม่ของเขาบ้าง (มักขะ)

ตีเสมอว่าตนมีคุณเทียมคุณบีที่เป็นคนรักใหม่ของเขาบ้าง (ปฬาสะ)

ตระหนี่กับเขาทั้งสอง ทั้งในแง่การให้ปันสิ่งของ ความรู้ กำลังใจแก่เขาบ้าง (มัจฉริยะ)

แกล้งแสดงกิริยา วาจา ที่ไม่ตรงกับใจ เช่น แกล้งพูดอ่อนหวานกับเขาราวกับไม่มีความโกรธเคืองทั้งที่ใจยังโกรธขึ้งบ้าง (มายา)

อวดความดีของตนบ้าง (สาเถยยะ)

แข่งดีกับคนรัก หรือกับคุณบีบ้าง (สารัมภะ)

ดูหมิ่นคนที่ทำให้ตนเสียใจบ้าง (อติมานะ)

เหล่านี้เป็นต้น

กิเลสเหล่านี้ทำให้มีภพเกี่ยวกับเรื่องความรักที่ผิดหวังตั้งอยู่ในใจ จึงทำให้พอเห็นคุณบีทีไร ภพที่ตั้งอยู่จึงทำให้คุณเอไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องก้าวล่วงออกมาทางวาจา ยิ่งก้าวล่วงออกมาบ่อยเท่าไร ก็จะยิ่งทำสิ่งนั้นๆได้ง่าย และ เร็วขึ้นเพราะความเคยชินเท่านั้น

เพราะความรู้สึกดังกล่าว เหตุของการแตกร้าว เหตุที่มาจากตัวคุณเอเอง คุณเอจึงไม่ได้นำมาพิจารณา จึงมักเห็นแต่คุณของตน เห็นแต่โทษของคนอื่น และยังทำให้ไม่ได้พิจารณาถึงคุณของบุคคลอื่นๆอีกด้วย

ความเคยชินในการกระทำทางกาย วาจา คือ วาสนา หากเคยชินในทางที่ไม่ดี ก็เรียกว่าวาสนาไม่ดี เพราะวาสนาไม่ดี จึงมักได้รับคำติเตียน ไม่ใคร่เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน ไม่ใคร่ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลรอบข้าง อันทำให้ตนพลอยไม่มีความสุข ชีวิตไม่เป็นปรกติ (ศีล)

ซึ่งก็แน่นอนค่ะ หากล่วงสิกขาบท ชีวิตก็ไม่สามารถเป็นปรกติไปได้เพราะการประพฤติล่วงนั้น

เมื่อมีการใช้ผรุสวาจาบ่อยๆขึ้น ก็ยิ่งทำให้ขาดความอดทนมากยิ่งขึ้น สั่งสมความเคยชินที่จะเกิดกิเลสชนิดนั้นๆได้ง่ายขึ้น

บางที แม้แต่กับคนที่เรารัก เราก็สามารถมีผรุสวาจาได้ค่ะ ดิฉันพบครอบครัวหนึ่ง สามีเป็นคนเคร่งเครียด ไม่ค่อยรับฟังเหตุผลของคนอื่น ภรรยาจึงไม่กล้าบอกความต้องการของตน หรือ ตักเตือนบางสิ่งโดยตรง จึงใช้คำพูดอ้อมค้อม พอเห็นสามีไม่ทำตามที่ตนต้องการสื่อสาร ก็ใช้วาจากระทบกระเทียบ ประชดประชัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงไม่ใคร่ดีนัก สามีมักบอกใครๆว่า เบื่อภรรยาและโกรธเธอบ่อยๆเพราะความที่เธอชอบ "พูดกระแนะกระแหน"

วาจาเป็นสิ่งเบา เราจึงล่วงละเมิดได้ง่ายๆ จะห้ามปุยนุ่นเล็กๆไม่ให้ลอยไปตามลมได้ยากเพียงใด จะห้ามไม่ให้ปากไว ก็คงยากอย่างนั้น แต่ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของการเชื่อมั่นในหลักกรรมหรือการกระทำ แม้จะสั่งสมความเคยชินที่ไม่ดีทางกาย วาจา ใจ แต่เราก็แก้ไขให้เป็นความเคยชินในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่เป็นกุศลได้ค่ะ

เพียง

-พยายามพิจารณา (โยนิโสมนสิการ) ให้เห็นทั้งคุณ และ โทษของการขาดเมตตาตนเองและผู้อื่น

-พยายามพิจารณาคุณ ของเหตุการณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้น หาความดีจากสิ่งที่ไม่ดีให้ได้ เพื่อวางใจเป็นกลางกับทั้งเรื่องราวที่ทำให้เสียใจ บุคคลที่ทำให้เสียใจ

และ ... จะดียิ่งไปกว่านั้น หากพยายามพิจารณาให้พ้นไปจากความเห็นว่าเป็นตน

-พยายามพิจารณา คุณ โทษของผรุสวาจา และ การหาทางออกจากการใช้ผรุสวาจา

คุณของการปากไว ประชดประชันก็มีอยู่ค่ะ คือทำให้สุขใจที่ได้ทำบางอย่างที่ "สะใจ" ตน แต่การเสพสุขเวทนานั้นก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ไม่คุ้มค่ากับโทษทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะได้รับ

โทษที่มองเห็นได้ในปัจจุบันคือการถูกตำหนิจากบุคคลอื่นให้ต้องร้อนใจตามมา แตกสามัคคี ทุกข์ในภายหน้า นอกจากนั้น ยังมีโทษโดยสภาวะที่ทำให้กองกิเลสใหญ่โตขึ้น อันจะพาตนตกต่ำลงไปได้มากยิ่งๆขึ้นตามที่ได้เล่ามาแล้ว

เมื่อค่อยๆเห็นตามที่ตักเตือนตน ก็จะค่อยๆเห็นทุกข์เป็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์เป็นสุขอย่างที่เคย การเห็นตรงตามสภาวะนี้เอง ที่เรียกว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ

-พยายามฝึกสติ สมาธิ เพื่อให้จิตตั้งมั่น สติว่องไวพอที่จะไม่หวั่นไหวไปตามกิเลส

-หมั่นโจทย์ หรือ ตักเตือน ติเตียน ตนบ่อยๆ เพ่งหาความผิดของตนเอง ไม่เพ่งที่ความผิดผู้อื่น

-ระลึกรู้ตามความเป็นจริงเกี่ยวกับว่า ตัณหา ว่า จะดับได้ก็ต่อเมื่อได้รับการสนอง หรือ การพิจารณาจนจิตเห็นคล้อยตาม ในช่วงที่กำลังฝึกตนเพื่อดับตัณหาอยู่นั้น จะเกิดทั้งความทุกข์และสุขในเวลาเดียวกัน ทุกข์ ที่ตัณหาถูกขัด สุข ที่สามารถสามารถตักเตือนตนสำเร็จเป็นครั้งๆ แต่เราส่วนใหญ่เมื่อเริ่มฝึกดับตัณหาใหม่ๆจะยังไม่สามารถรับรู้ถึงสุขนี้ แต่จะรับรู้ถึงทุกข์ที่เป็นเวทนากล้ากว่าได้ ดังนั้น จึงต้องเห็นตามความจริงข้อนี้ และเห็นความดีของการฝึกตน ว่าเป็นการเพิ่มพูนบารมีต่างๆ เช่น ขันติบารมี (อดกลั้น อดทน), จาคะบารมี (สละ ในที่นี้คือสละกิเลส), เมตตาบารมี เหล่านี้เป็นต้น

จนในที่สุด ไม่ทุกข์เพราะการถูกขัดของตัณหาอีกต่อไป พบแต่ความสุขที่สามารถดับตัณหาได้ อุปกิเลสจึงเป็นสิ่งที่จรเข้ามามาในระยะเวลาที่ห่างออกไป พร้อมๆกับที่เรามีผรุสวาจาน้อยลงไปเรื่อยๆ

-ทำความพอใจในการกระทำอันเป็นบุญโดยประการทำเพื่อการดับตัณหาของตน ซึ่งในที่นี้ คือ

-ความต้องการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วยวาจา

-ความอดกลั้นที่จะไม่เปล่งผรุสวาจา

-ความพยายามทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ถอยหลัง ไม่ใช่ครั้งนี้ยอมอด ครั้งต่อไปปล่อยใจตามตัณหา หรือคิดว่าขอแค่ครั้งนี้อีกครั้งเดียว อันทำให้ทำไม่สำเร็จ เพราะจะเพลินในการกระทำไปเรื่อยๆดังคำตรัส

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ ปาปา จิตฺตํ นิวารเย

ทนฺธํ กรโต ปุญฺญํ ปาปสมึ รมตี มโน ฯ

ขุ.ธ.๒๕/๑๙/๓๐

บุคคลควรหมั่นขวนขวายในกรรมอันงาม

พึงห้ามจิตจากบาป

เพราะว่า เมื่อบุคคลทำบุญช้าไป

ใจจะยินดีในบาป

-ระลึกว่าตนกำลังทำตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพึง "น้อมมาใส่ตัว" นั้นเป็นสิ่งดี เพราะกำลังรักษาวาจาให้เสมอในทุกที่ ด้วยการพิจารณาตามที่ตรัสว่า

"ผู้ใดพึงพูดกะเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา อนึ่ง เราพึงพูดกะคนอื่นด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของคนอื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ธรรมข้อนั้น ก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจแม้ของผู้อื่น ธรรมข้อใด ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา เราจะพึงประกอบผู้อื่นไว้ด้วยธรรมข้อนั้นอย่างไร"

เพราะเมื่อมีความพอใจ ก็จะยิ่งเพียรหาเหตุที่จะดับตัณหาได้ เพียรตั้งสติสำรวมในเรื่องต่างๆ เพื่อสั่งสมกรรมอันเป็นบุญให้ยิ่งๆขึ้น

สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระคาถาพึงห้ามจิตจากบาปอันเป็นบุญต่อมา ว่าให้พึงทำความพอใจในบุญนั้นและทำบุญนั้นบ่อยๆ

ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ

ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย ฯ

ขุ.ธ.๒๕/๑๙/๓๐

ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ

พึงทำความพอใจในบุญนั้น

เพราะว่าการสั่งสมขึ้นซึ่งบุญนำมาซึ่งสุข.

ผรุสวาจานี้ เรามักเอาไปปนกับ ปิสุณาวาจา ที่แปลว่าวาจาส่อเสียด อันหมายถึงการนำความข้างนั้นไปบอกข้างนี้ ด้วยวัตถุประสงค์คือ เราจักเป็นที่รักด้วยอุบายนี้ หรือ เขาจงแตกกันด้วยอุบายนี้

แต่ไม่ว่าจะเป็นวาจา เสียดสี ส่อเสียด ผลอย่างต่ำก็คือการแตกสามัคคีเหมือนกัน การใช้วาจาจึงเป็นเรื่องที่ควรระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองอย่างนี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 578616เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2014 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2014 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ คุณ ณัฐรดา ขอบคุณบทความดีๆค่ะ

สะท้อนสังคมมนุษย์ด้วยธรรมะ ขอบคุณบทความดี ๆ คะ

ขอบคุณมากครับพี่

สบายดีไหม

หายไปนาน

ได้เรียนรุ้เรื่องวาจาด้วย

ขอบคุณมากค่ะคุณณัฐรดา ดีใจมากค่ะที่ได้เรียนรู้และซึมซับในธรรมะที่เกียวกับวาจาอันนำไปสู่ความทุกข์ของผู้อื่น ด้วยการสื่อสารของสังคมยุคนี้ บางทีไม่ได้ทำให้ร้อนหู แต่ร้อนตา ก็ทำให้เดือดร้อนใจได้เท่ากัน หรือยิ่งกว่าเสียอีก เช่นการเขียนด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์เพื่อสร้างทุข์ให้ผู้อื่นลงในโชเชี่ยลมีเดี่ย อย่างนี้นับว่าผิดศีลข้อ 4 พอได้ไหมคะแม้ไม่ได้เปล่งวาจา ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาค่ะ

........................................

คุณกุหลาบ มัทนา คะ

วาจานั้นสามารถแสดงออกทางกายได้ด้วยค่ะ เช่นหากกล่าวออกมา ก็แสดงวาจาทางวจีทวาร

หากเขียนว่าเขา แสดงอาการว่าเขา ก็เป็นการแสดงออกทางกายทวารค่ะ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท